Skip to main content
sharethis

ความคืบหน้า โครงการสวนสาธารณะบนที่ดินการรถไฟ ซึ่งอยู่บริเวณโรงแรมรถไฟเดิม ซึ่งพลเมืองเหนือได้เคยนำเสนอถึงระยะเวลาการก่อสร้างของบริษัทเอกชนฯ ซึ่งล่าช้าไม่ทันตามกำหนด โดยอ้างถึงการต้องปรับแก้แบบก่อสร้างที่มีการคัดค้านจากชาวบ้านซึ่งต้องการให้มีพื้นที่สีเขียวมากกว่าสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีถึง 10 จุดในปัจจุบัน


เทศบาลฯยื้อค่าปรับโบ้ยจังหวัดดูแบบช้า


จากหนังสือสัญญาจ้างที่บริษัท ดีส์ พีส์ ซีส์ เอส ได้ทำไว้กับเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นเวลา 1 ปี โดยเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน พ..2547 สิ้นสุดสัญญา วันที่ 13 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งข้อตกลงในการว่าจ้างข้อที่ 16 เขียนไว้ว่า "หากผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาและผู้ว่าจ้างยังมิได้บอกเลิกสัญญา ผู้รับจ้างจะต้องชำระค่าปรับให้แก่ผู้ว่าจ้างเป็นจำนวนเงินวันละ 247,050 บาทและจะต้องชำระค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานในเมื่อผู้ว่าจ้างจะต้องจ้าง ผู้ควบคุมงานอีกต่อหนึ่งเป็นจำนวนเงินวันละ 200 บาท นับถัดจากวันที่กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาหรือวันที่ผู้ว่าจ้างได้ขยายให้จนถึงวันที่ทำงานแล้วเสร็จจริง นอกจากนี้ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้รับจ้างทำงานล่าช้าเฉพาะส่วนที่เกินกว่าจำนวนค่าปรับและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้อีกด้วย "


แต่ขณะนี้ได้ล่วงเลยกำหนดเวลานั้นมาแล้ว แหล่งข่าวจากส่วนออกแบบและก่อสร้าง เทศบาลนครเชียงใหม่กล่าวว่า เทศบาลฯ ได้ให้บริษัทได้ดำเนินการก่อสร้างต่อในงานที่ไม่มีปัญหาเรื่องแบบ ส่วนงานการก่อสร้างที่มีปัญหาเรื่องแบบ ได้ส่งหนังสือไปทางจังหวัดเชียงใหม่เพื่อพิจารณาในการต่อสัญญา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอหนังสือการต่อสัญญาและกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการเพิ่ม ทั้งนี้ในการคิดค่าปรับจะต้องรอให้จังหวัดกำหนดเวลาในการก่อสร้างต่อก่อน และเมื่อไม่เสร็จตามระยะเวลาที่กรรมการเทศบาลกำหนดถึงจะมีการคิดค่าปรับจากบริษัทฯ ทั้งนี้ขั้นตอนจะต้องส่งรายละเอียดทั้งหมด ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และส่งต่อไปยังส่วนงานท้องถิ่นจังหวัดก่อน เรื่องจึงจะกลับมายังเทศบาล


นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ชี้แจงพลเมืองเหนือว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนในเรื่องการคิดค่าปรับในการก่อสร้างล่าช้าของบริษัทที่รับเหมา จึงยังไม่สามารถสรุปได้ จะต้องมีการประชุมหารือกันอีกครั้ง ในความเป็นจริงเมื่อมีการปรับบริษัทดังกล่าวตามสัญญาตั้งแต่วันที่สิ้นสุดสัญญาคือเริ่มปรับตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 48 ถึงปัจจุบัน โดยจะมีเงินค่าปรับกว่า 90 ล้านบาท ถึงเวลานี้เหลือการก่อสร้างอีก 2 เดือนกว่า ต้องจับตากรอบระยะเวลาที่เทศบาลให้สัญญาไว้ ว่าจะเสร็จทันในเดือนเมษายน ปี 50 หรือไม่


