สัมภาษณ์ ปิยบุตร แสงกนกกุล กรณี คมช. ฟ้องจาตุรนต์ : "คนที่ข่มขืนกฎหมายจะมาอ้างกฎหมายได้อย่างไร"

28 ก.พ. 2550 "พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. กล่าวว่าที่ประชุม คมช.มีมติดำเนินการตามกฎหมายกับ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กรณีลงพื้นที่ภาคอีสานเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่ง คมช.พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายละเมิดคำสั่งของคณะปฎิรูปการปกครองฯ หรือ คปค. ฉบับที่ 15 และ 27 โดยได้มอบหมายให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการ ขณะเดียวกันในวันนี้ประธาน คมช.ยังได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือกับ คมช.ด้วย"

 

ข่าวชิ้นไม่สั้นไม่ยาวปรากฏข้อความทำนองเดียวกันนี้ตามสื่อต่างๆ และเป็นข่าวมอนิเตอร์สั้นๆ อยู่ในเว็บประชาไท


หลายเสียงทางฝั่งรัฐบาลออกมาขานรับว่า งานนี้รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยผิดเต็มประตู ซ้ำนักกฎหมายบางคนยังบอกว่าเป็นความผิดสำเร็จเสียด้วย

 

นี่จึงย้อนกลับมาที่คำถามเก่าๆ แก่ๆ ซ้ำๆ ซากๆ ตั้งแต่หลังการรัฐประหารหมาดๆ ว่า คำสั่งคปค. นั้น แท้ที่จริงแล้วมีผลที่จะบังคับเป็นกฎหมายหรือไม่ รวมถึงคำสั่งอันสุดเฉียบขาดตัดตอนสิทธิเสรีภาพทางการเมือง 2 ฉบับนี้ มีฐานะเป็นกฎหมายที่สมควรบังคับใช้หรือไม่

 

ประชาไท ไปย้อนคำถามเก่าๆ กับนักกฎหมายรุ่นใหม่จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ที่ออกแถลงการณ์ต่อต้านการรัฐประหารที่ถือได้ว่าที่ชัดเจนที่สุด

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นอาจารย์ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์มหาวิททยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนี้ ศึกษาระดับปริญญาเอก ด้านกฎหมายมหาชนอยู่ที่มหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศส เขาพูดชัดๆ กับประเด็นการจะใช้คำสั่ง คปค. บังคับกับกรณีของจาตุรนต์ว่า "คนที่ข่มขืนกฎหมายจะมาอ้างกฎหมายได้อย่างไร" โปรดติดตามคำอธิบายนับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป…..

 

000

 

กรณีที่ คมช ใช้คำสั่ง คปค ฉบับที่ ๑๕ และ ๒๗ ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพื่อดำเนินคดีกับคุณจาตุรนต์เป็นกฎหมายที่ใช้ได้ตามหลักนิติรัฐหรือไม่ ?

ก่อนอื่น ผมคิดว่าเราต้องตั้งคำถามกับตนเองก่อนว่าเราปรารถนาให้ประเทศไทยเป็นนิติรัฐหรือไม่ เราอยากสถาปนาหลักนิติรัฐให้เป็นหลักที่มีความมั่นคงถาวรตลอดไปหรือเปล่า ถ้าต้องการเช่นนั้น ทุกคนต้องช่วยกันพยายามปลูกฝังหลักการนี้ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยให้ได้

 

แล้วหลักนิติรัฐคืออะไร หลักนิติรัฐเรียกร้องว่าเวลาที่รัฐจะกระทำการบางอย่างบางประการ ต้องถามตัวเองก่อนว่ามีกฎหมายอะไรให้อำนาจไว้หรือไม่ ถ้ามีรัฐก็ลงมือกระทำได้ แต่ถ้าหาไม่พบรัฐก็ห้ามกระทำ กล่าวให้ชัดเจนก็คือเป็นไปตามหลักของกฎหมายมหาชนที่รัฐทำได้เท่าที่กฎหมายให้อำนาจ ซึ่งตรงกันข้ามกับหลักกฎหมายเอกชนที่ทำได้ตราบที่ไม่มีกฎหมายห้าม เมื่อมีกฎหมายให้อำนาจแล้ว ยามใดที่รัฐทำอะไรลงไปก็ต้องไม่ให้ไปขัดกับกฎหมายด้วย กฎหมายในนิติรัฐจึงทำหน้าที่สองบทบาท หนึ่ง เป็นที่มาของอำนาจ และสอง เป็นข้อจำกัดการใช้อำนาจ

 

เรามักท่องจำต่อๆกันมาว่าหลักนิติรัฐเป็นการปกครองโดยกฎหมาย ถือกฎหมายเป็นใหญ่ กล่าวเช่นนี้ก็ถูก แต่ถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะหลักนิติรัฐเรียกร้องต่อไปอีกว่า กฎหมายที่ใช้ปกครองบ้านเมืองนั้นต้องเป็น "กฎหมายที่ดี" ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายที่มีเนื้อหาที่จำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างมาก กฎหมายที่เลือกปฏิบัติ กฎหมายที่ไร้มนุษยธรรม กฎหมายที่มีเนื้อหาเผด็จการ หรือกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม จะเป็นที่มาของการใช้อำนาจรัฐได้ รัฐไม่อาจอ้างกฎหมายเหล่านี้เพื่อใช้อำนาจดำเนินการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

 

หากเรายึดติดหลักนิติรัฐเชิงรูปแบบ ด้วยการท่องคาถาว่า ปกครองโดยกฎหมาย กฎหมายเป็นใหญ่ โดยไม่ใส่ใจว่ากฎหมายที่ใช้ปกครองนั้นมีเนื้อหาอย่างไร วิปริตวิปลาศเพียงใด ขอให้รัฐอ้างกฎหมายเป็นใช้ได้ เท่ากับว่าหากใครยึดอำนาจรัฐได้แล้ว จะออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอย่างไรก็ได้ อย่างนั้นหรือ ประวัติศาสตร์สอนเราว่าการปกครองที่เลวร้ายในสมัยนาซีล้วนแล้วแต่เป็นไปตามกฎหมายทั้งสิ้น ฮิตเลอร์ยึดอำนาจสภาและออกกฎหมายที่ไร้มนุษยธรรมเป็นจำนวนมากโดยกล่าวอ้างอย่างเต็มปากเต็มคำว่าการกระทำของพลพรรคนาซีเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ นิติรัฐแบบนาซีย่อมเป็นนิติรัฐที่ไม่พึงปรารถนา

 

อะไรคือ "กฎหมายที่ดี" ?

แน่นอน หลักนิติรัฐไม่ได้เรียกร้องไปถึงขนาดว่าต้องออกกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระรายละเอียดแบบใด เพื่อนโยบายอะไร เพราะนั่นเป็นเรื่องของนิตินโยบาย แต่กฎหมายที่ดี มีหลักกว้างๆ คือ ต้องมีเนื้อหาที่แน่นอนชัดเจน มีผลทั่วไป ไม่มีโทษย้อนหลัง มีความเป็นธรรม เสมอภาค และเป็นไปตามหลักสัดส่วนหรือพอสมควรแก่เหตุนั่นเอง

 

คำสั่ง คปค ฉบับที่ ๑๕ และ ๒๗ ที่กำลังจะใช้บังคับกับคุณจาตุรนต์เป็น "กฎหมายที่ดี" หรือไม่ ?

ในส่วนที่คณะรัฐประหารใช้ดำเนินคดีกับคุณจาตุรนต์เรื่องห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เกี่ยวกพันกับเสรีภาพทางการเมือง ในรัฐสมัยใหม่เรายอมรับสิทธิเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น พลเมืองมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นพรรคการเมือง เมื่อเป็นเสรีภาพในระดับพื้นฐานแล้ว การออกมาตรการบางอย่างเพื่อไปจำกัดเสรีภาพเหล่านี้ก็ต้องมีเหตุผลเพียงพอว่าทำไปเพื่อการใด แต่เมื่อเรามาดูข้อ ๒ ของคำสั่ง เขียนไว้สั้นๆว่า "เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุมหรือดำเนินกิจการใดๆในทางการเมือง และการดำเนินการเพื่อการจัดตั้งหรือจดทะเบียนพรรคการเมืองให้ระงับไว้เป็นการชั่วคราว" ซึ่งผมคิดว่าการห้ามดำเนินกิจกรรมนั้นไม่สมเหตุสมผลเท่าไรนัก

 

เพราะคำสั่ง คปค ฉบับนี้ จำกัดสิทธิมากเกินไป ?

ผมคิดว่าไม่ใช่แค่จำกัดสิทธิมากเกินไป คำสั่งนี้ไม่ใช่แค่ "จำกัด" สิทธิเสรีภาพ แต่เป็น "กำจัด" มากกว่า จริงอยู่สิทธิเสรีภาพทางการเมืองเป็นสิทธิเสรีภาพที่ไม่สัมบูรณ์ ถูกจำกัดได้ แต่การจำกัดนั้นต้องมีเงื่อนไข รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๒๙ วางเงื่อนไขไว้ว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพต้องทำโดยกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ เฉพาะเพื่อกรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทำเท่าที่จำเป็น กระทบสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพไม่ได้ และต้องมีผลทั่วไป ห้ามใช้บังคับเฉพาะเจาะจง แต่เมื่อมาพิจารณาจากคำสั่ง คปค จะเห็นได้ว่าบอกแค่ว่าห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย การห้ามดำเนินกิจกรรมนี้นับว่าเป็นการกระทบสาระสำคัญของเสรีภาพของการรวมตัวเป็นพรรคการเมือง เพราะ ถ้าไม่ให้ทำกิจกรรมแล้วจะมีพรรคการเมืองไปทำไม คณะรัฐประหารอาจบอกว่า แรกๆจำเป็นต้องห้าม เพราะสถานการณ์ยังไม่นิ่ง ตอนนี้เริ่มผ่อนปรนแล้ว หากพรรคไหนอยากทำกิจกรรมก็ให้มาขออนุญาตเป็นรายๆไป ผมเห็นว่ายังเป็นการจำกัดเสรีภาพที่มากเกินไปอยู่ดี เพราะในรัฐเสรีประชาธิปไตยซึ่งตรงข้ามกับเผด็จการ ถือกันว่า หลัก คือ มีสิทธิเสรีภาพ ยกเว้น คือ สิทธิเสรีภาพอาจถูกจำกัดได้ และการใช้สิทธิและเสรีภาพย่อมทำได้ด้วยตนเอง ตามอัตวินิจฉัยของตนเอง โดยไม่ต้องขออนุญาตรัฐก่อน

 

ผมเห็นว่าการไม่ให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง หรือการต้องขออนุญาต คมช ก่อนที่จะดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ย่อมเท่ากับว่าเป็นการไม่รับรองเสรีภาพของพรรคการเมืองนั่นเอง เพราะ เมื่อพรรคการเมืองไม่สามารถทำกิจกรรมได้ ก็ไม่มีทางที่พรรคการเมืองจะมีโอกาสแสดงเจตจำนงทางการเมืองของตน อันเป็นภารกิจหลักของพรรคการเมือง

 

แต่ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ ถูกฉีกไปแล้ว

ถูกฉีกจริงหรือไม่ ก็ขึ้นกับว่าเรายอมรับอำนาจที่มาจากรัฐประหารหรือเปล่า ยังถกเกียงกันได้อีกในระดับนิติปรัชญาหรือปรัชญาการเมือง สมมติยอมรับตรงกันว่า รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ไม่มีผลแล้ว ไม่มีบทบัญญัติแบบมาตรา ๒๙ อีกแล้ว แต่เราจะไปพิจารณาอยู่แค่กฎหมายลายลักษณ์อักษรอย่างเดียวไม่ได้ ในพรมแดนของกฎหมาย ไม่ใช่มีแค่กฎหมายลายลักษณ์อักษร แต่ยังมีกฎหมายจารีตประเพณี หลักกฎหมายทั่วไป หลักความยุติธรรมตามธรรมชาติที่วิญญูชนให้คุณค่าได้ว่าถูกหรือผิด ภารกิจหลักของวิชานิติศาสตร์อยู่ที่ความยุติธรรม ความถูกต้อง ความมีเหตุผล ไม่ใช่แค่ตัวอักษรเปื้อนหมึกที่ถือเป็นกฎหมายเพราะผู้มีอำนาจบอกว่ามันเป็นกฎหมาย

