Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 19 ก.พ.2550 การประชุม "เอฟทีเอกับการสาธารณสุขไทย: ไทยได้หรือเสีย" ซึ่งจัดโดย สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันแห่งประเทศไทย และ องค์การเภสัชกรรม ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ระบบสิทธิบัตร และการเจรจาการค้าระดับทวิภาคีที่ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของไทย และอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ โดยได้เรียนรู้ประสบการณ์ของออสเตรเลีย หลังการลงนามเอฟทีเอกับสหรัฐฯ และจากนำเสนอและร่วมหารือระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คนประกอบด้วย ผู้แทนจากอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศ นักวิชาการจากสถาบันต่างๆ และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรประชาชน


 


จากการประชุม พบว่ามี 2 ปัจจัยหลักที่จะมีผลกระทบต่อสาธารณสุขของประชาชนและอุตสาหกรรมผลิตยาภายในประเทศ คือ การจัดทำความตกลงการค้าระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา และ ร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตรที่อยู่ระหว่างแก้ไข และกำลังนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี


 


ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ในการเจรจาเอฟทีเอกับไทย ระหว่างการเจรจารอบ 6 เมื่อต้นปี 2549 พบว่า มีความพยายามยืดอายุสิทธิบัตรให้ยาวนานออกไป ด้วยการให้ออกสิทธิบัตรแบบง่ายๆ (Evergreening Patent) เพื่อยืดอายุสิทธิบัตร และยืดการผูกขาดราคา, การตัดกลไกการตรวจสอบสิทธิบัตรด้วยการตัดการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตร (Pre-Grant Opposition), การผูกขาดข้อมูลทางการค้า (Data Exclusivity) ที่จะขัดขวางการวางตลาดของยาชื่อสามัญ และบังคับให้หน่วยงานขึ้นทะเบียนยาทำหน้าที่ตำรวจสิทธิบัตร (Patent Linkage) เพื่อขัดขวางการวางตลอดของยาชื่อสามัญ ทำให้การผูกขาดราคายาของยาต้นแบบมากขึ้นและยาวนานขึ้น


 


ถึงแม้ การเจรจาการค้าทวิภาคีโดยเฉพาะกับสหรัฐได้ชะลอไป แต่พบว่า การพิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี มีประเด็นข้อเรียกร้องของสหรัฐฯอยู่จำนวนมาก


 


ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีดังต่อไปนี้


 


1.การเจรจาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่มีความเกี่ยวพันกับทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะสิทธิบัตรยา จะต้องไม่เกินไปกว่าความตกลงทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) ในองค์การการค้าโลก (WTO) และจะต้องไม่จำกัดการบังคับใช้สิทธิเพื่อปกป้องสาธารณสุขในประเทศ


 


2.การจัดทำการเจรจาการค้าระหว่างประเทศต้องมีกลไกการทำประชาพิจารณ์ และทำการศึกษาอย่างรอบด้าน โดยมีการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เช่น อุตสาหกรรมในประเทศ นักวิชาการ ผู้บริโภค


 


3.ปรับโครงสร้างการเจรจาให้กระจายประโยชน์ถึงประชาชนอย่างแท้จริง และสร้างกลไกการใช้ประโยชน์ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง


 


4.รัฐบาลควรพิจารณานำข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกี่ยวกับการเจรจาการค้าการค้าระหว่างประเทศ ทั้งกับสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นต้น มาสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม


 


5.ขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการเป็นภาคีสมาชิก PCT (Patent Cooperation Treaty) โดยขอให้มีประชาพิจารณ์อย่างรอบด้าน และกว้างขวาง โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดแก่อุตสาหกรรมในประเทศ


 


6.กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพ สิทธิบัตรยาต้องใส่โค้ด A61K เพื่อสะดวกแก่การค้นหาและแสดงว่าเป็นเภสัชภัณฑ์


 


7.การขึ้นทะเบียนยาของยาต้นแบบ ต้องแจ้งข้อมูลการขอขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศไทย วันหมดอายุสิทธิบัตร และมีบทลงโทษสำหรับการแจ้งที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง


 


8.การแก้ไข พรบ.สิทธิบัตรจะต้องคงสิทธิการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตร (Pre-Grant Opposition), การออกสิทธิบัตรจะต้องป้องกันสิทธิบัตรที่จงใจขยายอายุสิทธิบัตรอย่างไม่สิ้นสุด (Evergreening Patent) และมีบทลงโทษอย่างหนักสำหรับคำขอ หรือสิทธิบัตรที่อยู่ในข่ายนี้


 


9.เพิกถอนสิทธิบัตรที่ไม่สมควรได้


 


10.บทบาทการทำมาตรการบังคับใช้สิทธิเป็นหน้าที่ของภาครัฐ โดยอาศัยองค์การเภสัชกรรม และสามารถได้รับการสนับสนุนการทำ Voluntary Licensing จากภาคเอกชน โดยมีการกำหนดตารางค่าตอบแทน


 


ทั้งนี้ สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันแห่งประเทศไทย เคารพระบบทรัพย์สินทางปัญญาและสนับสนุนการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามเมื่อถึงคราวจำเป้นต้องแก้ปัญหาสาธารณสุขต่างๆของประเทศ สมาคมฯก็พร้อมสนับสนุนการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ


 


สมาคมฯ จะมุ่งมั่นสนับสนุนการเข้าถึงยาของประชาชนที่มีความปลอดภัย คุณภาพและราคาที่เหมาะสม โดยจะมุ่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ร่วมกันเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อสาธารณสุขไทย และสุขภาพที่ดีของคนไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net