บทความ FTA Watch : ข้อบกพร่องเสียหายในร่างความตกลง JTEPA

ชื่อบทความเดิม : ข้อบกพร่องเสียหายในร่างความตกลง JTEPA : ความผิดพลาดที่ซ้ำรอยกรณีกองทุนป่าเขตร้อน ไทย-สหรัฐอเมริกา

 .......................................................................................................................

 

 

กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)

12 กุมภาพันธ์ 2550

 

 

ยิ่งได้มีเวลาอ่านศึกษาร่างความตกลง JTEPA มากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งพบข้อผูกมัดที่จะมีผลกระทบ สร้างความเสียหายต่อประเทศไทยมากขึ้น ทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อมและปัญหามลพิษ เรื่องทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องสุขภาพ เรื่องการกำกับควบคุมด้านการเงิน ฯลฯ ในขณะเดียวกัน ผลประโยชน์ที่เคยคิดว่าประเทศไทยจะได้รับก็ลดหายลงไป เช่น ในเรื่องความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในหลายสาขา เนื่องจากไม่มีข้อบังคับให้ฝ่ายญี่ปุ่นต้องให้ความร่วมมือ และไม่มีกลไกฟ้องร้องใดๆ ได้เลย

 

ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะกรณีปัญหาขยะ ของเสียอันตราย ที่มีการอภิปรายกล่าวถึงกันอยู่บ้างแล้วในสาธารณะ ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนที่ติดตามปัญหาเรื่องขยะมลพิษ ปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากภาคอุตสาหกรรมได้หยิบยกขึ้นมาตั้งคำถามตรวจสอบหลังจากที่ได้รับข้อมูลว่า มีสินค้าขยะ ของเสียอันตรายอยู่ในรายการผูกพันการลดภาษีนำเข้าภายใต้ JTEPA ด้วย ซึ่งทางคณะเจรจาฝ่ายไทยได้พยายามชี้แจงโดยมีสองประเด็นหลัก คือ หนึ่ง "ไม่มีข้อบทใดใน JTEPA ที่บังคับให้ไทยต้องยอมรับหรืออนุญาตหรือส่งเสริมให้ญี่ปุ่นส่งขยะเข้ามาทิ้งในไทย" และ สอง ประเทศไทยมีกฎหมายดูแลจัดการเรื่องการนำเข้าขยะ ของเสียอันตรายอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นตัวกำกับ ควบคุมว่าจะมีการอนุญาตให้นำเข้า-ส่งออกอย่างไร

 

หากดูเฉพาะคำอธิบายของคณะเจรจาฝ่ายไทยโดยไม่ได้ดูเนื้อหาในร่างความตกลง JTEPA ก็จะคลายข้อกังวล ไม่เห็นข้อปัญหาใดๆ แต่หากใครได้มีโอกาสเห็นเนื้อหารายละเอียดของร่างความตกลง JTEPA ทั้งหมด ก็จะพบว่าใน JTEPA มีข้อบกพร่อง ช่องโหว่หลายประการ เนื่องจากได้มีเงื่อนไขข้อกำหนดที่จะทำให้ไทยไม่สามารถใช้มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่หรือมาตรการปกป้องได้จริงในทางปฏิบัติ และหากพิจารณาประกอบกับประเด็นเรื่องกฎหมายภายในของไทยแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนถึงแนวโน้มของปัญหาผลกระทบรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมต่อประเทศไทยจากเรื่องขยะ ของเสียอันตรายที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากความตกลง JTEPA 

 

1. ในข้อ 21 ของ JTEPA เรื่อง "มาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากร" ที่ได้กำหนดไว้ว่า  "ภาคีแต่ละฝ่ายจะต้องไม่นำมาใช้หรือคงไว้ซึ่งมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรใดๆ แก่การนำเข้าสินค้าใดๆ จากภาคีอีกฝ่าย หรือการส่งออกหรือการจำหน่ายเพื่อส่งออกสินค้าใดๆ ไปยังภาคีอีกฝ่าย ที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของตนภายใต้ความตกลง ดับบลิว ที โอ"

 

จากข้อกำหนดข้างต้นนี้ จึงเป็นปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า มาตรการต่างๆ ในกฎหมายไทยที่มีอยู่เกี่ยวกับเรื่องขยะของเสียอันตรายนั้นเป็นมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากร ที่จะสามารถนำมาใช้กับสินค้าที่อยู่ในตารางข้อผูกพันตาม JTEPA ได้หรือไม่

 

2. การใช้มาตรการปกป้องสองฝ่าย (Bilateral Safeguard Measures) ที่กำหนดไว้ในข้อ 22 ข้อย่อยที่ 1 ของ JTEPA นั้น จะสามารถนำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อ  ต้องมี "ความเสียหายรุนแรง" (Serious Injury) เกิดขึ้น ซึ่งในบทนิยามของ JTEPA ข้อ 15 (จี) ได้ระบุว่า ความเสียหายรุนแรง หมายถึง "ความเสียหายโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญที่เกิดแก่อุตสาหกรรมภายใน" ไม่ได้หมายถึงความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หากมี "ปัญหามลพิษ" เกิดขึ้นจากการนำเข้าขยะของเสียอันตราย ก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขตามข้อ 22 ที่จะใช้มาตรการปกป้องได้เลย

ยิ่งไปกว่านั้น ตามข้อ 22 ข้อย่อยที่ 2 (a) ได้กำหนดด้วยว่า "ภาคีอาจดำเนินมาตรการปกป้องสองฝ่ายได้เฉพาะหลังจากที่ได้มีการไต่สวนโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจของภาคีนั้น..." ก่อนที่จะสามารถใช้มาตรการได้ แต่ในกรณีนี้ปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ไม่อยู่ในนิยามของความเสียหายรุนแรง

 

3. ในข้อ 11 ของ JTEPA เรื่องความสัมพันธ์กับความตกลงอื่นๆ ได้กำหนดไว้ว่า

 

"1. คู่ภาคียืนยันอีกครั้งถึงสิทธิและพันธกรณีของตนภายใต้ความตกลง ดับบลิว ที โอ หรือความตกลงอื่นใดซึ่งภาคีทั้งสองฝ่ายเป็นภาคีอยู่

 

2. ในกรณีมีความไม่สอดคล้องกันระหว่างความตกลงฉบับนี้กับความตกลง ดับบลิว ที โอ ความตกลง ดับบลิว ที โอ จะมีผลเหนือกว่าในเฉพาะส่วนที่ไม่สอดคล้องกัน"

 

ปัญหาจากเนื้อหาในข้อ 11 นี้ คือ ในอนาคตหากประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของ Basel Ban Amendment ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามมิให้ส่งออกขยะของเสียอันตรายจากประเทศ OECD (เช่น ญี่ปุ่น ) ไปยังประเทศ Non-OECD ( เช่น ไทย ) แต่ประเทศญี่ปุ่นไม่เข้าร่วมเป็นภาคีของ Basel Ban Amendment (ซึ่งประเทศญี่ปุ่นมีท่าทีชัดเจนที่จะไม่เข้าร่วมมาตลอด) หากประเทศไทยจะปฏิเสธการนำเข้าขยะของเสียอันตรายจากญี่ปุ่นตาม Basel Ban Amendment จะถือว่าขัดกับความตกลง JTEPA หรือไม่ เนื่องจากในข้อ 11 ข้อย่อยที่ 1 ข้างต้น ยอมรับสิทธิและพันธกรณีที่ภาคีทั้งสองฝ่าย (คือไทยและญี่ปุ่น) เป็นภาคีอยู่เท่านั้น  และหากมีปัญหาข้อขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่าง JTEPA กับ Basel Ban Amendment ความตกลงฉบับใดจะมีศักดิ์ทางกฎหมายเหนือกว่า ซึ่งใน JTEPA ก็ไม่ได้มีการระบุในเรื่องนี้เอาไว้

 

นอกจากนี้ จากการที่ในข้อ 11 ข้อย่อยที่ 2 ได้กำหนดให้ WTO มีผลเหนือกว่า JTEPA ในกรณีมี "ความไม่สอดคล้องกัน" ปัญหาในข้อนี้มีสองประการ (หนึ่ง) เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าความตกลง WTO ให้ความสำคัญกับเป้าหมายเรื่องการค้าเหนือกว่าด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัด ดังจะเห็นได้จากคำตัดสินในคดีข้อพิพาทด้านการค้าและสิ่งแวดล้อมที่ทาง WTO ตัดสินผ่านมา ดังนั้น มาตรการคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ฝ่ายเจรจาของไทยอ้างว่ามีอยู่มากใน JTEPA ก็ไม่สามารถใช้ได้หากไม่สอดคล้องกับ WTO (สอง) ไม่มีการกำหนดว่า "ความไม่สอดคล้องกัน" นั้น มีความหมายอย่างไร

 

4. ในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายของไทยที่ฝ่ายเจรจาอ้างว่ามีอยู่แล้วนั้น จากรายงานการศึกษาเรื่อง "การจัดทำร่างกฎหมายรองรับการดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาบาเซล" ซึ่งจัดทำโดยกรมควบคุมมลพิษ ได้ระบุว่า

 

"ในการดำเนินการตามอนุสัญญาบาเซลนั้น พบว่ามี (หนึ่ง) ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการทั่วไป ได้แก่ ปัญหาโครงสร้างของการดำเนินการและระบบราชการ ปัญหาการประสานงาน ปัญหาการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดน และปัญหาความก้าวหน้าของธุรกรรมทางการค้า เป็นต้น (สอง) ปัญหากฎหมาย ได้แก่ การขาดนิยามของเสียอันตราย มาตรการทางกฎหมายยังไม่เพียงพอและขาดความเหมาะสม มาตรการการลงโทษยังไม่ครอบคลุมและล้าหลัง เป็นต้น (สาม) ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ ปัญหาการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงาน ปัญหานิยามหรือความหมายของของเสียอันตรายยังไม่ชัดเจนและยังไม่ครอบคลุม โครงสร้างกฎหมายไทยเป็นแบบแยกส่วน บทบัญญัติมีหลายฉบับ/ล้าสมัย ขาดความชัดเจน และมีมาตรการไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้ขาดความเข้าใจ เป็นต้น" 

 

ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้เป็นเพียงกรณีหนึ่งของปัญหาผลกระทบจำนวนมากที่อยู่ในความตกลง JTEPA ซึ่งนักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม ได้พยายามท้วงติง อธิบายชี้แจงต่อฝ่ายเจรจาของไทยมาหลายครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธ ไม่ได้รับความสำคัญ ยืนยันว่าไม่มีปัญหาอย่างที่เป็นห่วงแต่อย่างใด

           

ท่าทีดังกล่าวไม่ต่างกับกรณีปัญหาในเรื่องจัดตั้ง "กองทุนป่าเขตร้อนระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา" ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2545 โดยฝ่ายสหรัฐเสนอการผ่อนปรนหนี้ที่ประเทศไทยมีกับประเทศสหรัฐฯ โดยแลกกับการเข้ามาศึกษาวิจัยทรัพยากรพันธุกรรมในเขตป่าของไทย ในครั้งนั้น กระทรวงการต่างประเทศซึ่งรับผิดชอบการเจรจาก็ยืนยันถึงความถูกต้องเหมาะสมของร่างความตกลงระหว่างไทย-สหรัฐ แต่เมื่อร่างความตกลงถูกเปิดเผยต่อสาธารณะก็ถูกชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องจำนวนมาก เกิดการคัดค้านจากสังคม และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ทบทวนร่างความตกลง และในที่สุดก็ยุติไป ไม่มีการลงนามเกิดขึ้น

 

กรณีร่างความตกลง JTEPA นี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับกรณีกองทุนป่าเขตร้อนหลายประการ ทั้งในเรื่องเนื้อหาร่างความตกลงที่มีช่องโหว่ ข้อบกพร่องอยู่มาก ท่าทีของผู้รับผิดชอบที่ไม่เปิดเผยร่างเนื้อหาความตกลงต่อสาธารณะ ไม่ยอมปรับแก้ไขเนื้อหาความตกลงที่เป็นปัญหา และที่สำคัญอย่างยิ่ง ข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการเจรจา JTEPA และมีอิทธิพล อย่างมากต่อเนื้อหาความตกลง JTEPA ก็เป็นคนเดียวกันกับที่เคยรับผิดชอบพิจารณาประเด็นทางด้านกฎหมายของร่างความตกลงกองทุนป่าเขตร้อนไทย-สหรัฐอเมริกามาแล้ว จุดนี้เองที่อาจเป็นสาเหตุสำคัญของความบกพร่องในเรื่อง JTEPA ที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท