Skip to main content
sharethis

นภาพร  พรมกะสิกร


ศูนย์ข่าวประชาสังคม จ.อุบลราชธานี


  


 



 


 


นายประวัติ ไชยกาล ผู้ประสานงานกลุ่มเด็กและเยาวชนฮ่องอ้อ กล่าวถึงโครงการมัคคุเทศก์ชุมชนฮ่องอ้อว่า ปัจจุบันมีคณะบุคคล องค์กร สถาบันการศึกษา เดินทางเข้ามาศึกษาดูงานในชุมชนฮ่องอ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งมีเพียงผู้นำชุมชนเท่านั้นที่สามารถอธิบายสร้างความเข้าใจให้กับคณะที่มาศึกษาดูงานได้ แต่เยาวชนรุ่นหลังยังไม่สามารถทำหน้าที่เหล่านี้ได้ เพื่อเป็นการฝึกฝนการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนในชุมชนได้มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นบ้านเกิดของตนเอง สู่สังคมภายนอกได้รับรู้ในรูปแบบของมัคคุเทศก์ชุมชน ประกอบกับชุมชนฮ่องอ้อเป็นชุมชนที่แตกต่างจากชุมชนอื่นที่ยังคงรักษาสภาพป่าทามผืนใหญ่เอาไว้ได้ ถึงแม้ว่าส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนสภาพเป็นป่าเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารสืบทอดสู่รุ่นปัจจุบัน


 


"เดิมทีตอนกลางสองฝั่งแม่น้ำมูลของจังหวัดอุบลราชธานีอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าบุ่งป่าทาม และมีดินที่อุดมด้วยปุ๋ยอินทรีย์จากน้ำท่วมขังในแต่ละปี ทำให้ผู้คนเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐานและแผ่ขยายออกเป็นหลายชุมชนใช้ประโยชน์จากแม่น้ำและป่าบุ่งป่าทามที่กว้างใหญ่ตั้งแต่ชุมชนบุ่งไหม วังกางฮูง ท่าลาด บัวท่า   บัวเทิง ปากน้ำ หนองสะโน ผาแก้ว นาคำ ท่าช้าง ดงผักขา จนถึงบ้านบุ่งมะแลง แต่สภาพปัจจุบันความอุดมสมบูรณ์ในอดีตสูญหายไป ชุมชนมีการขยายใหญ่ขึ้นเป็นหมู่บ้านตำบล ล้อมรอบด้วยทุ่งนา ห้วย   หนอง คลอง บึง ตื้นเขินมีคูคันรายรอบ ป่าทามเปลี่ยนเป็นป่ายูคาลิปตัส และป่ายางพารา กุ้งหอยปูปลา   พืชผักทำอาหารในแต่ละมื้อก็เปลี่ยนจากที่เดิมที่เคยเก็บมาประกอบอาหารก็เป็นการไปหาซื้อจากท้องตลาดในตัวเมือง หรือไม่ก็รถตลาดเคลื่อนที่มาขายถึงชุมชน ซึ่งคนในชุมชนทุกวันนี้ต้องหาเงินเพื่อมาจับจ่ายใช้สอยตอบสนองความต้องการของตนเองและครอบครัว " 


 


อย่างไรก็ตามโครงการมัคคุเทศก์ชุมชนฮ่องอ้อก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนชุมชนฮ่องอ้อเกิดกระบวนการเรียนรู้ สิ่งที่ดีงามที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งเรื่องของวิถีวัฒนธรรม การดำเนินชีวิต    รวมทั้งการสืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษให้คงอยู่คู่กับชุมชนโดยการทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำสถานที่ต่าง  ๆ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนให้แก่ผู้มาเยือนได้ศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชนผ่านมัคคุเทศก์ของชุมชน ซึ่งผู้ที่มาเป็นมัคคุเทศก์ในชุมชนนั้นจะถูกคัดเลือกจากผู้นำชุมชนผ่านการทดสอบความรู้ในเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น เนื่องจากชุมชนฮ่องอ้อเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ติดริมฝั่งแม่น้ำมูล และพื้นที่ของป่าบุ่งป่าทามที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ทำให้วิถีชีวิตของคนที่นี่ส่วนใหญ่ต่างก็อยู่กับธรรมชาติ ทำให้ผู้ที่เป็นมัคคุเทศก์ของชุมชนต้องรู้ถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้และให้ชีวิตแก่คนในชุมชนเพื่อจะได้เผยแพร่ข้อมูลต่อผู้ที่เดินทางมาศึกษาวิถีชีวิตของคนริมแม่น้ำมูล โดยขณะนี้ที่ชุมชนฮ่องอ้อมีกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เข้ามาเป็นมัคคุเทศก์ชุมชนจำนวน 17  คน ส่วนใหญ่กำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น   


 


ด้านเด็กหญิงสมปอง กลิ่นกุหลาบ มัคคุเทศก์ชุมชนฮ่องอ้อ กล่าวงถึงการได้เข้ามาร่วมโครงการมัคคุเทศก์ชุมชนฮ่องอ้อว่า มีความสนใจและต้องการเผยแพร่แหล่งเรียนรู้ห้องเรียนชุมชนให้แก่ผู้ที่เดินมาเข้ายังชุมชนได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของชุมชน รวมทั้งสถานที่สำคัญของหมู่บ้านซึ่งเป็นแหล่งให้ชีวิตแก่คนในชุมชนมาช้านาน นอจากนี้ชุมชนฮ่องอ้อยังเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้เขตตัวเมืองแต่วิถีชีวิตของคนที่นี่ยังเป็นแบบพึงพาธรรมชาติ การที่มีคนสนใจต้องการเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชนจึงเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ เพราะอย่างน้อยคนอื่นซึ่งไม่ได้อยู่ในชุมชนก็ยังมีความสนใจที่ต้องการเข้ามาศึกษาและอนุรักษ์วัฒนธรรมของคนในชุมชนร่วมกัน โดยมัคคุเทศก์ชุมชนฮ่องอ้อนั้นเริ่มแรกเป็นการสำรวจข้อมูลในชุมชนในเรื่องของป่าบุ่งป่าทาม เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำแม่น้ำมูล รวมทั้งวัฒนธรรมดั่งเดิมของคนในชุมชน ซึ่งมีทั้งหมด 30 ครอบครัว ส่วนใหญ่มีอาชีพหาปลาจากลำน้ำและหาของป่าเพื่อมาจำหน่ายบนพื้นฐานของความพอเพียง ไม่มีการแข่งขันในเรื่องของอาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในชุมชนภาคภูมิใจ


 


"ถึงแม้ว่าชุมชนฮ่องอ้อจะเป็นชุมชนที่หล้าสมัยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังเข้าไปไม่ถึง แต่ความเป็นอยู่ของคนที่นี่อยู่กันอย่างสงบสุข อาศัยสายน้ำเป็นสายเลือดใหญ่ล่อเลี้ยงคนในชุมชนและคนที่นี่ก็รำรวยความสุขที่ได้อยู่กับธรรมชาติพึ่งพาธรรมชาติภายใต้ความพอเพียงและอนุรักษ์ธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน จะเห็นได้จากที่ชุมชนฮ่องอ้อมีการจัดงานบุญคืนชีวิตสู่ธรรมชาติเป็นประจำทุกปี เพื่อตอบแทนบุญคุณให้กับแม่น้ำที่ให้ชีวิตกับคนในชุมชน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net