ถึงคราวยกเลิก "ใบอนุญาตข่มขืน" ในบ้าน

ปาริฉัตร บัตรประโคน

เรื่องผู้หญิงข่มขืนผู้ชายเป็นประเด็นทางหน้าหนังสือพิมพ์ขึ้นมา อันเนื่องมาจากการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบให้แก้ไขใหม่ จากผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิง ซึ่งไม่ใช่ภรรยาของตน มาเป็น ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นถือเป็นความผิด นับว่า เป็นชัยชนะครั้งสำคัญของกลุ่มสิทธิสตรีที่ได้ต่อสู้มาตลอด 30 ปีเพื่อขอให้แก้ไขกฎหมายที่มีนัยว่า สามีข่มขืนภรรยาไม่มีความผิด

แต่แล้วก็มีการเปิดประเด็นใหม่ว่า ควรมีการเขียนกฎหมายให้ผู้หญิงข่มขืนผู้ชายเป็นความผิดด้วย

คุณหญิงนันทกา สุประภาตะนันทน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการแก้ไขกฎหมายนี้ ได้โต้แย้งกับผู้เสนอเขียนกฎหมายให้ผู้หญิงข่มขืนผู้ชายเป็นความผิด เรื่องนี้สังคมจะรับได้แค่ไหนกับความเสมอภาค หากจะอ้างว่า ต่างประเทศมีกฎหมายในลักษณะนี้ก็ไม่ควรเอาอย่างมาเขียนเป็นกฎหมาย หากไม่มีเหตุผลเพียงพอ เพราะเรื่องนี้ผู้หญิงบางคนจะรู้สึกว่า การออกกฎหมายอย่างนี้ลบหลู่สตรีเพราะมีพฤติกรรมน่าอับอายว่า ผู้หญิงข่มขืนผู้ชาย และเหตุการณ์อย่างนี้อาจจะมีน้อยมาก (มติชนสุดสัปดาห์ ประจำวันที่ 26 ..-1 .. 2550: 26)

ขณะที่ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ นักกฎหมายสำนักท่าพระจันทร์เขียนบทความโจมตีประเด็นผู้หญิงข่มขืนผู้ชายเป็นความผิด ดังชื่อเรื่อง "แก้ไขกฎหมายให้หญิงข่มขืนชาย เพื่อความเท่าเทียม สัญญาณวิปริตของนักร่างกฎหมาย!!! ก็ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ โดยชี้ว่า คำว่า "เสมอภาค" นั้น ไม่ใช่ให้เท่ากัน แต่ให้ในสิ่งที่สมควรจะได้ แล้วก็มาอธิบายว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นการหมกเม็ดอีกอย่างหนึ่ง เพราะหากการข่มขืนไม่ว่าจะเป็นหญิงอื่น หรือเป็นภรรยาตน มีโทษเท่ากัน กฎหมายนี้กลายเป็นแรงจูงใจให้สามีไม่ข่มขืนภรรยา แต่จะไปข่มขืนผู้หญิงอื่นแทน ดังที่ทวีเกียรติเขียนว่า "หากต้องรับโทษเท่ากันจะข่มขืนภริยาตัวเองทำไมให้โง่" (มติชนรายวัน, 5 กุมภาพันธ์ 2550: 7)

ได้เค้าลางและ "สัญญาณวิปริตของนัก (ร่าง) กฎหมาย" จริงๆ

การลงโทษเป็นเรื่องการป้องกัน ปราบปราม และรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมอย่างหนึ่ง แต่การที่เขาชี้ให้เห็นว่านี่เป็นสิ่งกระตุ้น เร่งเร้า และส่งเสริมให้เกิดการกระทำผิดได้มากขึ้น นอกจากเขาไม่เข้าใจเหตุผลในการแก้ไขประมวลกฎหมายที่สามีข่มขืนภรรยาไม่ผิดแล้ว เขายังไม่ตระหนักว่า การข่มขืนเป็นความรุนแรงต่อผู้ถูกกระทำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งต้องทนทุกข์ทรมาณ เจ็บปวด หรือต้องอยู่อย่างเกลียดตัวเองเพราะรอยราคีที่ฝังร่างลงในใจ และจิตสำนึกที่ไม่อาจลบเลือนได้ ความเจ็บปวดทางใจนั้นมิอาจจะประเมินความเสียหายได้เลย

