Skip to main content
sharethis

พล..อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายทหาร เปิดเผยกับ "ประชาไท" ว่า สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากฝ่ายรัฐเข้าถึงขบวนการก่อความไม่สงบได้มากขึ้น เพราะสามารถดึงแกนนำในระดับผู้กำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้ ด้วยการประสานการรณรงค์ทางการเมือง วัฒนธรรม ศาสนาและทางการทหารทุกรูปแบบ เพื่อก่อสงครามกลางเมือง ระหว่างเชื้อชาติและพัฒนาให้เป็นสงครามศาสนา ออกมาจากขบวนการได้แล้ว


"ผมไม่สามารถเปิดเผยตัวแกนนำคนนี้ได้ แต่ยืนยันได้ว่าเป็นคนเขียนยุทธศาสตร์การต่อสู้ให้กับกลุ่มผู้ก่อความรุนแรงในภาคใต้จริง นอกจากออกจากขบวนการแล้ว ยังให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการแก้ปัญหาด้วย" พล..อุดมชัย กล่าว


ก่อนหน้านี้ พล..อุดมชัย ได้บรรยายเรื่องสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อผู้เข้าฝึกอบรมทีมพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล ตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับตำบลจังหวัดชายแดนภาคใต้ รุ่นที่ 1 ที่จัดโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงแรมบีพีแกรนด์ทาวเวอร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 ที่โรงแรม บีพีแกรนด์ทาวเวอร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


โดยพล..อุดมชัย ได้ระบุในระหว่างการบรรยายครั้งนี้ ถึงสาเหตุที่แกนนำขบวนการก่อการร้ายในภาคใต้คนดังกล่าว ออกจากขบวนการเพราะเห็นว่า แนวทางการต่อสู้ของกลุ่มปฏิบัติการไม่สอดคล้องกับแนวทางการต่อสู้ทางศาสนา กลายเป็นเซลล์ที่ปฏิบัติงานกันเองอย่างเป็นอิสระ โดยระดับแกนนำที่วางยุทธศาสตร์ ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของโต๊ะครูคนหนึ่งในพื้นที่ที่บอกกับตนว่า ตัวเองส่งเยาวชนในพื้นที่ไปฝึกในต่างประเทศ เพื่อให้เป็นนักรบของพระเจ้า แต่เมื่อเดินทางกลับมากลายเป็นนักฆ่ามืออาชีพ


"สำหรับยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นมานั้น มีเป้าหมายต้องการสร้างเงื่อนไขให้องค์กรมุสลิมระหว่างประเทศ ผลักดันให้สหประชาชาติเข้ามาแทรกแซง และเห็นความจำเป็นที่มุสลิมในภาคใต้ จะต้องมีรัฐใหม่ขึ้นมารองรับ ตามสภาพของภูมิรัฐศาสตร์ และมีความจำเพาะด้านเชื้อชาติ ศาสนา ขบวนการก่อความไม่สงบ มีเข็มมุ่งที่จะปฏิบัติการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การต่อสู้ โดยมี แนวทางหลัก 3 ประการ คือ การสร้างข่าวลือและปล่อยข่าวให้มวลชนสับสน และไม่มั่นใจในอำนาจรัฐ สร้างสถานการณ์ให้เกิดความแตกแยกระหว่างศาสนา และสร้างภาพให้คนของขบวนการเป็นนักรบแห่งศาสนา (มูญาฮิดีน)" พล..อุดมชัย กล่าว


พล..อุดมชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ขบวนการก่อความไม่สงบ ยังได้คิดยุทธวิธีการต่อสู้ทั้งในด้านการเมืองและการทหาร ยุทธวิธีต่อสู้ทางการเมือง ได้แก่การรณรงค์ให้การศึกษาทางประวัติศาสตร์ มุ่งเน้นสร้างข้อมูล ฉายภาพการเคยเป็นรัฐอิสระของปาตานี และสร้างภาพประวัติศาสตร์ให้ปาตานี ที่เคยดำรงตนในฐานะรัฐอิสลามแห่งแรกของเอเชีย ประการสำคัญ คือรณรงค์ให้เห็นว่าระบอบรัฐสภา ตลอดทั้งการปกครองส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นของรัฐไทย ไม่จริงใจ และไม่สามารถแก้ปัญหาให้ชาวมลายูได้ กระทั่งพยายามชี้ให้เห็นว่าเป็นตัวทำลายอัตลักษณ์มลายูให้สูญสิ้นไปในที่สุด เพื่อสร้างเงื่อนไขทำให้การต่อสู้ยืดเยื้อและปลดออกยาก เนื่องจากเกิดความเกลียดชังกันและกัน จนกลายเป็นวายิบ (คำสั่ง) ทางศาสนาขึ้นมา


พล..อุดมชัย กล่าวต่อไปว่า ส่วนยุทธวิธีการต่อสู้ในทางทหาร มีรูปแบบสูงสุด คือ การก่อจลาจล ประสานกับการโจมตีกองกำลังขนาดเล็กของรัฐอย่างทั่วด้าน เพื่อกระตุ้นให้รัฐใช้กำลังอาวุธเข้าระงับเหตุ หรือปราบปรามอย่างรุนแรง เหมือนกรณีกรือเซะและตากใบ ทำให้สามารถขยายผลทางการเมืองให้นานาชาติ มองว่า รัฐบาลปราบปรามประชาชน และกระตุกประเทศมุสลิมให้เห็นว่ารัฐบาลไทยปราบปรามมุสลิม


พล..อุดมชัย กล่าวอีกว่า สำหรับกลยุทธที่ขบวนการก่อความไม่สงบใช้จนเกิดผลในปัจจุบัน คือ 1. ทำให้กลัวเหมือนเขียนเสือให้วัวกลัว 2. ทำกำลังมากให้เป็นกำลังน้อย และทำกำลังน้อยให้เป็นกำลังมาก 3. สำหรับมวลชนไม่เห็นด้วยต้องทำให้กลัว เป็นต้น โดยมีเป้าหมาย 1. ทำให้รัฐหมดความอดทน ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างไร้มนุษยธรรม 2. สร้างสงครามขนาดเล็กที่ยืดเยื้อ น่ากลัว และรุนแรง ทำให้รัฐหมดหนทางแก้ไข 3. เปิดเกมการเมืองระหว่างประเทศ กับประเทศมหาอำนาจและประเทศมุสลิม


พล..อุดมชัย กล่าวด้วยว่า เมื่อประเมินมวลชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันพบว่า ถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ผู้รักความเป็นธรรม เป็นมวลชนที่อยู่นอกสงคราม รู้สึกมีความหวังบ้างจากการเปลี่ยนแปลงที่รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาแก้ปัญหา จากที่มีเสียงตำหนิติเตียนรัฐบาลเดิมมาตลอด ขณะนี้กำลังรอดูทิศทางใหม่สักระยะ โดยเชื่อว่ากลุ่มนี้น่าจะมีทัศนคติที่ดีขึ้น 2. ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น เป็นมวลชนที่อ่อนไหวในสังคมนี้ เพราะรับรู้การเคลื่อนไหวของขบวนการฯ แนวร่วมทางความคิด และผู้ถูกจัดตั้งจากเงื่อนไขความไม่เป็นธรรม


"มวลชนกลุ่มนี้อยู่ในสงครามแต่ไม่ได้ร่วมรบ หรือจะร่วมบ้างก็เป็นแบบกองหนุน กองเกิน เรียกหากันเป็นคราวๆ ไป กลุ่มนี้จะวางตัวกลางๆ รอฟังข่าวลือ ข่าวปล่อยของทั้งสองฝ่าย เป็นปลาสองน้ำเปลี่ยนเกล็ดไปตามสภาพความเค็ม จะพบว่าถ้าฝ่ายไหนชนะกลุ่มนี้จะไปอยู่กับข้างนั้น การเข้าถึงกลุ่มนี้ จะทำให้เข้าใกล้ข้อเท็จจริงมากขึ้น เพราะอาศัยอยู่ในชุมชนที่เกิดสงคราม รู้จักฝ่าย รู้จักพื้นที่และต้องอยู่ในเหตุการณ์ตลอดเวลา แม้จะมีการเปลี่ยนขนานใหญ่สักเพียงใดก็ตาม" พล..อุดมชัย กล่าว


พล..อุดมชัย กล่าวว่า ส่วนการรับรู้ของมวลชนกลุ่มนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการติดตามข่าวสารทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุ แต่ขึ้นอยู่กับความรู้สึก ขึ้นอยู่กับบรรยากาศรอบตัว และการเปลี่ยนแปลงในชุมชนเป็นสำคัญ ใครจะมีนโยบายอย่างไรไม่เป็นสาระสำคัญสำหรับมวลชนกลุ่มนี้ สาระสำคัญที่จะทำให้กลุ่มนี้เลือกอยู่ข้างไหน คือ รูปธรรมที่ปรากฏและสัมผัสได้เท่านั้น


พล..อุดมชัย กล่าวอีกว่า กลุ่มที่ 3. คือ บรรดามวลชนที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา รับรู้เป้าประสงค์และความจำเป็นที่จะต้องทำสงครามครั้งนี้เป็นอย่างดี มีการแบ่งกันทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบ เป็นมวลชนที่ทำสงครามและยังเข้มแข็ง ชัดเจนอยู่ในตัวเอง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ของประเทศ หรือไม่มีนโยบายดีๆ อันใด ส่งผลต่อเข็มมุ่งทางยุทธศาสตร์ หรืออุดมการณ์ความเชื่อ สงครามที่รบกันอยู่จะยังไม่ยุติ ถ้าเป้าหมายของสงครามยังไม่บรรลุ


พล..อุดมชัย กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่กลุ่มก่อความไม่สงบปฏิบัติการทางทหารอย่างเปิดเผยในชุมชน ทั้งที่มีกำลังติดอาวุธของรัฐกระจายอยู่เต็มพื้นที่ เป็นเพราะรักษาความลับได้ดี สังเกตได้ว่า เหตุการณ์สะเทือนขวัญ ที่ขบวนการกระทำต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ยังไม่เคยปรากฏองค์กรทางศาสนาออกมาชี้ถูก - ผิด หรือประณามฝ่ายขบวนการ


พล..อุดมชัย กล่าวว่า กองทัพภาคที่ 4 มองปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เป็นสงครามก่อความไม่สงบ หรือสงครามประชาชน โดยมีเป้าหมายสถาปนารัฐปัตตานีเป็นรัฐอิสลาม ในรูปแบบของผู้มีกำลังและความเข้มแข็งด้อยกว่า ต่อสู้กับผู้ที่มีกำลังและความเข้มแข็งมากกว่า สงครามประชาชน เป็นสงครามที่ประชาชนหรือคนในท้องถิ่นเข้าร่วมรบในหลายรูปแบบ มีองค์ประกอบสำคัญ คือ พรรคหรือองค์กรนำ กองกำลังอาวุธ และแนวร่วม


พล..อุดมชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับรากฐานของปัญหา เกิดจาก 1. ความแตกต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์ 2. การถูกกระทำ รากฐานแรกเป็นตัวปลุก โดยใช้ความแตกต่างระหว่างคนท้องถิ่นกับรัฐไทยเป็นเครื่องมือ ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรม ส่วนรากฐานที่ 2 เป็นตัวทำให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ เช่น ปัญหาการถูกเข่นฆ่า ถูกทารุณกรรม ปัญหาความยากไร้ทางเศรษฐกิจหรือวัตถุ ความแตกสลายของสังคม สร้างความรู้สึกถูกดูหมิ่นดูแคลน และถูกรุกรานทั้งต่อความเป็นอิสลามหรือเป็นชาวมุสลิม นอกจากนี้ยังมีปัญหาแทรกซ้อนมาจากพ่อค้าสงครามอีกทางหนึ่งด้วย


พล..อุดมชัย กล่าวอีกว่า เมื่อวิเคราะห์สังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า เป็นสังคมของความเชื่อและความศรัทธา มีการจัดตั้งที่ซับซ้อน เพื่อให้เกลียดชังและกลัวรัฐไทย แม้ว่ารัฐจะพยายามสร้างความดีในระดับใดก็ไม่สามารถปลดชนวนเรื่องนี้ได้ นอกจากนี้ เป็นสังคมที่ปฏิบัติตามผู้นำ โดยไม่ต้องการคำอธิบาย หรือต้องการเหตุผล และยังถูกสร้างภาพให้ต่อสู้กับรัฐในรูปแบบคำสั่งทางศาสนา ที่เรียกว่า "วายิบ" อันเป็นการต่อสู้ในหนทางของพระเจ้า ถ้าไม่ปฏิบัติจะบาป ถ้าปฏิบัติแล้วได้บุญ แม้แต่เสียชีวิตก็จะได้เป็น "ชะฮีด" ได้ขึ้นสวรรค์โดยไม่ต้องถูกสอบสวน


พล..อุดมชัย เปิดเผยว่า เจตนารมณ์ของแม่ทัพภาคที่ 4 คือ บูรณาการให้ทุกภาคทุกองค์กร มีส่วนร่วมสร้างอำนาจรัฐให้เข้มแข็งและเป็นธรรม การแก้ปัญหาเพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าว ต้องเอาชนะทางยุทธศาสตร์ อย่าให้สหประชาชาติเข้ามาแทรกแซง ต้องเอาชนะยุทธวิธีทางการเมือง ด้วยการทำลายความเกลียดชัง การเอาชนะยุทธวิธีทางการทหาร ต้องหยุดการก่อการจลาจล สะกัดการโจมตีด้วยกองกำลังขนาดเล็ก


"ภารกิจเราคือส่งเสริมคนที่ก้าวหน้า ช่วงชิงคนที่เป็นกลาง โดดเดี่ยวคนที่ล้าหลัง สร้างอำนาจรัฐที่เข้มแข็ง ส่งเสริมให้มวลชนได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง ดึงความเชื่อและความศรัทธาไปสนับสนุนการพัฒนา เปลี่ยนการต่อสู้จากความรุนแรง เป็นเป็นการต่อสู้เพื่อมวลชนในแนวทางสันติ นอกจากนี้ ยังต้องกดดันกองกำลังติดอาวุธ และแกนทุกระดับไม่ให้มีเสรีในการปฏิบัติการ ติดอาวุธทางความคิดให้ฝ่ายรักสันติ และปลดอาวุธทางความคิดฝ่ายที่ต่อสู้กับรัฐ" พล..อุดมชัย กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net