ชาวบ้านสุดดิ้น แต่โดนบล็อค


แหล่งข่าวในชุมแขวงกาวิละรายหนึ่งกล่าวว่า ในอดีตกลุ่มชาวบ้านในแขวงกาวิละเรียกร้องให้สร้างเป็นสวนกาวิละเพื่อคนในชุมชนจะได้ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนและออกกำลังกาย โดยเทศบาลอ้างว่าจะสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ แต่ปัจจุบันการก่อสร้างไม่เป็นอย่างที่เคยตกลงกันไว้กับชาวบ้านและได้ติดตามความคืบหน้าไปยังที่ประชุมแขวงกาวิละ ก็ได้รับคำตอบว่าจะให้เสร็จก่อนเดือนเมษายนปี 49 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่กับคนในชุมชน หลังก่อสร้างไม่เสร็จก็มีการรื้อป้ายโครงการที่ตั้งไว้ออกไปและไม่เคยมีหนังสือแจ้งให้กับชาวบ้านทราบ


แหล่งข่าวรายนี้กล่าวว่า ผู้นำชุมชนในแขวงกาวิละส่วนใหญ่ถูกผูกขาดจากคนในเทศบาล ซึ่งไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ไม่มีการขับเคลื่อนชุมชน แม้แต่ประชาพิจารณ์ที่เทศบาลบอกว่าได้ทำไปแล้ว ชาวบ้านไม่มีใครได้เห็นการทำประชาพิจารณ์ดังกล่าวแต่ก็มีผลของการทำประชาพิจารณ์ออกมา


นักสิทธิฯชี้ช่อง ชบ.ยื่นหนังสือทราบความคืบหน้า


นายชลธี ตะพัง นักวิจัยอิสระสถาบันเพื่อสิทธิชุมชนชี้แจงว่า กรณีที่เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและประชาชน ที่ทำให้ประชาชนไม่ได้ใช้สิทธิ์ของตนเองตามที่ระบุไว้ รัฐย่อมมีความผิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แต่ถ้ามีการขยายเวลาการใช้สิทธิ์ออกไปต้องมีการชี้แจงกับประชาชนให้รับทราบกับโครงการสวนสาธารณะบนที่ดินการรถไฟ ชาวบ้านควรจะมีการทำเรื่องไปยังหน่วยงานของเทศบาล ให้ชี้เเจงกรณีที่ผู้รับเหมาไม่ได้เเนินการแล้วเสร็จและความคืบหน้าในการก่อส้ราง เพื่อให้เทศบาลตอบคำถามว่า จะจัดการปัญหาอย่างไร โดยระบุกรอบเวลาให้เทศบาลว่าจะต้องชี้แจงภายในกี่วัน หรือ อาจสำเนาหนังสือชี้แจงที่ส่งไปยังเทศบาลส่งไปทางจังหวัดเชียงใหม่อีกทาง ถ้ายังไม่มีการแจ้งความคืบหน้า ก็ต้องดูว่าเทศบาลจะดำเนินการอย่างไร ถ้ายังไม่ได้รับคำตอบอีก ชุมชนต้องเคลื่อนไหวเอง โดยสามารถเรียกร้องไปยังผู้รับเหมาหรือเทศบาลก็ได้และสามารถยื่นไปถึงศาลปกครองได้


แต่การแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขันจากกระบวนการของชุมชนคือ ชุมชนต้องกลับไปพูดคุยกันเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับการให้สิทธิ์ผู้มีอำนาจที่ประชาชนเลือกเข้าไปและกระบวนการการมีส่วนร่วมนี้ ต้องมีการติดตามของคณะกรรมการชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะใช้ประเด็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเอง สร้างความเข้มแข็งขึ้นมา ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้มแข็งของชุมในแก้ไขปัญหาต่อไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net