Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 10 ก.พ. 2550 วานนี้ (9 ก.พ.) กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT) ได้มอบรายการคำถาม 20 ข้อให้กับ ดร. สิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที) โดยคำถามนี้ มีผู้ร่วมลงนาม 257 คน และองค์กรระหว่างประเทศที่ต่อต้านการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตจำนวน 56 องค์กร จาก 19 ประเทศทั่วโลก


โดยระบุว่า ...


พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลที่ประชาชนร้องขอภายใน 30 วัน ยกเว้นว่าจะมีเหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติหรือการบังคับใช้กฎหมาย


หากหน่วยงานรัฐไม่เปิดเผยข้อมูลภายในเวลาดังกล่าว ประชาชนผู้ร้องขอข้อมูลสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลความโปร่งใสของรัฐ จัดตั้งขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ "ฉบับประชาชน" พ.ศ. 2540


ปัจจุบันกระทรวงไอซีทีปิดกั้นเว็บไซต์จำนวน 13,435 แห่งไม่ให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าถึง กระทรวงแห่งนี้จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ. 2546 เพื่อเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม รายชื่อเว็บไซต์ที่กระทรวงไอซีทีปิดกั้น ตลอดจนข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเซ็นเซอร์ ล้วนเป็นความลับอย่างยิ่งยวด อัตราการปิดกั้นเว็บไซต์เพิ่มขึ้นกว่า 500 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา


FACT ต้องการทราบว่า กฎหมายไทยฉบับใดมอบอำนาจให้รัฐปิดกั้นอินเทอร์เน็ต
เพราะเรารู้ว่าไม่มีกฎหมายเช่นนั้น
- ขณะนี้รัฐกำลังปิดกั้นเว็บอย่างผิดกฎหมาย


FACT ต้องการทราบว่ากระทรวงไอซีทีใช้หลักเกณฑ์ใดในการปิดกั้นเว็บไซต์
เพราะเรารู้ว่าการปิดกั้นเหล่านั้น ทำไปตามอำเภอใจโดยไร้หลักเกณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น


FACT ต้องการทราบว่ากระทรวงไอซีทีใช้กระบวนการใดในการปิดกั้นเว็บไซต์
เพราะเรารู้ว่าไม่มีขั้นตอนปฏิบัติใดๆ ที่เป็นกฎของกระทรวง


FACT ต้องการทราบนิยามทางกฎหมายที่กระทรวงไอซีทีใช้ในการปิดกั้นเว็บไซต์
เพราะเรารู้ว่าการใช้กฎหมายเหล่านั้นไม่เคยมีนิยามชัดเจน


FACT เชื่อว่า ชาวไทยผู้เสียภาษีทุกคนมีสิทธิที่จะรู้ว่า หน่วยงานรัฐทุกระดับชั้นกำลังทำอะไรอยู่


FACT เชื่อว่ากระทรวงไอซีทีควรเปิดเผยรายชื่อเว็บไซต์ที่ปิดกั้น ต่อสาธารณะ


กระทรวงไอซีทีทำงานแบบใช้กฎหมายตามอำเภอใจหรือกฎหมายที่คิดเอาเองตลอดมา ภายใต้ม่านแห่งความลับ รัฐเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยโดยไม่ให้สาธารณชนได้รับรู้ มีส่วนร่วม ควบคุม หรือตรวจสอบการกระทำดังกล่าว


เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 FACT ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เข้ามาตรวจสอบการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต แม้ว่าคณะกรรมการฯ จะขอความร่วมมือไปยังกระทรวงไอซีทีหลายครั้งกระทรวงไอซีทีก็ยังปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงที่จะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ


ถึงเวลาแล้วที่เราจะร่วมกันยกก้อนหินที่ข้าราชการในหน่วยงานรัฐแห่งนี้ซ่อนตัวอยู่ข้างใต้
ถึงเวลาแล้วที่จะปิดฉากการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย และหวนคืนสู่เส้นทางแห่งประชาธิปไตย.


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net