Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 



 


 



 


ถือเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกข่าวหนึ่งก็ว่าได้ สำหรับเทศกาล Epicurean Masters of the World  ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 6-10 ก.พ.2550 ณ ภัตตาคาร The Dome ซึ่งอยู่บนยอดหอคอยงาช้างของตึกสเตททาวเวอร์อีกต่อหนึ่ง


 


สื่อต่างประเทศอย่างสำนักข่าวบีบีซีและหนังสือพิมพ์การ์เดียนของอังกฤษเสนอข่าวว่านี่คือการรับประทานอาหารมื้อค่ำของคนระดับมหาเศรษฐีเท่านั้น! เพราะสนนราคาสำหรับหนึ่งอิ่ม มีจำนวนสูงถึง 7 หลัก หรือพูดง่ายๆ ก็คือ "มื้อละ 1 ล้านบาท" และยังต้องบวกค่าบริการเพิ่มเข้าไปอีก 7 เปอร์เซ็นต์ด้วย


 


ช่างเป็นราคาค่าอาหารที่น่าขนลุกสำหรับคนหาเช้ากินค่ำทั่วไปจริงๆ...


 


เท้าความกันก่อนว่าเทศกาล "อีพิคิวเรียน มาสเตอร์ส ออฟ เดอะ เวิลด์" (ขอโทษที...งานนี้ไม่มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทย!) คืองานกาล่าดินเนอร์ที่จะให้บริการคอร์สอาหารสุดหรู และขายบัตรให้ "ท่านผู้มีเกียรติ" ทั้งหลายได้เข้าไปดื่มด่ำกับรสชาติอาหารที่จัดเตรียมไว้อย่างดี


 


เทศกาลอีพิคิวเรียนฯ นี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้ว หลังจากที่เคยจัดเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2547 และค่าอาหารต่อหนึ่งคนในครั้งนั้น เป็นราคาแค่ขนหน้าแข้งของมหาเศรษฐี ซึ่งอยู่ที่ประมาณหลัก (หลาย) หมื่นเท่านั้น...


 


การจัดเทศกาลครั้งที่สองนี้ "ดีภัค โอหริ" โต้โผใหญ่ในการจัดงาน ผู้ควบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท Challenge Hospitality ผู้ดำเนินการจัดการของโรงแรม "เลอบัว" และภัตตาคาร "เดอะโดม" ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อจะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนในแวดวงภัตตาคารและเชฟในเมืองไทย เพราะทั้งๆ ที่อาหารไทยขึ้นชื่อว่าอร่อยไม่แพ้อาหารชาติไหนในโลก คุณภาพของภัตตาคารในบ้านเราก็ยังไม่ติดอันดับต้นๆ ที่ "คนมีรสนิยม" ทั่วโลกจะกล่าวขานถึง และเงินรายได้ "ส่วนหนึ่ง" จะนำไปมอบให้กับมูลนิธิที่ทำงานเพื่อสังคม


 


นอกจากนี้ยังมีการเล็งผลเลิศศศศ...ต่อไปอีกด้วยว่า มหาเศรษฐีที่เป็นชาวต่างชาติบางราย ลงทุนไว้ในเมืองไทย แต่ยังไม่เคยมาเหยียบแหล่งลงทุนของตัวเองเลย ก็จะมีเหตุผลที่ดีในการมาเยือนประเทศไทย และบรรดานักลงทุนมหาเศรษฐีเหล่านั้นก็จะได้เห็นแง่มุมอันแสนจะมหัศจรรย์ Amazing แบบไทยๆ ด้วย


 


ถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ชาญฉลาดเสียนี่กระไร!


 


ล่าสุด ดีภัคให้สัมภาษณ์กับสื่อไทยโดยระบุว่าจำนวนบัตร 50 ที่นั่งของงานนี้ ขายหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


 


"ส่วนใหญ่คนที่จองจะมาจากญี่ปุ่นและประเทศใกล้เคียง สำหรับคนไทยที่จองมาก็มีบ้างเหมือนกัน แต่น้อย และลูกค้าขอไม่ให้เปิดเผยรายชื่อ""


 


ชาวต่างชาติที่ได้มาเห็นว่าคนไทยยุคเศรษฐกิจพอเพียงกินอาหารค่ำมื้อละหนึ่งล้านก็คงจะอัศจรรย์ใจไปกันใหญ่...เพราะ "กินแบบพอเพียง" ของคนไทย ยังราคาตั้งมื้อละล้าน ถ้ากินกันแบบไม่พอเพียงบ้าง คนทำจะต้องทุ่มทุนสร้างขนาดไหนก็ไม่รู้…


 



 


อาหารสุดหรูกับที่มา (อันน่าตะลึง) ของวัตถุดิบ


จุดแข็งหรือจุดขายของเทศกาลอีพิคิวเรียนฯ ไม่ได้เชื่อมโยงกับจำนวนเงินในกระเป๋าของผู้ซื้อบัตรเข้าไปลิ้มรสอาหารเพียงอย่างเดียว เพราะผู้จัดเขาบอกไว้ว่าถึงจะมีเงินมากแค่ไหน ก็อาจจะหาอาหารแบบนี้กินไม่ได้เสมอไป


 


เพราะนอกจากความรวยแล้ว มหาเศรษฐีที่จ่ายเงินค่าบัตรยังต้องมีคุณสมบัติ "อื่นๆ" อีกด้วย อาทิ เป็นผู้มีรสนิยมล้ำเลิศพอที่จะรู้ว่าวัตถุดิบที่สรรหามาทำเป็นอาหารค่ำมื้อนี้ คือการรวมความเป็นเลิศของอาหารในทุกด้านไว้ด้วยกัน เขาหรือเธอเหล่านั้นจึงจะเข้าใจว่าการจ่ายเงินล้าน หรือประมาณ 15,000 เหรียญสหรัฐ (ไม่รวมค่าเครื่องบิน) เพื่อกินอาหารมื้อค่ำมื้อหนึ่ง เป็นเรื่องคุ้มค่าคุ้มราคาอย่างยิ่ง


 


เพราะเมนูอาหารที่มีให้ลิ้มรสนั้น จะได้รับการสร้างสรรค์ผ่านฝีมือของเชฟระดับโลก ที่ได้รับรางวัลการันตีทางด้านการปรุงอาหารและการจัดการภัตตาคารที่เรียกว่า Michelin Star ถึง 8 คน ด้วยกัน ซึ่งเชฟทั้ง 8 คนนั้นก็มีรสมือเอกอุแตกต่างกันไปในแต่ละด้านอีกต่างหาก


 


วัตถุดิบที่นำมาปรุงเป็นเมนูอาหารระดับโลกครั้งนี้คัดมาจากแหล่งผลิตที่มีชื่อทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ตับห่านแบบฟัวกราส์จากฝรั่งเศส, คาเวียร์ชั้นยอดจากปลาสเตอร์เจียนในทะเลแคสเปียน, กุ้งเครย์ฟิชซึ่งเป็นกุ้งก้ามกรามขนาดใหญ่จากขั้วโลกใต้, กุ้งมังกรตัวเขื่องจากมหาสมุทรแอตแลนติก, เนื้อสันโกเบส่งตรงจากญี่ปุ่น, เห็ดทรัฟเฟิลสีขาวและสีดำที่มีราคาต่อกิโลกรัมแพงพอๆ กับทองคำ นำเข้าจาก ป่าเปริกอร์ของฝรั่งเศส


 


นอกจากนั้นยังมีเนื้อนกพิราบ, ไข่ไก่ฟ้า, เนื้อส่วนแก้มของลูกวัว และไวน์เก่าแก่ราคาขวดละเป็นแสนไว้กินกับเมนูสุดอลังการนี้ด้วย


 


แม้วัตถุดิบบางอย่างอาจจะเสี่ยงต่อการถูกครหาจากประชาคมโลกอยู่บ้าง อย่างเช่น ตับห่านฟัวกราส์ ที่นุ่มลิ้นและหอมมันกว่าตับห่านทั่วไป เนื่องจากกระบวนการเลี้ยงห่าน เพื่อให้ได้มาซึ่งตับห่านแบบฟัวกราส์หมายถึงการขุนให้ห่านที่เลี้ยงไว้กินอาหารเข้าไปในปริมาณมากกว่าความต้องการตามธรรมชาติของมัน และสำหรับนักเคลื่อนไหวต่อต้านการทารุณสัตว์ การกระทำเช่นนั้นถือเป็นความโหดร้ายอย่างมาก!


 


 


ภาพของห่านในฟาร์มที่ถูกบีบจงอยปากและยัดอาหารเข้าไป


เป็นภาพยอดนิยมที่นักต่อต้านการทารุณสัตว์นำมาใช้ต่อต้านการกินตับห่านฟัวกราส์อีกต่อหนึ่ง


 


มิพักต้องพูดถึงปลาสเตอร์เจียนที่อาศัยอยู่ในทะเลแคสเปียนตามธรรมชาติ ปกติมันจะใช้เวลานานมากกว่าจะวางไข่สักหนหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ต้องถูกล่ามาเป็นเครื่องปรุงเลิศรสให้กับผู้มีรสนิยมล้ำเลิศในการกินอยู่ดี และแน่นอนว่าไข่ปลาบางส่วนก็คงจะถูกส่งมาเป็นวัตถุดิบในเทศกาลอาหารครั้งนี้ด้วย


 


เพียงแค่วัตถุดิบสองอย่างนี้ องค์กรนานาชาติที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์คงมองค้อนขวับๆ ไปหลายทีแล้ว


 


ต้นทุนในการจัดงานครั้งนี้จึงปาเข้าไปถึง 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 80 ล้านบาทไทย (แบบไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่) นักข่าวของบีบีซีจึงรายงานไว้ด้วยว่า คนที่ได้ยินข่าวนี้บางคนรู้สึกว่ามันช่างเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย...


 


ถ้าบวกลบคูณหารแขก 50 คนที่จ่ายค่าตั๋วไปคนละล้านกว่าๆ แล้วยังหักลบกลบหนี้กำไรขาดทุนไม่ได้ คงต้องถือเป็นการจัดโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประเทศไทยแทนก็แล้วกัน...


 



 


ความพอเพียงด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อสมดุลแห่งชีวิต


ในเวลาไล่เลี่ยกันกับที่เทศกาลอีพิคิวเรียนฯ ครั้งที่สองเริ่มขึ้น "ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล" เลขาธิการมูลนิธิ ชัยพัฒนา ได้แสดงบรรยายประกอบการสัมนา เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี วันคล้ายวันสถาปนาสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550


 


หัวข้อในการบรรยายมีชื่อว่า "ความพอเพียงด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อสมดุลแห่งชีวิต"


 


เดาเอาเองว่าผู้จัดเทศกาลอีพิคิวเรียนฯ และผู้ที่เห็นดีเห็นงามกับงานนี้คงไม่มีโอกาสเข้าไปฟัง (เพราะคงจะไม่ว่าง แค่เตรียมงานอย่างเดียวก็คงยุ่งจะแย่แล้ว...)


 


ดร.สุเมธ กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า


 


"ความจริงร่างกายมนุษย์ต้องการอาหารไม่มากนัก ทานให้อิ่มก็พอ แต่ที่เรากินกันเยอะอย่างทุกวันนี้ เป็นการกินส่วนเกิน เรียกว่า "โรคสังคม"


 


กินน้อยแต่สารอาหารครบถ้วนก็แข็งแรงแล้ว ทานอาหารให้พอดีกับร่างกาย มีความเข้าใจ เข้าถึงความรู้แล้วนำมาปฏิบัติ ไม่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับด้านอาหารและโภชนาการ จะนำไปสู่ความพอเพียงที่พอดีและยั่งยืน ถ้าทุกคนทำได้จะเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติต่อไป"


 


และในงานเดียวกัน "ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ" หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า


 


"การบริโภคให้พอเพียงต้องมีหลักพอประมาณมาช่วย ดูตามกาลเทศะ... การสร้างความพอเพียงต้องเริ่มจากตัวเอง บริโภคพอประมาณให้สมดุล โดยคำนึงถึง 4 ด้านคือ เศรษฐกิจ ไม่ใช่รายได้น้อยแต่อยากกินของแพง อร่อยมื้อเดียวแต่จนทั้งเดือน, สังคม เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก ยังมีคนอีกมากขาดแคลนอดอยาก ต้องรู้จักแบ่งปันคิดถึงคนอื่น, สิ่งแวดล้อม เลือกกินอาหารไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายก็คือ วัฒนธรรม ทำอย่างไรให้รู้คุณค่าอาหาร เช่น ต้มยำกุ้ง ถือเป็นอาหารประจำชาติ เป็นที่รู้จัก จะต้องรักษาภูมิใจในอาหารไทย ถ้าทุกคนคิดถึง 4 ข้อนี้ประจำ ก็เกิดความสมดุล"


 


อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเทศกาลอีพิคิวเรียนฯ นี้จะจำกัดวงอยู่ที่คนระดับมหาเศรษฐีเท่านั้น เพราะผลประโยชน์บางส่วนคงถูกเจือจานไปให้ 'คนอื่นอีกมากมาย' ในสังคมบ้าง


 


ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่ารายได้ส่วนหนึ่งของงานจะนำไปสมทบทุนให้แก่องค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม


 


และองค์กร 2 แห่งที่จะได้รับเงินบริจาคในครั้งนี้ก็คือ "องค์กรหมอไร้พรมแดน" และมูลนิธิ ชัยพัฒนา ที่ ดร.สุเมธ เป็นเลขาฯ อยู่นั่นเอง... (?!?)


 


การกินอย่างพอเพียงจึงเป็นคำปลอบประโลมที่ดีสำหรับคนที่เริ่มจะขอบตาร้อนผ่าวๆ เพราะชาตินี้คงไม่มีปัญญาหาเงินล้านไปกินมื้อค่ำแบบนี้ จึงสมควรอย่างยิ่งที่เราจะต้องส่งเสริมแนวคิดแบบพอเพียงให้แพร่กระจายต่อไปยังประชาชนคนไทยทั้งปวง!


 


คนไหนที่มีเงินน้อย--ก็จงกินอย่างพอเพียง


 


ส่วนใครที่มีเงิน ก็ปล่อยให้เขากินไปตามประสาคนมีเงิน


 


(เพราะพอเพียงของเขากับพอเพียงของเราคงไม่เท่ากัน)


  


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net