Skip to main content
sharethis




การเมือง


 


 


เสนอให้ประมุข 3 ศาล ปธ.สภา ผู้นำฝ่ายค้าน สรรหาองค์กรอิสระ


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น - การประชุมคณะอนุกรรมาธิการองค์กรอิสระ ตรวจสอบ และศาล ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีประเด็นที่อภิปราย ได้แก่ องค์ประกอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 3 คน ควรเปิดกว้างให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ เพราะบางคดีต้องดูในหลายแง่มุม เช่น คดีซุกหุ้น


 


ที่ประชุมมีมติให้เปิดช่องให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน หรือการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนสัดส่วน ให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์มี 2 คน และรัฐศาสตร์ 1 คน นอกจากนี้ ผู้ที่มาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ทำงานถาวร มีวาระ 9 ปี และเมื่อครบวาระแล้ว ให้สามารถกลับไปที่หน่วยงานเดิมก่อนมาเป็นตุลาการได้


 


ประเด็นอื่น ได้แก่ คณะกรรมการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทุกองค์กร ให้มี 5 คน เป็นตัวยืนได้แก่ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภา และหากคณะกรรมการสรรหาตำแหน่งใดว่างอยู่ ก็ให้ที่เหลือทำหน้าที่ไป ส่วนองค์กรอิสระอื่นที่มีภารกิจเฉพาะ เช่น ผู้ว่า สตง. กรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา อาจเปิดให้มีกรรมการสรรหาจากส่วนอื่นเข้ามาเพิ่ม


 


สำหรับประเด็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะให้ยุบไปรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาหรือไม่นั้น ที่ประชุมมีมติให้คงอยู่ แต่ต้องให้มีส่วนร่วมหรือฟ้องคดีเองได้ และยื่นคำฟ้องต่อศาลเพื่อให้มีการสั่งเกี่ยวกับการคุ้มครองชั่วคราวได้ ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ให้เพิ่มเป็น 5 คน และสามารถหยิบเรื่องที่เป็นประเด็นมาพิจารณาได้ทันที โดยไม่ต้องรอการร้องเรียน


 


สำหรับประเด็นที่มาของประธานศาลฎีกา จากเดิมได้มาโดยระบบอาวุโส โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ให้แก้เป็นมาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งก็ต้องไปกำหนดรายละเอียดอีกครั้งว่า จะให้ผ่าน ก.ต. ก่อน หรือผ่านที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแล้วค่อยให้ ก.ต.รับรอง ส่วนประเด็นอัยการสูงสุด ที่ประชุมมีมติให้มีลักษณะเป็นองค์กรอิสระ เพื่อให้อิสระจากฝ่ายบริหาร และอัยการสูงสุด ส่วนเรื่องการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศที่ส่งผลถึงเขตอำนาจรัฐ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 224 นั้น ที่ผ่านมามีปัญหาว่ารัฐบาลไปทำเอฟทีเอ กับต่างประเทศ และตีความเขตอำนาจรัฐตรงตัวแค่อาณาเขต ดังนั้น การแก้ไขต้องกำหนดให้ตายตัวว่าต้องผ่านรัฐสภา ส่วนถ้ามีปัญหาที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยโดยเร็ว


 


สำหรับประเด็นศาลปกครองสูงสุด นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ อนุกรรมาธิการฯ เสนอว่ามาตรา 277 จำนวนตุลาการศาลปกครองสูงสุด ควรให้กรรมการตุลาการศาลปกครองกำหนด เพราะแบบเดิมที่ให้สภากำหนด ฝ่ายสภามักจำกัดจำนวน ซึ่งไม่สอดคล้องกับคดีที่มากขึ้น และให้ระบุให้ชัดว่า ศาลปกครองมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครองขององค์กรอิสระด้วย ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นเป็นเอกฉันท์ นอกจากนี้ นายวิชา เสนอให้มีกรรมการอิสระ เพื่อตรวจสอบและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เหมือนประเทศอังกฤษ อาจมีกรรมการมาจากตัวแทนประชาชนในสัดส่วนที่มากกว่า ผู้ทรงคุณวุฒิและอดีตผู้พิพากษา อัยการ ราชทัณฑ์ ทนาย มีจุดเน้นไปที่การตรวจสอบคุณภาพกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม


 


 


กกต.เสนอครม.ผ่อนปรนประกาศคปค.ฉบับที่ 15, 27


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น - นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า กกต.ได้ส่งหนังสือความเห็นของพรรคการเมืองที่ต้องการขอให้ครม.พิจารณาผ่อนปรนประกาศ คปค.ฉบับที่ 15 และ 27 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ไปให้ครม.แล้วเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ได้เสนอความเห็นของกกต.รวมไปด้วยว่า การผ่อนคลายประกาศดังกล่าว น่าจะมีผลดีในเรื่องของความสมานฉันท์ และการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการทำประชามติ เพราะที่ห้ามไว้มีเนื้อหาค่อนข้างกว้าง น่าจะกำหนดให้เขาสามารถทำอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะขณะนี้พรรคการเมืองไม่สามารถทำอะไรได้เลย ถ้าครม.เห็นควรก็จะนำเข้าหารือในทีประชุมกกต.ทันที


 


 


ที่ประชุมสนช.มีมติรับหลักการร่างกม. ป.ป.ช.


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค - การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ แก้ไขเพิ่มเติมวิธีการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้สามารถดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงได้เอง ไม่ว่าจะมีผู้กล่าวหาหรือไม่ โดยมีการแก้ไขมาตรา 43 (2) มาตรา 55 มาตรา 56 (1) และมาตรา 66 นอกจากนี้ ยังให้เลิกมาตรา 67-69 ที่กำหนดให้ ป.ป.ช. จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงได้เมื่อมีคำร้องของผู้เสียหายที่ถูกต้องและครบถ้วน หลังจากมีการอภิปรายของ สนช .และการชี้แจงจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้ว ที่ประชุมมีมติรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนน 130 ต่อ 3 งดออกเสียง 4 เสียง และให้คณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามมกระบวนการและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบรับไปพิจารณาศึกษาใน 3 วัน ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ผ่านมายังมีอุปสรรค บางครั้งมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ หากไม่มีผู้เสียหายมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก่อน


 


 


ม็อบเกษตรกรพอใจข้อตกลงร่วมกับรัฐบาล ยอมสลายตัวกลับบ้าน


ผู้จัดการออนไลน์ - นายธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) กับสภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร และแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน มีบันทึกข้อตกลงร่วมกันในเรื่องการบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟู และการเร่งรัดแก้ไขปัญหา ในประเด็นการจัดการแก้ไขปัญหาตามที่สภาเครือข่ายฯ เรียกร้องมา 4 ข้อ ได้แก่


 


1. ดำเนินการจัดการแก้ปัญหาหนี้ตามมติคณะรัฐมนตรี 16 ม.ค.50 ที่ให้เร่งรัดและให้นโยบายการแก้ไขปัญหาและแนวทางตามหลักเกณฑ์ของกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ประชุมมีมติให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ไปเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด ไม่เลือกปฏิบัติ


 


2. กรณีที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เรียกประชุมคณะกรรมการกองทุน ที่ประชุมได้มีมติว่าจะเร่งรัดให้กรรมการกองทุนฯ ดำเนินการประชุมเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการโดยเร็ว 3. การตั้งกรรมการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุน ที่ประชุมมีมติมอบให้นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และนายอำนาจ ธีรวนิช ไปตั้งองค์คณะ โดยให้มีผู้แทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมเป็นกรรมการดังกล่าว และ 4. งบประมาณของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ประชุมมีมติมอบให้คณะกรรมการตรวจสอบไปเป็นผู้ดูแล


         


นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติร่วมกันถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรของสมาชิก สค.ปท. ในกรณีหนี้เร่งด่วนที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ให้ ธกส. เร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2550 นี้ ส่วนหนี้เอ็นพีแอล ที่ขึ้นทะเบียนไว้ในวันที่ 30 มิถุนายน 2548 และหนี้ปกติที่ขึ้นทะเบียนในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 ให้ดำเนินการตรวจสอบให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2550


 


 


ประธาน คมช. มั่นใจ "สพรั่ง"จะไม่ลาออกเพื่อไปรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง


กรมประชาสัมพันธ์ - พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน  ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือ คมช. กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่า พลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วยเลขาธิการ คมช.เตรียมลาออกจากการเป็นสมาชิก คมช.เพื่อไปรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เพราะยังมีตำแหน่งที่ใหญ่กว่ารออยู่  อีกทั้งยังไม่มีความจำเป็นต้องมีรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง เนื่องจากจะเกิดความซ้ำซ้อน ไม่เป็นเอกภาพในการบริหารงานด้านความมั่นคงของประเทศไทย


 


 


ตั้งหมอนิรันดร์ เป็นประธานตรวจสอบสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม


กรมประชาสัมพันธ์ - นายโฆษิต  ปั้นเปี่ยมรัษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาสถานภาพ ปัญหาและแนวทางการแก้ไขการดำเนินการสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมแล้ว  โดยมีนายนิรันดร์  พิทักษ์วัชระ  เป็นประธาน  และนายปราโมช  รัฐวินิจ  อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์  เป็นกรรมการและเลขานุการ  ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ศึกษาและรายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับสถานภาพ ปัญหา และแนวทางแก้ไขการดำเนินการสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม โดยจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน



 


 


"ทิพาวดี"ยันทีมบริหารไอทีวีไม่มีชื่อ"มิ่งขวัญ"


เว็บไซต์คมชัดลึก - จากมติครม.เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ให้รัฐบาลยึดคืนสัมปทานไอทีวีกลับมาเป็นของรัฐ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหารือการตั้งคณะกรรมการบริหารกิจการวิทยุโทรทัศน์เข้ามาบริหารไอทีวีว่า ขณะนี้ได้ตัวคณะกรรมการบริหารกิจการวิทยุโทรทัศน์แล้ว มีประมาณ 5-6 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้แทนส่วนราชการและอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งยืนยันว่าไม่มีภาคเอกชนหรือชื่อนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ อดีตผู้อำนวยการบริหารบริษัท อสมท เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วยตามที่เป็นข่าว


 



ทั้งนี้ นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) กล่าวว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีคุณหญิงทิพาวดี เป็นประธาน ส่วนกรรมการนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้แทนจากส่วนราชการ และอาจจะมีมืออาชีพเข้ามาร่วมบริหารด้วย 1-2 คน แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการเชิญภาคเอกชนหรือสื่อมวลชนบางแห่งเข้าร่วมเป็นกรรมการ และจะพยายามร่างคำสั่งให้เสร็จเรียบร้อยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เพื่อให้คณะกรรมการชุดสามารถดำเนินงานได้ทันทีในวันที่ 7 มีนาคม ซึ่งงานแรกที่คณะกรรมการจะเข้าไปดำเนินการคือการกำหนดรูปแบบการบริหารและโครงสร้างของงานไอทีวีใหม่



 


 


"จอน"ดันทำประชาพิจารณ์


เว็บไซต์คมชัดลึก - นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว.กทม.กล่าวถึงอนาคตของสถานทีโทรทัศน์ไอทีวี ว่าไม่เห็นด้วยถ้า สปน.จะนำไอทีวีมาบริหารเอง เพราะเกรงว่ารัฐบาลในอนาคตจะเข้ามาแทรกแซง นำไปรับใช้อำนาจทางการเมืองเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลทักษิณ และควรปลดผู้บริหารระดับสูงทั้งหมดไม่ให้เกี่ยวข้องกับการกำหนดทิศทางข่าวสารได้ โดยขอเสนอให้รัฐบาลออกมติ ครม.ให้ ครม.เป็นผู้สรรหาคณะกรรมการที่ประกอบด้วย ตัวแทนสื่อมวลชน ภาคประชาชน นักวิชาการที่มีความรู้เชี่ยวชาญขึ้นมาบริหารไอทีวีชั่วคราว โดยระหว่างนี้ให้ สปน.เปิดเวทีทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชน แล้วนำข้อสรุปจากการประชาพิจารณ์นำเสนอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาเป็นผู้ดำเนินการต่อไป


 



อดีต ส.ว.กทม.กล่าวอีกว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญควรจะนำประเด็นในการออกแบบองค์กรสื่อโทรทัศน์สาธารณะให้เป็นองค์กรอิสระ หรือมีลักษณะเป็นองค์กรมหาชน ให้มีกฎหมายรองรับ และรายได้ในการบริหารกึ่งหนึ่งควรมาจากงบประมาณแผ่นดิน ขณะที่อีกกึ่งหนึ่งควรจัดเก็บจากภาษีโฆษณาเหมือนกับที่ สสส.เคยเรียกร้องให้เก็บภาษีสรรพสามิตเหล้าบุหรี่มาเป็นกองทุน โดยอาจจะเก็บโฆษณาเพียงร้อยะ 5 จากทีวีอื่นๆ เพื่อสนับสนุนให้เปิดทีวีสาธารณะ


 


 


"อักขราทร"ระบุ ไอทีวีถูกเลิกสัญญา ร้องศาลได้


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น - นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่ สปน. บอกเลิกสัญญาเข้าร่วมการงานกับไอทีวี ซึ่งทางไอทีวีอาจใช้วิธีร้องต่อศาลปกครองว่า รัฐไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา เป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ ว่า  ก็สามารถมาร้องต่อศาลปกครองได้ แต่ผลจะเป็นอย่างไร คงไม่สามารถบอกได้ ต้องรอดูข้อสัญญาก่อนว่าตกลงกันอย่างไรบ้างและต้องดูเหตุผลที่อ้างมาด้วย


 


 


ปณิธานเผย ภัยใหม่ "ป่วนในเมือง-โจมตีเฉพาะประชาชน-เสี้ยมบีบผู้บริหาร"


เว็บไซต์แนวหน้า - นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการการพบพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ว่านายกรัฐมนตรีได้มีการพูดถึงสถานการณ์พื้นที่จังหวัดภาคใต้ และประเมินสถานการณ์เพื่อหาแนวทางแก้ไข


 


โดยแนวนโยบายการแก้ปัญหาใต้ หลายฝ่ายคิดว่าดำเนินการไปถูกทางแล้วว่าฝ่ายที่ออกมาเคลื่อนไหวก่อความไม่สงบต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายไปในแนวทางที่เขาต้องการ ซึ่งขณะนี้เราก็ต้องยืนยันในเรื่องความหนักแน่นของนโยบาย โดยในส่วนของที่ปรึกษาได้เสนอแนะแนวทางการทำงานในเรื่องของการแก้ไขการปฏิบัติงานในพื้นทีให้ดีขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็เข้าใจว่าทางทหารก็คงจะมีการปรับแผนการทำงานอยู่เรื่อย ๆ


 


ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่มีภัยในรูปแบบใหม่ เป็นในรูปแบบใด นายปณิธาน กล่าวว่า เป็นภัยที่ผู้ก่อการเริ่มเข้ามาก่อการในเมือง โจมตีประชาชนเป็นหลัก แล้วให้ประชาชนไปกดดันผู้บริหารให้เปลี่ยนทิศทางให้สับสนให้เป็นอัมพาต โดยจะไม่โจมตีทหารหรือกองกำลังต่าง ๆ โดยจะโจมตีประชาชนและสื่อ กดดันผู้บริหาร จากนั้นผู้บริหารก็จะงงและเป็นอัมพาต ทิศทางก็จะหันเหไปมา และในที่สุดก็จะแย่


 


 


สพฐ.จัดงบ2ล้านสร้างอนุสรณ์สถาน ครูจูหลิง


เว็บไซต์คมชัดลึก - คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้อนุมัติงบประมาณ 2 ล้านบาท จัดโครงการสร้างหอศิลป์ ครูจูหลิง ที่บริเวณโรงเรียนอนุบาลดอยหลวง หมู่ 2 ต.ปงน้อย กิ่ง อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ซึ่งจะเป็นอนุสรณ์สถานที่ใช้แสดงผลงานศิลปะของครูจูหลิง และเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนให้แก่นักเรียน ครู และประชาชนทั่วไปได้ศึกษาค้นคว้างานด้านศิลปะ


 


 


 



เศรษฐกิจ


 


 


เสนอแก้ก.ม. หวังให้การเมืองพ้นธปท.-กลต.


เว็บไซต์ข่าวสด - การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ก.พ. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ฉบับที่... พ.ศ…. ร่างพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) ฉบับที่… พ.ศ… และร่างพระราชบัญญัติเงินตรา ฉบับที่… พ.ศ… เพื่อให้การทำงานขององค์การการเงินในประเทศไทยมีความเป็นอิสระมากขึ้น


 



สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ. ธปท.และ ก.ล.ต. ประกอบด้วย การระบุชัดเจนว่าไม่อนุญาตให้รมว.คลังทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการและกรรมการใดๆ เพื่อป้องกันการครหาเรื่องการแทรกแซงการดำเนินงาน โดยร่างดังกล่าวจะมีอำนาจในการคัดเลือกประธานให้กับสมาชิกวุฒิสภา ส่วน พ.ร.บ.เงินตรา ได้เปิดทางให้สามารถนำเงินจากทุนสำรองมาชำระหนี้จากการออกพันธบัตรชดเชยให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 800,000 ล้านบาท เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ต้องรอการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้งจากนั้นจึงจะส่งเรื่องเข้าสู่การเห็นชอบของสภาได้


 



ร.อ.น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีข้อหารือในมาตรา 52 กรณีว่า หากฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศของทางการสุทธิต่ำกว่าระดับที่จำเป็นต่อการรักษาเสถียรภาพการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยน ให้ ธปท. รายงานต่อรมว.คลัง เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไข และให้รมว.คลังรายงานต่อนายกฯเพื่อทราบต่อไป เป็นการรับทราบภาพรวมของความเคลื่อนไหวทางการเงินของประเทศ ซึ่งนายกฯ ได้แสดงความคิดเห็นว่า ผู้นำรัฐบาลจำเป็นจะต้องมีเกณฑ์วัดสถานการณ์ของประเทศในแต่ละสถานการณ์ว่า อยู่ในระดับสีแดง หรือสีเหลือง หรือสีเขียว ถ้าเป็นสีเหลือง และใกล้จะแดง ผู้นำรัฐบาลจำเป็นจะต้องรับทราบ และดำเนินการแก้ไขทันท่วงที ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการรายงานขึ้นมาให้ผู้นำรัฐบาลทราบ



 


นางสุพรรณ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ครม.อนุมัติแก้ไขร่างพ.ร.บ. ก.ล.ต. พ.ศ.2535 โดยในส่วนของคณะกรรมการจะได้รับการแต่งตั้งจากวุฒิสภา มีคณะคัดเลือกเป็นผู้อาวุโสด้านเศรษฐศาสตร์ องค์กรภาครัฐด้านเศรษฐกิจ จำนวน 10 คน เพื่อเสนอรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกให้วุฒิสภาเป็นผู้แต่งตั้ง เพื่อให้ ก.ล.ต.ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง นอกจากนี้ยังเปิดทางให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถฟ้องร้องกรรมการ ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน ที่กระทำความผิดไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์คืนจากบริษัท และผู้ฟ้องร้องยังจะได้รับคืนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินคดี ส่วนพนักงานผู้ที่ให้ข้อมูลแก่ทางการในเรื่องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภายในของบริษัท รวมถึงการปั่นหุ้น จะได้รับการคุ้มครองดูแลจากกฎหมาย เพื่อไม่ให้ถูกโยกย้ายให้ไปอยู่ในฝ่ายที่ไม่เหมาะสม ซึ่งทางก.ล.ต.จะปิดรายชื่อผู้ให้ข้อมูลเป็นความลับ



 


 


ธปท.ปรับลดดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ลงเหลือร้อยละ 4.5 ต่อปี


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค - ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย  มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ลงอีกร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 4.75 ต่อปี เป็นร้อยละ 4.5 ต่อปี  นางสุชาดา  กิระกุล  ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว และเดือนมกราคม ชะลอตัวลง ขณะที่แรงขับเคลื่อนจากการส่งออก คาดว่า จะชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเช่นกัน ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องมีการศึกษาข้อมูลอีกครั้ง โดยต้องคำนึงถึงทิศทางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งพิจารณาภาวะเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนมีนาคมนี้ ซึ่งหากพบว่าอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงตามที่คาดการณ์ไว้ ก็อาจมีการพิจารณาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ และต้องติดตามดูสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดด้วย


 


 


ผู้ค้าน้ำมันทุกราย ปรับขึ้นราคาน้ำมันทุกชนิดอีกลิตรละ 40 สตางค์


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค - ผู้ค้าน้ำมันทุกรายปรับขึ้นราคาน้ำมันทุกชนิด 40 สตางค์ต่อลิตร มีผลตั้งแต่ 05.00 น.วันพรุ่งนี้ (1 ม.ค.) ส่งผลให้ราคาน้ำมันในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเบนซิน 95 อยู่ที่ลิตรละ 26.39 บาท แก๊สโซฮอล์ 95 ราคาลิตรละ 24.59บาท เบนซิน 91 ลิตรละ 25.59 บาท และดีเซล ลิตรละ 22.84 บาท โดยนายวิทยา หวังจิตรารักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจน้ำมัน บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นเป็นไปตามทิศทางตลาดโลกที่มีการปรับขึ้นไม่หยุด ทั้งเหตุผลเรื่องสตอกน้ำมันในสหรัฐลดลง อากาศที่หนาวเย็นในสหรัฐและยุโรป รวมทั้งปัญหาความขัดแย้ง กรณีนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งแม้ว่าราคาน้ำมันขายปลีกทุกประเภทในไทยจะปรับขึ้นพรุ่งนี้ลิตรละ 40 สตางค์ ก็ยังมีแนวโน้มอาจจะปรับเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากค่าการตลาดยังต่ำกว่าเกณฑ์ แต่เพื่อไม่ให้ผู้ใช้น้ำมันเกิดตื่นตระหนก ปตท.ยังไม่กล้าที่จะปรับขึ้นราคาให้คุ้มทุนทันที และในขณะนี้คงต้องภาวนาให้ราคาตลาดโลกลดลง เพื่อไม่ให้ผู้ใช้น้ำมันต้องได้รับผลกระทบไปมากกว่านี้


 


 


 



ต่างประเทศ


 


 


ชี้อีก100ปีปชต. ถือกำเนิดในจีน


เดลินิวส์ - นายเหวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนแสดงความเห็นในบทความที่เขาเขียนลงใน พีเพิล"ส เดลี หนังสือพิมพ์กระบอกเสียงพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันอังคารระบุว่า บรรดาผู้นำคอมมิวนิสต์ของจีน ไม่มีแผนยอมรับการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะพวกเขาต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ก่อนปฏิรูปทางการเมือง และว่า ประชาธิปไตย จะปรากฏขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อระบบลัทธิสังคมนิยมมีการพัฒนาจนสุกงอมแล้ว แต่อาจยังไม่เกิดขึ้น จนกระทั่ง 100 ปี


