Skip to main content
sharethis

ความร่วมมือเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) หรือที่รู้จักกันในนามเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ที่หนากว่า 900 หน้านี้ แม้คณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบให้ลงนามไปแล้ว แต่ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับข้อตกลงจากเอ็นจีโอและนักวิชาการในหลายประเด็น


 


ผศ.ดร. ลาวัณย์ ถนัดศิลปกุล ผู้อำนวยการโครงการสถาบันศึกษากฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นอีกคนหนึ่งที่มีโอกาสเปิดอ่านข้อตกลงระหว่างไทย-ญี่ปุ่นฉบับนี้อย่างละเอียด และต่อจากนี้คือประเด็นข้อห่วงใยในสายตานักกฎหมายระหว่างประเทศที่อยู่ในแวดวงนี้มากว่า 30 ปี ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังถัด)


 


สำหรับการทำข้อตกลงกับประเทศ "นักลงทุน" ยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ประเด็นสำคัญที่สุดที่น่าพิจารณาคือเรื่องของ "การคุ้มครองการลงทุน" ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ยังไม่มีใครพูดถึง และน่าจะเร่งให้ความสนใจเพราะยังมีเวลาหายใจอีกนิดหน่อยตราบเท่าที่ยังไม่ได้จรดปากกาลงนาม


 


ตามคำอธิบายของนักกฎหมายระหว่างประเทศท่านนี้มีความเป็นไปได้ที่ข้อบทว่าด้วยการลงทุนในความตกลงจะไปกระทบสิทธิในการกำหนดนโยบายสาธารณะของรัฐ เบียดบังสิทธิชุมชน แย่งชิงทรัพยากร โดยทั้งหมดทำได้อย่างถูกต้องชอบธรรม ส่วนประเด็นของเสียอันตรายก็มีประเด็นใหม่ที่ชวนคิดอย่างยิ่ง


 


รายละเอียดมีมากมายให้พิจารณา แต่คำอธิบายสั้นที่สุดที่พอสรุปได้ก็คือ 


 


"JTEPA เมื่อดูโดยผิวเผินจะรู้สึกเหมือนไม่มีอะไร แต่ในสารัตถะสำคัญ JTEPA ไม่ได้ต่างกับเอฟทีเอที่ไทยทำกับอเมริกา เพียงแต่อเมริกาใช้ถ้อยคำที่เห็นได้ชัดเจน โฉ่งฉ่าง ขณะที่ของญี่ปุ่นมักใช้วิธีซ่อนๆ อยู่ในตัวบท"


 


 


 


0 0 0 0 0


 


 


 


ทำไมญี่ปุ่นจึงต้องทำเอฟทีเอกับไทย


 


ญี่ปุ่นต้องการการคุ้มครองเรื่องการลงทุน เนื่องจากญี่ปุ่นยังไม่มีสนธิสัญญาทวิภาคีว่าด้วยการคุ้มครองหรือส่งเสริมการลงทุนกับไทย ทั้งที่เขามาลงทุนในไทยนานมากแล้ว และนักลงทุนญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นผู้ลงทุนที่กระทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด การสร้างข้อตกลงนี้จึงเป็นไปเพื่อเป็นการวางหลักประกันที่แน่นอนว่าเราจะไม่เวนคืนยึดทรัพย์หรือใช้มาตรการอื่นที่เป็นเรียกว่า เวนคืนยึดทรัพย์ทางอ้อมกับนักลงทุนญี่ปุ่น


 


JTEPA เมื่อดูโดยผิวเผินเราจะรู้สึกเหมือนมันไม่มีอะไรเลย แต่ในสารัตถสำคัญ JTEPA ไม่ได้ต่างกันมากมายจากเอฟทีเอที่ไทยทำกับอเมริกา เพียงแต่อเมริกาใช้ถ้อยคำที่เห็นได้ชัดเจน โฉ่งฉ่าง ขณะที่ของญี่ปุ่นมักใช้วิธีซ่อนๆ อยู่ในตัวบทดูไม่เห็นถ้าไม่ลงไปเจาะลึก เช่น การคุ้มนักลงทุนที่เป็นชาวญี่ปุ่นเรื่อง การเวนคืนยึดทรัพย์ การชดเชย พูดง่ายๆ ว่าเรื่องการคุ้มครองการลงทุนนั้นเหมือนกันเอฟทีเอไทย-สหรัฐเลย  


 


ถึงได้บอกว่าเจรจากับญี่ปุ่นยากกว่าอเมริกา ส่วนว่าผลมันจะเป็นยังไง เนื่องจากมันไม่เหมือนกับบททรัพย์สินทางปัญญาที่ชี้ให้เห็นชัดๆ สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นก่อนจึงจะรู้ว่าเป็นยังไง แต่เท่าที่อ่านในกรอบของกฎหมายนั้นพอมองเห็น


 


 


เป้าหมายของญี่ปุ่นคืออะไร


 


คงต้องเริ่มต้นดูยุทธศาสตร์การเจรจาของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นทำ EPA ในอาเซียนและเลยไปถึงอเมริกาเหนือโดยมียุทธศาสตร์ดังนี้


 


1.ต้องการวางกรอบระเบียบเรื่องการลงทุน และต้องการให้มีการคุ้มครองการลงทุน นักลงทุนอย่างเข้มแข็งอย่างที่กล่าวไป


 


2.ญี่ปุ่นมีปัญหาความไม่มั่นคงในทรัพยากรธรรมชาติ เพราะเป็นประเทศเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนพลังงาน วัตถุดิบ ผังของการเจรจา EPA จึงมุ่งตรงไปยังประเทศที่สามารถสนองสิ่งที่ญี่ปุ่นขาดแคลน 


 


3.ต้องการวางกรอบระเบียบที่เหมาะสมต่อการรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าไปในญี่ปุ่น ซึ่งเหตุผลก็คือ ญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดต่ำ และมีประชากรสูงอายุจำนวนมาก 


 


4.ต้องการความมั่นคงทางด้านอาหาร ปัจจุบันญี่ปุ่นนำเข้าอาหารจากทั่วโลกประมาณ 60% ของปริมาณการบริโภคในประเทศทั้งหมด


 


5.ต้องการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในปัญหาสิ่งแวดล้อม


 


6.ต้องการรักษาความมั่งคงของชาติ เพราะรอบประเทศญี่ปุ่นจะมีปัญหาความมั่นคงปลอดภัย ทั้งกับเกาหลีและจีน


 


 


บทว่าด้วยการลงทุนมีประเด็นใดที่น่าห่วงใย


 


หากเปิดดูมาตราต่างๆ ใน JTEPA มันจะต่างกับเอฟทีเอที่ไทยกับสหรัฐอเมริกาในแง่ที่ อเมริกาจะโฉ่งฉ่างในเรื่องรูปแบบ ขณะที่ญี่ปุ่นวัตถุประสงค์เท่ากันเหมือนกัน แต่ใช้ถ้อยคำที่นุ่มนวล สละสลวย แต่มีความต้องการให้คุ้มครองการเวนคืนยึดทรัพย์


 


ในเอกสารที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยทำระบุว่า จะไม่มีอะไรมากไปกว่าหลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment - NT) หรือการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favourite Nation - MFN)


 


แต่ปัญหาคือ สมมติในกรณีนั้นเป็นการลงทุนที่ไม่มีการลงทุนของคนชาติจะใช้มาตรการอย่างไร แน่นอนว่าต้องให้ความคุ้มครองแก่นักลงทุนไม่ให้เกิดความเสียหายใดๆ มันก็โยงมาสู่ประเด็นว่า หากการลงทุนของนักลงทุนต่างชาตินั้นไปกระทบต่อประโยชน์สาธารณะเราจะออกนโยบายคุ้มครองสาธารณะได้หรือไม่


 


ในข้อตกลงกำหนดนิยามของพื้นที่การลงทุนให้รวมถึงทะเลอาณาเขต เขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือในเขตแดนที่ประเทศไทยมีเขตอำนาจรัฐด้วย ขณะเดียวกันเราก็ให้ NT และมีการแก้กฎหมายภายในเพื่อนเปิดเสรีอุตสาหกรรมต่างๆ


 


ฉะนั้นมันจึงเกี่ยวเนื่องกันว่า ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังต้องการแสวงหาแหล่งพลังงาน การเข้าไปสำรวจ ขุดเจาะหาก๊าซธรรมชาติในทะเลอาณาเขตหรือเขตเศรษฐกิจ ในฐานะที่อยู่ในหมวดของการลงทุน มันก็จะกลายจากเรื่องของสาธารณะไปสู่การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ


 


กรณีที่ผ่านมาหากเป็นการสำรวจขุดเจาะที่เป็นโครงการของรัฐบาล ประชาชนก็จะมีสิทธิคัดค้านต่อต้านได้ หรือต้องมีการแสดงประชามติ แต่หากเป็นเรื่องของการลงทุนของต่างประเทศแล้ว หากมีการต่อต้านดังกล่าว นักลงทุนต้องได้รับการคุ้มครองภายใต้บทลงทุนของ JTEPA ว่าการจลาจล การประท้วงจะทำไม่ได้ มันอาจถูกตีความว่าเป็นการยึดทรัพย์ทางอ้อมได้เนื่องจากคำนี้กินความกว้างขวาง ไม่มีการนิยามแน่ชัด แม้แต่มาตรการทางภาษีหรือการกระทบกระเทือนส่วนแบ่งตลาดของนักลงทุนก็ถือเป็นการเวนคืนยึดทรัพย์ได้


 


ถ้ากฎหมายภายในไม่ได้สงวนไว้เรื่องการลงทุนในจุดที่เราต้องปิดไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ เขาก็เข้าไปทำประโยชน์ได้ทั้งหมดสำรวจทุกอย่างได้หมด ทรัพยากรใต้ผิวดิน ท้องทะเล การลงทุนเข้าไปได้หมด ซึ่งมันไปเกี่ยวเนื่องกับทรัพย์สินทางปัญญา เวลาดูต้องดูข้ามบทกัน เพราะเมื่อเขาได้รับการคุ้มครองการลงทุนแล้วผลจากการไปสำรวจหรือลงทุนอื่นใดก็จะได้รับการคุ้มครองภายใต้ทรัพย์สินทางปัญญาด้วย ในทางวิทยาศาสตร์ความหลากหลายของทรัพยากรเหล่านี้มีคุณค่ามหาศาล


 


นี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตจะเกิดกรณีใดบ้างที่มาตรการของรัฐหรือของประชาชนก็ตาม จะถูกตีความว่าเป็นการยึดทรัพย์ทางอ้อม และรัฐบาลต้องสูญเสียเงินจำนวนมากในการไปชดเชยเขาหรือมิเช่นนั้นก็ต้องปล่อยให้เขาทำแม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมหรืออื่นใดก็ตาม


 


อีกประการหนึ่งคือการโอนเงินโดยเสรี สิ่งนี้ปรากฏอยู่ในเอฟทีเอทุกฉบับ รวมถึง JTEPA ด้วย ตรงนี้จะทำให้เราขาดเสถียรภาพ หรือการคงเม็ดเงินไว้เพื่อการพัฒนา


 


ที่น่ากลัวอีกอันคือ Performance Requirement หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานการลงทุนเพื่อที่จะให้นักลงทุนต้องปฏิบัติตาม เช่น การใช้วัตถุดิบภายในประเทศ, อัตราส่วนการนำเข้าส่งออก, ห้ามการถ่ายโอนเทคโนโลยี  ซึ่งของเราสงวนไว้แค่ 4 อย่างที่ญี่ปุ่นไม่สามารถทำได้ แต่ญี่ปุ่นสงวนไว้ 11 อย่างที่เราทำไม่ได้ ตอนนี้เรื่องเทคโนโลยีเราไม่ได้ถูกจำกัด แต่ในปีที่ 6 เราอาจต้องถูกจำกัด หรือทบทวนให้ถูกจำกัด


 


ขอพูดถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ในอดีตเราไม่มีความรู้เรื่องนื้ แต่พอญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนก็ทำให้เรามีความรู้


มากขึ้น ขณะเดียวกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ที่เจริญเติบโตขึ้นมาก็เพราะเรามีข้อกำหนดในเรื่อง Local Content Requirement ต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทย อีกทั้งการผลิตก็ต้องได้มาตรฐานญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ถ้าเรายกเลิกตรงนี้ เขาก็สามารถนำเข้าชิ้นส่วนทุกชนิดเข้ามาได้หมด ซึ่งมันแปลว่าเขาอาจจะนำเข้าจากจีน เวียดนาม ซึ่งถูกกว่าของเราก็ได้ สิ่งที่จะถูกกระทบก็คืออุตสาหกรรมในประเทศที่ต้องตายไป สิ่งที่จะตายตามไปก็คือพวกอู่ซ่อมรถ เพราะทุกอย่างจะทำเป็น model ไม่ต้องเข้าอู่ซ่อมรถ ทุกอย่างต้องอยู่ที่ศูนย์ใหญ่


 


ฉะนั้น JTEPA จึงน่ากังวลในแง่ที่การลงทุนเงินทุนสามารถไหลออกได้หมด การถ่ายโอนเทคโนโลยีไม่มี การจ้างงานก็สามารถนำแรงงานของเขาเข้ามาได้หมด ในกรณีเช่นนี้เราได้ประโยชน์อะไรจากการลงทุน อาจจะมีแค่เพียงการจ้างงานในประเทศ ไม่มีการเพิ่มมูลค่าอะไร


 


 


JTEPA จะทำให้ญี่ปุ่นมีความมั่นคงด้านอาหารอย่างไร


 


เรื่อง การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร จากรายงานปกขาวของญี่ปุ่น เขาไม่ได้ต้องการนำเข้าอาหารจากประเทศไทยเพียงประการเดียว แต่ต้องการเข้ามาลงทุนเรื่องเกษตร ป่าไม้ และประมงด้วย มันอาจไม่ได้อยู่ในขั้นต้นนี้ แต่ขั้นต่อไปมันเป็นเป้าหมายของญี่ปุ่น ทั้งหมดนี้มันเป็นข้อสงวนของเรา แต่เราก็กำลังแก้ไขกฎหมายภายในของเรา ซึ่งท้ายที่สุดไม่รู้ว่าจะไปยกเลิกบัญชีอะไรบ้าง ถ้ากฎหมายธุรกิจคนต่างด้าวเปลี่ยนแปลงไปให้ทำธุรกิจเหล่านี้ได้   ทุกอย่างก็จะสอดคล้องกันไปหมด


 


ญี่ปุ่นต้องการความมั่นคงโดยการส่งออกอาหารจากประเทศไทยโดยผู้ลงทุนที่เป็นญี่ปุ่น ซึ่งสำหรับไทยแล้วมันจะกระทบในเรื่องการถือครองที่ดิน แม้ภายใต้ JTEPA นี้ยังไม่อนุญาตให้ต่างชาติถือครองที่ดิน แต่ก็สามารถอาศัยกลไกของกฎหมายไทยได้หากว่านิติบุคคลที่มาจดทะเบียนเข้าลักษณะเป็นบุคคลไทยก็สามารถถือครองที่ดินได้ ทำให้มีโอกาสเป็นเจ้าของพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ได้ ทำให้เกษตรรายย่อยของเราตายไปอย่างรวดเร็ว พื้นที่การเกษตรของไทยเราเองจะถดทอยน้อยลงไป มันจะถูกกวาดซื้อไปหมด


 


ดังนั้น จะเห็นว่าสิ่งที่เราได้จากเขา มันก็คือประโยชน์ที่เขาต้องการ เช่น เรื่องอาหาร มีการลดภาษีให้เป็น 0 เพราะเขาต้องการอาหาร ทำไมประเทศอื่นไม่ได้ เพราะประเทศอื่นไม่แหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ


 


สิ่งเหล่านี้จะทำให้การส่งออกไม่มีความหมายอื่นใด เพราะจริงอยู่ ไทยอาจได้ชื่อว่าเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ การส่งออกมีมูลค่าสูงแต่คนส่งออกอาจเป็นญี่ปุ่น และผลประโยชน์ก็เป็นของเขา อย่างไรก็ตาม การเน้นการส่งออกทำให้ของดีๆ ถูกส่งออกหมด และคนไทยก็กินแต่ส่วนที่เหลือจากส่งออก ของชำรุด ตลอดเวลา ทั้งที่เราเป็นเจ้าของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ


 


 


ประเด็นเรื่องของเสียอันตรายที่จะเข้ามาในไทยมีความเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร


 


หลายคนพยายามอธิบายว่าการลงทุนไม่ได้เพิ่มพูนขยะอันตราย ของมีพิษ เพราะเรามีกฎหมายภายในที่ห้ามการขนย้ายขยะมีพิษเข้ามาในประเทศ ขณะเดียวกันเราก็เป็นสมาชิกของอนุสัญญาบาเซล ซึ่งวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฉบับนี้บอกชัดเจนว่า ประเทศที่เป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมจะต้องรับเอาของเสีย ขยะพิษนั้นกลับคืนมา


 


ถามว่าเรามีกฎหมายภายในที่ห้ามไม่ให้เอาของเสียที่เราผลิตเองกลับมาในประเทศไหม ไม่มี  และมันก็ทำไม่ได้อยู่แล้วที่จะไปขัดแย้งกับอนุสัญญาบาเซล


 


ประเด็นก็คือ ถ้าญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน เช่น ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่มือถือแล้วส่งออกไปทั่วโลก บริษัทก็อาจส่งกลับมาทิ้งในประเทศไทยได้ เพราะบรรลุวัตถุประสงค์ที่เราเป็นประเทศผู้ผลิต นี่คือปัญหา


 


ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยเตรียมจะเปิดเสรีการลงทุนและคุ้มครองนักลงทุนของหลายประเทศ รวมทั้งอเมริกาด้วย เราก็จะเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก เพราะเรามีแรงดึงดูดในเรื่องแรงงานราคาถูก และทรัพยากรธรรมชาติ อุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์ก็คืออุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงเลย


 


เรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงาน ภายใต้ JTEPA ก็มีอยู่เป็น 10 รายการที่ไทยขอเข้าสู่ตลาดแรงงานญี่ปุ่น แต่เมื่อดูให้ละเอียดจะเห็นได้ว่าทุกประการอยู่ภายใต้กฎหมายภายในของญี่ปุ่น และญี่ปุ่นยังคงดำรงสิทธิที่จะคัดกรองคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะไม่รวมไปถึงการเข้าไปทำงานในระยะยาว จะเป็นการจ้างงานระยะสั้นทั้งสิ้น จึงอยากให้เราศึกษากฎหมายภายในของญี่ปุ่น เพราะในขณะที่ญี่ปุ่นทำ JTEPA กับไทย ญี่ปุ่นมีกฎหมายภายในของเราทุกฉบับ


 


เราจะถูกขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ต้องรองรับขยะผ่านกลไกแบบนี้ เพราะมันอาจไม่ใช่ขยะจากประเทศอื่นส่งมาประเทศเรา แต่อาจเป็นขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนในบ้านเราเอง  จึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะเป็นที่ฝังกลบขยะอันตราย ถ้าไทยกลายเป็นฐานการผลิต


 


นอกจากนั้นยังมีการนำมาตรการในบทการลงทุนไปใช้กับบทบริการ ตั้งแต่เรื่องของ หลักNT, MFN การคุ้มครองการลงทุนที่เป็นบริการ ทั้งที่ในบทแม่บอกว่าไม่เกี่ยวจะไม่เอาไปใช้ แต่มีข้อยกเว้นเป็น 10 มาตรา เป็นการเอามาใช้ในสาระสำคัญ ก็เท่ากับเอาบทคุ้มครองการลงทุนใช้กับบทบริการด้วยนั่นเอง ซึ่งบริการใน mode 3 นั้นมีจำนวนมากคือ การที่ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนในประเทศที่รับบริการเพื่อให้บริการมีตั้งแต่เรื่องโรงแรม การขนส่ง การเดินเรือ ท่องเที่ยว ฯลฯ ตรงนี้มูลค่ามันมหาศาลกว่าการค้าสินค้ามากนัก  พอเราเปิดเสรีให้มีการลงทุนในภาคบริการมันจะได้รับผลประโยชน์มาก มองภาพรวมเหมือนยกประเทศไทยให้เลย ต้นทุนประเทศเราเขาจะได้ไปเลย  ทรัพยากรอาจจะหมดไปในรุ่นนี้


 


 


ข้อกำหนดเหล่านี้เป็นเรื่องปกติในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศหรือไม่


 


ข้อกำหนดเหล่านี้เมื่อก่อนไม่มี เพิ่งมาปรากฏใน FTA และ EPA ซึ่งมันเป็นยุคใหม่ เรียกว่า "นักลงทุนนิยม" ไม่ใช่ "ทุนนิยม" เพราะทุนนิยมยังอยู่ภายใต้กฎหมายที่ประเทศนั้นจะทำอะไรก็ได้ในประเทศของตัว แต่พอเป็นเรื่องของนักลงทุนนิยม มันเป็นเรื่องประโยชน์ของนายทุนโดยแท้ จริงอยู่ อาจมีการเพิ่มงานบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่เขาเอาจากประเทศของเราไปคือทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะทดแทนได้ในเวลาอันสั้น


 


  


มีข้อกังวลว่าหากไม่ทำเอฟทีเอ จะอยู่ลำบากในโลกทุนนิยมโลกาภิวัตน์


 


โลกาภิวัตน์อาจเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ก็จริง แต่ทำอย่างจะรับโลกาภิวัตน์อย่างชาญฉลาด ซึ่งอาจต้องเริ่มต้นด้วยการถามว่าสังคมที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร


 


เราไม่มีความจำเป็นต้องไปทำอะไรมากมายขนาดนั้น  เราพัฒนาคนของเราให้มีศักยภาพรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ เท่าที่เปิดประเทศทุกวันนี้ก็พอแล้ว แต่สิ่งที่มากับสนธิสัญญาชนิดนี้เราต้องแบกรับภาระเข้ามาด้วย แล้วมันเป็นภาระระยะยาว จริงอยู่เราบอกว่าจะเลิกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถึงตอนนั้นมันก็กลายเป็นเนื้อเดียวกันกับเศรษฐกิจเราแล้ว มันไม่เป็นจริง ดังนั้นอย่าเพิ่งรีบร้อนไปตกหลุมพราง


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net