Skip to main content
sharethis

โดย  ป. วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มอ.


 


เขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำนาทับที่สร้างโดยกรมเจ้าท่า เมื่อประมาณปี 2541  เพื่อทำเป็นท่าเรือย่อยๆ สำหรับเรือประมง  ดิฉันได้ไปเดินดูสภาพความเสียหายของชายฝั่ง เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2549  หลังจากการสร้างเขื่อน พบว่าเกิดการสะสมของทรายทางทิศใต้ของเขื่อน


 


ส่วนชายฝั่งทางทิศเหนือถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง แม้ว่าจะมีการสร้างเขื่อนกันคลื่นจำนวนสี่ตัวแล้วก็ตาม  แต่ก็ไม่ได้ช่วยลดปัญหาการกัดเซาะแต่อย่างใด ยิ่งเป็นการเพิ่มการกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้นเป็นแนวยาวจนถึงถนน รวมแล้วชายฝั่งถูกกัดเซาะลึกเป็นระยะทางประมาณ 70 เมตร


 


นอกจากนี้ยังพบว่าชายหาดที่ถูกกัดเซาะมีความลาดชันมาก ยิ่งชายหาดมีความลาดชันมาก คลื่นจะทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้บริเวณชายหาดข้างเคียงพังเสียหาย มีการพยายามแก้ปัญหา โดยการนำตาข่ายบรรจุหินก้อนเล็กๆ นำมากั้นแนวถนนที่ถูกกัดเซาะ การแก้ปัญหาประเภทนี้ เหมาะสำหรับการป้องกันการพังทลายของหน้าดินบริเวณไหล่เขาที่ไม่ซับซ้อน แต่ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้


 


ชุมชนบ้านบ่ออิฐ ก็ได้รับผลกระทบจากเขื่อนกันคลื่นนาทับนี้เช่นกัน โดยบ้านเรือนพังเสียหาย ชาวบ้านละแวกนี้เล่าให้ฟังว่า เมื่อแปดปีก่อนที่จะทำการสร้างเขื่อนนาทับ บริเวณนี้แต่เดิมหาดทรายทอดยาวสวยงามมาก แต่หลังจากการสร้างเขื่อน ชายหาดถูกกัดเซาะลุกล้ำกินเนื้อที่จากเดิมไปกว่า 3 ไร่ แล้ว สุสาน(กุโบร์)ก็ถูกกัดเซาะทำให้ต้องสร้างเขื่อนหินยาวกว่าร้อยเมตร เมื่อปี 2548  ต้องเสียเงินไปเปล่าๆ ประมาณเก้าแสนบาท ภายในระยะเวลาเพียงปีเดียว เขื่อนก็พังเสียหายยับเยิน


 


นอกจากปัญหาจากการสร้างเขื่อนที่พบแล้ว การสร้างสถานีสูบน้ำเสียไว้บนชายหาดที่บ้านเกาะแต้ว ก็ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะบริเวณชายฝั่งและพบท่อน้ำเสียของเทศบาลสงขลาโผล่พ้นหาดเป็นทางยาว ปัญหาซับซ้อนที่เก้าเส้งจากการสร้างบ่อสูบน้ำเสีย ทำให้ชายหาดชลาทัศน์ ถูกกัดเซาะเป็นแนวยาว และทางเทศบาลทำการแก้ไขโดยการนำหินมาวางเรียงราย ก็เป็นวิธีที่ฝืนธรรมชาติ ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งลุกลามซ้ำเติมไม่สิ้นสุด และเป็นการเพิ่มความรุนแรงของคลื่นเมื่อเข้าสู่ฝั่ง


 


จากสิ่งที่ดิฉันได้ประสบนี้ ดิฉันเห็นว่าการพังทลายของชายฝั่งอ่าวไทยภาคใต้ นับเป็นปัญหาเร่งด่วนที่กำลังเผชิญอยู่ทั่วไป สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งจากสร้างสิ่งก่อสร้างลุกล้ำชายหาด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งทำความเข้าใจความเป็นจริงของปัญหาอย่างถูกต้อง ควรหยุล่วงล้ำชายหาด และควรรื้อถอนสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ไม่จำเป็นออกจากบริเวณชายฝั่ง


 


เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ควรทำการประเมินโครงการต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อนำมาสรุปเป็นมาตรการป้องกันการกัดเซาะทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  โดยเฉพาะชายฝั่งจังหวัดสงขลาที่เคยมีหาดทรายสวยงามเป็นแนวยาวที่อ่อนไหวต่อการกระทำของมนุษย์  ปัญหานี้คงแก้ไม่ตกหากมนุษย์ยังเลือกที่จะเป็นผู้ทำลาย โดยปราศจากการคำนึงถึง


 


"สมดุลของธรรมชาติ และแนวโน้มในอนาคตชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกของไทยคงจะเต็มไปด้วยหินที่ไม่เหลือหาดทรายอันสวยงามให้ลูกหลานได้เยี่ยมชมอีกต่อไป มิฉะนั้นปัญหานี้คงเหมือนโรคร้ายที่ยากต่อการเยียวยาในที่สุด"


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net