 


การแสดงความเห็นของนายกฯ เหวิน มีขึ้น ท่ามกลางแรงกดดันจากกลุ่มนักเคลื่อนไหว ที่ต้องการยุติการผูกขาดทางอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นรัฐบาลปกครองประเทศจีนมายาวนาน แต่ถึงกระนั้น ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลคอมมิวนิสต์ ได้ดำเนินการปฏิรูปการเมืองในแบบจำกัด โดยยอมให้มีการเลือกตั้งที่ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองสำหรับการเลือกตั้งตำแหน่งผู้นำหมู่บ้านระดับล่าง ทว่า พรรคคอมมิวนิสต์ ยังเป็นผู้ควบคุมการกำหนดนโยบาย นอกจากนี้ ผู้นำจีนยอมรับว่า ช่องว่างความมั่งคั่งที่ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ กำลังบ่อนทำลายเสถียรภาพทางการเมือง


 


 


'เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์'เสนอแบน'แมคโดนัลด์ส'


ผู้จัดการออนไลน์ - สำนักข่าวเพรส แอสโซซิเอชั่นของอังกฤษรายงานว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ตรัสระหว่างการเสด็จเยือนศูนย์โรคเบาหวานอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอนในกรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ว่า การห้ามอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ของร้านแมคโดนัลด์ส เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้นได้


 


ด้านโฆษกของแมคโดนัลด์ส ออกมาแสดงความผิดหวังกับพระราชดำรัสดังกล่าว เพราะตั้งแต่ปีที่แล้วบริษัทได้เริ่มระบุข้อมูลโภชนาการลงบนบรรจุภัณฑ์ และให้บริการเมนูอาหารที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อลบข้อกล่าวหาว่า อาหารของทางร้านไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วน


 


แมคโดนัลด์สบอกด้วยว่าสมาชิกราชวงศ์อังกฤษพระองค์อื่นๆ น่าจะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับร้านแมคโดนัลด์สที่ทันสมัยมากกว่านี้แล้ว คำกล่าวนี้ดูมุ่งพาดพิงถึงรายงานข่าวก่อนหน้านี้ที่สื่อจับภาพเจ้าชายแฮร์รี พระโอรสของเจ้าฟ้าชาร์ลส์ได้ขณะกำลังเสวยเบอร์เกอร์ไก่อยู่ที่ร้านแมคโดนัลด์สเมื่อปี 2005


 


สำหรับสหรัฐฯอาหรับเอมิเรตส์ถือเป็นชาติที่มีสัดส่วนจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานต่อประชากร มากเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยกว่า 20% เป็นผู้ป่วยที่มีอายุระหว่าง 20-79 ปีล้วนแต่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคนี้จริง ขณะที่อีก 40% มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน ทั้งนี้โรคอ้วนเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของโรคเบาหวานประเภทซึ่งเป็นกันในผู้ใหญ่


 


 


ILO ชมพม่าให้เหยื่อแรงงานร้องทุกข์


เดลินิวส์ - องค์การแรงงานสากลของสหประชาชาติ (ไอแอลโอ) ยกย่องรัฐบาลทหารของพม่าเมื่อวันอังคาร ที่ดำเนินก้าวสำคัญที่มีความหมาย ด้วยการยอมให้บรรดาเหยื่อบังคับใช้แรงงาน ร้องเรียนต่อองค์กรโลก


 


แถลงการณ์ของไอแอลโอระบุว่า  องค์การแรงงานสากลได้ทำข้อตกลงความเข้าใจกับรัฐบาลพม่าเมื่อวันจันทร์ ที่ยินยอมให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อบังคับใช้แรงงานทั้งหลาย มีอิสระเสรีอย่างเต็มที่ในการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานของ    ยูเอ็น พร้อมกับให้การรับรองว่า จะไม่ดำเนินการตอบโต้ในภายหลัง


 


นายริชาร์ด ฮอร์ซีย์ ผู้แทนไอแอลโอประจำประเทศพม่า เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลทหารพม่ายินยอมในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นก้าวสำคัญในแง่บวกอย่างมาก และเป็นครั้งแรกที่ประชาชนซึ่งถูกบังคับใช้แรงงานในพม่า มีอิสระในการร้องเรียน การตัดสินใจครั้งนี้ของพม่า มีขึ้นไม่นาน ก่อนที่คณะกรรมการไอแอลโอ มีกำหนดตัดสินใจในการ ประชุมเดือน มี.ค. นำกรณีพม่าเข้าสู่การพิจารณาของศาลโลก ซึ่งเป็นศาลสูงของยูเอ็นที่รับผิดชอบเรื่องการบังคับใช้แรงงานอย่างต่อเนื่องหรือไม่


 


ที่ผ่านมา ไอแอลโอมักวิจารณ์การบังคับใช้แรงงานในพม่า เช่นเดียวกับประชาคมโลกก็  รุมประณามรัฐบาลทหารพม่าอย่างหนัก เนื่องจาก มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและล้มเหลวในการ มอบคืนอำนาจให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย สำหรับขั้นตอนเมื่อมีการยื่นเรื่องร้องเรียนแล้ว ทางสำนักงานไอแอลโอในพม่าจะพิจารณาว่า กรณีใดเข้าข่ายการบังคับ   ใช้แรงงาน ที่จะสามารถดำเนินการสอบสวนต่อ   รัฐบาลทหารพม่า นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ของ     ไอแอลโอในพม่าจะมีเสรีภาพในการเดินทางไป  ทั่วประเทศเพื่อพบปะกับกลุ่มผู้ร้องทุกข์


 


 


 



การศึกษา คุณภาพชีวิต


 


 


ศธ.ชงเพิ่มฐานรายได้ครอบครัวกู้เงินเรียน


เดลินิวส์ - กรณีที่มีข่าวว่าการยุบรวมกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เข้ากับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) อาจส่งผลให้นักศึกษาที่กู้ กรอ. ประมาณ 100,000 คน ไม่มีสิทธิกู้ กยศ.เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์


 


ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการคลัง ฃกำลังหารือเรื่องนี้อยู่ เพราะ กรอ.แตกต่างจากกยศ. เพียงเรื่องเดียว คือ กรอ.ไม่ได้กำหนดรายได้ของครอบครัว เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะรวยหรือจนก็สามารถกู้ได้ แต่กู้ได้เฉพาะค่าเล่าเรียนเท่านั้น ในขณะที่ กยศ.กำหนดรายได้ของครอบครัวไม่เกิน 150,000 บาท แต่ให้กู้ได้ทั้งค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพ ดังนั้นเมื่อรวมกองทุนแล้วผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงก็คงเป็นกลุ่มผู้กู้กรอ. ซึ่งมีรายได้เกิน 150,000 บาท


 


อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รมว.คลัง ได้โทรศัพท์มาหารือกับตนแล้วเห็นว่าปัญหาของเรื่องนี้มีเพียงประเด็นเดียวที่ต้องมีการพิจารณาด้วยความรอบคอบ คือ คนที่เคยกู้ กรอ.ได้และจำเป็นต้องให้กู้ต่อไปจนจบการศึกษาจะให้ใช้เกณฑ์ของ กรอ. หรือจะใช้เกณฑ์ของ กยศ. ซึ่งหากใช้เกณฑ์ของกยศ. คนที่รายได้ของครอบครัวเกินที่กำหนดก็จะไม่มีสิทธิกู้ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะมีเด็ก กรอ.ไม่ได้เงินกู้กว่าแสนคน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้คงต้องรวบรวมข้อมูลว่ามีคนเดือดร้อนจริงเท่าไหร่


 


 "ที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตกันมากว่าทำไม กรอ.ถึงปล่อยให้คนรวยกู้ เพราะเคยมีผลวิจัยยืนยันว่ามีคนที่ไม่จำเป็นได้กู้เงินเป็นจำนวนมาก จึงเป็นประเด็นที่ กยศ.ต้องพิจารณาว่า ควรจะมีการขยับฐานรายได้ของครอบครัวให้สูงเกินกว่า 150,000 บาทหรือไม่ หรืออาจจะมีการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับฐานรายได้ของครอบครัวกับจำนวนบุตรที่เรียนในระดับอุดมศึกษา เช่น หากมีบุตรเรียนอุดมศึกษา 2 คนรายได้ของครอบครัวควรจะขยับขึ้นเป็น 180,000 บาท หรือ 3 คน เป็น 200,000 บาทหรือไม่" รมว.ศึกษาธิการกล่าวและว่าเรื่องนี้ ศธ.ในฐานะผู้ดูแลนักศึกษาที่เป็นผู้กู้จะเสนอแนะเป็นข้อสังเกตไปยังกระทรวงการคลังเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งทราบว่าจะมีการหารือให้ได้ข้อยุติและเสนอคณะกรรมการ กลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีในเร็ว ๆ นี้ คาดว่าน่าจะชี้ขาดและประกาศ ให้นักศึกษาทราบได้ภายในเดือนมีนาคมนี้


 


ด้าน ดร.สุเมธ แย้มนุ่น รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ประเด็นปัญหาของการกู้ยืมเงินเรียนเวลานี้ คือ คนที่กู้ กรอ.จากปีการศึกษา 2549 นั้น พอถึงเทอม 1 ปีการศึกษา 2550 ที่จะเริ่มในมิถุนายนนี้นั้น เด็กจะสามารถกู้เงินได้ต่อทุกคนหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าถ้าเด็กกู้ กรอ.ก็ควรให้ใช้หลักเกณฑ์การกู้กรอ.ต่อไปจนจบไปทั้งรุ่น ไม่ใช่มาเปลี่ยนกลางคัน


 


 


วอนก.แรงงานเร่งออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ 22.5 ล้านคน


กรมประชาสัมพันธ์ - นายสมคิด ด้วงเงิน ประธานคณะกรรมการเครือข่ายแรงงานนอกระบบนำตัวแทนแรงงานนอกระบบ 4 ภาคยื่นข้อเสนอคุ้มครองแรงงานนอกระบบต่อนายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า ขณะนี้แรงงานนอกระบบประมาณ 22,500,000 คนไม่ได้รับความคุ้มครองเรื่องสวัสดิการ และถูกละเมิดสิทธิ จึงเสนอให้กระทรวงนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงานนอกระบบฉบับที่แรงงานเป็นผู้ทำเร่งพิจารณาและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยเร็ว เนื่องจากกฎกระทรวงที่ใช้อยู่มีข้อจำกัดและไม่คุ้มครองเรื่องค่าแรงที่เหมาะสม และทุนการผลิตของคนรับงานไปทำที่บ้าน นอกจากนี้ ต้องการให้กระทรวงนำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีนั้นให้นำกลับมาพิจารณาใหม่ เนื่องจากขาดหลักประกันสิทธิแรงงานเรื่องค่าจ้าง การไม่มีสิทธิการรวมตัวต่อรอง พร้อมทั้งทำประชาพิจารณ์จากแรงงานก่อนที่จะนำเสนอและออกบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้ ยังเสนอให้คุ้มครองเรื่องประกันสังคมเหมือนแรงงานในระบบด้วย


 



ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกกรมดำเนินการอยู่ ได้แก่ กรมการจัดหางานมีโครงการส่งเสริมการมีงานทำ ฝึกให้มีการรวมกลุ่ม จดทะเบียนกลุ่ม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีเป้าหมายฝึกอบรมในปี 2550 จำนวน 6,000 คน สำนักงานประกันสังคมกำลังเร่งขยายความคุ้มครองให้ได้รับสิทธิใกล้เคียงกับแรงงานในระบบ ซึ่งอยู่ระหว่างการคิดรูปแบบการเก็บเงินสบทบ สำหรับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ออกกฎกระทรวงแล้ว 2 ฉบับ ได้แก่ การคุ้มครองแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้าน และแรงงานภาคเกษตร อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้นายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย และในวันที่ 18 มีนาคมนี้จะเชิญเครือข่ายแรงงานนอกระบบมาหาข้อสรุป



 


 



สิ่งแวดล้อม


 


 


ก.ทรัพยากรฯ แก้กฎหมาย ให้มีการประกอบธุรกิจและการค้าสัตว์ป่า


กรมประชาสัมพันธ์ - นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรฯ ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ล้าสมัย  ไม่สามารถมีผลในทางปฏิบัติได้ และเป็นจุดอ่อนนำไปสู่การคอรัปชั่น ไม่โปร่งใสจำนวน 10 ฉบับให้แล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้  อาทิ  ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า  พ.ศ...มีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการประกอบธุรกิจและการค้าสัตว์ป่า เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับสัตว์ป่าที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่า  โดยจะเปิดให้มีการประกอบธุรกิจการค้าขายสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจได้ เช่น กวาง เก้ง ไก่ฟ้า  เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว และเป็นการช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศไทย เนื่องจากเนื้อสัตว์ป่าดังกล่าวเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในขณะเดียวกันจะมีการแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาไซเตส (CITES) ที่ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เพราะมีสัตว์ป่ายบางชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์จะไม่อนุญาตให้มีการนำมาค้าขายได้


 



นายเกษม  กล่าวด้วยว่า  หากมีการทำอย่างตรงไปตรงมาก็ไม่น่าเกิดปัญหาขึ้น  สำหรับการตรวจสอบว่าเป็นสัตว์ป่าที่เลี้ยงเองเพื่อการค้ากับสัตว์ป่าที่อยู่ในป่าก็จะเป็นการฝั่งชิปที่มัลักษณะที่แตกต่างกันออกไป  เชื่อว่าการปรับกฎหมายครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและเพื่อลดการลักลอบการค้าและล่าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย



 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net