Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 24 ก.พ. 50 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดอภิปรายเรื่อง "มาตรการ 18 ธันวาคม, Capital Controls และเศรษฐกิจไทย" เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา


 


ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงเหตุแวดล้อมที่ทำให้เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น มีต้นตอมากจากที่เงินดอลล่าร์สหรัฐอ่อนตัวลงมายาวนาน คนที่จะหลีกหนีการถือค่าเงินดอลล่าร์นั้น เมื่อไปดูค่าเงินในภูมิภาคอื่น ซึ่งก็หนีไม่พ้นประเทศในแถบเอเชีย


 


ซึ่งน่าสังเกตว่า ขณะที่ทุกประเทศเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ประเทศไทยเกินดุลเงินทุนอย่างมาก ซึ่งยิ่งทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และเงินทุนได้ไหลเข้าประเทศไทยเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้มีค่าเงินแข็งขึ้นประมาณ 7-8 เปอร์เซนต์ ในเดือนธันวาคม ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นถึง 16-17 เปอร์เซนต์


 


ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีทางเลือก คือ การแทรกแซงภาคการเงิน การลดดอกเบี้ยนโยบาย และการดำเนินมาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น


 


กรณีการแทรกแซงภาคการเงิน โดยพยุงค่าเงินนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยสะสมกองทุนเงินสำรองเอาไว้ค่อนข้างมาก โดยปีที่ผ่านมาได้ตุนเงินสำรองเพิ่มถึง 28 เปอร์เซนต์ การแทรกแซงเช่นนี้มีหลายคนไม่เห็นด้วย แต่ประเทศทุกประเทศก็แทรกแซงภาคการเงิน โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ อย่างประเทศจีน เมื่อทุกประเทศแทรกแซงค่าเงินแล้วเราไม่แทรกแซง ก็ไม่อาจแน่ใจว่าเราจะอยู่ได้อย่างไร อย่างไรก็ดี ดร.ธาริษากล่าวว่า "เราไม่มีเครื่องมือในการดูดซับสภาพคล่องไมได้ดั่งใจเท่าไร เมื่อเกิดสภาพคล่องส่วนเกิน ก็เป็นอันตรายต่อการเกิดภาวะค่าเงินเฟ้อ"


 


กรณีการลดดอกเบี้ยนโยบาย ดร.ธาริษากล่าวว่า ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อ 13 ธ.ค. เป็นทางเลือกที่กรรมการนำมาพูดกันเยอะ แต่ข้อเท็จจริงคือ ในการพิจารณาแต่ละครั้ง มักนำข้อมูลล่าสุดมาดู คือข้อมูลเมื่อสิ้นเดือนตุลาคม ซึ่งไม่ได้พบการเปลี่ยนแลงอะไรที่แตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ


 


นอกจากนี้ ความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันยังมี เนื่องจากโอเปคอยู่ระหว่างพิจารณาลดกำลังการผลิตจาก ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจยังขยายตัวดี หากคณะกรรมการการเงินจะใช้นโยบายดอกเบี้ยก็เป็นเรื่องอธิบายยาก เพราะด้วยข้อมูลล่าสุดในขณะนั้น ไม่ได้ชี้ให้ใช้นโยบายดอกเบี้ย และก็ไม่แน่ชัดว่า การลดดอกเบี้ยจะทำให้ค่าเงินลดลงหรือไม่ และการลดอัตราดอกเบี้ย คงไม่ช่วยลดการเก็งกำไรระยะสั้น เพราะนักลงทุนต่างชาตได้รับกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทมากกว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย


 


อย่างไรก็ดี ดร.ธาริษากล่าวว่า สุดท้าย ในเดือนที่ผ่านมาก็ตัดสินใจลดดอกเบี้ย ตามข้อมูลในเดือนมกราคมที่สนับสนุนว่าควรเปลี่ยนนโยบาย


 


ต่อกรณีการดำเนินมาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 นั้น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ไม่ได้มุ่งทำให้ค่าเงินไม่แข็งขึ้น แต่สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขคือ ความเร็ว เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นเร็วที่สุดในภูมิภาค และเป็นการเคลื่อนไหวทิศทางเดียว จึงต้องมีมาตรการสกัดกั้นออกมา


 


ดร.ธาริษากล่าวว่า บางคนบอกว่าออกมาตรการมาแล้วเงินบาทไม่อ่อนลง แต่นั่นไมใช่ประเด็น เราจะไม่ให้การแข็งค่าโดยไม่มีเหตุผล และการแข็งค่าทิศทางเดียวหยุดลง ให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องไปกับในภูมิภาค


 


ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อพยายามหาคำอธิบายง่ายๆ ว่าทำไมค่าเงินบาทเพิ่มสูงขึ้นนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ค่าเงินบาท แต่เป็นเพราะเงินดอลล่าร์อ่อน โยในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยมีระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกแทรกแซงน้อย หรือสกปรกน้อยกว่าประเทศอื่น ทำให้เงินทุนที่ไหลออกจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาในไทยมากกว่าประเทศอื่น ก่อนที่ ธปท.จะเริ่มใช้มาตรการที่ทำให้เงินบาทสกปรกมากขึ้นด้วยการออกมาตรการกันสำรอง 30% เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549


 


ศ.ดร.อัมมารตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมแบงค์ชาติไม่ลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งฟังผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอธิบายเหตุผลข้อนี้แล้วยังไม่จุใจ และไม่แน่ใจว่า ที่ธปท.กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยไม่มีผลช่วยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าหรืออ่อนลงมากนั้น จะเป็นจริง เพราะปกติการโยกย้ายเงินเวลาที่มีการเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยมักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และการพิจารณาจะต้องดูอัตราดอกเบี้ยเงินบาทเทียบกับดอกเบี้ยเงินสกุลอื่นๆ


 


เขากล่าวว่า แบงค์ชาติมีกรอบความคิดที่ดีและควรจะสนับสนุนต่อ คือการใช้มาตรการตั้งอัตราเงินเฟ้อเป็นตัวกำกับนโยบาย นั่นเป็นเป้าหมายหลักที่ดี ถ้ามองในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ การควบคุมอัตราเงินเฟ้อเป็นตัวที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนถูกกำกับด้วย


 


ศ.ดร.อัมมารกล่าวว่า เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจ แต่อยากให้ย่องเบาเข้ามา ไม่ใช่กระโดดตูม ที่ทำให้คนตกใจ นี่เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจ แต่ยังไม่เห็นประเภทเงินที่ไหลเข้าออกว่าเป็นอย่างไร แต่เป็นเครื่องมือที่ควบคุมเงินที่เข้ามาระยะสั้น และชี้ชัดได้ว่าอันไหนเป็นเงินระยะสั้น


 


เขากล่าวว่า "มาตรการที่ผ่านมา เหมือนกลไกเคลื่อนรถที่หมุนเร็วเกินไปจนก่อให้เกิดความเสียหาย ก็ต้องโยนหินทรายเข้าไปบ้าง นี่คือคอนเซปป์ของการสร้างความเสี่ยง มันมีเหตุผลของมัน แต่ถ้าทำแบบหวือหวา หักล้างกติกาที่เราสร้างขึ้น มันสร้างปัญหาให้ศัพท์ที่ผมไม่ชอบอย่างยิ่ง คือ ความมั่นใจกับนักลงทุน คือผมแคร์นิดหน่อยแต่ไม่อยากหลงติดกับมัน แต่สำหรับนักลงทุน มันยุติธรรมที่เขาต้องแคร์กติกาที่มั่นคง ซึ่งไม่ใช่เพื่อนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น แต่เพื่อนักลงทุนไทยด้วย"


 


อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ ธปท.ใช้มาตรการกันสำรองเงินทุนไหลเข้าไปแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่ดีในแง่ที่จะทำให้นักเก็งกำไรเข้าใจว่า ธปท.อาจจะนำมาตรการนี้มาใช้ได้อีกในอนาคต ภายหลังจากที่ยกเลิกมาตรการไปแล้ว ซึ่งเวลานี้ มาตรการแบบนี้ ได้ปรับลงในสมองนักลงทุนแล้ว แบงค์ชาติจะทำอย่างไรไร อย่าบอกว่าไม่เอาอีกแล้วไม่ทำอีก เพราะไม่มีใครเชื่อ


 


แต่ ธปท.จะต้องมีเหตุผลและสร้างกติกาเกี่ยวกับการนำเงินเข้าออกระยะสั้นและยาวให้โปร่งใสมากขึ้น ซึ่งแม้ว่ากติกาการควบคุมดังกล่าวจะมีผลให้มีความเสี่ยงในการนำเข้ามากขึ้น เป็นความเสี่ยงที่เราสร้างขึ้นเอง แต่การสร้างความเสี่ยงเทียมขึ้นแบบนี้ก็จะมีประโยชน์ในแง่ที่ทำให้การไหลเข้าออกของเงินมีความฝืดมากขึ้น


 


ดร.อัมมาร แนะนำว่า ธปท.ควรจะทำการสำรวจสำมะโนแนวทางการควบคุมเงินทุน ว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง และมีวิธีใดบ้าง โดยดูทั้งการเก็บเงินไว้ในประเทศ ในกรณีที่ต่างชาตินำเงินเข้ามา หรือคนไทยที่นำเงินออกจากประเทศสามารถเก็บเงินไว้ที่ต่างประเทศได้หรือไม่ รวมทั้งจะต้องพิจารณามาตรการของการเคลื่อนย้ายของเงินทั้งเข้าและออก ว่ามีเครื่องมืออะไรบ้างด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net