Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 23 ก.พ.50 คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย มูลนิธิสาธารณะสุขแห่งชาติ และฝ่ายข่าวสารและประชาสัมพันธ์ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย จัดสัมมนาเรื่อง "โทรทัศน์วิทยุสาธารณะ: ทางออกเพื่อผู้บริโภคและสังคมไทย"


 


ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องการผลักดันเรื่องสื่อสาธารณะให้เกิดขึ้นได้จริง เพื่อให้สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่โดยไม่ต้องเกรงว่าจะเกิดการเซ็นเซอร์เหมือนที่เคยเป็นมา สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องโครงสร้าง ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงควรจะเป็นผู้บริโภค ซึ่งต้องมีบทบาทกำหนดทิศทางการบริหารงานสื่อนั้นๆ ส่วนเรื่องงบประมาณต้องหารือผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง


 


"เรื่องหลักตอนนี้คือ การผลักดันแนวคิดสื่อสาธารณะให้ได้คิดและแลกเปลี่ยนเพื่อประมวลข้อมูลที่เหมาะสมมาใช้กับสังคมไทย โดยอาจดูตัวอย่างจากต่างประเทศที่จะนำมาปรับใช้"


 


ธีรภัทรกล่าวด้วยว่า ขณะนี้รัฐบาลยังแต่งตั้งให้ น.พ.นิรันดร์ เป็นประธานคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทการใช้ทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปสังคม โดยจะกำหนดทิศทางในอนาคตของสื่อแต่ละประเภท ซึ่งในส่วนนี้จะใช้เวลาในการศึกษาและสรุปประเด็นประมาณ 3-4 เดือน


 


สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งได้ทำงานวิจัยเรื่องโทรทัศน์สาธารณะและมีการร่างพ.ร.บ.องค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะขึ้นเป็นต้นแบบแล้ว ระบุเหตุผลที่ต้องมีโทรทัศน์สาธารณะว่า เป็นเพราะขณะนี้อยู่ในช่วงปฏิรูปการเมือง การเรียนรู้ และปฏิรูปสื่อ อีกทั้งประเทศไทยยังไม่พ้นสภาพสองนคราประชาธิปไตย ดังจะเห็นจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา


 


"กรณีการออกเสียงโนโหวตในต่างจังหวัด ผมเชื่อชัดเจนว่าเป็นอิทธิพลจากการถ่ายทอดเอเอสทีวี อย่างไรก็ตาม การถ่ายทำรายการแบบเอเอสทีวีก็เป็นที่ถกเถียงส่าการนำเสนอนั้นอยู่ในจรรยาวิชาชีพสื่อมากน้อยเพียงไร" สมเกียรติกล่าว


 


ร่าง พ.ร.บ.ทีวีสาธารณะ รมว.เศรษฐกิจต้องผลักดัน


สมเกียรติ กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.ที่นำเสนอนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินจึงต้องเสนอโดยรัฐมนตรี ซึ่งหมายความว่ารัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจทั้งสองต้องผลักดันอย่างเต็มที่  อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายผ่านในรัฐบาลนี้แต่ไม่มีการปฏิบัติจริงในรัฐบาลต่อไปเรื่องนี้ก็อาจจะแท้งได้


 


ในส่วนของปัญหาวิทยุโทรทัศน์ไทยในขณะนี้ สมเกียรติกล่าวว่า รายการโทรทัศน์ไม่ได้ผลิตรายการที่มีคุณค่า เพราะมีต้นทุนสูง กำไรต่ำ ดังนั้น โทรทัศน์ก็จะผลิตรายการที่ประชาชนต้องการดู โดยอาจละเลยรายการที่ต้นทุนสูง แม้จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็ตาม นอกจากนี้สถานีโทรทัศน์ของรัฐ ยังถูกผูกขาดและแทรกแซงได้ตลอดเวลา รวมทั้งรายการโทรทัศน์จำนวนมากมีปัญหาเรื่องจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม ข้อมูลที่สำรวจโดยมีเดียมอนิเตอร์ พบว่าหลายรายการมีอคติทางเพศ มีอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ หรือกรณีความขัดแย้งทางการเมือง แล้วต้องมาใช้ปากเสียงผ่านการชุมนุม เพราไม่มีสื่อ ก็เป็นต้นทุนอีกประเภทหนึ่ง


 


"ผมคิดว่า การแก้ปัญหาสื่อของประเทศไทยไม่ได้แปลว่าจะละทิ้งสื่อเชิงพาณิชย์ไปทั้งหมด แต่สังคมยังขาดสื่ออีกประเภทที่ปราศจากการแทรกแซงทางธุรกิจและการเมือง ไม่แสวงกำไร แปลว่า ต้องมีองค์กรสื่ออีกประเภทหนึ่งที่ต้องจัดตั้งขึ้น เป็นบรรษัทพิเศษ มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีการส่งเสริมการผลิตรายการ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม"


 


ตั้งสถานีใหม่ 3,000 ล้าน


สมเกียรติกล่าวว่า การปฏิรูปสื่อสามารถทำได้โดยการออกกฎหมายองค์กรสื่อสาธารณะ ซึ่งต้องมีการออกแบบโครงสร้างองค์กรที่มีคณะกรรมการที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาแล้วเสนอชื่อต่อรัฐสภา แต่หากวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งก็ต้องทบทวนว่าจะทำอย่างไรให้ทิศทางที่มามีความเชื่อมโยงกับประชาชน โดยที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบให้ปีละสองพันล้านบาท แต่การบริหารงานสถานีนั้นฝ่ายรัฐบาลหรือรัฐสภาไม่สามารถเข้าไปล้วงลูกได้เหมือนที่เป็นอยู่


 


อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าจุดอ่อนของทีวีสาธารณะโดยทั่วไป คือการไม่อยู่บนพื้นฐานของเรตติ้ง แม้จะไม่เกี่ยวกับโฆษณา แต่อีกด้านหนึ่งอาจหมายถึงความไม่น่าสนใจ จึงน่าจะต้องมีการประเมินผลของรายการโดยเชื่อมโยงกับความต้องการประชาชน และอย่างน้อยร้อยละสิบของเวลา ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดการได้ อีกด้านหนึ่งต้องมีข้อกำหนดจริยธรรม มีกลไกตรวจสอบการผลิตรายการต่างๆ ให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และข้อกำหนดจริยธรรมต้องมาจากกระบวนการทางสังคมที่กำหนดร่วมกัน


 


ทั้งนี้ จากการทำวิจัยในด้านการเงินนั้นพบว่า การจัดตั้งสถานีใหม่จะต้องใช้งบประมาณราว 3,000 ล้านบาท และมีค่าดำเนินการอีกราวปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งการจัดหางบประมาณนั้นรัฐต้องสนับสนุน และต้องไม่ใช่แบบปีต่อปีเพราะจะทำให้อยู่ใต้อิทธิพลรัฐ ควรเขียนกฎหมายกำหนดจากช่องทางอื่นด้วยเช่น รายได้จากทรัพย์สินทางปัญญาของบรรษัท, การบริจาค, การเก็บภาษี


 


ส่วนทางเลือกในการก่อตั้งสถานีนั้น เขาระบุว่า ทางแรกอาจใช้คลื่นยูเอฟเอชที่เหลือ โดยใช้งบตั้งต้นประมาณ  3,000 ล้านบาท และใช้เวลาดำเนินการ 1-2 ปี ทางเลือกที่สองคือ แปลงสภาพช่อง 11 ซึ่งต้องมีวัฒนธรรมองค์กรเดิมที่ต้องปรับเปลี่ยน คงใช้เวลาพอสมควร และอีกทางเลือกคือแปลงสภาพไอทีวี ในกรณีที่ไอทีวีกลับคืนสภาพมาเป็นของรัฐในช่วงเวลาพอดี


 


"สิ่งที่จะทำให้สถานีโทรทัศน์ฯจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ก็คือความมุ่งมั่นทางการเมือง" สมเกียรติกล่าว


 


เงินทุนไม่น่ามาจากรัฐ อาจไม่เป็นอิสระ


หลังจากนั้นวงสัมมนาได้มีการแลกเปลี่ยนกัน โดยสมเกียรติ อ่อนวิมล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า หลักการคือโทรทัศน์ของใครคนนั้นต้องจ่ายเงิน ดังนั้น สาธารณะก็ต้องจ่ายจะได้โวยวายได้ ที่อังกฤษนั้นจ่ายตอนซื้อทีวี ที่อเมริการายได้หลักก็มาจากประชาชน นอกจากนี้ในการร่างกฎหมายต้องให้ประชาชนเข้ามาร่วมปรับปรุงแก้ไขตัวร่างนี้ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่ารายได้หลักควรมาจากภาษีอากร


 


วสันต์ ภัยหลีกลี้ ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เสริมว่า ระบบของอังกฤษ สถานีโทรทัศน์บีบีซีได้รายได้มาจาก License fee แต่ก็ต้องใช้ระบบบังคับที่ตรวจสอบว่าบ้านไหนใช้บ้าง ซึ่งกลายเป็นอีกปัญหาหนึ่งเพราะกระบวนการนี้ใช้ต้นทุนสูง แต่กระบวนการได้มาของบอร์ดบีบีซีมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง เป็นกระบวนการที่ปราศจากการเมืองและทุน


 


"ถ้าที่มาของรายด้มาจากประชาชน จะทำให้โทรทัศน์มีเพื่อสาธารณะ ไม่เห็นด้วยกับการเอารายได้มาจากรัฐ เพราะเป็นช่องทางที่รัฐแทรกแซงได้" วสันต์กล่าว


 


พิรงรอง รามสูตร รณะนันท์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า กรณีสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคของญี่ปุ่น มีกรณีการถูกแทรกแซงโดยการรับเงินจากรัฐสภาญี่ปุ่น ซึ่งประธานคนหนึ่งของเอ็นเอชเคออกมาแฉว่า พรรคข่มขู่เขาตลอดเวลา ซึ่งเป็นจุดอ่อนเรื่องฐานที่มั่นทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกแนวทางหนึ่งคือในพ.ร.บ.การศึกษา 2542 ระบุว่าต้องมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการสื่อสารฯ โดยนำเงินทุนมาจากค่าสัมปทานต่างๆ เพราะการเอาเงินมาจากรัฐ หรือเงินบริจาคค่อนข้างมีความเสี่ยงสูง


 


สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ กล่าวว่า แหล่งที่มาของรายได้ในการสร้างสถานีโทรทัศน์สาธารณะน่าจะมาจากสาธารณะ แต่จะรูปแบบอาจจะยาก หากคนเห็นความสำคัญกับทีวีมากพออาจเก็บเพียงเล็กน้อยคล้ายค่าบริการในสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ประปา ไฟฟ้า


 


"กระบวนการผลักดันเหล่านี้ต้องใช้เวลา ถ้าผลักดันได้ตอนนี้มันก็ดี แต่โดยจุดยืนส่วนตัวที่ไม่รับสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนจะขาดการมีส่วนร่วม ถ้าเราผลักดันไปอย่างรวดเร็ว ไม่ได้ร่วมคิดทุกส่วนมันจะผิดพลาดเหมือนกรณีไอทีวีหรือเปล่า เราไม่ต้องการให้เรื่องทีวีสาธารณะผันผวนไปตามใครก็ตามที่อยู่ในอำนาจการเมือง"


 


"ถ้าเราผิดหวังจากระบอบทุนเป็นใหญ่มาแล้ว รัฐเป็นใหญ่มาแล้ว ก็อาจจะต้องฟันธงในทางที่สามบ้างว่า เราเป็นสาธารณะ 80% ไปเลย" สุภิญญากล่าว


 


ตั้งคณะกรรมการองค์กรอิสระทีวีสาธารณะ


ในส่วนของที่มาคณะกรรมการขององค์กรแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะตามที่เสนอในร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว สมเกียรติ อ่อนวิมล กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าวุฒิสภาใหม่จะมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง อย่างไรก็ตาม ขอตั้งข้อสังเกตว่าไม่ว่าใครจะเป็นกรรมการสรรหา การเมืองก็เข้าแทรกแซงเสมอ


 


พิรงรอง กล่าวว่า ไม่ได้มองว่าเรื่องสื่อสาธารณะเป็นทางออกของผู้บริโภค เพราะลักษณะเฉพาะของสื่อสาธารณะต้องให้ความสำคัญกับชนกลุ่มน้อยเป็นพิเศษ จึงน่าจะเอาเรื่องนี้มาเป็นโจทย์ด้วยเนื่องจากเกี่ยวข้องกับเรื่ององค์กรสรรหา กรณีความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ อาจจะไม่มีพื้นที่สาธารณะให้เขาเพียงพอ ถ้าจะสร้างโทรทัศน์สาธารณะจะต้องเป็นจุดขายและเป็นจุดสำคัญ


 


พิรงรอง กล่าวว่า ในข้อเสนอในกฎหมายยังไม่ค่อยปรากฏเรื่องสิทธิทางวัฒนธรรม เช่น การใช้ภาษาแม่ในสื่อ การมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม เช่น คนมุสลิมซึ่งมีจำนวนไม่น้อยควรมีพื้นที่มากกว่างานเมาริดกลางปีละหน มีการมีสนับสนุนให้เกิดการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพื่อนส่งเสริมความเข้าใจต่อผู้อื่น


 


เสนอประเดิมช่อง 11 ทีวีสาธารณะ ประหยัดสุด


พิรงรองกล่าวด้วยว่า ก่อนกฎหมายจะเกิด ต้องมีโครงการรณงรงค์ให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการเท่าทันสื่อ ให้เด็กรู้เท่าทันว่าสื่อแต่ละช่องมีเทคนิคในการทำอย่างไร ถ้าเด็กรู้ก็อาจจะเห็นความสำคัญของสื่อสาธารณะ ก่อนจะทำตรงนี้ก็ต้องพยายามสร้างดีมานด์ จะให้เกิด impact ก็ต้องสร้างการเท่าทัน


 


ในประเด็นเรื่องออกกฎหมายในช่วงเวลาที่รัฐสภามาจาการแต่งตั้งเช่นนี้  สมเกียรติ อ่อนวิมล ระบุว่า ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ขณะที่ดร.ธีรภัทร์ กล่าวว่า แม้จะเป็นรัฐบาลจากรัฐประหารแต่ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสื่อสาธารณะเพราะมันเป็นคะแนนนิยมของรัฐบาล และไม่ได้ใช้งบประมาณมากมาย โดยส่วนตัวเสนอให้เหลือกช่อง 11 เพราะจะประหยัดที่สุด และสามารถเสนอกฎหมายกับรัฐบาลนี้ได้เลยการอนุมัติน่าจะใช้เวลาไม่กี่เดือน 


 


ด้านสุภิญญา เห็นว่า ประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา ถ้าการผลักดันโดยนักวิชาการ ผู้ตื่นรู้ความคิด แต่ประชาชนไม่ได้รู้เห็นไปด้วย สุดท้ายแล้วมันจะล้มเหลวในที่สุด ขณะที่กรณีวิทยุชุมชนซึ่งชุมชนพร้อมแล้ว ที่ผ่านมาแม้ไม่มีกฎหมายรองรับก็เริ่มต้นขึ้นเองในที่สุด


 


สุภิญญากล่าวต่อว่า ถ้ารัฐบาลนี้มีเจตจำนงจริงๆ ก็เห็นด้วยที่จะต้องปฏิรูปช่อง ๑๑ ให้อิสระจากรัฐมาเป็นช่องสาธารณะ อาจปรับจากพ.ร.บ.นี้หรือไม่ก็ได้ แต่ทุกคนต้องได้เขาไปในผังรายการไม่ว่า สนธิ ลิ้มทองกุล ครป. คุณวีระ มุกสิกพงษ์ เอ็นจีโอ ฯลฯ


 


"ไอทีวีนั้นมันเกิดในรูปแบบเอกชนแล้ว อยากเห็นรูปแบบที่ดำเนินต่อไปในแบบเอกชน แต่ต้องจัดโครงสร้างใหม่ให้ต้องแข่งขันเสรี อาจจะเปิดประมูลใหม่ ปรับค่าสัมปทานให้เป็นธรรม สื่อเอกชนก็ต้องแข่งขันต้องใช้ความสามารถ"


 


ช่อง 11 อาจติดกรอบความเป็นราชการ


พิรงรอง รามสูตร กล่าวว่า ช่อง 11 เริ่มต้นด้วยเหตุผลเพื่อบริการสาธารณะ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการประชาสัมพันธ์รัฐ ซึ่งขัดแย้งกันในตัว งานวิจัยของอาจารย์ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เสนอว่าควรแปรรูปช่อง 11 แต่โดยส่วนตัวมีข้อห่วงใยคือ 1. คนทำงานในช่อง11 เป็นคนทำงานในระบบราชการมานานในแง่โครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ ดูจะไม่ปรับเปลี่ยนได้ไม่ง่าย  ทางที่ดีกว่าน่าจะเปิดสถานีใหม่เป็นวีเอชเอฟ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net