ส่วนประเด็นโต้แย้งของคุณหญิงนันทกา ก็ยังเห็นว่าติดกับอยู่กับเหตุผลอย่างนักกฎหมายที่ต้องพิสูจน์การกระทำผิด (หรือต้องมีเหตุผล) ซึ่งนี่อาจเป็นปัญหาที่ทำให้การต่อสู้เรื่องสามีข่มขืนภรรยาไม่มีความผิด ต้องใช้เวลานาน 30 ปี เพราะการข่มขืนในความสัมพันธ์อันนี้ นอกจากเกิดขึ้นในที่ส่วนบุคคล เป็นบ้านพักอาศัย ไม่สามารถเข้าไปตรวจได้อย่างทั่วถึง อันยากแก่การป้องกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปัญหาขาดพยานหลักฐาน บางกรณีไม่มีร่องรอยการต่อสู้ ความบอบช้ำทางร่างกาย ประกอบกับเรื่องดังกล่าวยังถูกมองว่า เป็นเรื่องธรรมดาของสามีภรรยา ตามประสาลิ้นกับฟัน ทำให้ไม่มีการนำไปสู่การฟ้องร้อง แจ้งความใดๆ หรือหากจะมีกรณีที่รับแจ้ง แต่ก็ติดปัญหายากแก่การพิสูจน์

การข่มขืนที่ถูกนิยามว่า ชายที่กระทำชำเราหญิงอื่นที่มิได้เป็นภรรยาของตน ทำให้ผู้หญิงที่เป็นภรรยาไม่รู้ว่าจะชื่อเรียกประสบการณ์ที่รุนแรงของตนอย่างไร ไม่รู้ว่าจะจัดการหรือเข้าใจในสิ่งที่ตนเผชิญความรุนแรง เช่น การบังคับ ขืนใจให้ร่วมเพศ ทั้งที่ไม่ยินยอม ไม่มีความต้องการ หรือมีปัญหาทางร่างกาย เช่น การมีประจำเดือน รวมถึงการร่วมเพศอย่างพิศดารวิตถาร เหล่านี้อย่างไร โดยการต่อสู้และเรียกร้องเพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอันนี้ เปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่เป็นภรรยาได้บอกเล่าถึงความรุนแรงในชีวิตคู่ที่เกิดขึ้น ทำให้ประสบการณ์ความรุนแรงและการข่มขืนในครอบครัว โดยสามีกระทำต่อภรรยาเป็นสิ่งที่ได้ยิน และรับรู้กันในสังคม และผู้หญิงเหล่านี้ได้มีชื่อเรียกประสบการณ์อันเลวร้ายของตน

ประเด็นเรื่องการข่มขืนหากพิจารณาจากมุมมองทางกฎหมายก็จะเห็นว่า มีความ "วิปริต" อย่างชื่อบทความที่ได้อ้างถึง การจะก้าวให้พ้นความ "วิปริต" นั้น สามารถมองการข่มขืนเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ดังที่ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์เสนอไว้ในบทความชื่อ"ข่มขืน: ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในสังคมไทย" (2539) โดยไม่เพียงแต่จะช่วยสลายมายาคติ และรากฐานของความเชื่อเกี่ยวกับการข่มขืน ทำให้คนในสังคมมองเห็นหลายแง่มุมของการข่มขืน ยังทำให้แนวทางในการแก้ไขปัญหาไม่บิดเบี้ยว หากสอดคล้องและตอบสนองต่อความซับซ้อนของปัญหาที่เกิดขึ้น

บทความดังกล่าวได้อธิบายความหมายของคำว่า ความรุนแรงในเชิงวัฒนธรรมคือแง่มุมของวัฒนธรรมที่ทำให้ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence) ซึ่งได้แก่การกดขี่ การเอารัดเอาเปรียบต่างๆ และการใช้ความรุนแรงทางตรง กลายเป็นเรื่องธรรมดา หรือยอมรับได้ในสังคม โดยการข่มขืนเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่กระทำต่อผู้หญิงภายในโครงสร้างทางสังคมที่ให้ชายเป็นใหญ่ ตามมุมมองและการวิเคราะห์ปัญหาการกดขี่ผู้หญิงของสตรีนิยม

แนววิเคราะห์สตรีนิยมชี้ให้เห็นว่า การข่มขืนเป็นเรื่องที่ผู้ชายกระทำต่อผู้หญิง ซึ่งสะท้อนอุดมการณ์ทางเพศที่ผู้ชายเป็นเจ้าของประเวณี ผู้หญิงเป็นเพียง "วัตถุ" เพื่อการครอบครอง ควบคุมและกดบังคับ หรือกล่าวได้ว่า การข่มขืนเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการควบคุมเรื่องเพศให้ผู้หญิงอยู่ในร่องในรอย ซึ่งเป็นการกระทำอันรุนแรง (violent act) ที่กระทำโดยชนชั้นผู้ชาย (class of men) ต่อชนชั้นผู้หญิง (class of women) อันทำให้ผู้หญิงรู้สึกหวาดกลัวต่อการข่มขืน

