ไทยทาวน์ยูเอสเอนิวส์ วิเคราะห์ "เอเอสทีวี พีทีวี ช่อง11"... ใครผิด ใครถูก ใครเถื่อน


ประเด็นร้อนฉ่าของการเมืองประเทศไทยช่วงนี้ หนีไม่พ้นกระแสการเปิดตัวของ "พีทีวี" โดยคนของรัฐบาลเก่าที่ "รู้ๆกัน" ว่าตั้งขึ้นมาเพื่อเสนอข่าวในแง่บวกของพลพรรคไทยรักไทย เป็นการถ่วงดุลย์ "เอเอสทีวี" ที่เสนอข่าวด้านลบของรัฐบาลไทยรักไทยอย่างต่อเนื่อง

แม้วัตถุประสงค์ของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมทั้งสองจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ลักษณะการดำเนินงานกลับเหมือนกันทุกประการ นั่นคือใช้วิธีออกอากาศส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมของต่างประเทศเข้ามาในประเทศ

ดังนั้น เมื่อ นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โลดเต้นออกมาสั่งให้กรมประชาสัมพันธ์ตรวจสอบ และให้ข่าวในทำนองว่า "พีทีวี" เปิดดำเนินการไม่ได้ เนื่องจากเข้าข่าย "ผิดกฎหมาย" ชัดเจน หากขืนดื้อดึงเปิดสถานีในวันที่ 1 มีนาคมตามที่ประกาศเอาไว้ก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมายมาตรา 80 ของพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ปี 2498

จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นทันทีว่า รัฐบาลกำลัง "เลือกปฏิบัติ" อย่างเห็นได้ชัด

ในฐานะที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ต้น อยากจะหยิบยกคำพูดของฝ่ายต่างๆ มาวิเคราะห์ให้เห็นกันแบบ "ชัดๆ" ตรงนี้ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้อ่านใช้ประกอบการตัดสินใจว่าอะไรเป็นอะไร...

ขอเริ่มจากการตอบคำถามสื่อมวลชนของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แห่งเอเอสทีวี ที่บ้านพระอาทิตย์ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2007 เกี่ยวกับประเด็น "เลือกปฏิบัติ" ที่ว่า...

"ผมได้รับความคุ้มครองจากศาลสูงสุดเพราะว่ากระบวนการจัดตั้งของผมไม่ผิดกฎหมาย เอเอสทีวีทุกวันนี้เราขายเนื้อหาและภาพออกไปให้บริษัทต่างประเทศ ซึ่งรับสัญญาณของเราโดยผ่านทางอินเตอร์เน็ต แล้วบริษัทต่างประเทศนั้นซื้อเนื้อหาของเรา แล้วก็เอาขึ้นดาวเทียม เพราะฉะนั้นเขามีสิทธิ์เอาขึ้นดาวเทียมในฐานะที่เขาเป็นสถานีส่งที่ต่างประเทศ ส่วนพีทีวีเขาอยากจะทำผมไม่ขัดข้อง แต่ว่าถ้าเกิดเขาทำแล้วเขาไปผิดกฎหมายในข้อไหน ถ้าสมมติว่ารัฐไปเล่นงานเขา เขาก็มีสิทธิ์จะให้ศาลปกครองคุ้มครองได้

  แต่ถ้าเนื้อหาสาระของการคุ้มครองนั้น เขาไม่ถูกต้องตามกฎหมายเหมือนอย่างผม แล้วเขาไม่ได้รับความคุ้มครอง ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่เขาก็ต้องรับภาระไป"

ตรงนี้ขอตั้งประเด็นวิเคราะห์เป็นข้อๆ ดังนี้

ประเด็นแรก ถ้าเอเอสทีวี ขายสัญญาณภาพและเสียงผ่านอินเตอร์เน็ตไปให้บริษัทต่างประเทศ (ซึ่งอยู่ในฮ่องกง) สมมติชื่อบริษัท A เพื่อทำการอัพลิงค์สัญญาณผ่านดาวเทียม (ที่เราตรวจสอบว่าเป็นดาวเทียมชื่อ NSS6 at 95.0 *E) มาให้คนในประเทศไทยได้ชมรายการของเอเอสทีวีนั้น....

1.1 บริษัท A ที่ฮ่องกงนั้น มีตัวตนจริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงนอมินี่ของเอเอสทีวี เพื่อให้มีข้ออ้างกับศาลปกครองสูงสุดในการเลี่ยงความผิดตามกฎหมายมาตรา 80 ของพรบ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ปี 2498 หรือเพื่อเลี่ยงภาษีที่ต้องจ่ายให้กรมสรรพากร

1.2 นายสนธิ ลิ้มทองกุล บอกว่าได้ "ขาย" เนื้อหาและภาพผ่านอินเตอร์เน็ตให้กับบริษัท A ในฮ่องกง หมายถึงว่าต้องมีการโอนเงินซื้อขายเข้าบัญชีของเอเอสทีวีในประเทศไทย ซึ่งถ้ามีการโอนเงินเกิดขึ้นก็ต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15-20 เปอร์เซ็นต์ หากจะมีการตรวจสอบว่ามีการ "ซื้อ-ขาย" หรือ "เสียภาษี" กันจริงหรือไม่นั้น แบงก์ชาติสามารถตรวจสอบได้อย่างง่ายดาย หากไม่มีการโอนเงินหรือเสียภาษีตรงนี้ นั่นหมายถึงเอเอสทีวี ไม่มีรายได้จากบริษัท A ในฮ่องกงเลย แปลให้ชัดกว่านั้นก็คือว่า บริษัท A ในฮ่องกงเป็นเพียงนอมินีของเอเอสทีวีนั่นเอง

ประเด็นที่สอง ทีมงานของเราได้ตรวจเช็คข้อมูลบนเว็บไซต์ของดาวเทียมเอ็นเอสเอส6 (www.lyngsat.com/nss6.html)  พบข้อมูลที่ระบุชัดเจนว่า ผู้เช่าสัญญาณของดาวเทียมเอ็นเอสเอส6 ที่ช่อง 11676 H นั้น คือ "เอเอสทีวี" หรือ "Asia Satellite TV" ไม่ใช่บริษัทที่ฮ่องกงที่ถูกอ้างถึง ตรงนี้น่าจะหักล้างคำพูดของคุณสนธิที่ยกมาให้อ่านกันได้ว่า เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อเลี่ยงกฎหมายเท่านั้น

ทีนี้มาฟังคำพูดของรัฐบาล โดย นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาพูดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ บอกว่า

"โดยเฉพาะทีวีผ่านดาวเทียม เราพยายามที่จะไม่ให้มีการเกิดขึ้นมา ไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ ตรงนี้ต้องเข้าใจว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติ ทั้งวิทยุชุมชน เคเบิลทีวีอะไรต่างๆ พยายามไม่ให้เกิดซ้ำ พยายามจำกัด ให้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้คงที่ไว้ก่อน แล้วรีบเร่งในการจัดระบบระเบียบโดยการออกกฎหมายมาแก้ปัญหา โดยที่ไม่ได้เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ไม่ใช่พอมี พีทีวีแล้วเราไปเลือกปฏิบัติ สิ่งที่มีมาก่อนรัฐบาลนี้แล้วเรากำลังดำเนินคดีอยู่ มีการฟ้องร้องกันอยู่ เพราะฉะนั้นในสิ่งที่เกิดใหม่ โดยหลักการเราไม่อยากให้มีการทำผิดซ้ำ"

และว่า "ผมก็จะขอความคืบหน้าจากกรมประชาสัมพันธ์เช่นกันว่า เรื่องเอเอสทีวีไปถึงไหนแล้วอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น ให้เกิดเสมอภาคเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น ต้องเห็นใจรัฐบาล เพราะว่าขณะนี้เรากำลังพยายามแก้ปัญหา ขณะที่มีผู้ที่จะพยายามทำผิดกฎหมายขึ้นอีก เราจะแก้อย่างไร..."

ตามความหมายที่รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีพูดนั้น หมายความชัดเจนว่ารัฐบาลรับรู้ว่า เอเอสทีวี เป็นโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่ผิดกฎหมาย และประกอบการอยู่ได้ความกรุณาของศาลปกครองสูงสุดที่อนุญาตให้เอเอสทีวีดำเนินการไปพลางๆ ในช่วงที่ยังไม่มีร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ขึ้นมารองรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดาวเทียม...

ซึ่งนั่นคือที่มาของคำถามที่กำลังกระหึ่มอยู่ในขณะนี้ว่า ในเมื่อเอเอสทีวีจัดตั้งขึ้นและดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย เหตุใดรายการ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" ของเอเอสทีวี จึงโผล่มาแพร่ภาพทางช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นฟรีทีวี ที่มีฐานผู้ชมทั่วประเทศได้...

ต่อมา วันที่ 21 กุมภาพันธ์ นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเรื่องรายการ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" ที่แพร่ภาพทางช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ โดยกล่าวว่า...

"ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการเชื่อมสัญญาณ ถ้าเชื่อมสัญญาณ ท่านอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ต้องรับผิดชอบครับ เพราะว่าก่อนจะได้มีการดำเนินการ ทางกรมประชาสัมพันธ์ได้ตรวจสอบ และอะไรที่ขัดกับข้อกฎหมาย รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนไม่ให้มีข้อที่ขัดต่อข้อกฎหมาย เพราะฉะนั้นอาจจะไม่ใช่ประเด็นเชื่อมไม่เชื่อมด้วยซ้ำไป มีประเด็นอื่นๆ อีกครับ เพราะฉะนั้น กรมประชาสัมพันธ์ได้แก้ไขตกแล้วนะครับ ถึงสามารถให้ร่วมกันผลิตรายการได้ เพราะฉะนั้น ข้อเท็จจริงเป็นการร่วมผลิตรายการ โดยการจัดทำรายการนอกสถานที่ เพราะฉะนั้นอยากกราบเรียนสื่อครับ เพื่อทำความเข้าใจไปยังบุคคลอื่นด้วยนะครับว่า รายการยามเฝ้าแผ่นดิน ไม่ใช่เป็นการเชื่อมต่อสัญญาณจากเอเอสทีวี เพราะขณะนี้เอเอสทีวี ยังไม่มีกฎหมายรับรอง"

คำกล่าวของนายธีรภัทร์ที่ว่าไม่มีการเชื่อมสัญญาณ (Leased Line) ระหว่างช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์กับเอเอสทีวี นั้น เป็นคำพูดเพื่อเลี่ยงกฎหมาย เพราะข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ของเราแจ้งว่า ขั้นตอนของการแพร่ภาพรายการยามเฝ้าแผ่นดินทางช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ เริ่มต้นจากการที่ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ทำการติดตั้งจานรับสัญญาณดาวเทียม เอ็นเอสเอส6 เพื่อรับสัญญาณรายการจากเอเอสทีวี (ซึ่งถ้ายึดตามคำพูดของนายธีรภัทร์ข้างต้น ก็ถือว่าเป็นสัญญาณเถื่อน เพราะผิดกฎหมาย) จากนั้นก็ทำการส่งสัญญาณซ้ำ หรือ Rebroadcast ให้ฐานผู้ชมทั่วประเทศไทยของช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ที่เป็น "ฟรีทีวี" ได้ชมกันอย่างทั่วถึง

อยากให้สังเกตว่า รายการ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" ขณะแพร่ภาพทางเอเอสทีวี จะไม่มีโลโก้ของเอเอสทีวี ตรงมุมจอเหมือนรายการอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ใส่โลโก้ของตัวเองระหว่างที่ทำการส่งสัญญาณซ้ำ ส่อให้เห็นว่าช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ และเอเอสทีวี "รู้กัน" และจงใจหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย

ข้อสังเกตอีกอย่างคือ การถ่ายทอดสดนอกสถานที่ ดังที่รมต.สำนักนายกฯ พูดนั้น โดยปกติแล้ว ถ้าเป็นสถานีโทรทัศน์ทั่วไป เช่นช่อง 3 5 7 9 11 หรือ ไอทีวี จะต้องยิงสัญญาณผ่านไปยังดาวเทียมไทยคม ซึ่งมีใบอนุญาตประกอบการอย่างถูกกฎหมาย แต่สำหรับรายการของเอเอสทีวี ที่ถ่ายทอดสดนอกสถานที่นั้น ได้อัพลิงค์สัญญาณจากท้ายรถกระบะไปยังดาวเทียม เอ็นเอสเอส6 ที่ได้เช่าช่องสัญญาณไว้ แล้วส่งกลับลงมายังเอเอสทีวี ที่บ้านพระอาทิตย์ เพื่อส่งเป็นสัญญาณผ่านอินเตอร์เน็ตไปยังฮ่องกง และอัพลิงค์ขึ้นดาวเทียมเอ็นเอสเอส6 อีกรอบ

เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างโจ่งแจ้ง...

และอย่าลืมว่า เอเอสทีวี เคยเป็นหัวโจกโจมตีรัฐบาลเก่ากรณีขายหุ้นชินคอร์ป ในประเด็นความลับของชาติ ข้อมูลทางการทหาร โยงไปถึงความมั่นคงของประเทศ ฯลฯ ดังนั้น นายสนธิ ลิ้มทองกุล ก็ต้องตอบคำถามที่ว่า การถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมตามอำเภอใจแบบที่เอเอสทีวีกำลังทำอยู่นี้ สมควรที่ประชาชนคนไทยจะทักท้วงในประเด็นความมั่นคงของชาติบ้างหรือไม่...

ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะยกมาพูดถึง ณ ที่นี้ก็คือการขายหุ้นเอเอสทีวีแก่ประชาชน ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล รู้อยู่แก่ใจว่าสถานีโทรทัศน์ของตน ไม่ได้จัดตั้งและดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากถึงที่สุด คำพิพากษาของศาลปรากฎออกมาว่าจะต้องปิดสถานี... ประชาชนตาดำๆ ที่หลงซื้อหุ้นของเอเอสทีวีไปจะทำอย่างไร...

ถือเป็นเรื่องน่าห่วง และรัฐบาลน่าจะแสดงความรับผิดชอบโดยการหยุดยั้งการขายหุ้นของเอเอสทีวี จนกว่าเอเอสทีวี จะสามารถพิสูจน์ตัวเองได้อย่างแท้จริงว่าเป็นองค์กรที่จัดตั้งและดำเนินการตามกฎหมายอย่างขาวสะอาด ไม่ใช่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่สีเทาอย่างเช่นปัจจุบันนี้...

สิ่งที่รัฐบาลชุดปัจจุบันควรจะทำ หากจะปล่อยให้เอเอสทีวี ดำเนินการอยู่ต่อไปก็คือ "อย่าลำเอียง" หรือ "เลือกปฏิบัติ" กับพีทีวี โดยการเปิดใจให้กว้าง ยอมให้กลุ่มอำนาจเก่ามีโอกาสได้ "พูด" บ้าง เพราะในระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนสมควรได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วนทั้งสองด้าน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณา...

เหมือนอย่างที่ อ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ หนึ่งในแกนนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พูดเอาไว้อย่างน่าฟัง เมื่อคราวเปิดแถลงข่าวที่บ้านพระอาทิตย์เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ว่าการมีพีทีวีนั้น ภาคประชาชนจะได้ประโยชน์

"การตอบโต้กันทางข้อมูลทำให้สังคมมีความอดทนสูงขึ้น ข้อมูลข่าวสารที่จะหักล้างกันให้เหตุผลซึ่งกันและกัน พันธมิตรเราโดยเฉพาะนักประชาธิปไตยถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ความเสียหาย กลับทำให้สังคมไทยเพิ่มความเข้มแข็งมากขึ้น ไม่มีความเห็นใดที่จะไปคัดค้านเลย มีแต่จะสนับสนุนให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นกันโดยเสรี ไม่อย่างนั้นรัฐธรรมนูญเขาคงไม่คุ้มครองทุกฉบับ ผมยินดีต้อนรับข้อมูลข่าวสารจะได้สู้กัน ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเอง"

....................

ที่มา : ทีมข่าวไทยทาวน์ยูเอสเอนิวส์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท