Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 7 ก.พ. 50 คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่งและแร่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดเวทีการประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ ในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ขึ้นที่ห้องประชุม M 205 อาคารเรียนรวมแพทย์และหอสมุด คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งที่ประชุมประกอบด้วย นายวสันต์ พานิช ประธานอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่งและแร่ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาจารย์รตยา จันทรเทียร รองประธานอนุฯ และอนุกรรมการท่านอื่นๆ ได้แก่ นายบรรจง นะแส นายศศิน เฉลิมลาภ นายชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ และนายสุรชัย ตรงงาม


 


นายวสันต์ พานิช กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ชาวบ้านต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิ์ฯ เรื่องสิทธิชุมชน ขอให้ลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินงานของการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าจะนะ เข้าถมคลองสาธารณะ ใน อ.จะนะ จังหวัดสงขลา


 


อนุกรรมการได้ลงพื้นที่บริเวณคลองบ้านป่างามที่ทางกฟผ.ได้ถมคลองแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมเจ้าท่า กรมประมง มาชี้แจง ซึ่งให้ข้อมูลว่า ไม่ได้อนุญาตให้กฟผ.ถมคลอง เพราะให้อนุญาตไม่ได้ ผิดกฎหมาย


 


จากนั้น อนุกมธ.ฯ ได้ส่งรายงานผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ให้นักวิชาการผู้ชำนาญการด้านประมงและพันธุ์สัตว์น้ำอ่านเพื่อตรวจสอบข้อมูล


 


ดร.วารุณี เชี่ยววารีสัจจะ อาจารย์ประจำภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ผู้ชำนาญด้านการประมงและพันธุศาสตร์สัตว์น้ำ กล่าวว่า รายงานผลกระทบนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยและข้อสังเกตหลายประการ


 



 


ประการแรก กระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ศึกษาและเก็บข้อมูลในคลองนาทับการศึกษาดำเนินการเพียงครั้งเดียว ในวันเดียว และเก็บข้อมูลเฉพาะช่วงเวลากลางวันเท่านั้น ทั้งยังเลือกเก็บข้อมูลในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นช่วงที่ปริมาณน้ำในคลองนาทับน้อย ข้น และมีพันธุ์สัตว์น้ำ สัตว์น้ำหน้าดิน และแพลงก์ตอนน้อยที่สุด


 


ดร.วารุณีกล่าวว่า ตามหลัก ต้องเก็บข้อมูลในช่วงฤดูฝน เพราะเป็นช่วงที่มีปริมาณพันธุ์สัตว์น้ำมากที่สุด ดังนั้นข้อมูลปริมาณสัตว์และชนิดของสัตว์น้ำย่อมน้อยกว่าความเป็นจริง ทำให้ข้อมูลที่ได้ ขัดแย้งกับที่ดร.วารุณีและนักศึกษาเคยทำมาก่อน ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลระยะยาว หลายเดือน ครอบคลุม 3 ฤดู และเก็บข้อมูลครบทั้งกลางวันและกลางคืน


 


และที่สำคัญ ยังไม่ได้เก็บข้อมูลจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ศึกษาพื้นที่ครอบคลุมเพียงแค่ 2 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าเท่านั้น และเก็บข้อมูลสัมภาษณ์เฉพาะแพปลา ผลจากการศึกษาบอกว่า ในคลองนาทับมีเพียงการเลี้ยงปลาทับทิม 2 ราย ส่วนการเลี้ยงปลากะพงในกระชัง ไม่มีการระบุถึงในรายงานเลย ทั้งที่เป็นอาชีพของชาวประมงที่นั่น กระบวนการศึกษาดังกล่าว จึงส่งผลให้ข้อมูลหลายประการในรายงานไม่ตรงกับข้อเท็จจริง


 



ประการที่สอง ข้อมูลส่วนใหญ่ในรายงานผลกระทบ จะเป็นการศึกษาว่า จะบริหารน้ำอย่างไรเป็นหลัก มาตรการแก้ไขเรื่องน้ำคือ การขุดคลองขึ้นใหม่เพื่อลดความแรงของการดูดน้ำ การดูดพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน และกระบวนการฆ่าสัตว์น้ำวัยอ่อนด้วยการใช้คลอรีน เพื่อไม่ให้มีสัตว์น้ำวัยอ่อนลอดตะแกรงเข้าไปติดตามท่อส่งน้ำที่ส่งน้ำไปหล่อเย็นเครื่องจักรในโรงไฟฟ้า


 


ซึ่งความเป็นจริง น้ำที่ส่งเข้าไปหล่อเย็นโรงไฟฟ้าวันละ 38,830 ลูกบาศก์เมตรต่อวันนั้น จะหายไปประมาณ วันละ 10,000 ลูกบาศก์เมตร และอุณหภูมิที่เปลี่ยนไปจะทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน


 


"ปลาเล็กจะตาย ส่วนปลาใหญ่จะต้องหนีเอาชีวิตรอดไปอยู่อาศัยที่อื่นแทน" เพราะไม่อาศัยอยู่ในคลองนาทับต่อไป


