Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis






หมายเหตุจากผู้แปล:


 


งานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในชุด "การแสวงหาทางเลือกใหม่ทางด้านเศรษฐกิจและการค้า" ซึ่งผู้แปลต้องการนำเสนอต่อผู้ที่สนใจ จากที่เคยนำเสนอไปแล้วคือ:


 


-"การเข้าถึงตลาด" คือคำตอบต่อปัญหาความยากจน?"


-"คิดนอกกรอบ: ว่าด้วยการค้า, การพัฒนาและการลดปัญหาความยากจน"


-"กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา: ความเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้อุปสงค์ภายในประเทศเป็นหัวจักร"


-"กรรมกรทั่วโลกจงรวมตัวกัน…เพื่อฮั้วขึ้นค่าแรงระดับโลก! ข้อเสนอ OLEC ของเฮนรี ซี เค ลิว"


 


 


 




 



 


ซูซาน ยอร์จ เขียน


ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลจาก


Susan George, "Alternative Finances: The World Trade Organization We Could Have Had," Le Monde diplomatique, February 01, 2007, ZNet.


 


 


ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะช่วยกันรื้อฟื้นแนวคิดเชิงอภิวัฒน์ของ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ที่เคยนำเสนอเกี่ยวกับองค์การการค้าระหว่างประเทศ และนำแนวคิดนั้นมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างสมดุลใหม่แก่ระบบเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21


 


การเจรจารอบโดฮา ซึ่งเริ่มต้นในการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก (WTO) ในเมืองหลวงของประเทศกาตาร์เมื่อ ค.ศ. 2001 ล้มเหลวไปแล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีด้วย แม้ว่านายปาสกาล ลามี ผู้อำนวยการใหญ่ของ WTO จะพยายามทุกวิถีทางที่จะปลุกผีวาระการเจรจาให้ลุกขึ้นมาจากหลุม แต่ฝ่ายที่คัดค้านวาระรอบโดฮายืนยันตลอดการเจรจาว่า ไม่มีข้อตกลงเสียเลยดีกว่ามีข้อตกลงแย่ ๆ


 


การเจรจารอบโดฮานี้ นับตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งลงเอยอย่างไม่ประสบผลในปี ค.ศ. 2006 มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การให้ผลประโยชน์แก่ธุรกิจเกษตรยักษ์ใหญ่ ทำลายอุตสาหกรรมที่เพิ่งเริ่มต้นหรือยังเปราะบางในซีกโลกใต้ และเปิดภาคบริการสาธารณะให้บรรษัทธุรกิจเข้าไปยึดครอง โดยอาศัยข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าในภาคบริการ (GATS) เป็นช่องทางสำคัญ


 


ความล้มเหลวนี้อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว (ในช่วงไม่กี่วันแรกของ ค.ศ. 2007 ดูเหมือนมีโอกาสที่การเจรจาจะฟื้นกลับมาใหม่) และความล้มเหลวไม่ได้หมายความว่า หลักการเบื้องต้นของ WTO ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1995 จะถูกล้มล้างไปด้วย ข้อตกลงว่าด้วยภาคเกษตรกรรม, ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรม, ข้อตกลง GATS และข้อตกลงอื่น ๆ อีกกว่า 20 รายการหรือมากกว่านั้นภายใต้ร่มธงของ WTO ยังคงมีอยู่ เพียงแต่การนำมาใช้ชะลอลงอย่างมาก ตอนนี้เราจึงมีเวลาหายใจหรืออย่างน้อยที่สุดก็มีหน้าต่างแห่งโอกาสเปิดอยู่


 


ความล้มเหลวของการเจรจารอบนี้ทำให้คนจำนวนมากตั้งคำถามว่า: "แล้วเราจะเอาอะไรมาแทนที่การเจรจารอบโดฮา?" คุณอาจตอบคำถามนี้โดยบอกว่า มันก็เหมือนกับการถาม "แล้วเราจะเอาอะไรมาแทนที่มะเร็ง?" คำตอบโดยสัญชาตญาณก็คือ "ไม่เอาอะไรทั้งนั้น" กระนั้นก็ตาม ในกรณีของการค้า คำตอบแบบนี้อาจไม่ค่อยฉลาดนัก การปราศจากมะเร็งเป็นสิ่งพึงปรารถนา แต่การปราศจากระเบียบควบคุมการค้าระหว่างประเทศเท่ากับเปิดช่องโล่งโจ้งให้แก่ข้อตกลงทวิภาคีและพหุภาคี ซึ่งจะยิ่งลุกลามและเป็นอันตรายร้ายแรงต่อหุ้นส่วนทางการค้าที่อ่อนแอยิ่งกว่าข้อตกลง WTO เสียอีก


 


แทนที่จะปล่อยให้ผู้ต้องหาหน้าเดิมๆ กล่าวคือ รัฐบาลประเทศมหาอำนาจที่เดินตามหลังบรรษัทข้ามชาติต้อย ๆ เป็นผู้วางแผนภูมิอนาคตของความสัมพันธ์ทางการค้า ถึงเวลาแล้วที่เราควรย้อนอดีตกลับไปสู่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อครั้งที่มีการปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศครั้งใหญ่ ในตอนนั้น แม้กระทั่งธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศก็ยังเป็นสถาบันที่ได้รับการต้อนรับอย่างดี และแสดงบทบาทที่มีคุณูปการอยู่ระยะหนึ่ง ทั้งในซีกโลกใต้และในซีกโลกเหนือที่ประสบภัยพิบัติจากสงคราม เพียงแต่ในช่วง 25 ปีหลังมานี้ สถาบันทั้งสองเปลี่ยนบทบาทหน้าที่จากหน้ามือไปเป็นหลังมือ


 


นักเศรษฐศาสตร์อย่างจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เดินเข้าสู่โต๊ะเจรจาหลังสงครามโลก พร้อมกับโครงการสร้างสรรค์เพื่ออนาคตของการค้าโลก นั่นคือโครงการที่เขาเรียกว่า องค์การการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Organization—ITO) โดยมีธนาคารกลางระหว่างประเทศที่ตั้งชื่อไว้ว่า สำนักหักบัญชีกลางระหว่างประเทศ (International Clearing Union—ICU) เป็นองค์กรสนับสนุนอีกทีหนึ่ง ICU มีหน้าที่ออกเงินตราสำหรับการค้าโลก นั่นคือ เงินแบงเคอร์ (bancor) ทำไม ITO และ ICU ถึงไม่เคยเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่หากมันเกิดขึ้นจริง นี่เป็นตำนานอาหารสมองที่เราน่าเรียนรู้ เรื่องราวนี้บอกให้เรารู้ว่า ในโลกที่มีเหตุผล การสถาปนาระบบการค้าที่รับใช้ความต้องการของประชาชนทั้งในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้


 


หาก ITO และ ICU เกิดขึ้นจริง เราจะมีระเบียบโลกที่ไม่มีประเทศไหนในโลกสามารถขาดดุลการค้าอย่างมโหฬาร (การขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 716 พันล้านดอลลาร์ใน ค.ศ. 2005) หรือได้เปรียบดุลการค้าอย่างมโหฬารแบบที่ประเทศจีนเป็นอยู่ในปัจจุบัน ภายใต้ระบบนี้ หนี้สินท่วมหัวของโลกที่สาม และนโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอันเลวร้ายที่ธนาคารโลกและ IMF ใช้กันอยู่คงเป็นเรื่องคิดไม่ถึง แม้ว่าระบบที่เคนส์คิดค้นไม่ได้ล้มล้างระบบทุนนิยมลงเลยก็ตาม หากเราสามารถพลิกฟื้นแนวความคิดของเคนส์ขึ้นมาใหม่ โลกอีกใบหนึ่งก็อาจเป็นไปได้จริง ๆ เคนส์วางเค้าโครงที่ใช้การได้มาตั้งแต่กว่า 60 ปีก่อน แผนการของเขาอาจต้องปัดฝุ่นและปรับปรุงแก้ไขบ้าง แต่แกนกลางของแนวคิดก็ยังใช้ได้ในปัจจุบัน


 


 


ทำไมโครงการจึงล้มเลิกไป?


ก่อนอธิบายถึงกฎเกณฑ์ที่ระบบนี้จะสร้างขึ้นมา เราน่าจะทบทวนดูว่า ทำไม ITO จึงไม่เคยก่อตั้งขึ้น คำอธิบายทั่วไปก็คือ สหรัฐอเมริกาขัดขวางเอาไว้ ซึ่งก็จริง แต่ผิวเผินไปหน่อย ยังมีเหตุผลทางการเมืองอื่น ๆ อีกด้วย สหรัฐฯ และอังกฤษเริ่มหารือกันถึงข้อตกลง ITO มานานก่อนสงครามสิ้นสุดด้วยซ้ำ และเคนส์นำเสนอแนวคิดเป็นการหยั่งเชิงแล้วตั้งแต่ ค.ศ. 1942 เขาเป็นประธานการประชุมการเงินที่เบรตตันวู้ดส์ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1944 และ ITO ถือเป็นจุดยืนอย่างเป็นทางการของรัฐบาลอังกฤษ ในตอนนั้น สหรัฐอเมริกา ซึ่งดำเนินนโยบายตามจุดยืนของบรรษัทธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด ไม่ค่อยกระตือรือร้นกับข้อเสนอนี้เท่าไรนัก แฮร์รี เด็กซ์เตอร์ ไวท์ (Harry Dexter White) หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายอเมริกัน จึงผลักดันให้เกิดธนาคารโลกและ IMF ขึ้นมาแทน (1) ต่อมาในภายหลัง สภาคองเกรสของสหรัฐฯ มีมติรับรองสถาบันทั้งสอง ซึ่งบางครั้งเรียกกันว่า "สถาบันเบรตตันวู้ดส์" ส่วน ITO ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะมีการลงสัตยาบันรับรอง


 


สหประชาชาติเกิดขึ้นมาใน ค.ศ. 1945 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของสหประชาชาติ กล่าวคือ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council—Ecosoc) รับข้อเสนอหลังสงครามจากทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเพื่อก่อตั้ง ITO Ecosoc จัดการประชุมว่าด้วยการค้าและการจ้างงานของสหประชาชาติขึ้นใน ค.ศ. 1946 เพื่อพิจารณาข้อเสนอนี้ (2)


 


แต่ก่อนที่การประชุมจะเริ่มขึ้น สหรัฐฯ หันมาดำเนินนโยบายสองแนวทางต่อการค้าระหว่างประเทศ สหรัฐฯ จัดการประชุมกับประเทศสมาชิกสหประชาชาติอีก 22 ประเทศ ซึ่งต้องการเร่งรัดให้เริ่มเปิดเสรีการค้าให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ กลุ่มประเทศเหล่านี้มาประชุมกันในเวทีคู่ขนานเพื่อร่างข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) เพื่อใช้เป็นมาตรการชั่วคราว หรืออย่างน้อยก็คิดว่าจะใช้เป็นมาตรการชั่วคราวไปก่อนในตอนนั้น


 


กลุ่มประเทศเหล่านี้ลงนามในข้อตกลง GATT ใน ค.ศ. 1947 และนำมาบังคับใช้ใน ค.ศ. 1948 เนื่องจากประเทศที่เข้าร่วมทั้งหมดคาดหวังว่า ข้อตกลงนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎบัตร ITO ซึ่งจะเป็นองค์กรกลางที่ถาวรกว่า ดังนั้น กลุ่มประเทศเหล่านี้จึงกำหนดกลไกเชิงสถาบันไว้น้อยมากใน GATT ไม่นานหลังจากนั้น กฎบัตร ITO ก็เสร็จสมบูรณ์และได้รับการรับรองที่การประชุมฮาวานาใน ค.ศ. 1948 ตัวบทนี้มักเรียกกันโดยทั่วไปว่า "กฎบัตรฮาวานา" (Havana Charter) แม้ว่าชื่อที่เป็นทางการจริง ๆ คือ กฎบัตรเพื่อองค์การการค้าระหว่างประเทศ (Charter for an International Trade Organization) (3)


 


ทำไม ITO จึงล้มเหลวไปในที่สุด? ส่วนหนึ่งเพราะหัวเรี่ยวหัวแรงหลักทางการเมืองที่มีต่อข้อเสนอนี้ล้มหายตายจากไป เคนส์ถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1946 นายคอร์เดลล์ ฮัลล์ (Cordell Hull) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุน ITO สุดตัว ไม่ได้อยู่ในคณะรัฐบาลอีกต่อไป ความรู้สึกกระตือรือร้นในแบบ "มาช่วยกันวางโฉมหน้าโลกใบใหม่กันเถอะ" เหมือนเมื่อตอนประชุมเบรตตันวู้ดส์ ผ่านเลยไปเสียแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ และกระทรวงการคลังกำลังยุ่งอยู่กับแผนการมาร์แชลและข้อตกลงด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับแต่ละประเทศ ลัทธิโดดเดี่ยวตัวเองที่ฝังลึกของชาวอเมริกันจำนวนมาก รวมทั้งสมาชิกสภาคองเกรส ก็มีบทบาทอยู่ส่วนหนึ่ง ชุมชนธุรกิจส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ต่อต้าน ITO บางบริษัทต่อต้านเพราะคิดว่ามันมีลักษณะแบบลัทธิคุ้มครอง (protectionism) มากเกินไป บางบริษัทกลับหาว่ามันเป็นลัทธิคุ้มครองไม่มากพอ มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ค่อนข้างดุเดือดใน ค.ศ. 1948 และไม่มีพรรคการเมืองไหนอยากแหวกหญ้าให้งูตื่นด้วยข้อตกลงระหว่างประเทศที่ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ พอสงครามเย็นเริ่มขึ้น ITO ก็กลายเป็นความสำคัญอันดับรองในความสนใจของนักการเมืองและข้าราชการชาวอเมริกัน


