Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 


การที่คนใหญ่คนโตในรัฐบาล รวมถึงสื่อหลายๆ กระแส ออกมาการันตีหนังไทยทุ่มทุนสร้างอย่าง "ตำนานสมเด็จพระนเศวร" ทั้ง 2 ภาค (องค์ประกันหงสา และประกาศอิสรภาพ) ว่าเป็นหนังไทยที่ส่งเสริมความรักชาติ เชิดชูอิสรภาพ และกระตุ้นความฮึกเหิมที่ได้เกิดมาเป็นชาวไทยในแผ่นดินสยามแต่ดั้งแต่เดิม อาจเป็นการสะกดจิตให้ใครๆ เคลิบเคลิ้มจนต้องไปตีตั๋วดูหนังเรื่องนี้ให้ได้ ราวกับว่ามันเป็นภารกิจสำคัญในฐานะผู้มีสัญชาติไทยในบัตรประชาชน


 


อีกทางหนึ่ง นักวิจารณ์ผู้เห็นต่างก็พยายามคัดง้างว่าหนังเรื่องนี้มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างรุนแรง


 


เมื่อฝ่ายที่ส่งเสียงเชียร์พยายามกรอกหูด้วยสโลแกนซ้ำๆ ว่า "รักชาติ สมานฉันท์" ฝ่ายที่คัดค้านก็ออกมาเต้นเร่าเพื่อตอบโต้ตามเสียงปี่เสียงกลองของอีกฝ่ายทุกทีไป


 


ท่าทีที่คนทั้งสองฝ่ายมีปฏิกิริยาต่างขั้วกันเมื่อพูดถึงหนัง "ตำนานสมเด็จพระนเรศวร" ล้วนมีผลเท่ากับการเพิ่มน้ำหนักและเพิ่มค่าให้กับหนังเรื่องนี้จนเกิดเหตุ


 


ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ไม่เคยมี "หนังประวัติศาสตร์" เรื่องไหน สร้างขึ้นอย่างถูกต้องตรงใจคนดูอย่างมีมติเอกฉันท์เลยสักครั้ง...


 


เพราะในความเป็นจริงแล้ว "ประวัติศาสตร์" ก็คือการคาดเดา สันนิษฐาน และตีความหลักฐานเท่าที่รวบรวมมาได้ ซึ่งแทบจะไม่ต่างอะไรจาก "นิยาย" ที่ต้องการจินตนาการมาต่อเติม


 


เหมือนอย่างหนังเรื่อง "ตำนานสมเด็จพระนเรศวร" ก็จั่วหัวไว้อยู่แล้วว่าเป็น "ตำนาน" ที่แปลได้ความว่าเป็นเรื่องเล่าที่บอกเล่าต่อๆ กันมาตั้งแต่อดีตกาลนานนม


 


ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าไม่มี "พระองค์ดำ" ในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะยังมีร่องรอยบางประการที่บ่งชี้ถึงการดำรงอยู่จากการศึกษาเรื่องราวในอดีต


 


แต่ไม่มีใครรู้หรอกว่าจะหลงเหลือความจริงในตำนานสักกี่เปอร์เซ็นต์...


 


เราจะคาดหวังอะไรจากหนังเรื่องนี้ ในเมื่อการสอดแทรกนัยยะที่เกี่ยวโยงกับ "รัฐชาติ" "ความเป็นเอกราช" หรือแม้แต่ "ความสามัคคีของคนในชาติ" เป็นเรื่องที่ผู้สร้างหนังเอาบริบทของปัจจุบันเข้าไปจับประเด็นและตีความทั้งสิ้น


 


ตำนานสมเด็จพระนเรศวร จึงเป็นหนังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรจะมีใครไปยกย่องเชิดชูจนเกินงาม...


 


แต่หากจะมองหรือตีความในฐานะ "ภาพยนตร์" ที่เป็นศิลปะในการถ่ายทอดเรื่องราวลงบนแผ่นฟิล์ม (ไม่ใช่เครื่องมือสร้างความรักชาติหรือปลุกระดมใคร) ดูจะเป็นสิ่งที่เหมาะควรกว่ากันมาก


 


กว่า 6 ชั่วโมงในโรงหนัง ไม่น่าจะทำให้คนดู "ตำนานสมเด็จพระนเรศวร" รู้สึกเสียดายเงินหรือเสียดายเวลา แม้ว่าการดำเนินเรื่องของตำนานฯ ภาคองค์ประกันหงสาจะไม่สามารถทำให้คนดูบางคนรู้สึกคล้อยตามได้สักเท่าไหร่ ด้วยความที่รู้อยู่แล้วว่าบทหนังที่คัดลอกมาจากหลักฐานอ้างอิงประวัติศาสตร์เป๊ะๆ นั้นจะลงเอยอย่างไร