 


ดร.วารุณีกล่าวว่า ในต่างประเทศการหล่อเย็นจะไม่นำน้ำในคลองมาใช้ในระบบหล่อเย็น แต่จะใช้น้ำทะเลแทน และการหล่อเย็นจะเป็นระบบปิด เพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อม จะไม่มีกระบวนการปล่อยน้ำที่ผ่านการหล่อเย็นกลับสู่คลอง เพราะอุณหภูมิน้ำจะสูง แต่จะดูดน้ำขึ้นไปเติมน้ำหล่อเย็นทีสูญเสียไปเรื่อยๆ


 


แต่โรงไฟฟ้าจะนะ กลับใช้น้ำจากคลองและใช้ระบบเปิด คือปล่อยน้ำที่ผ่านการหล่อเย็นกลับลงคลองอีกครั้งหนึ่ง เพราะการใช้ระบบปิด เพิ่มต้นทุนการก่อสร้างที่มากขึ้น


 


ผศ.ประสาท มีแต้ม อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การศึกษาผลกระทบฯ เป็นเพียงพิธีกรรมที่โครงการกระทำเท่านั้น


 


ในความเป็นจริงอุณหภูมิน้ำมีการเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งวันประมาณ 8-10 องศา ดังนั้นข้อมูลในรายงานที่ระบุว่า จะปล่อยน้ำกลับสู่คลองนาทับในช่วงที่อุณหภูมิเหมาะสมนั้น ไม่สามารถทำได้ดังที่ศึกษา ดังนั้นค่าเฉลี่ยอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นในรายงาน เป็นค่าเฉลี่ยหลอกเท่านั้น


 



 


ความสมบูรณ์ของพลังงานชีวภาพบริเวณปากแม่น้ำจะสูงมาก แต่การศึกษาไม่ครอบคลุม ที่สำคัญมีนักวิชาการศึกษาว่า ขณะนี้ไฟฟ้าในประเทศมีปริมาณมาก แต่ทำไมยังสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เวลานี้ กรณีที่พม่า ที่ปตท.ขายให้กฟผ.ก็ไม่ได้ผ่านการแยก ซึ่งได้ข่าวว่า ที่จะนะก็เช่นเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบทางมลพิษที่มากขึ้นอย่างแน่นอน


 


ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตรพงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ เปิดประเด็นว่า หนึ่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าด้วยการถมพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติเกือบ 1,000 ไร่ และสร้างกำแพงสูงล้อมรอบโรงไฟฟ้า ย่อมส่งผลกระทบทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างแน่นอน


 


สอง โรงไฟฟ้าดูดและระบายน้ำลงคลองนาทับด้วยการขุดคลองใหม่ ซึ่งในรายงานผลกระทบไม่ได้ทำการศึกษา ซึ่งยืนยันได้ว่าจะทำให้เกิดปัญหาการทับถมของตะกอนอย่างมหาศาล ทำให้คลองตื้นเขินอย่างรวดเร็ว


 


สาม อุณหภูมิน้ำที่เปลี่ยนไป ย่อมส่งผลกระทบต่อพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างแน่นอน และอุณหภูมิน้ำที่เปลี่ยน ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอย่างรวดเร็ว ซึ่งในรายงานก็ไม่ได้ทำการศึกษา


 


สี่ ในความเป็นจริง การศึกษาผลกระทบต้องไม่แยกเฉพาะส่วน ต้องศึกษาแผนพัฒนาทั้งหมด ได้แก่ โรงไฟฟ้าต้องศึกษาร่วมกับโรงแยกก๊าซและอุตสาหกรรมที่จะตามมา ที่ผ่านมาไม่เคยมีตัวอย่างว่าโครงการโรงไฟฟ้าทั่วประเทศสามารถแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งอยากท้าว่าหากมีตัวอย่างให้เปิดเผยข้อมูลออกมา


 


นอกจากนี้ ยังขอเรียกร้องว่า แทนที่จะดำเนินโครงการใหม่ น่าจะประเมินผลกระทบมหาศาลที่เกิดจากโครงการเก่าที่ดำเนินการมา โดยต้องนำโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการมากกว่า 10 ปีมาประเมิน ไม่ใช่นำโครงการที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่เพียง 1-2 มาประเมิน และหากโครงการโรงไฟฟ้าเก่ายังไม่ผ่านการยอมรับ ก็ไม่ควรมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่


 


นายวสันต์กล่าวว่า จะนำข้อมูลทั้งหมดจัดทำเป็นรายงานการตรวจสอบออกมาอย่างเร่งด่วน เพราะเท่าที่รับฟังข้อมูลจากนักวิชาการ ม.สงขลานครินทร์ กับข้อมูลในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าถึงรัฐบาลมีความแตกต่างอย่างมาก และทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะจัดทำเสนอผลักดันให้รัฐบาลทบทวนทางนโยบายเรื่องแผนการพัฒนาและโครงการต่อเนื่องในระยะยาวทั้งหมด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net