จากประสบการณ์สมัยผูกคอซอง บ้านของผู้เขียนอยู่ลึกเข้าไปในซอยเล็กๆ แห่งหนึ่ง ตอนกลางวันไม่น่ากลัวเพราะมีคนและรถแล่นผ่านอยู่ตลอดเวลา แต่กลางคืนจะเงียบเชียบและวังเวงจนสะท้านใจ ผู้เขียนต้องกลับบ้านมืดทุกวัน เพราะกว่าจะเลิกเรียนพิเศษก็ดึกมาก ที่บ้านไม่ได้ร่ำรวยขนาดมีรถรับส่ง ได้ใช้จักรยานสองล้อปั่นพาตัวเองไปไหนมาไหนเท่านั้น ด้วยการสั่งสอนและอบรมที่ผู้หญิงต้อง "รักนวลสงวนตัว" ทำให้ผู้เขียนพกมีดคัตเตอร์ติดตัวด้วยเสมอ หากมีใครรังแกก็หวังว่าจะได้มีประโยชน์ แค่คัตเตอร์ขนาดเหลาดินสอได้เท่านั้น ไม่อาจจะประกันความปลอดภัยให้แก่ตัวเอง มันอาจพอดีสำหรับการเลือกปาดหลอดลมของตัวเองก่อนที่จะใช้ต่อสู้กับคนร้าย ยอมจบชีวิตตัวเองก่อนที่จะถูกข่มขืน นั่นเป็นความกลัวที่เป็นส่วนตัว แต่เป็นความกลัวร่วมระหว่างผู้หญิงที่ผู้ชายจะไม่เคยรู้สึกถึงมันได้เลย

ผู้ชายไม่เคยกลัวการข่มขืน!

การข่มขืนเป็นเครื่องมือเพื่อควบคุมพฤติกรรมทางเพศของผู้หญิง โดยเฉพาะในวัฒนธรรมที่ให้ชายเป็นใหญ่ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดปกติหากพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับความคาดหวังของสังคมที่มีต่อผู้หญิงที่ดีจะมีความสำคัญต่อการซักพยานในศาลที่มองพฤติกรรมเหล่านี้ ในฐานะองค์ประกอบในการตัดสินว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการข่มขืนหรือไม่ (ชลิดาภรณ์,2539) เช่น ถ้า คุณไปเดินในที่เปลี่ยว ยามวิกาล ใส่สายเดี่ยว เกาะอก โชว์เนื้อหนังมังสา ซึ่งเป็นพฤติกรรมของ "ผู้หญิงไม่ดี" ก็จะเป็นองค์ประกอบที่ใช้ตัดสินว่า มันไม่ใช่เรื่องข่มขืน เพราะผู้หญิงละเมิดบทบาทหรือมีการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับ "ความเป็นผู้หญิงดี" เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสแก่การถูกกระทำและการใช้ความรุนแรง การข่มขืนจึงเกิดขึ้น ผู้หญิงต้องรับผิดชอบการกระที่ขัดกับ "ความเป็นผู้หญิงดี" นั้นเอง

การที่สามีข่มขืนภรรยาไม่ใช่สิ่งผิด ก็เป็นอีกความรุนแรงต่อผู้หญิงภายใต้วัฒนธรรมให้ชายเป็นใหญ่ ซึ่งผู้หญิงเป็นเพียง "สมบัติ" ของพ่อ หรือครอบครัวเดิม ก่อนถูกถ่ายโอนต่อไปเป็น "สมบัติ" ของสามี

การแก้ไขกฎหมายเป็นเพียงชัยชนะเริ่มต้น ซึ่งสังคมจะได้ตระหนักต่อสิทธิและความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงที่จะล่วงละเมิดมิได้ ไม่ว่าผู้หญิงคนนั้นจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการยุติการกดขี่และทารุณผู้หญิง ปลดปล่อยให้ผู้หญิงพ้นจากการตกเป็น "วัตถุสิ่งของ" ในครัวเรือน ช่วย "ชำระ" และ "ล้างบาป" แก่ประมวลกฎหมายอาญาที่ได้อนุญาตให้มีการกระทำความรุนแรงและก่ออาชญากรรมในครอบครัว โดยไม่มีความผิด มาเป็นเวลากว่า 30 ปี หรือนับแต่มีการเคลื่อนไหวและต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ว่า "สามีข่มขืนภรรยาไม่มีความผิด"

นอกจากนี้การเขียน "ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นถือเป็นความผิด" นับว่าได้ขยายความเข้าใจต่อการข่มขืนที่ไม่ใช่ความรุนแรงที่ชายจะกระทำต่อหญิงเท่านั้น นั่นหมายความว่า โดยข้อความนี้ได้ "คาดโทษ" ต่อบุคคลอย่างเสมอหน้ากัน นอกจากไม่จำเป็นต้องเขียนว่า หญิงข่มขืนชายเป็นความผิด แล้ว ยังเปิดให้ประสบการณ์ความรุนแรงทางเพศอื่นๆ ปรากฎขึ้น และมีชื่อเรียกประสบการณ์เหล่านี้ เช่น การข่มขืน กระทำชำเราอนาจารผู้ชาย หรือเด็กชาย การข่มขืนหญิงโสเภณี เป็นต้น

การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ย่อมก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้หญิง มากไปกว่านั้น หากมองให้ลึกลงไปก็จะเห็นว่า นี่เป็นเรื่องความเป็นธรรมต่อทุกชีวิตที่ความเป็นมนุษย์จะไม่ถูกล่วงละเมิด

ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท