Skip to main content
sharethis



ประชาไท -- 24 ก.พ. 2550 เมื่อวันที่ 23 ก.พ. เวลา 11.00 . ที่หน้ารัฐสภา นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้ประสานงานเวทีประชาธิปไตยประชาชน (วปช.) พร้อมตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน 26 เครือข่ายประมาณ 150 คน ประกอบด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ฯลฯ ได้ร่วมกันยื่นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต่อนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)



 



 


 



 


นายจอนแถลงว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะต้องให้หลักประกันแก่ประชาชน โดยทั่วถึงและเสมอภาคกันทั้งในเรื่อง คุณภาพชีวิต ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การรับรองสถานภาพบุคคล สิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย เสรีภาพของสื่อมวลชน สถานภาพของสื่อภาคประชาชน ระบบเศรษฐกิจที่กระจายรายได้และสร้างความเป็นธรรม ระบบรัฐสวัสดิการ สิทธิของชุมชน สถานภาพขององค์กร ชุมชน และวัฒนธรรมชุมชน การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ในการบริหารประเทศ บริหารท้องถิ่นและการตรวจสอบอำนาจรัฐ ตลอดจนการสร้างระบบการเมืองภาคประชาชนที่เข้มแข็ง


 


"เราขอยืนยันให้มีการคงไว้ และพัฒนาหลักการในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.. 2540 ที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของประชาชน สิทธิชุมชน รัฐสวัสดิการ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การคงไว้ซึ่งองค์กรอิสระ โดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเพิ่มศักยภาพของการเมืองภาคประชาชนให้มีบทบาทสำคัญในการเสนอกฎหมาย นโยบาย รวมทั้งตรวจสอบอำนาจรัฐ ตลอดจนถอดถอนผู้บริหารทุกระดับที่ใช้อำนาจในทางที่ผิด" นายจอนกล่าวและว่า ทั้งนี้ ต้องร่วมผลักดันรัฐธรรมนูญของประชาชน ในหลักการที่สร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คุณภาพและความมั่นคงในชีวิต รวมถึงบทบาทการเป็นเจ้าของประเทศร่วมกันของประชาชนทุกส่วน จนกว่าจะประสบความสำเร็จ


 


"การร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่เกิดจากผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิชาการเท่านั้น แต่ต้องมาจากประชาชนทุกส่วน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องกินได้ คือ ต้องให้หลักประกันชีวิตที่ดี ที่เกี่ยวกับปากท้อง ความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น การมีงานทำ ที่อยู่อาศัยที่มั่นคง การศึกษาสำหรับทุกคน รวมทั้งการบริการด้านสุขภาพ โดยคำนึงถึงประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ เด็ก เยาวชน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้พิการ แรงงานข้ามชาติ ฯลฯ" ผู้ประสานงานวปช. กล่าว


 



                         


 


ด้านนายนรนิติ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ยังคงรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอยู่ โดยที่การรับฟังความคิดเห็นนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง และช่วงนี้เป็นช่วงเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงแรก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่รับมาก็จะรับฟัง และได้สะท้อนว่า ประชาชนตื่นตัว ทั้งนี้ขอขอบคุณสำหรับการให้ความสนใจต่อการร่างรัฐธรรมนูญ และรับปากว่าจะนำเสนอต่อกมธ.ยกร่างฯให้เร็ว


 


นายนรนิติยังกล่าวอีกว่า หากข้อเสนอที่ยื่นมา กระชับ เข้าใจง่าย ก็จะนำไปเสนอปรับแก้ได้ง่ายขึ้น แต่หากเขียนมายาวก็อาจต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจนาน ทำให้การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า และสำหรับบางกลุ่มที่มายื่นข้อเสนอก็ยังไม่รู้จัก เช่น เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ซึ่งคงต้องไปอ่านดูก่อน


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  การยื่นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของวปช.ในครั้งนี้ มีการตั้งเวทีปราศรัยบริเวณฝั่งตรงข้ามรัฐสภา โดยมีป้ายผ้าระบุว่า "รัฐธรรมนูญต้องเคารพสิทธิการเมืองภาคพลเมือง" "รัฐธรรมนูญต้องไม่สนับสนุนทุนนิยมเสรี" "รัฐธรรมนูญต้องคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค" เป็นต้น ทั้งนี้บนเวทีปราศรัยนั้น มีล่ามภาษามือแปลระหว่างที่มีการปราศรัยด้วย 


 



 


ระหว่างที่ตัวแทนจากวปช.อ่านแถลงการณ์อยู่ด้านหน้ารัฐสภานั้น นายนรนิติ ประธานสภาร่างฯ ได้ยืนหลบแดดอยู่บริเวณข้างประตูหน้ารัฐสภา ในขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนเรียกร้องให้นายนรนิติออกมารับร่างรัฐธรรมนูญของเครือข่ายต่างๆ ภายนอก แต่นายนรนิติก็ไม่ออกมา โดยยืนยันว่าจะอยู่ภายในบริเวณรัฐสภาเท่านั้น ผู้ชุมนุมคนหนึ่งบนเวทีจึงกล่าวออกไมโครโฟนว่า นี่เป็น "รัฐธรรมนูญฉบับหน้าประตูรัฐสภา"


 


ทั้งนี้บนเวทีปราศรัย นางบุญยืน ศิริธรรม ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค กล่าวว่า "พี่น้องประชาชนเดินทางมาจากทั่วประเทศ มาพบถึงหน้าสภา เพื่อเสนอข้อเสนอนอกกรอบรัฐธรรมนูญ แต่ประธานสสร.กลับติดกรอบ ออกมาแค่ประตูสภาเท่านั้น จึงไม่แน่ใจว่าข้อเสนอที่เสนอไปจะเป็นจริงได้แค่ไหน"


 


นายจอนกล่าวกับผู้ชุมนุมหลังจากยื่นร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เสนอมาจะเป็นจริงแค่ไหน ร่างรัฐธรรมนูญของเครือข่ายภาคประชาชนไม่มีวันสิ้นสุดจนกว่าจะบรรลุความสำเร็จ ซึ่งไม่ใช่แค่รัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่จะต้องมีรัฐบาลที่แทนผลประโยชน์ของประชาชน ที่ต้องมีอิสระ ซึ่งต้องร่วมต่อสู้กันต่อไป


           


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net