 


เมื่อผสมกับฉากขายความรักชาติ เช่น การตี "ไก่เชลย" สู้กับ "ไก่พม่า" รวมถึงฉาก "ปล่อยไก่" ไปสู่อิสรภาพ ที่ดูจงใจยัดเยียดเกินไปนิด ก็นำไปสู่อาการเลี่ยนกับสารที่ได้รับถี่จนเกินควรได้เหมือนกัน


 


แต่ความรื่นรมย์และภาษาของหนังที่มีการแทรก "ตัวละครในจินตนาการ" ขึ้นมาในภาค 2 ตอน "ประกาศอิสรภาพ" ดูจะรื่นไหลกว่ากันมาก เพราะความมีชีวิตจิตใจของตัวละครถูกนำมาใส่ไว้ ชดเชยกับการที่ผู้กำกับไม่สามารถใส่มุขอะไรลงไปในตัวละครหลักอย่าง "สมเด็จพระนเรศวร" ได้มากนัก


 


เรื่องของความรักระหว่างรบไม่ได้จำเพาะเจาะจงเพียงแค่ความเสน่หาของชายหนุ่มหญิงสาว แต่รวมถึงความรักและเมตตาในเพื่อนมนุษย์ต่างชาติพันธุ์ที่มหาเถรชาวมอญมีให้แก่ชาวหงสา ชาวอโยธธา และชาวเมืองสองแควโดยเท่าเทียมกัน


 


หลายๆ ฉาก และหลายๆ ตอนที่เราได้รับรู้ถึงความโหดร้ายของสงคราม โดยที่ความรุนแรงนั้นไม่ได้มาจากการทำลายล้างหรือเข่นฆ่ากันโดยตรง แต่เกิดจากความชาชินในวิธีแก้ปัญหาที่ใช้อำนาจและพละกำลังเข้าตัดสิน


 


นี่ต่างหากที่เป็นสิ่งน่ากลัวกว่ากันมากนัก...


 


เราจะเห็นได้ชัดเจนเสียจนสะท้อนใจ ในฉากที่ชาวพม่าที่มา "ด้อมๆ มองๆ" แถวค่ายกลศึกของพระนเรศวร ถูกสั่งให้นำตัวไปแขวนคอประจานโดยไม่มีการไต่สวนแม้แต่นิดเดียว ซึ่งมันคงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องตัดไฟแต่ต้นลม เพราะในช่วงศึกสงคราม คงไม่มีใครมีเวลาว่างมาไต่สวนคดียิบย่อยถึงเพียงนั้น


 


แต่เป็นไปได้ไหมว่า การผลิตซ้ำความรุนแรงเนื่องจากเคยชินกับการใช้อำนาจ เป็นเรื่องที่ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย เพราะมีความเหลื่อมล้ำและสงวนสิทธิ์แห่งการรักษาอำนาจไว้ในมือคนบางกลุ่มเท่านั้น


 


และถ้าหากคนดูคนไหนไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นในตำนานจนเกินไป คงพอจะมองเห็นได้ว่าในระหว่างที่สมเด็จพระนเรศวรถูกกำหนดให้เป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยบุญญาธิการและกฤษดาภินิหาร ก็มีอีกหลายฉากที่เห็นได้ชัดว่าบารมีของพระองค์ดำนั้น ล้วนมีหยาดเหงื่อแรงงานของชนชั้นไพร่รวมอยู่ด้วย


 


บางครั้งบางครา การมีบารมีจึงมาพร้อมกับความเด็ดขาดในกำจัดหรือบงการชีวิตของคนอื่นเช่นกัน...


 


สารที่อยู่ในขั้วตรงข้ามกับการปลุกกระแสชาตินิยมเหล่านี้ถูกสื่อผ่าน "ภาษาภาพ" ซึ่งมาแทนที่ "บทพูดอันยืดยาว" ในภาคแรก ด้วยฝีมือของผู้กำกับเชื้อเจ้าที่เคยทำหนังเกี่ยวกับสามัญชนอย่าง "ทองพูน โคกโพ" หรือ "เขาชื่อกานต์" ได้อย่างมีพลังจับใจคนดู


 


ถึงแม้ว่าตำนานสมเด็จพระนเรศวรภาคแรกจะทำให้ท่านมุ้ยเสียศูนย์ไปพอสมควรกับการเป็นหนังชาตินิยมออกนอกหน้า


 


แต่ตำนานฯ ภาคประกาศอิสรภาพดูจะเป็นการแก้มือได้ทันเวลาของท่านมุ้ย


 


ส่วนภาคสามจะมีประเด็นอะไรเพิ่มขึ้นมาอีกบ้างก็คงต้องตามดูกันต่อไป


 


เพราะไหนๆ ก็ดูมาตั้งสองภาคแล้วนี่...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net