 

จริงๆแล้ว รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๙ ก็รับรองสิทธิและเสรีภาพไว้

คงหมายถึงมาตรา ๓ มาตรา ซึ่งบัญญัติว่า "ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้" นี่เป็นมาตราที่ผู้ร่างบอกว่าทำให้รัฐธรรมนูญชั่วคราวแปลกใหม่มากในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะมีการรับรองสิทธิและเสรีภาพ แถมยังพ่วงเอาสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมายระหว่างประเทศเข้าไปอีก แต่คนเขียนมาตรานี้วางยาไว้แล้วตรงคำว่า "ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ " นั่นหมายความว่า รับรองสารพัดสิทธิ สารพัดเสรีภาพ แต่ถ้ารัฐธรรมนูญนี้มีข้อยกเว้นเป็นอย่างอื่น สิทธิและเสรีภาพที่รับรองไว้ก็ถือว่าไม่มี

 

แล้วคำสั่งของ คปค ฉบับนี้ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ผมคิดว่ามีปัญหา เพราะการที่รัฐจะไปจำกัดเสรีภาพ ไม่ใช่ทำอย่างพร่ำเพรื่อ แต่ต้องมีเหตุผล และพอเหมาะพอควร หลักกฎหมายหลักหนึ่งที่นักกฎหมายมหาชนรู้จักกันดี คือ หลักแห่งความได้สัดส่วน ซึ่งก็ถือเป็นหลักการย่อยหลักการหนึ่งในนิติรัฐ บอกว่าเวลาที่รัฐจะออกมาตรการที่มีผลจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนต้องคำนึงถึง ๓ ข้อ ข้อแรก รัฐต้องถามตนเองว่ามาตรการที่ออกมานั้นมีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ ไม่ใช่สักแต่จำกัดสิทธิเสรีภาพ โดยไม่ได้ประเมินเลยว่าจำกัดแล้วจะได้อะไรกลับมาบ้าง ข้อสอง รัฐต้องพิจารณาว่ามาตรการนั้นทำไปด้วยความจำเป็น ไม่มีหนทางอื่นอีกแล้วนอกจากการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ข้อสาม รัฐต้องคำนวณว่ามาตรการที่ใช้นั้น เกิดผลดีมากกว่าผลเสีย

 

กรณีนี้ โฆษก คมช อ้างตลอดว่าเพื่อความมั่นคง เพื่อความสงบเรียบร้อย เมื่อพิจารณาดูตามหลักความได้สัดส่วน ข้อแรก ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม เพราะเป็นมาตรการที่ทำให้บ้านเมืองสงบ ไม่มีคลื่นใต้น้ำ ผมเห็นว่า หากผมเป็น คมช มาตรการนี้ไม่น่าจะทำให้วัตถุประสงค์เพื่อความสงบบรรลุผล เพราะห้ามแต่พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมทั้งหมด ไม่ได้ห้ามกลุ่มการเมืองอื่นเลย อย่างนี้ถ้าเป็นกลุ่มการเมืองอื่น ที่ยังไม่ได้ตั้งเป็นพรรค ก็ไม่อยู่ภายใต้ข้อห้ามนี้ แล้วเกิดกลุ่มการเมืองพวกนี้ไปดำเนินกิจกรรม คมช จะรู้ได้อย่างไรว่าไม่กระทบความสงบ หรือเป็นเพราะแค่ว่าไม่ได้สังกัดไทยรักไทยปุ๊บ ก็สามารถดำเนินกิจกรรมได้ทันที ข้อสอง การห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมเป็นความจำเป็น ไม่มีมาตรการอื่นอีกแล้ว จริงหรือไม่? ผมว่าไม่น่าใช่ น่าจะมีมาตรการอื่นอีก โดยไม่ต้องถึงขนาดจำกัดเสรีภาพไม่ให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ข้อสาม ผลลัพธ์จากการห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม ได้มากกว่าเสียหรือไม่? ก็ไม่จริงอีก

 

ในฝรั่งเศสมีหลายคดีที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพทางการเมืองด้วยการออกมาตรการห้ามต่างๆ มีคดีหนึ่ง ในปี ๑๙๓๓ นายบ็องจาแม็งได้รับเชิญไปกล่าวปาฐกถาที่เมืองเนอแวร์ ปรากฏว่าสหภาพครูประกาศว่าจะประท้วง ไม่ยอมให้นายบ็องจาแม็งได้กล่าวปาฐกถา เพราะ นายบ็องจาแม็งเคยตำหนิแนวคิดโรงเรียนแบบรัฐฆราวาสที่มีความเป็นกลางทางศาสนา นายกเทศมนตรีเมืองเนอแวร์เกรงว่าจะเกิดความวุ่นวาย จึงออกคำสั่งห้ามมิให้มีการชุมนุมประท้วง เรื่องไปถึงศาลปกครองสูงสุด ศาลตัดสินว่านายกเทศมนตรียังมีมาตรการอื่นๆอีก เช่น การควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปอย่างสงบ การวางกำลังป้องกันในกรณีหากเกิดความวุ่นวาย โดยไม่ต้องใช้มาตรการห้ามคนมาชุมนุมประท้วง จึงสั่งเพิกถอนคำสั่งห้ามการชุมนุม หรือปีถัดมา มีอีกคดี รัฐบาลสั่งยุบเลิกสันนิบาตAction française ซึ่งมีแนวคิดรอแยลลิสต์ ปรากฏว่านายชาร์ลส์ โมร์ราส หัวหน้าใหญ่สั่งให้มีการจัดประชุมใหญ่เพื่อระดมพลแสดงท่าทีประท้วงที่เมืองลียง นายกเทศมนตรีออกคำสั่งห้ามชุมนุม นายโมร์ราสฟ้องศาลปกครอง ศาลตัดสินว่า แม้การจัดประชุมของนายโมร์ราสอาจเสี่ยงต่อความไม่สงบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องจำกัดเสรีภาพของนายโมร์ราส นายกเทศมนตรียังมีวิธีอื่นอีกเช่น เพิ่มกองกำลังควบคุมความสงบ จึงตัดสินให้เพิกถอนคำสั่งห้ามประชุม

 

แต่มาตรา ๓๖ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๙ ก็รับรองไว้แล้วว่าคำสั่งของ คปค ทั้งหลายชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด

ก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติและความกล้าหาญทางวิชาชีพของผู้ใช้กฎหมายว่าจะยึดกฎหมายลายลักษณ์อักษรในมาตรา ๓๖ เป็นคัมภีร์ หรือว่าจะใช้เหตุผล ใช้ความยุติธรรมตามธรรมชาติเป็นเกณฑ์พิจารณา ผมเชื่อว่าในมโนธรรมสำนึกของวิญญูชนคงตัดสินได้ว่าในเนื้อหาสาระของคำสั่งของ คปค จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายทุกคำสั่งเลยหรือ มันง่ายขนาดที่ว่าเขียนมาตรา ๓๖ แล้วจะเสกให้ทุกอย่างที่คณะรัฐประหารทำเป็นสิ่งถูกต้องหมด อย่างนั้นหรือ ผมคิดว่าไม่ใช่

 

แล้วควรดำเนินการอย่างไรต่อไป

ผมอยากให้องค์กรตุลาการมีโอกาสเข้ามาวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งของ คปค หากคุณจาตุรนต์ถูกดำเนินคดีจริง ก็น่าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายที่พอมีอยู่บ้าง ฟ้องศาลต่อไปว่าการกระทำของ กกต หรือตำรวจไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมีฐานที่มาจากคำสั่งของ คปค ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพมากจนเกินไป ไม่ได้สัดส่วน หรืออาจฟ้องขอเพิกถอนคำสั่ง คปค โดยตรงเลยก็ได้

