Skip to main content
sharethis

 



(จากซ้ายไปขวา) : Mr.James Love - Khowledge Ecology International, USA , นายนิมิตร์ เทียนอุดม - ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ , Mr.Martin Khor - Director of Third World Network, Malaysia , ผศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ - คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผู้ดำเนินรายการ) , Dr.Carlos Correa - Director of the Master Program on Science and Technology Policy and Management of the University of Buenos Aires, Argentina , Dr.Ellen Hoen - Medecins Sans Frontiers (MSF) Geneva


 


 


"ครั้งแรก" นั้นสำคัญเสมอ โดยเฉพาะครั้งแรกที่สิทธิในการเข้าถึงยาของประชาชนไทยถูกไฮไลท์ให้ความสำคัญมากกว่าบริษัทยาข้ามชาติ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำกำไรสูงสุดในสหรัฐฯติดต่อกันมายาวนาน และทรงอิทธิพลขนาดสามารถแทรกแซงการกำหนดนโยบายสาธารณะของทำเนียบขาวได้



ฉะนั้น "การประกาศบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ" ของกระทรวงสาธารณสุขไทย เมื่อเร็วๆ นี้จึงเป็นเรื่องท้าทายต่อแรงเสียดทานอันมหึมา


ทันทีที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้มาตรการนี้กับยาต้านไวรัส Kaletra และยารักษาโรคหัวใจ Plavix เพิ่มอีก หลังจากเพิ่งใช้มาตรการนี้กับยาต้านไวรัส efavirenz ไป ตัวแทนของสมาคมผู้ผลิตยาของสหรัฐ หรือ PhRMA ในนาม PReMA (สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์) ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงและขู่จะถอนการลงทุนจากประเทศไทย เนื่องจากมาตรการนี้ทำให้รัฐสามารถนำเข้ายาชื่อสามัญจากอินเดียได้ ซึ่งราคาถูกกว่ายาต้นแบบของบริษัทหลายเท่าตัว


ที่สำคัญยิ่งคือท่าทีของ "มากาเร็ต ชาน" ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ออกมาระบุว่า "รัฐบาลไทยไม่ควรปล่อยปละละเลยในเรื่องการหันหน้าเข้าหากันระหว่างบริษัทยาและภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงยาของประชาชนในประเทศ โดยเฉพาะยาต้านไวรัสเอดส์ที่มีราคาแพง การเลือกใช้วิธีการเข้าถึงยาด้วยวิธีการบังคับใช้สิทธินั้นสามารถดำเนินการได้เพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น เพราะหากใช้บ่อยครั้งเกินความจำเป็นอาจก่อปัญหาได้ในอนาคต"



ความเห็นจากหน่วยงานที่ดูแลด้านสาธารณสุขระดับโลกยังความประหลาดใจและความผิดหวังมาสู่คนจำนวนไม่น้อย ขณะเดียวกันก็อาจทำให้เกิดความสับสนได้เช่นกันว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของกระทรวงสาธารณสุขไทยควรได้รับ "ดอกไม้" หรือ "ก้อนหิน"


องค์กรนานาชาติที่ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องสาธารณสุขจึงพร้อมใจกันส่งเสียงสะท้อนความคิดเห็นต่อเรื่องนี้


"WHO ควรยืดหยัดเพื่อสาธารณสุข เราเข้าใจ ถ้าท่านเป็น WTO (องค์กรการค้าโลก) ก็คงพูดว่า ไทยได้ทำตาม WTO หรือยัง แต่คุณเป็น WHO หน้าที่ของคุณ คุณควรพูดว่า ควรใช้มาตรการยืดหยุ่นในข้อตกลง TRIPS อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์สาธารณสุขของประเทศของท่านทั้งหลาย ถ้า WHO ไม่ได้พูดเช่นนั้นก็แปลว่า WHO กำลังละเมิดกฎคุณธรรม และไม่สมควรที่จะมีองค์กรนี้อยู่เพราะไม่ได้ทำในสิ่งที่ผู้คนคาดหวังให้ทำในหน้าที่การแก้ปัญหาสาธารณสุข" มาร์ติน คอร์ ผู้อำนวยการเครือข่ายโลกที่สาม แสดงความผิดหวังอย่างรุนแรง


เขาระบุว่า ถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้ว ก้าวแรกของไทยนี้ออกจะช้ากว่าคนอื่นด้วยซ้ำ เพราะมาเลเซียซึ่งถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาระดับเดียวกับไทยใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิมาตั้งแต่ปี 2001 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจและน่าชื่นชมคือรัฐบาลไทยที่เป็นรัฐบาลแรกที่ประกาศบังคับใช้สิทธิกับยาที่ไม่ใช่ยาต้านไวรัส แต่เป็นยาโรคหัวใจที่มีผู้ป่วยทั่วโลกนับพันล้านคน



นอกจากนี้ผู้อำนวยการเครือข่ายโลกที่สามยังแสดงความห่วงกังวลกรณีเอฟทีเอไทย-สหรัฐ โดยหยิบยกรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยที่ระบุว่า ปัญหาสาธารณสุขของไทยจะมีปัญหายิ่งขึ้นเมื่อมีการทำเอฟทีเอกับสหรัฐ เขาเห็นว่าผลของมันจะไม่ต่างอะไรกับคลื่นยักษ์สึนามิ ที่ทำลายทุกอย่างราบเป็นหน้ากลองโดยไม่มีเสียงเตือนภัยก่อน จะสร้างภาระงบประมาณ และทำลายระบบสวัสดิการสาธารณสุข จึงมีการเสนอให้ รัฐบาลไทยยึดมั่นในหลักการว่าด้วยสิทธิของประชาชน และการพึ่งตัวเองได้ของประเทศ มากกว่าการยอมรับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ


ด้าน ดร.คาร์ลอส คอร์เรีย อาจารย์จากมหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา ซึ่งเป็นนักวิชาการชั้นนำด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และเป็นอดีตรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ขณะช่วงที่มีการเจรจาข้อตกลง TRIPS โดยเป็นผู้ใส่มาตรการยืดหยุ่นและมาตรการปกป้องต่างๆ ในความตกลงนั้น ได้ชี้แจงในเรื่องกฎหมายว่า การบังคับใช้สิทธิเป็นกลไกเนื้อหาที่อยู่ในกฎหมายสิทธิบัตรเกือบทุกประเทศตั้งแต่ปี 1925 และในอนุสัญญาปารีส (Paris Convention) รวมถึงในความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) ขององค์การการค้าโลกก็มีการยอมรับประเด็นนี้อย่างชัดเจนว่าสามารถใช้ได้ อีกทั้งใน TRIPS ก็ไม่มีการจำกัดขอบเขตของการประกาศบังคับใช้สิทธิ ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศจะนำไปใช้ปฏิบัติว่าจะเอามากน้อยแค่ไหน



"ช่วงที่ผ่านมาก็มีหลายประเทศที่ทำ CL โดยเฉพาะในกลุ่มของยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ แต่ข้อมูลที่จะทำให้คุณแปลกใจคือ ประเทศที่ประกาศบังคับใช้สิทธิมากที่สุดไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนา แต่คือ สหรัฐอเมริกา มากกว่า 1,000 ฉบับโดยเฉพาะเป็นการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน โดยเฉพาะในประเด็นของผลิตภัณฑ์ยา ถือว่าเป็นกลไกปกติที่ทำกันในสหรัฐฯ โดยไม่จำเป็นต้องหารือกับเจ้าของสิทธิบัตรก่อน" ดร.คาร์ลอส คอร์เรีย กล่าว


 


ประเด็นที่ 2 ที่มีการระบุว่าการบังคับใช้สิทธิทำลายบรรยากาศของการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านยานั้น ดร.คอร์เรียกล่าวว่า เราคงต้องพูดกันให้ชัดถึงธรรมชาติของนวัตกรรมยาว่า ประเทศกำลังพัฒนาเป็นส่วนเสี้ยวเพียงเล็กน้อยของทั้งกำไรและนวัตกรรมการพัฒนายาระดับโลก


 


จากงานวิจัยล่าสุดชี้ว่า การขายยาในประเทศกำลังพัฒนาเป็นแค่ 5-7% ของกำไรของบริษัทยาโลกเท่านั้น การขายกว่า 90% อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว ฉะนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลโดยสิ้นเชิงหากจะกล่าวว่า การประกาศบังคับใช้สิทธิในประเทศกำลังพัฒนาจะมีผลทำให้การคิดค้นยาน้อยลง


 


มีงานวิจัยที่น่าสนใจมากชิ้นหนึ่งของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯที่ระบุว่า แม้การทำมาตรการบังคับใช้สิทธิในสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้มีผลกระทบทางลบต่อการวิจัยและพัฒนา อาจจะมีบ้างที่จะมีการเก็บความลับมากขึ้น แต่ไม่มีอุตสาหกรรมไหนลดการวิจัยและพัฒนา ไม่มีการแช่แข็งการวิจัยพัฒนาแต่อย่างใด เพราะอุตสาหกรรมก็ยังจะคงทำการตลาดยาใหม่ เพื่อแสวงหากำไร


 


และที่สำคัญอย่าลืมว่า อุตสาหกรรมยาเป็นอุตสาหกรรมที่ทำกำไรสูงที่สุดในโลก ฉะนั้นการประกาศบังคับใช้สิทธิของไทยจะไม่มีผลต่อการที่อุตสาหกรรมยาจะยังคงแสวงหากำไรต่อไป


 


การทำให้ราคายาซึ่งจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์ และต้องใช้อย่างต่อเนื่องยาวนานมีราคาถูกลงนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยจำนวนมากอย่างไม่ต้องสงสัย ดร.เอเลน โฮเอน ผู้อำนวยการการรณรงค์ องค์การหมอไร้พรมแดน (MSF) หยิบยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงว่า ทุกวันนี้องค์การหมอไร้พรมแดนรักษาผู้ติดเชื้ออยู่ราว 80,000 คนใน 30 ประเทศทั่วโลก การที่สามารถรักษาผู้ป่วยได้มากเท่านี้ก็เพราะว่ามียาชื่อสามัญของยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานที่ราคาลดลงไปมาก จาก 10,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี เหลือแค่ 140 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี และด้วยปัจจัยที่ไม่มีสิทธิบัตรในยาหลายตัวในประเทศกำลังพัฒนาผู้ผลิตยา ทำให้สามารถผลิตยารวมเม็ดได้ ทำให้เกิดการปฏิวัติในการรักษาทั่วประเทศกำลังพัฒนา


 


"คุณจะเห็นได้ว่า เรามีความกังวลใจร่วมกันต่อการบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆขององค์การการค้าโลก ที่เพิ่มการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะสิทธิบัตรยา ซึ่งมีระดับความคุ้มครองสูงมากเช่นการปฏิบัติในประเทศพัฒนาแล้ว เมื่อตอนเจรจามีหลายประเทศกำลังพัฒนากังวลว่า จะมีผลเลวร้ายต่อระบบสาธารณสุขในประเทศ ทุกวันนี้เราเห็นแล้วว่า ข้อห่วงใยของประเทศเหล่านั้นเป็นจริง"


 


ดร.เอเลน เล่าต่อว่า ในปี 2001 ในการประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ณ กรุงโดฮา ประเทศการ์ตา ประเทศต่างๆ ยอมรับว่าเรียนรู้มากขึ้นจากประสบการณ์ที่ผ่านมาหลังความตกลงฯมีผลบังคับใช้ พวกเขาแสดงความกังวลใจในประเด็นร่วมกัน จนได้เป็นคำประกาศโดฮาว่าด้วย TRIPS และการสาธารณสุขที่รองรับสิทธิของแต่ละประเทศในการที่จะบังคับใช้เหนือสิทธิบัตรเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งก็รวมถึงการประกาศบังคับใช้สิทธิ ดังนั้นสิ่งที่ประเทศไทยทำอยู่ จึงเป็นไปตามที่สมาชิก WTO ตกลงและยอมรับกัน


 


"โดยเฉพาะรายงานของธนาคารโลกที่เสนอให้รัฐบาลไทยต้องใช้มาตรการยืดหยุ่นเหล่านี้ในการจัดการกับงบประมาณในโครงการการให้ยาต้านไวรัส โดยให้บังคับใช้สิทธิกับยาต้านไวรัสสูตรสำรอง เพื่อที่จะลดรายจ่ายด้านยาลงไปได้มากถึง 90%"


 


ดร.เอเลน กล่าวว่า มีตัวอย่างจากทั่วโลก ที่ประเทศต่างๆ กำลังต่อสู้กับราคายาที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ ในกรณีของยาต้านไวรัส ราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้องใช้ยาใหม่ๆ และยาเหล่านี้ส่วนใหญ่ติดสิทธิบัตร การเจรจากับเจ้าของสิทธิก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เป็นไปแทบไม่ได้เลย


 


"เราให้กำลังใจประเทศไทย เพราะไม่เพียงประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ที่ดีของโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ยังมีอุตสาหกรรมยาที่เข้มแข็งซึ่งสำคัญมาก เราขอให้ WHO ทำงานร่วมกับ WTO และธนาคารโลกในการสนับสนุนแต่ละประเทศให้ทำเช่นนี้"


 


"บางคนกังวลในกับคำกล่าวของ ดร.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ในการประชุมวิชาการรางวัลทุนเจ้าฟ้ามหิดลที่ไม่พูดสนับสนุนการกระทำของประเทศไทยต่อสาธารณะ แต่ค่อนข้างพูดเน้นไปในเชิงบวกกับอุตสาหกรรมยา เช่น การบริจาคยา ซึ่งคงต้องพูดกันตรงๆ ว่า การบริจาคยาไม่ได้แก้ปัญหาที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่" ดร.เอเลนกล่าว


 


สำหรับโรคหัวใจนับเป็นโรคใหม่ที่มีการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ และตัวแทนบริษัทยาต่างชาติได้ออกมาแสดงความกังวลยิ่งกับการก้าวข้ามไปสู่โรคอื่นๆ นอกเหนือจากเอดส์ครั้งนี้


เจมส์ เลิฟ ผู้อำนวยการองค์การความรู้นิเวศวิทยานานาชาติ จากสหรัฐอเมริกา แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า โรคหัวใจนั้นก็มีความสำคัญไม่แพ้โรคเอดส์แต่การเข้าถึงนั้นยังคงยากลำบากเพราะยามีราคาแพง โดยเขาได้หยิบยกรายงานขององค์การอนามัยโรคที่ระบุว่า โรคหัวใจเป็นโรคที่คร่าชีวิตพลเมืองโลกทั้งชายและหญิงในอันดับต้นๆ


"ประชากรราว 1 พันล้านคนทั่วโลกจะเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวเนื่องกับโรคหัวใจ ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 21 ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะเสียชีวิตเพียงในช่วงวัยกลางคน"


เลิฟ กล่าวว่า จากตัวเลขดังกล่าว เมื่อเทียบกับรายได้ต่อหัวของคนอเมริกันที่มีมากกว่าคนไทย 16 เท่า ในปี 2005 (คนอเมริกันมีรายได้ต่อหัว 43,740 ดอลลาร์ ขณะที่คนไทยมีรายได้ต่อหัว 2,750 ดอลลาร์) แม้ว่ายาในประเทศไทยจะถูกกว่ายาในสหรัฐฯ ครึ่งหนึ่ง แต่คนไทยมีรายได้ต่ำกว่าคนอเมริกัน 16 เท่า นั้นเท่ากับว่าคนไทยซึ่งมีรายได้น้อยกว่าคนอเมริกัน 70% ต้องจ่ายค่ายาสูงถึง 50% ของที่คนอเมริกันจ่าย


"เมื่อบริษัทยาคิดค่ายา Plavix เม็ดละ 2 ดอลลาร์ต่อวันในประเทศไทย เพราะต้องการขายให้กับคนที่มีรายได้สูงในประเทศไทย แต่การประกาศบังคับใช้สิทธิของประเทศไทย ทำเพื่อให้คนทุกคนสามารถได้รับการรักษาที่เท่าเทียมกัน คนที่ขัดขวางการบังคับใช้สิทธิ คือคนที่กำลังขัดขวางคน 80% ที่จะเข้าถึงการรักษาโรคหัวใจ ไม่ให้เข้าถึงยา ฉะนั้นจึงต้องต่อสู้กับทัศนคติและการวิจารณ์ที่ขวางการเข้าถึงยาเช่นนี้"


เขายังคงยืนยันว่า สิทธิเหล่านี้เป็นเรื่องชอบธรรม โดยหยิบยกปฏิญญาโดฮาที่ลงนามเมื่อปี 2001 ย่อหน้าที่ 4 ซึ่งระบุว่า "รัฐมนตรีเห็นพ้องว่า ความตกลง TRIPS จะต้องไม่ห้ามและไม่ควรที่จะขัดขวางประเทศสมาชิกที่จะใช้มาตรการเพื่อปกป้องสาธารณสุขของประเทศสมาชิก เพื่อเน้นย้ำข้อผูกพันตามความตกลง TRIPS ในเรื่องดังกล่าว ประเทศสมาชิกยืนยันว่า ความตกลง TRIPS ควรตีความและนำไปปฏิบัติในลักษณะที่เป็นการสนับสนุนสิทธิของประเทศสมาชิก/ส่งเสริมการเข้าถึงยาของประชาชนโดยรวม"


"เมื่อประเทศสมาชิก WTO เห็นชอบปฏิญญาโดฮา รัฐมนตรีการค้าของประเทศต่างๆ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการแสดงความมีหัวใจของพวกเขาที่ปกป้องสาธารณสุขของประชาชน ความแตกต่างมีเพียงสิ่งที่ประเทศไทยกำลังทำอยู่วันนี้กับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2001 คือ ประเทศไทยกำลังทำความเป็นจริงให้เกิดขึ้นโดยคำนึงถึงผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษา ไม่ใช่เพียงแค่ชื่อเสียงของรัฐมนตรีการค้าที่ลงนาม" เลิฟระบุ


นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงท่าทีของผู้อำนวยการองค์การอนามัยโรคด้วยว่า ผู้อำนวยการคนใหม่องค์การอนามัยโลก ควรลุกขึ้นมาปกป้องประเทศไทย สนับสนุนประเทศไทยให้ต่อสู้กับอุตสาหกรรมยายักษ์ใหญ่ เธอควรทำหน้าที่เตือนความจำเรื่องปฏิญญาโดฮาให้กับทุกคน และควรเสนอให้ความช่วยเหลือกับประเทศต่างๆ ในความพยายามที่จะให้ประชาชนเข้าถึงยา รวมไปถึงควรลุกขึ้นมาตอบโต้ข้อกล่าวหาที่ว่าประเทศไทยกำลังทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศเพราะไม่ใช่เรื่องจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้อำนวยการคนใหม่องค์การอนามัยโลกไม่ได้ทำอะไรเลย


สำหรับประเทศไทย นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงข้ออ้างที่ว่ารัฐบาลควรขออนุญาตบริษัทยาก่อนจะใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ โดยระบุว่า เมื่อการทำครั้งนี้แก้ปัญหาวิกฤตสาธารณสุข ปัญหาของประเทศ มันจึงเป็นอำนาจของรัฐ กฎหมายระบุชัดว่าไม่ต้องขออนุญาต แค่ให้รีบแจ้งโดยเร็ว รายละเอียดก็แจ้งชัด มีหลักการทำกี่ปี จ่ายค่าธรรมเนียมเท่าไร


"เพราะฉะนั้นบริษัทยาที่โวยว่าไม่ขออนุญาต เป็นการขโมยทรัพย์สิน ถือเป็นการโกหก นี่เป็นการจัดการทางสังคม เมื่อคุณมีสิทธิบัตร คนเข้าไม่ถึง คนตาย ก็ต้องใช้ การบังคับใช้สิทธิต้องการทำให้เกิดประโยชน์ระหว่างผู้ทรงสิทธิกับผู้บริโภค"


ในนามของคนไทย ผู้ติดเชื้อ เอ็นจีโอ ขอยืนเคียงข้างผู้บริหารประเทศ ยาตัวใดมีความจำเป็นก็ขอให้เดินหน้าทำต่อไป


ทั้งหมดนี้เป็นการรวมตัวกันของหน่วยงานด้านสาธารณสุขนานาชาติเพื่อยืนยันว่า "ขอยืนเคียงข้างผู้ป่วยในประเทศไทยในการตัดสินใจครั้งนี้"


.............................


หมายเหตุ - เรียบเรียงจากการแถลงข่าว International Support for Thailand"s Use of TRIPS Flexibilities วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ ปาร์ค

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net