Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 2 มี.ค. 50 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำโดยนายสุริชัย หวันแก้ว และสนช.ส่วนหนึ่ง ทำหนังสือถึงพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ท้วงติงกรณีการลงนามร่างความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เพราะการอภิปรายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกิดขึ้นภายใต้ข้อจำกัดและปัญหาสำคัญหลายประการ ซึ่งทำให้ไม่สามารถอภิปรายได้เต็มที่ จึงเสนอให้รัฐบาลใช้เวลาการพิจารณาเนื้อหาความตกลงดังกล่าวอย่างรอบด้านในทุกมิติก่อนการลงนาม เพื่ออุดช่องโหว่ข้อบกพร่องที่มีอยู่ในความตกลง


    


เนื้อความในหนังสือนั้น ระบุว่า ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติตามบทบัญญัติมาตรา 12 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 เกี่ยวกับเรื่องร่างความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้จะถือเป็นมิติใหม่ ที่ความตกลงทางการค้าลักษณะนี้ได้เข้าสู่รัฐสภา อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่การอภิปรายที่เกิดขึ้น อยู่ภายใต้ข้อจำกัดและปัญหาสำคัญหลายประการ คือ สนช. ได้รับเอกสารร่างเรื่องน่ารู้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ล่วงหน้าเพียงสองวัน สนช.จำนวนมากเพิ่งได้รับเอกสารในวันอภิปราย


 


และมีข้อสังเกตว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการเจรจา ขณะที่เอกสารร่างความตกลง JTEPA ฉบับจริง ซึ่งเป็นเอกสารข้อตกลงทางกฎหมาย และมีผลผูกพันระหว่างประเทศ ที่มีเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษความยาว 940 หน้านั้น สนช.ยังไม่มีโอกาสได้อ่าน


 


ดังนั้น เมื่อสนช.ไม่มีเวลาและไม่ได้ข้อมูลเพียงพอที่จะวิเคราะห์เนื้อหาในร่างความตกลงฯ จึงมีสนช.จำนวนน้อย ที่ได้อภิปรายลงไปถึงเนื้อหาสาระ แต่ก็ยังขาดการหยิบยกประเด็นสำคัญอีกมากไปพิจารณา


 


ในหนังสือระบุว่า ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันว่าในการเจรจาทำความตกลงการค้าระหว่างประเทศ ย่อมต้องมีการได้และเสีย แต่สิ่งที่รัฐบาลและสังคมไทยต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนคือ ต้นทุนและผลกระทบที่ประเทศไทยต้องจ่ายนั้น คุ้มค่ากับสิ่งทีได้รับจากญี่ปุ่นหรือไม่


 


แต่จนถึงขณะนี้ รัฐบาลและสนช.เน้นแต่ภาพด้านบวก ไม่ได้เห็นภาพที่ครบถ้วนทุกด้าน โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสังคม ต่อสุขภาพ และผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะภายในประเทศ


 


สนช. ซึ่งนำโดยนายสุริชัย หวันแก้ว จึงเสนอให้รัฐบาลใช้เวลาในกระบวนการพิจารณาเนื้อหาสาระของร่างความตกลงฯนี้อย่างรอบด้านในทุกมิติก่อนการลงนาม โดยกระบวนการที่โปร่งใสและมีส่วนร่วม โดยอาจให้คณะกรรมาธิการของสนช.ที่เกี่ยวข้อง เช่น กมธ.ต่างประเทศ ร่วมกับกมธ.การมีส่วนร่วม ทำหน้าที่ศึกษาและสร้างการมีส่วนร่วมขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net