 

ผลจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้ แต่อย่างน้อยก็เป็นการเปิดโอกาสให้เรื่องไปสู่ศาล ให้ศาลได้ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกับคำสั่งที่ออกโดยคณะรัฐประหาร จะเดินตามรอยเดิมที่ยอมรับตลอด จะยึดกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ออกโดยคณะรัฐประหารอย่างมาตรา ๓๖ หรือจะกล้าใช้เหตุผลพิจารณาจากเนื้อหาเป็นกรณีไป

 

สุภาษิตกฎหมาย "เมื่อเสียงปืนดังขึ้น กฎหมายก็เงียบลง" ที่เรารู้จักกันดีนั้น หมายความว่า เมื่อผู้มีอำนาจใช้กำลัง เหล่านักกฎหมายจะเงียบลง เพราะเราใช้เหตุผลเป็นหลัก พูดง่ายๆคือ กฎหมายเป็นเรื่องของเหตุผล เมื่อคุณใช้กำลังเราก็คงสังฆกรรมกันไม่ได้ หรือ วิชาที่ใช้เหตุผลไปด้วยกันไม่ได้กับกำลัง ที่ว่า "กฎหมายก็เงียบลง" นั้น ไม่ใช่หมายความว่าพอมีเสียงปืนดัง มีรัฐประหาร นักกฎหมายควรเงียบๆ เก็บเนื้อเก็บตัว รอดูทิศทางลม หรือไปรับใช้ผู้มีกำลังเสียเลย ผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาที่นักกฎหมาย โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายหรือวินิจฉัยชี้ขาดคดี ต้องกล้าที่จะยืนหยัดอยู่บนหลักการ กล้าที่จะปฏิเสธสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมอันเป็นผลผลิตจากรัฐประหาร ไม่อย่างนั้น รัฐประหารก็ไม่มีวันหายไปจากสังคมไทย

 

คิดอย่างไรกับการดำเนินการของ คมช ในครั้งนี้

ที่ผมรับไม่ได้ที่สุด คือ คณะรัฐประหารอ้างกฎหมายตลอด แต่ไม่ได้คำนึงถึงเลยว่าตอนตนเองทำรัฐประหารนี่เป็นการทำลายระบบกฎหมายอย่างร้ายกาจที่สุด กลายเป็นว่ากลุ่มคนที่ข่มขืนระบบกฎหมาย แต่ปากอ้างกฎหมายตลอดเวลา ยามใดต้องการปราบปรามปรปักษ์ทางการเมืองก็อ้างกฎหมาย ซึ่งก็เขียนด้วยตนเองอีก พอเวลาไม่มีกฎหมายให้อ้าง หรือคู่กรณีใช้กระบวนการทางกฎหมายตอบโต้บ้าง กลับไม่พูดถึงกฎหมายแต่เลี่ยงไปใช้คุณธรรมบ้าง สมานฉันท์บ้าง จะว่าไปคณะรัฐประหารคงเหนียมอายเหมือนกันหากพูดชัดๆว่าพวกผมมีปืน แล้วการที่โฆษก คมช ออกมาแถลงมติ คมช ให้ กกต และตำรวจดำเนินการกับคุณจาตุรนต์ ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า คมช เป็นรัฐบาลตัวจริง

 