 


เมื่อได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกครั้ง ประธานาธิบดี แฮร์รี ทรูแมน นำกฎบัตร ITO (หรือกฎบัตร "ฮาวานา") เข้าที่ประชุมสภาคองเกรสอย่างไม่ค่อยเต็มใจนักใน ค.ศ. 1950 ทว่าสภานิติบัญญัติไม่สนใจแม้แต่จะลงมติในประเด็นนี้ด้วยซ้ำ GATT กลับอยู่รอดต่อมา ทั้งนี้เพราะหลายฝ่ายมองว่ามันเป็นแค่ข้อตกลงชั่วคราว และแทบไม่มีมาตรการเชิงสถาบันบังคับเลย GATT ประสบความสำเร็จในแบบของมันเอง ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา มันสามารถลดภาษีศุลกากรภาคอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยจากอัตรา 50% เหลือ 5% แม้ว่ากำแพงภาษีสูงชันยังใช้กันอยู่ในหลาย ๆ ประเทศก็ตาม GATT หนุนให้เกิดการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าถึง 8 รอบ รอบสุดท้ายคือรอบอุรุกวัย มีการร่างข้อตกลง WTO ที่มีผลกระทบกว้างไกลกว่าเดิมมาก ส่วนข้อตกลง GATT มีการทบทวนและปรับปรุงให้ทันสมัย จนกลายเป็น GATT 1994 ที่อยู่ภายในกรอบข้อตกลง WTO ด้วยเหตุนี้ ระเบียบการค้าหลังสงครามโลกจึงแทบไม่มีส่วนใดคล้ายคลึงกับความหวังของเคนส์เลย องค์การการค้าโลกในปัจจุบันยิ่งห่างไกลจากวิสัยทัศน์ของเขาอย่างกู่ไม่กลับ


 


 


กฎบัตรฮาวานา


ในขณะที่ WTO ไม่มีความเชื่อมโยงกับสหประชาชาติ อีกทั้งไม่ได้รับรองเครื่องมือทางกฎหมายของสหประชาชาติเลย ซึ่งรวมทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948 ด้วย กฎบัตร ITO นั้นตรงกันข้าม มันเริ่มต้นด้วยการรับรองกฎบัตรของสหประชาชาติ มีการวางเป้าหมายไว้ที่การจ้างงานเต็มอัตรา, ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคมและการพัฒนา นอกเหนือจากเป้าหมายอื่น ๆ มาตราที่สองของกฎบัตร ITO ตั้งเป้าไปที่การแสวงหาวิธีการหลีกเลี่ยงการว่างงานและการจ้างงานต่ำระดับ (under-employment หมายถึงการจ้างต่ำกว่าระดับความสามารถหรือจ้างงานไม่เต็มเวลา—ผู้แปล) ในขณะที่ WTO ไม่เคยเอ่ยถึงเรื่องนี้เลย ITO ยืนยันชัดเจนเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานที่เป็นธรรม การปรับปรุงระดับค่าจ้างและสภาพการทำงาน กฎบัตร ITO ยังมอบหมายให้มีการประสานงานกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization--ILO) ด้วย


 


ขบวนการสหภาพแรงงานระหว่างประเทศใช้เวลาหกปีแรกที่ WTO ก่อตั้งขึ้นมา พยายามเรียกร้องให้มี "ข้อกำหนดด้านสังคม" ซึ่งเป็นแค่รูปแบบที่เจือจางลงมากแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับหลักการต่าง ๆ ที่บรรจุเอาไว้ใน ITO ในที่สุด สหภาพแรงงานก็ต้องยอมแพ้หลังจากการประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ที่กรุงโดฮาใน ค.ศ. 2001


 


กฎบัตร ITO มีการวางแผนเพื่อการถ่ายทอดฝีมือและเทคโนโลยี มันระบุว่า การลงทุนจากต่างประเทศไม่อาจนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก ประเทศที่อ่อนแอกว่า ยากจนกว่า มีสิทธิพิเศษในการใช้ความช่วยเหลือของรัฐบาล การแทรกแซง และ "ลัทธิคุ้มครอง" เพื่อการฟื้นฟูประเทศและการพัฒนา กฎบัตรระบุว่า "การอนุเคราะห์ในรูปแบบของมาตรการตามลัทธิคุ้มครองเป็นสิทธิอันชอบธรรม"


 


การอุดหนุนของรัฐ "ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมบางอย่างเพื่อแปรรูปสินค้าโภคภัณฑ์ขั้นพื้นฐานของท้องถิ่น" ได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษ บทบัญญัติหลายประการในกฎบัตรนี้ยังเกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน และใส่ใจกับการปกป้องคุ้มครองผู้ผลิตรายย่อย ITO อนุญาตให้รัฐบาลตั้งกองทุนเพื่อสร้างเสถียรภาพแก่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์แบบปีต่อปี และแนะนำให้ "อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป" มาตรการของกฎบัตรเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์และการส่งเสริมให้มีการเจรจาตกลงกันในหมู่ประเทศสมาชิกที่เป็นผู้ผลิต หากพิจารณาควบคู่กันแล้ว จะนำไปสู่ข้อสรุปที่น่าประหลาดใจ นั่นคือ แม้ไม่ได้ระบุออกมาตรง ๆ แต่ ITO สนับสนุนการจัดการในแบบโอเปก (OPEC) หรือการฮั้วกันของผู้ผลิตสำหรับผลผลิตขั้นพื้นฐานที่ได้จากธรรมชาติ (primary product) และกระบวนการแปรรูปในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มมูลค่า


 


แทนที่จะมีกฎเกณฑ์ช่วยให้การผลิตสินค้าโภคภัณฑ์เกิดผลกำไร ในปัจจุบันเราเห็นแต่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำลงจนฉุดไม่อยู่ ตามข้อมูลของที่ประชุมว่าด้วยการค้าและการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ (UNCTAD) ในระหว่าง ค.ศ. 1977-2001 สินค้าอาหารมีราคาลดลงโดยเฉลี่ย 2.6% ทุกปี ราคาน้ำผลไม้เขตร้อนลดลง 5.6% เมล็ดที่ให้น้ำมันและน้ำมันจากพืชลดลง 3.5% มีแต่โลหะเท่านั้น ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่แตกต่างจากอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากไม่มีการผลิตโดยผู้ผลิตรายย่อย สินแร่โลหะมีราคาดีกว่าหน่อยตรงที่ราคาลดลงต่อปีแค่ 1.9% กระนั้นก็ยังสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มประเทศผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์มีรายได้ลดลงมาก


 


กฎบัตรฮาวานาอนุญาตเป็นพิเศษให้มีการอุดหนุนต่ออุตสาหกรรมประจำชาติ โดยใช้ช่องทางของการให้เงินทุนอุดหนุนหรือการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล กฎบัตรนี้ส่งเสริมแม้กระทั่งการกำหนดโควตาเวลาฉายหนังเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ประจำชาติ อนุญาตให้ประเทศต่าง ๆ คุ้มครองเกษตรกรรมและการประมงท้องถิ่น ประเด็นที่มีการสู้รบกันอย่างดุเดือดที่สุดประเด็นหนึ่งในรอบโดฮาและเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้การเจรจาล้มเหลว ก็คือประเด็นเกี่ยวกับการให้เงินทุนอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตร ITO สั่งห้ามไม่ให้มีการส่งออกสินค้าเกษตรที่ได้รับการอุดหนุนในตลาดต่างประเทศ "โดยตั้งราคาต่ำกว่าราคาที่ขายแก่ผู้ซื้อภายในประเทศ" ประเทศใดที่ประสบปัญหาทางการเงินจะได้รับอนุญาตให้จำกัดการนำเข้า แต่ทำได้ในสัดส่วนที่เหมาะสมเท่านั้น และต้องจัดสรรโควตาที่เป็นธรรมแก่คู่ค้าที่ขายสินค้าให้มาก่อน


 


ระบบระเบียบในเชิงสถาบันของ ITO นั้นเรียบง่ายและเป็นประชาธิปไตย ทุกประเทศที่ได้รับเชิญให้มาร่วมประชุม UNCTAD ถือเป็นสมาชิกโดยปริยาย สมาชิกใหม่ในอนาคตต้องผ่านการรับรองจากที่ประชุมนี้ สมาชิกแต่ละรายมี 1 เสียง (ซึ่งแตกต่างจากธนาคารโลกและ IMF ที่คะแนนเสียงของแต่ละประเทศมีมากน้อยตามสัดส่วนของเงินบริจาค และสหรัฐอเมริกาสามารถคว่ำมติที่สำคัญใด ๆ ก็ได้) สมาชิกใดที่ค้างชำระเงินค่าสมาชิกต่อสหประชาชาติต้องเสียคะแนนในการลงมติไป ถ้าเป็นเช่นนั้น ใน ITO สหรัฐฯ คงไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเกือบทุกปี (สหรัฐฯ ค้างชำระเงินค่าสมาชิกของสหประชาชาติมาหลายปีแล้ว—ผู้แปล) ส่วนในด้านธรรมาภิบาล สมาชิกของ ITO ร่วมกันคัดเลือกคณะกรรมการบริหารจำนวน 18 คน โดย 8 คนมาจากกลุ่มประเทศที่มี "ความสำคัญทางเศรษฐกิจและส่วนแบ่งขนาดใหญ่ในการค้าโลก" อีก 10 คน เป็นตัวแทนของภูมิภาคและรูปแบบระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป การลงคะแนนเสียงใช้มติเสียงส่วนใหญ่ หรือในบางกรณีก็ใช้เสียงส่วนใหญ่สองในสาม การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทควรใช้วิธีการหารือ แต่ถ้าไม่ประสบผลสำเร็จ สมาชิกสามารถส่งข้อพิพาทแก่คณะกรรมการ ซึ่งสามารถตัดสินให้ประเทศสมาชิกที่ได้รับความเสียหายใช้มาตรการตอบโต้หรือชดเชยได้


 


 


ระบบการเงินของการค้า


ความพยายามที่จะสถาปนาระเบียบใหม่ทางการค้าข้างต้น เกิดขึ้นในบริบทของโลกที่กำลังดิ้นรนพลิกฟื้นจากซากปรักหักพังของสงคราม นอกจากสหรัฐอเมริกา ไม่มีประเทศไหนเลยมีเงินเหลือ แผนการมาร์แชล (แผนการช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรปหลังสงครามโลกของสหรัฐอเมริกา—ผู้แปล) เป็นการกุศลแค่ส่วนเดียว อีกเก้าส่วนที่เหลือเป็นการหาผลประโยชน์เข้าตัว แต่มันก็เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการเขี่ยลูกเริ่มต้นการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป มิฉะนั้น สหรัฐฯ เองคงต้องประสบชะตากรรมของการผลิตมากเกินกว่าตนเองบริโภคได้หมด และไม่เหลือประเทศไหนที่สหรัฐฯ สามารถขายสินค้าให้ได้


 


ในสภาพแวดล้อมอย่างนี้ ทำอย่างไรจะช่วยให้ทุกประเทศพยุงตัวลุกขึ้น เริ่มผลิตและค้าขายกันอีกครั้ง? เคนส์วางเค้าโครงหนทางแก้ไขไว้ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1940 เนื่องจากสงครามโลกเป็นผลลัพธ์ส่วนหนึ่งจากนโยบายการค้าแบบ "ทำเพื่อนบ้านให้เป็นขอทาน" (beggar-thy neighbour ดูท้ายบทความ—ผู้แปล) ทุก ๆ ประเทศตั้งหน้าตั้งตาแข่งขันแย่งชิงตลาดเดียวกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เคนส์ต้องการสร้างหลักประกันไม่ให้ประเทศใดสามารถครอบงำตลาดทั้งหมดและได้เปรียบดุลการค้าอย่างมหาศาล ทางออกที่เขาคิดค้นไว้ก็คือ ICU กล่าวคือ การก่อตั้งธนาคารกลางของธนาคารกลางทั้งหลายขึ้นมา ICU มีหน้าที่ออกเงินตราแบงเคอร์สำหรับใช้ในการค้า


 


ภายใต้ระบบนี้ ผู้ส่งออกจะได้เงินตราแบงเคอร์และผู้นำเข้าต้องจ่ายด้วยเงินตรานี้ ประเด็นสำคัญคือการรักษาการส่งออกและนำเข้าให้สมดุลกัน จนเมื่อถึงสิ้นปี บัญชีของแต่ละประเทศที่เปิดไว้กับ ICU จึงไม่ควรได้ดุลหรือขาดดุล แต่ "เคลียร์" (clear) นั่นคือ เหลือเกือบเป็นศูนย์ เงินตราประจำชาติของแต่ละประเทศจะมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ตายตัวแต่ยืดหยุ่นได้โดยเทียบกับเงินแบงเคอร์ ในแนวคิดดั้งเดิมของเคนส์นั้น ประเทศที่มีแบงเคอร์มากเกินไปอาจทำให้ระบบพังทลายได้พอ ๆ กับประเทศที่มีแบงเคอร์น้อยเกินไป กล่าวคือ เจ้าหนี้เป็นตัวอันตรายต่อเสถียรภาพและความมั่งคั่งพอ ๆ กับลูกหนี้


 


ประเทศต่าง ๆ จะถูกบังคับให้ปฏิบัติตามและรักษาดุลบัญชีเกือบศูนย์นี้อย่างไร? วิธีการที่คิดค้นไว้มีความแยบคายมาก ICU ซึ่งมีบทบาทเป็นธนาคารกลางและผู้ออกแบงเคอร์ จะอนุญาตให้แต่ละประเทศมีวงเงินสินเชื่อที่เบิกเกินบัญชีได้ เช่นเดียวกับที่ธนาคารทั่ว ๆ ไปอนุญาตต่อลูกค้า วงเงินเบิกเกินบัญชีที่ ICU อนุญาตจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าโดยเฉลี่ยในช่วงห้าปีก่อนหน้าของประเทศนั้น ๆ ประเทศใดที่ใช้เงินเกินวงเงินที่กำหนดให้จะถูกคิดดอกเบี้ยจากส่วนต่างที่เกิดขึ้น ลูกหนี้จะถูกเก็บดอกเบี้ยจากการขาดดุล แต่นวัตกรรมที่แท้จริงก็คือ เจ้าหนี้หรือประเทศที่ได้ดุลการค้า ก็ต้องถูกเก็บดอกเบี้ยจากส่วนเกินที่ได้ดุลมาด้วย ยิ่งขาดดุลหรือได้ดุลมากเท่าไร อัตราดอกเบี้ยก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น


 


ประเทศที่ขาดดุลการค้าจะต้องลดค่าเงินลง เพื่อทำให้สินค้าส่งออกของตนราคาถูกลงและน่าซื้อมากขึ้น ส่วนประเทศที่ได้ดุลก็ต้องปรับค่าเงินของตนใหม่เพื่อทำให้สินค้าส่งออกมีราคาแพงขึ้นและน่าซื้อน้อยลง หากประเทศที่ได้ดุลการค้าไม่ยอมลดส่วนเกินที่ได้ดุลลง ICU จะริบเครดิตทั้งหมดที่เกินกว่าวงเงินเบิกเกินบัญชีที่อนุญาตไว้ และเก็บส่วนที่ริบมาไว้ในทุนสำรอง เคนส์ต้องการใช้ทุนสำรองนี้สนับสนุนทางการเงินแก่กองกำลังตำรวจโลก การบรรเทาสาธารณภัยและมาตรการอื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศสมาชิกทั้งหมด


 


 


การจัดการที่แยบคาย


นี่เป็นการจัดการที่แยบคาย เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียดอกเบี้ยหรือต้องถูกริบเงินไปหมด ประเทศที่ได้ดุลการค้าย่อมรีบซื้อสินค้าส่งออกจากประเทศที่ขาดดุล ประเทศที่ขาดดุลก็จะขายสินค้าได้มากขึ้นและฟื้นดุลยภาพขึ้นใหม่ได้ง่าย ทุก ๆ ประเทศได้ประโยชน์ถ้วนหน้า การค้าย่อมขยายตัว โลกจะมั่งคั่งและสงบสันติกว่าเดิม ประเทศด้อยพัฒนาจะมีเงินทุนมากขึ้นเพื่อลงทุนในด้านการพัฒนา และไม่มีทางมีหนี้สินท่วมหัวอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้


 


ดังที่เราทราบกันดี เคนส์ไม่ประสบความสำเร็จและวิสัยทัศน์ถึงโลกหลังสงครามของเขาไม่เคยเป็นจริงขึ้นมา ธนาคารโลกและ IMF สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายไปทั่วด้วยนโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หนี้สินของประเทศโลกที่สามไม่มีวันจ่ายคืนหมด และเดี๋ยวนี้วอลล์สตรีทมีอำนาจเหนือการตัดสินใจทางนโยบายของรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย (ดังที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วในกรณีของประธานาธิบดีลูอิซ "ลูลา" อินาเซียว ดา ซิลวา ของบราซิล รวมทั้งผู้นำคนอื่น ๆ อีกหลายคนในประเทศที่มีหนี้สิน) กฎเกณฑ์การค้าโลกไม่เอื้อประโยชน์ต่อสมาชิกที่ยากจนของ WTO ส่วนประเทศที่ร่ำรวยก็นับวันจะยิ่งเห็นแก่ตัวพร้อม ๆ กับรวยขึ้น ๆ


 


ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ขบวนการความยุติธรรมโลกจะผลักดันให้การค้าที่เป็นธรรมกลายเป็นจริงขึ้นมาได้อย่างไร ในเมื่อ WTO และกฎเกณฑ์อันเลวร้ายของมันดำรงอยู่ก่อนแล้ว? จอร์จ มอนเบียท (George Monbiot) นักคิดนักเขียนเชื่อว่า ซีกโลกใต้สามารถใช้หนี้สินจำนวน 26,000 พันล้านดอลลาร์เป็นเสมือน "อาวุธนิวเคลียร์" ที่ใช้ข่มขู่ระบบการเงินโลกและบีบคั้นจนกว่าจะยอมก่อตั้ง ICU ขึ้นมา ซีกโลกใต้สามารถนำร่องด้วยการสร้างสำนักหักบัญชีกลางขนาดเล็กระดับภูมิภาคขึ้นมาก่อน บางทีละตินอเมริกาอาจประเดิมแผนการแบบนี้ก่อนก็ได้ บางทีรัฐบาลใหม่ในฝรั่งเศสอาจนำเรื่องนี้บรรจุไว้ในวาระทางนโยบาย ทีเรื่องพิลึกกึกกือกว่านี้ยังทำกันได้เลย แต่เรื่องสำคัญที่เราต้องตระหนักแก่ใจก็คือ เราไม่จำเป็นต้องประดิษฐ์คิดค้นกงล้อการค้าขึ้นมาใหม่หรอก เคนส์คิดค้นไว้ให้หมดแล้วตั้งแต่ 60 ปีก่อน


 


 


 


 


เชิงอรรถของผู้เขียน


1. ก่อนที่ดิฉัน (ซูซาน ยอร์จ) จะได้อ่านหนังสือ George Monbiot"s The Age of Consent, Flamingo, London, 2003. ดิฉันก็เชื่อเหมือน ๆ คนส่วนใหญ่ว่า เคนส์นั่นแหละเป็นคนวางแผนในการก่อตั้งธนาคารโลกและ IMF มอนเบียทใช้ข้อมูลจากการวิจัยของนักประวัติศาสตร์ Armand van Dormael ในหนังสือชื่อ Bretton Woods: Birth of a Monetary System, Macmillan, London, 1978 มาอธิบายว่า เคนส์สามารถโน้มน้าวจนสหรัฐฯ ยอมคล้อยตามในระดับหนึ่ง เขาทำนายไว้แล้วว่า IMF จะทำให้เกิดหนี้สินที่จ่ายไม่หมด แต่ในที่สุด เคนส์ก็ยอมรับข้อเสนอของฝ่ายสหรัฐฯ เพราะเขานิยมระบบที่มีกฎเกณฑ์ แต่เขาไม่พอใจกับผลลัพธ์ที่ออกมา


2. ขอให้สังเกตดูการตั้งชื่อ องค์การการค้าโลกไม่ยอมให้ความสนใจต่อประเด็นการจ้างงานเสมอมา


3. ประวัติศาสตร์ช่วงนี้มีบรรยายอยู่ใน Susan Ariel Aaronson, Trade and the American Dream: A Social History of Postwar Trade Policy, University Press of Kentucky, Lexington, 1996.


 


บันทึกท้ายบทความของผู้แปล


Beggar-Thy-Neighbour เป็นคำเรียกมาตรการทางเศรษฐกิจที่ประเทศหนึ่งใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในประเทศของตน เช่น ปัญหาการว่างงาน ฯลฯ แต่มาตรการที่ใช้กลับสร้างผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่น เช่น ประเทศ ก อาจกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้นด้วยการเพิ่มการส่งออกหรือลดการส่งออก โดยอาจใช้มาตรการลดค่าเงินหรืออุดหนุนสินค้าส่งออก แต่ผลประโยชน์ของประเทศ ก ที่เพิ่มขึ้นกลับทำให้ประเทศ ข ต้องเสียผลประโยชน์ โดยอาจส่งออกได้น้อยลงหรือมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดจากว่างงานขึ้นมาในประเทศ ข แทน เป็นต้น ในกรณีแบบนี้ ประเทศ ข มักตอบโต้ด้วยมาตรการอย่างเดียวกัน


 


Ë         Ë         Ë


 


Susan George เป็นนักเขียน นักวิชาการและนักกิจกรรมสังคม เธอเคยเป็นรองประธานขององค์กร ATTAC (Association for Taxation of Financial Transaction to Aid Citizens) สำนักงานใหญ่ในฝรั่งเศส (1999-2006) เคยเป็นกรรมการของกรีนพีซสากลและกรีนพีซฝรั่งเศส (1990-95) เป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานสหประชาชาติหลายหน่วยงาน และเขียนหนังสือเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น รายงานลูกาโน (The Lugano Report), Another World is Possible if...(2004), ฯลฯ ซึ่งได้รับการแปลหลายภาษาทั่วโลก


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net