Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 22 ก.พ. 2550 เมื่อวันที่ 21 ก.พ. เวลา 16.00น. ที่อาคารรัฐสภา 3 มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการกรอบที่ 2 ว่าด้วยสถาบันการเมือง มีนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นประธานอนุฯ โดยได้เชิญพรรคการเมืองต่างๆ ร่วมแสดงความเห็น อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นายวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทย นายลิขิต ธีรเวคิน หัวหน้าพรรคแผ่นดินไทย และนายอรรคพล สรสุชาติ รองหัวหน้าพรรคมหาชน


 



นายจรัญ กล่าวว่า มีข้อเสนอที่กำหนดให้ใช้เขตเลือกตั้งที่มีพื้นที่ใหญ่ขึ้น และมี ส.ส. 3 คน เนื่องจากมีผู้แสดงความเห็นว่า การเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ทำให้มีการซื้อเสียงได้มากกว่า ส่วนสิทธิในการออกเสียงยังไม่ยุติว่าเป็น 1 หรือ 3 เสียง จึงอยากฟังความเห็นจากตัวแทนพรรคการเมือง 


 


นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สภาผู้แทนราษฎรคือกลไกสำคัญที่จะแปรเจตนารมณ์ของประชาชนมาบริหารบ้านเมือง เนื่องจากในระบอบประชาธิปไตย จะไม่เลือกนายกฯ โดยตรง ยกเว้นในประเทศอิสราเอล ระบอบประชาธิปไตยจะให้สภาฯ เป็นผู้เลือกนายกฯ นายกฯ จึงรับผิดชอบต่อสภา ดังนั้น แกนของระบบประชาธิปไตยคือพรรคการเมือง เพื่อให้รัฐบาลบริหารประเทศได้


 


ถ้านักการเมืองไม่สังกัดพรรค ประชาชนจะไม่ทราบอนาคตของตัวเอง เพราะผู้แทนฯ จะมีอำนาจขาดในการเลือกใครเป็นนายกฯ โดยไม่ผูกพันองค์กร ไม่มีกลไกกำกับจุดยืน การสังกัดพรรคการเมืองทำให้การทำหน้าที่ของผู้แทนฯ มีการกำกับเป็นข้อผูกพัน ประชาชนจะเลือกเพราะเขาเป็นตัวแทน ถ้าพรรคการเมืองเป็นปึกแผ่น การกำกับทิศทางบริหารประเทศก็ง่ายขึ้น จากปี 2540 เมื่อพรรคการเมืองเข้มแข็ง กลับถูกมองว่ารัฐบาลที่มีเสถียรภาพไม่ดี คิดว่าเป็นการหลงประเด็น เพราะตามหลักการแล้วแม้พรรคการเมืองเข้มแข็งก็ต้องตรวจสอบได้ และมีอำนาจจำกัดอยู่ภายใต้กฎหมาย วิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเสียงข้างมาก แต่เพราะนักการเมืองอยู่เหนือกฎหมายและคุกคามกลไกตรวจสอบ


 


ทั้งนี้ เห็นด้วยกับการขยายเขตเลือกตั้ง เพราะเขตเล็กทำให้การต่อสู้แข่งขันรุนแรงเป็นพิเศษ คนได้ที่สองไม่สำคัญ เกิดการใช้วิธีการไม่พึงประสงค์ในการซื้อเสียง ปัจจัยในการตัดสินใจของประชาชนและมุมมองการทำหน้าที่ของ ส.ส.ไปอิงกับลักษณะของการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น


 


ถ้าขยายไปเขตละไม่เกิน 3 คน จะต้องให้ประชาชนใช้สิทธิได้เท่ากับจำนวน ส.ส. ที่จะมีในเขต ถ้าให้ลงคะแนนน้อยกว่าจำนวน ส.ส. เหมือนเป็นการจงใจกระจายให้เกิดผู้แทนจากหลายพรรค เช่นเดียวกับกรณีที่เคยใช้ในญี่ปุ่น ช่วงที่พรรคแอลดีพีครองอำนาจ จึงต้องทำให้ได้เสียงน้อยลง ซึ่งเป็นคนละกรณีกับของไทย


 


ด้านนายลิขิต กล่าวว่า ถ้าแบ่งเขตละ 3 คน และให้ออกเสียงเลือกได้ 3 พรรค แปลว่าผู้เลือกไม่ได้มีจุดยืนที่นโยบายเลย คนๆ เดียวมีจุดยืนสามพรรค จะเป็นปัญหา แต่หากโหวตคนเดียวในเขตสามคน พรรคจะแตกและเกิดการระแวงกันเองในพรรคได้


 


นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จะขยายเขตเลือกตั้งก็ไม่ขัด แต่ให้ข้อสังเกตว่า วัฒนธรรมการเมืองไทยแตกต่างจากที่อื่น ผู้แทนฯ ในชนบทเหมือนเทวดา ยังเป็นศักดินานิยม ผู้แทนราษฎรจะทำงานหนัก หัวใจสำคัญของการเป็นผู้แทนคือการออกงาน ไม่ว่าใครมีลูก ลูกเข้าโรงเรียน หางานทำ บวช แต่งงาน เสียชีวิต ผู้แทนต้องไปหมด ถ้าเขตใหญ่ขึ้น การทำหน้าที่ผู้แทนยึดโยงกับประชาชนจะทำได้ยาก ทั้งนี้ งานเหล่านี้จะเป็นโอกาสที่ประชาชนจะพบผู้แทนได้โดยง่าย ผู้แทนจะได้รับรู้ทุกข์สุขของประชาชน


 


ส่วนที่นายลิขิตบอกว่า ถ้าเลือกได้สามคนแล้วประชาชนอาจเลือกต่างพรรคออกไป ถามว่าหัวใจของประชาธิปไตยอยู่ตรงไหน โดยว่าสามคนที่ประชาชนเลือกอาจเลือกที่บุคคล พรรค หรือเพราะเป็นญาติกัน ซึ่งทั้งหมดเขาต้องคิดแล้วว่าเลือกแล้วจะใช้ประโยชน์อะไรจากผู้แทนได้บ้าง ฉะนั้น อย่าไปวิตกกังวลคิดแทนประชาชน


 


นอกจากนี้ การให้เลือกได้หลายเบอร์ ยังสนับสนุนการทำงานของพรรคการเมือง ให้ได้มีโอกาสหาเสียง ประชาชนได้เปรียบเทียบนโยบาย ถ้าเลือกคนเดียว อาจมีการหักหลังกันน่าดู เพราะทุกคนอยากเอาตัวรอด พวงกลางกำลังดี เพราะเมื่ออีกคนไม่สามารถทำงานได้ คนที่เหลือจะได้ทำแทน


 


นายพงษ์เทพ กล่าวว่า ขณะนี้เราอยู่ในภาวะที่ประเทศไทยไม่ใช่ประชาธิปไตย เป็นเผด็จการ ควรร่างรัฐธรรมนูญคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วสุด หลายคนก็บอกว่าร่างเพื่อแก้อีกครั้ง วิธีการทำคือควรใช้หลักอะไร นั่นคือดูว่ารัฐธรรมนูญ 40มีปัญหาอะไรก็แก้ที่มีปัญหา อย่าลองผิดลองถูก ให้คนที่ได้รับเลือกตั้งมาแก้อีกที


 


สำหรับเขตเลือกตั้งแบบพวงกลาง แบ่งเขตเรียงเบอร์นั้นใช้ในไทยมาจนถึงปี 2540 ซึ่งมีปัญหาซื้อเสียงมานาน ตอนที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ 40 จึงแบ่งเขตให้เล็กลง เพราะในเขตเลือกตั้งเล็ก ความดีความนิยมมีโอกาสสู้เงินได้มากกว่าเขตใหญ่ การขยายเขตอีกจะทำให้คนที่ใช้ความสามารถมีโอกาสได้รับเลือกตั้งน้อยลง


 


การที่ทุกพรรคส่งได้สามคน ไม่ได้หมายความว่าพรรคนั้นจะได้สามคน บางทีได้มาคนเดียว ดูไม่ทั่วถึง  ส.ส. เขตเดียวกันอาจไม่ไว้ใจกัน แทงกันข้างหลัง ขัดกันตั้งแต่ยังไม่เข้าสภา ทำงานร่วมกันไม่ได้


ถ้าเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว ส.ส. เข้าถึงประชาชนได้ดีกว่าและทำให้ใช้เบอร์เดียวกันหาเสียงทั่วประเทศได้


 


ด้านนายอรรคพล กล่าวว่า ถ้าบอกว่า เป็นเขตใหญ่เพื่อกันการซื้อเสียง แปลว่าครั้งหน้ายังไงก็มีการซื้อเสียงใช่ไหม แล้วคิดยังไงกับองค์กรอิสระ อำนาจกกต. ศาลเลือกตั้ง ต้องเปรียบเทียบการเลือกตั้ง 44 48 ถ้าไม่มีการล้มรัฐธรรมนูญ เลือกตั้งเขตละคนจะไม่มีปัญหา ที่มีปัญหาคือ สามคนเลือกได้คนเดียว


 


สามคนไม่มีปัญหา แต่เลือกได้สามเบอร์ มีข้อดี เสีย โดย หนึ่ง ต้องยอมรับว่าตัวแทนพรรคการเมืองแต่ละเขตอาจไม่ใช่ตัวแทนของเขตนั้นจริง เช่น สามอำเภอ อาจได้ผู้แทนจากอำเภอเดียวกันทั้งหมดก็ได้ หากระบบครอบครัวแบบไทยๆ ยังมี อาจมาจากบ้านเดียวกันทั้งสามคนก็ได้ ถ้ามองว่า เขตใหญ่ซื้อยาก แปลว่าคนมีเงินมากกว่าได้เปรียบ เท่ากับว่าไม่ว่าอย่างไรคนที่มีเงินน้อยกว่าจะเสียเปรียบตั้งแต่ต้นหรือไม่ สามอาจเกิดการฮั้วกันของพรรคการเมือง เพราะเคยมีกรณีผู้สมัครคนละพรรค แต่ขึ้นป้ายด้วยกัน ดังนั้น ดูเหมือนว่าเขตใหญ่สามคนให้เลือกได้สามจะดีกว่าเลือกได้เบอร์เดียว


 


อย่างไรก็ตาม ถ้าทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมได้ ให้เป็นเขตเดียวเบอร์เดียวจะดีที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net