ที่น่าผิดหวังมากขึ้นไปอีก ก็คือ กกต บางคน ซึ่งก็เป็นผู้พิพากษา อัยการทั้งนั้น รีบออกมารับลูกทันทีว่าจะดำเนินการต่อไป เพราะคำสั่งฉบับที่ ๑๕ และ ๒๗ เป็นกฎหมาย เมื่อพรรคการเมืองฝ่าฝืนกฎหมายก็อาจถูกยุบพรรคตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เหตุผลแบบนี้ยิ่งชี้ให้เห็นชัดเลยว่าทัศนคติของผู้พิพากษาไทย ผู้ใช้กฎหมายไทย ส่วนใหญ่เคารพอำนาจ มากกว่าที่มาของอำนาจ มากกว่าความถูกต้อง ยอมรับกฎเกณฑ์ที่ออกโดยคณะรัฐประหารโดยไม่โต้แย้งใดๆเลย เมื่อเชื่อกันแบบนี้ก็ไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมที่ผ่านมาระบบกฎหมายไทยถึงมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ยอมรับการกระทำของคณะรัฐประหาร และทำไมคำกล่าวที่ว่าอย่างไรเสียคณะรัฐประหารก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้วจึงหลุดจากปากของนักกฎหมายอยู่บ่อยๆ

 

มีข้อเสนออะไรฝากไปถึง คมช

อย่างที่ผมและเพื่อนอาจารย์เคยออกแถลงการณ์ไป ๓ ฉบับ ผมเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งหรือมาตรการที่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพอย่างมากและไม่สมเหตุสมผลให้หมด ไม่เฉพาะเรื่องการห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม แต่รวมไปถึงกรณีกำหนดโทษห้ามเล่นการเมือง ๕ ปี ย้อนหลังไปใช้กับผู้บริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ และกฎอัยการศึกตามพื้นที่ต่างๆด้วย

 

ส่วนเรื่องร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น เมื่อฐานที่มาของรัฐธรรมนูญใหม่นี้มีลักษณะอัปลักษณ์ เพราะมาจากรัฐประหารแล้ว ผมจึงไม่เห็นหนทางที่จะยอมรับได้ อาจมีคนพูดกันว่าให้รับไปก่อน แล้วค่อยแก้ไขกัน ถ้าไม่รับไป เดี๋ยว คมช เอารัฐธรรมนูญฉบับไหนไม่รู้มาปรับปรุงใช้แทนจะยุ่ง บางคนบอกว่ายังไม่ทันจะเสร็จ มาฆ่าตัดตอนกันก่อนเสียแล้ว ผมคิดว่ามันคนละประเด็นกัน ฐานที่มาแรกสุด คือ รัฐประหารทำลายรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ แล้วก็มาตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ใครๆก็วิจารณ์ว่าเป็นโผของ คมช เสียส่วนใหญ่ อย่างสมัชชาแห่งชาตินี่ผมก็ไม่รู้ว่าตั้งไปทำไม ๗ วันสิ้นอายุขัย เอามาเลือกันเองเพื่อให้ดูเหมือนว่าคนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วม พอมาถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ หลายๆส่วนเริ่มเปิดเผยออกมาแล้ว สะท้อนให้เห็นชัดเลยว่าระบอบอำมาตยาธิปไตยคืนชีพแน่

 

ผมอยากเรียกร้อง คมช ให้ประกาศชัดเจนเลยว่า หากมีการทำประชามติแล้วประชาชนไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้นำรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ กลับมาใช้ใหม่โดยห้ามแก้ไขเพิ่มเติมอะไรทั้งสิ้น เพราะนี่ให้ประชาชนลงประชามติแต่กลับไม่มีตัวเปรียบเทียบเลยว่าถ้าไม่รับแล้วจะได้อะไรมาแทน

 

สุดท้าย ผมอยากฝากไว้ว่ากรณีคุณจาตุรนต์ก็ดี การใช้อำนาจของคณะรัฐประหารในกรณีอื่นๆก็ดี ตลอดจนการรัฐประหาร ๑๙ กันยา และการฉีกรัฐธรรมนูญก็ดี ทั้งหลายทั้งปวงก็ย้อนกลับมาสู่จุดที่ว่า เรายอมรับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมจากรัฐประหารหรือไม่ ถ้าตอบว่ายอมรับได้ ก็เป็นอันจบกัน ที่ผมพูดมาทั้งหมดก็ไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าทฤษฎีในตำรา และวิชานิติศาสตร์ คงเป็นได้แค่เพียงวิชาที่ศึกษากันในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ไม่ถูกเอาไปปฎิบัติได้จริง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท