ม.อ.แจงขึ้นค่าเทอม ไม่เกี่ยว ม.นอกระบบ

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติบูมีตานี คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) จัดเวทีบูมีตานีเสวนา ครั้งที่ 1 เรื่อง มหาวิทยาลัยนอกระบบ :  ม.อ.จะไปทางไหน โดยมีผศ.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี นางจารียา อรรถอนุชิต รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะวิทยาการสื่อสาร นายอับดุลเราะฮฺมาน มูเก็ม ตัวแทนองค์การนักศึกษา ร่วมเสวนา มีการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุ COMMSCI RADIO 105.5 MHz. และสถานีโทรทัศน์ COMMSCI TV. 512  UHF.


 

รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.สงขลานครินทร์และร่างของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ยังชะงักอยู่ ไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะถูกต่อต้านจากนักศึกษา และประชาชน ซึ่งอธิการบดีม.อ.กล่าวว่าจะใช้โอกาสนี้ในการเผยแพร่ความรู้เรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบให้กับประชาคมชาวม.อ.อย่างจริงจัง สร้างประเด็นนี้ให้เป็นวาระของประชาคม

 

ส่วนการเปลี่ยนระบบการจ่ายค่าเทอมของมหาวิทยาลัยเป็นแบบเหมาจ่ายต่อเทอมและจ่ายก่อนเรียนทีหลัง ซึ่งทำให้ค่าเทอมเพิ่มขึ้นเท่าตัวนั้น ผศ.สมปอง กล่าวว่า ม.อ.ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงค่าเทอมมาเกือบสิบปีแล้ว ในขณะที่ค่าเทอมไม่ได้เปลี่ยนนักศึกษาก็ยังมีการจ่ายค่าธรรมเนียมพิเศษอื่นๆ นอกเหนือจากค่าหน่วยกิต อยู่แล้ว และเพื่อให้ค่าใช้จ่ายในการศึกษาสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท ดังนั้นจึงได้เปลี่ยนระบบการจ่ายค่าเทอมแบบเหมาจ่าย ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก จะเริ่มบังคับใช้ในปีการศึกษา 2550 นี้ สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ส่วนนักศึกษาระดับชั้นปีอื่นๆ ยังกำหนดใช้ระบบเดิมไปจนกว่าจะจบการศึกษา

 

การเปลี่ยนแปลงระบบการจ่ายค่าเทอมดังกล่าว ขึ้นอยู่การเสนอของคณะต่างๆ ซึ่งแต่ละคณะจะแตกต่างกันออกไป รวมกับการพิจารณาของคณะกรรมการค่าธรรมเนียมมหาวิทยาลัย ที่จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม

 

"นักศึกษาหลายคนกังวลว่า การเปลี่ยนแปลงเรื่องค่าเทอมเป็นการเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัยที่จะออกนอกระบบ แต่ขอยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย เป็นการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเท่านั้น และเราก็ไม่ได้ขึ้นมานานมากแล้ว

 

"บางคณะที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้น เกิดขึ้นจากการจัดตั้งของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลไม่สนับสนุนให้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ ดังนั้นถ้ามีหน่วยงานขึ้นมาใหม่มหาวิทยาลัยนั้นๆ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับเงินอุดหนุนการศึกษาจากรัฐน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับภาระงานที่เพิ่มขึ้นของมหาวิทยาลัย" รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานีกล่าว

 

นางจารียา กล่าวว่า ขณะนี้การจะยกฐานะม.อ.เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหรือนอกระบบนั้น ยังเป็นสิ่งที่เร็วเกินไป เพราะประชาคมในม.อ.เองยังมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย ทั้งสายผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน และนักศึกษา ดังนั้นก่อนการจะตอบว่าม.อ.จะไปทิศทางไหนนั้น ต้องมีการทำวาระม.อ.ออกนอกระบบให้เป็นวาระที่ประชาคมม.อ.ต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะตัดสินใจเดินไปทางไหน

 

แต่มีข้อสังเกตประการหนึ่งคือ แม้ปัจจุบันม.อ.จะเป็นหน่วยระบบราชการอยู่ แต่ก็เหมือนเป็นลูกผสม เพราะบุคลากรทั้งสายอาจารย์และสนับสนุนต่างก็เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยกันจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะมีสัดส่วนสูงขึ้นทุกวัน เรียกว่าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในระบบราชการ หลายหน่วยงานเองก็มีการพัฒนาการบริหารจัดการให้คล่องตัวมากขึ้น มีระบบการประเมินคุณภาพ มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ซึ่งเราเองก็พัฒนาไปในทิศทางเดียวกับเป้าหมายของการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว

 

ด้านนายอับดุลเราะฮฺมาน กล่าวว่า การผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในช่วงที่ศ.ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลชุดนี้ เนื่องมาจากแนวคิดการผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น เป็นแนวคิดของศ.ดร.วิจิตรเอง ที่มีการผลักดันมานานแล้ว ดังนั้นเมื่อท่านมีอำนาจท่านก็สานงานเรื่องนี้ต่อไป จนสร้างความไม่พอให้กับนักศึกษาทั่วประเทศ

 

การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ได้ต่อต้านหรือห้ามการเปลี่ยนแปลง แต่เห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาล มหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ได้มีการนำเสนอข้อมูลให้กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเพียงพอ เช่น การออกนอกระบบของ ม.อ. ถามว่ามีผู้รู้เรื่องกี่คน นักศึกษาทราบเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด และการออกนอกระบบนั้น จะเป็นการพัฒนามหาวิทยาลัยได้จริงหรือไม่ ก็ยังขาดความชัดเจน

 

เขากังวลว่าหากมีการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้ว จะทำให้มหาวิทยาลัยตกอยู่ในฐานะลำบากมากขึ้น เพราะต้องพึ่งพาตนเอง เงินอุดหนุนจากรัฐน้อยลง จึงหันมาเก็บค่าเรียนจากนักศึกษาเพิ่มขึ้น เท่ากับเป็นการตัดโอกาสของประชาชนที่มีความยากจน โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน แทนที่มหาวิทยาลัยจะขยายโอกาสด้านการศึกษามากกว่า

 

"นักศึกษาจะติดตามการผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบอย่างใกล้ชิด" ตัวแทนองค์การนักศึกษากล่าว

ตัวแทนองค์การนักศึกษา กล่าวถึงการขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษาของมหาวิทยาลัยว่า นักศึกษาไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษาดังกล่าว เพราะจะทำให้ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีโอกาสเข้าเรียนน้อยลง การจะจ่ายเงินก้อนครั้งเดียวหมื่นกว่าบาทมันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนจน มันไม่สอดคล้องกับฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชน ยิ่งเกิดปัญหาความไม่สงบ ยิ่งทำให้ชาวบ้านประสบปัญหาทางด้านอาชีพมากยิ่งขึ้น

 

"ช่วงที่มีการสอบสัมภาษณ์เอ็นท์ฯ ตรงเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการแจกประกาศมหาวิทยาลัยเรื่องการขึ้นค่าธรรมเนียมนี้ ผู้ปกครองหลายท่านตั้งข้อสงสัยว่า นี่ม.อ.ออกนอกระบบแล้วหรือ" นายอับดุลเราะฮฺมาน กล่าวทิ้งท้าย

 

ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมการศึกษาในม.อ.ปัตตานี ตามประกาศของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั้น ปรับขึ้นเป็น 11,000-14,000 บาท ใช้ระบบแบบเหมาจ่ายต่อ 1 ภาคการศึกษา แตกต่างกันไปตามแต่ละคณะ จากเดิมที่จ่ายอยู่ที่ 5,000-8,000 บาท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท