Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวประชาธรรม



 


 


สภาคนพิการทุกประเภทถกรัฐธรรมนูญใหม่ต้องให้น้ำหนักการส่งเสริม พัฒนา คุณภาพชีวิตแทนการจัดให้แบบสงสาร หนุนรัฐสวัสดิการพร้อมยกระดับกฎหมายเทียบเท่าสากล


 


เมื่อเร็วๆนี้ สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย  สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย  สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย) สมาคมเพื่อบุคคลปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) จัดสัมมนาระดมความคิดเห็น เรื่อง "บทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ"


 


นายมณเฑียร บุญตัน นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และอนุกรรมธิการด้านคนพิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำเสนอถึงผลการหารือเบื้องต้นของสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยและสนช.ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การพูดคุยได้ยึดเอารัฐธรรมนูญปี 40 เป็นฐานแต่ได้ปรับปรุงเนื้อหาให้ชัดเจนขึ้น อาทิ ความพิการ ควรถูกเพิ่มเข้าไปในมาตรา 30 ของหมวดสิทธิเสรีภาพ แม้ปัจจุบัน จะใช้คำว่า"สภาพทางกายหรือสุขภาพ"อยู่ เพราะความหมายของความพิการในปัจจุบันมีความลึกซึ้ง กว้างขวาง และควรสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพิการ ซึ่งครอบคลุมถึงมิติเงื่อนไขทางสภาพแวดล้อม สังคม ประเพณี และวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมภายนอก


 


นายมณเฑียร กล่าวว่า ในประเด็นสิทธิมนุษยชนหากรัฐธรรมนูญไม่กำหนดมาตรการหรือละเสียซึ่งมาตรการที่ให้บุคคลมีสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาคในมาตรา 30 ย่อมถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งในกรณีคนพิการเห็นได้ชัดเจน หากไปทำงานแต่นายจ้างไม่ช่วยเหลือ หรือจัดสิ่งอำนวยความสะดวก ย่อมถือว่าไม่ได้ส่งเสริมให้คนพิการมีสิทธิเสรีภาพโดยเสมอภาคกับลูกจ้างคนอื่น นอกจากนั้นให้มีโทษทางแพ่งและอาญากับผลแห่งการเลือกปฏิบัติ


 


สำหรับมาตรา 55 ที่ระบุว่า "บุคคลซึ่งพิการ หรือทุพพลภาพ มีสิทธิได้รับสิ่งนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ" ควรเปลี่ยนจากได้รับเป็นเข้าถึง เนื่องจากสิ่งอำนวยความสะดวกอาจมีความคลุมเครือ และทำให้เข้าใจผิดได้ หรืออาจเปลี่ยนเป็น "คนพิการมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากอาคารสถานที่ การขนส่งสาธารณะ ข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสารเทคโนโลยี ตลอดจนบริการสาธารณะอื่นใดและได้รับการช่วยเหลืออื่นใดจากรัฐ ตามมาตรฐานสากล หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ" ส่วนในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐนั้น คนพิการเห็นด้วยที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นหน้าที่แห่งรัฐ โดยมาตรา 80 กำหนดว่ารัฐต้องคุ้มครอง พัฒนา ส่งเสริม เด็กและเยาวชน ขณะที่คนพิการและผู้สูงอายุกลับใช้คำว่าสงเคราะห์เท่านั้น จึงเสนอให้ใช้เนื้อหาเดียวกันกับคนทุกกลุ่ม


 


นายมณเฑียร กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญควรเพิ่มเติมข้อบัญญัติให้นำสิทธิเสรีภาพที่ไทยได้ให้สัตยาบันในกฎหมายระหว่างประเทศ ควรนำมาใช้เป็นกฎหมายบังคับภายในประเทศโดยอนุโลม และควรกำหนดสัดส่วนการใช้ทรัพยากรหรืองบประมาณเพื่อส่งเสริมพัฒนาและสงเคราะห์คนพิการอย่างเป็นธรรม (ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของงบประมาณแผ่นดิน) รวมถึงกำหนดสัดส่วนการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกระดับ เพื่อให้กฎระเบียบต่างๆ สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ มากกว่าการปฏิบัติแบบเมตาธรรม หรือเวทนานิยมดังที่ผ่านมา


 


นายณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ นายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นอกเหนือจากประเด็นที่นำเสนอข้างต้นแล้ว รัฐธรรมนูญน่าพิจารณาบรรจุหลักการของรัฐสวัสดิการแบบอ่อนๆ มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมสวัสดิการสังคม และเลิกใช้คำว่าสงเคราะห์กับคนพิการ


 


นางดารณี ธนะภูมิ สมาคมเพื่อบุคคลปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้รัฐจะให้การดูแลคนพิการทางสติปัญญาตั้งแต่ปี 2503 มีโรงเรียน มีเบี้ยยังชีพ แต่ก็ยังไม่สามารถส่งเสริมพัฒนาคนพิการไม่ให้เป็นภาระของครอบครัวได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่มีการคุ้มครอง หรือเอาผิดกับผู้ละเมิดสิทธิ์กับผู้พิการทางสติปัญญา เช่น ล่วงละเมิดทางเพศ การถูกทำร้าย ฯลฯ


 


"รัฐธรรมนูญสำหรับคนพิการควรมองให้มากกว่าเรื่องสิทธิ ต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบความจำเป็นในชีวิต เช่น สาธารณสุข การศึกษา และด้านอาชีพ"


 


ด้านนายโคทม  อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวสรุปว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรให้ความสำคัญและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนพิการตามมาตรฐานสากลทั้งกฎบัตรสหประชาชาติ สนธิสัญญา และความตกลงระหว่างประเทศต่างๆที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคี เนื่องจากคนพิการเป็นบุคคลที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศและเป็นสักขีพยานของการเมืองที่ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม


 


อ.สมคิด เลิศไพฑูรย์  เลขานุการกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ช่วง 9 ปีที่ผ่านของการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ในกรอบการเมืองภาคพลเมือง หรือการเมืองภาคประชาชนมีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่บ้าง เนื่องจากบางมาตราถูกเขียนไม่ชัดเจน และแม้จะมีรัฐธรรมนูญจะให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กว่า 60 มาตรา เช่น สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม สิทธิผู้บริโภค ฯลฯ แต่พบว่าสิทธิเสรีภาพในบางมาตราไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญได้การกำหนดคำว่า "ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ" หมายความว่าการจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ต้องมีการออกกฎหมายลูกมาบังคับใช้ก่อน เมื่อ 9 ปีผ่านไป ก็ยังไม่รัฐบาลไหนตรากฎหมายเหล่านั้นขึ้น


 


"ตรงนี้เป็นข้อบกพร่องใหญ่ของรัฐธรรมนูญปี 40 ที่พยายามจะแก้ไขเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ปัญหาทัศนคติของเจ้าหน้าที่ต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งมักคิดว่าประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพตรงนั้น และกำลังก่อความวุ่นวาย โดยเฉพาะเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ หรือการเรียกร้องต่างๆ นั่นคือนอกจากการแก้ไขข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญแล้วต้องมีการแก้ไขการปฏิบัติด้วย"


 


"ในประเด็นของคนพิการรัฐธรรมนูญก็เขียนอย่างชัดเจนในมาตรา 30 ,55 และมาตรา 80 แม้จะใช้รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นต้นแบบ แต่เราก็พยายามคิดถึงสิทธิเสรีภาพใหม่ๆ เช่น สิทธิติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือสิทธิการคุ้มครองจากรัฐในกรณีที่มีการฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ เป็นต้น อย่างไรก็ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 50 จะเสร็จอย่างช้าที่สุดวันที่ 10 ก.ค. และจะมีการพิมพ์ เผยแพร่พร้อมคำอธิบาย จำนวน 18 ล้านชุด เพื่อให้คนไทย 18 ล้านครอบครัวได้พิจารณาก่อนขอประชามติในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน" เลขานุการกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าว


 


 


.........................................................


ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net