ฤาชีวิตคนแค่ผักปลา ... การเสียชีวิตของลูกเรือประมงนอกน่านน้ำทะเลไทย

โดย วิทยากร บุญเรือง

 

 

ปัจจุบัน มหาชัย เป็นแหล่งใหญ่ของการประมงไทย แต่เนื่องด้วยปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ทำให้ต้องมีการว่าจ้างแรงงานนอกพื้นที่รวมถึงแรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมประมงที่มหาชัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติชาวพม่า และแรงงานเหล่านี้มักจะโดนกดขี่ขู่เข็ญตกเป็นเหยื่อของการใช้แรงงานทาสที่ไม่มีปากมีเสียง

 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 อาสาสมัครคุ้มครองสิทธิได้นำลูกเรือประมง มาร้องเรียนที่ เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน Labour Rights Promotion Network (LPN) กรณีแรงงานข้ามชาติ และแรงงานไทย ที่ประกอบอาชีพลูกเรือประมง โดยเป็นประเภทเรือประมงนอกน่านน้ำแบบลากคู่ ชื่อเรือประภาสนาวี ซึ่งเรือเดินทางกลับเข้าเทียบท่าที่ประเทศไทย บริเวณท่าเรือวัดหลังศาล ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อประมาณวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 เวลาสองทุ่มโดยประมาณที่ผ่านมา โดยทยอยเข้ามาพร้อมกันทั้ง 6 ลำ ตามลำดับ ภายหลังจากที่เรือเข้าจอดเทียบท่าก็มีกระแสข่าวจากแรงงานในชุมชน และ จากอาสาสมัครแรงงานที่อยู่ในชุมชนของ LPN ได้พาแรงงานที่เป็นลูกเรือบางส่วน เข้ามาขอรับคำปรึกษาจากองค์กร

 

เนื่องจากแรงงานภายหลังจากออกเรือแล้วเป็นเวลาประมาณ สองปีเศษ ถึง สามปี ปรากฏว่าในเส้นทางขณะที่เรือเดินทางกลับประเทศไทยหลังจากได้ไปหาปลาที่อินโดนีเชียขากลับนั้นได้มีลูกเรือประมงบางส่วนเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด 30 กว่าคน โดยในกลุ่มผู้ที่เสียชีวิตนั้นมีทั้งที่เป็นแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า เชื่อชาติ พม่า, มอญ, กะเหรี่ยง, ทะวาย และที่เป็นแรงงานไทยที่มาจากภาคเหนือ และภาคอีสาน บางคนก่อนขึ้นเรือถูกบริษัทจัดหางานกักขังอยู่นับสิบวัน และคุมตัวขึ้นเรือที่จังหวัดสมุทรสาครไปทำงานต่างแดน ซึ่งต้องทนอยู่อย่างยากลำบาก

 

โดยแรงงานที่กลับมาจากการออกเรือได้เล่ารายละเอียดลักษณะอาการและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นบนเรือให้ฟังดังนี้

 

เรือชื่อประภาสนาวีเป็นเรือลากคู่ โดยในชุดนี้มีทั้งหมด 6 ลำ แบ่งเป็นเรือใหญ่ 3 ลำ และเป็นเรือลูกคู่อีก 3 ลำ มีลูกเรือประมาณ หนึ่งร้อยคนเศษ ในเรือทุกลำจะมีไต้ก๋งเป็นผู้ดูแลเรือ มีนายท้ายเป็นลูกเรือมีหน้าที่ในการขัดเคลื่อนเรือ มีช่างเครื่องเป็นผู้ดูแลเครื่องยนต์ โดยจะมีผู้ช่วยหรือช่างน้ำมัน มีพ่อครัวหรือจุมโป๊ะ ที่เหลือจะเป็นคนอวนที่มีหน้าที่ในการลงอวนหาปลา ขึ้นอวน คัดปลา หรือหน้าที่ทุกอย่างในงานที่เกี่ยวกับสัตว์ทะเลที่จับได้ โดยจะมีหัวหน้าคนงานคอยกำกับดูแลอีกที

 

เรือประภาสนาวีออกเรือมาแล้วประมาณ 3 ปี โดยออกเรือหาปลาออกไปจากชายฝั่งประเทศไทยออกไปจนถึงนานน้ำประเทศอินโดนีเชียและหาปลามาตลอด 2 ปีเศษที่ผ่านมาโดยประมาณจากนั้นประมาณ 6 เดือนเศษที่ผ่านมา เอกสารใบอนุญาตสัมปทานในการหาปลาในเขตุน่านน้ำประเทศอินโดนีเชียได้หมดลง โดยทางนายจ้างที่อยู่ประเทศไทยที่เป็นเจ้าของเรือได้พยายามเจรจาเพื่อขอต่อใบอนุญาตแต่ไม่สำเร็จ

 

เรือจึงต้องจอดลอยลำอยู่ในน่านน้ำประเทศอินโดฯไม่สามารถเทียบท่าจอดเรือได้เนื่องจากหากจอดเรือเทียบท่าจะถูกเจ้าหน้าที่ของอินโดฯจับดำเนินคดี ในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง โดยในการรอเอกสารนั้นเป็นเวลา 4 เดือนเศษเกือบ 5 เดือนที่เรือไม่สามารถหาปลาได้เลยส่งผลให้ลูกเรือไม่สามารถขึ้นฝั่งเพื่อซื้ออาหาร ยารักษาโรค และเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องได้แรงงานที่เป็นลูกเรือจึงต้องเลี้ยงชีพด้วยการกินอาหารเดิมที่เหลือภายในเรือทั้ง 6 ลำ นอกจากนั้นเป็นการตกปลา และตกนกกินกัน โดยไม่มีเครื่องปรุงรสใดๆ ทั้งสิ้น

 

ในช่วงเดือนที่ 4 เริ่มมีลูกเรือปรากฏอาการไม่สบาย โดยเป็นแรงงานไทยและได้ลักลอบขึ้นฝั่งเพื่อไปพบแพทย์ 3 คน จากนั้นได้กลับมาที่เรือ และเสียชีวิตที่เรือในเวลาต่อมา 2 คน (ไม่มีข้อมูลชื่อ) และได้มีการจัดการศพโดยการเผาที่ประเทศอินโดฯ ทั้ง 2 คน หลังจากการเผาศพเสร็จไม่นานเรือจึงลักลอบเดินทางออกจากประเทศอินโดฯ โดยการเดินทางในช่วงเวลากลางคืน และปิดไฟเรือทั้ง 6 ลำ เดินทางออกมาเพื่อหลบเรือตรวจการ และเรือรบของอินโดฯจากนั้นแรงงานคนที่ป่วยที่เหลือ 1 ใน 3 จากที่ตายก่อนหน้า 2 คน ก็เสียชีวิต

 

โดยหลังออกจากน่านน้ำประเทศอินโดฯมาที่น่านน้ำสากลได้ทิ้งสมอเรือลอยลำเพื่อรอน้ำมัน จากเรือทัวร์(เรือขนถ่ายสินค้าทางทะเล) เพื่อเติมน้ำมันและเดินทางกลับประเทศไทยโดยระหว่างนี้ลูกเรือได้ทยอยล้มตายลงทุกวัน จากที่เติมน้ำมัน ผ่านสิงคโปร์จะเข้าสู่ประเทศไทยลูกเรือได้เสียชีวิตลงไปแล้วประมาณ 20 คนเศษ โดยน้อยสุด 1คนต่อวัน และมากสุดอยู่ที่ 5 คนต่อวัน โดยเข้ามาถึงท่าเรือที่แม่น้ำท่าจีนลูกเรือเสียชีวิตรวมประมาณ 34 คน

 

ลักษณะอาการของลูกเรือที่เสียชีวิตคือ ลูกเรือจะมีอาการร่างกายขาดน้ำ มีลักษณะตัวบวม ไม่สามารถรับประทานอาหารได้โดยจะอาเจียนออกตลอด มีอาการร้อนในหายใจไม่ออก เมื่อเอานิ้วกดลงตามกล้ามเนื้อของร่างกายจะเป็นรอยบุ๋มเหมือกับเอานิ้วกดดินน้ำมันโดยจะเป็นรอยเช่นนั้นไม่คืนสภาพ เลือดออกตามทวารต่างๆ เช่น ตา หู จมูก นม บางรายท้องแตก หมดสติ หรือบางรายร้อนในมากๆ เมือเอาน้ำราดตัวก็จะช็อคจนกระทั่งเสียชีวิต หรือบางรายทนไม่ได้ก็ตัดสินใจกระโดดน้ำทะเลตายเองก็มี ...

 

"คนที่อยู่บนเรือไม่มีอะไรกิน เรือจอด 4 เดือนหาปลาไม่ได้เขาจะจับเพื่อนผมคนนี้หายใจไม่ออกให้เรานวดให้เราก็ไม่ไหว แต่แข็งแรงกว่ายังไม่ใกล้ตาย ก็ช่วยนวดคนนี้อยู่อีกคนขอบ้างบอกว่าจะไม่ไหวแล้ว เราก็เหนื่อยแต่ต้องช่วยพอหันกับมาอีกคนที่เรานวดให้เมื่อตะกี้ตายแล้ว ยาก็หมด เราต้องเอาสบู่มาตัดให้เพื่อนดม หรือเอายาสีฟันมาให้ดม เพราะบนเรือไม่มียาเลย ข้าวก็เป็นข้าวต้ม ปลาชิ้นนิดเดียว ,ปลาเค็ม เกลือไม่มี น้ำส้มไม่มี บางคนกินเข้าไปอ้วก อ้วกเสร็จก็ตาย คิดดูว่ามาตายตอนกลับ หลายคนอยู่โรงพยาบาล ไต๋ไม่เห็นเป็นอะไร คิดดูว่ากลับมาถึงต้องอุ้มกันลงเรือ" --- แรงงานที่เป็นคนอวนและเห็นสภาพเหตุการณ์ให้ข้อมูล

 

 "พวกมันกินกันเค็ม หมอที่อินโดฯก็บอก ไตวายตายกัน กลัวแต่เฒ่าแก่จะไม่ให้ตังค์เขาเคยไปเจ๊ที่เวียดนามแล้วเขาก็จ่าย บนเรือไต๋มียาให้กิน เป็นยาฟอกไต (ในขณะพูดคุยแรงงานเอาตัวอย่างยาแสดงให้ดูด้วย)เรือไม่มีน้ำมันขืนดองศพก็กลับไม่ถึงตายกันหมด" --- แรงงานที่เป็นหัวหน้าคนงาน คนไทย (คนอีสาน จังหวัดอุดรฯ) ให้ข้อมูล

 

ที่เลวร้ายสุดก็คือศพคนเหล่านี้ถูกโยนทิ้งทะเลอย่างไร้ค่า และเมื่อแรงงานกว่า 100 คนกลับถึงฝั่งกลับไม่ได้รับค่าจ้างตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งเป็นที่มาของการร้องเรียนในครั้งนี้

 

แต่ทางการไทยเมื่อทราบเรื่องกลับมุ่งเจรจาเพื่อขอให้แรงงานเหล่านี้ได้ค่าตอบแทน แต่ในคดีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับกักขัง การเสียชีวิต กลับไม่มีการดำเนินการหาคนผิดมาลงโทษ แม้กระทั่งล่าสุดยังไม่พบว่าได้มีการแจ้งความดำเนินคดีใดๆ เลย

 

โดยขณะนี้ (กุมภาพันธ์ 2550) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ได้รับข้อร้องเรียนและที่เกี่ยวข้อง กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการช่วยเหลือแรงงานเหล่านั้น ทั้งในด้านมนุษยธรรม และสิทธิ-ผลประโยชน์ที่แรงงานพึงได้รับ และประชาไทจะติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวคืบหน้า มารายงานต่อไป.

 

........................................

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) Thai Action Committee for Democracy in Burma (TACDB)

เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน Labour Rights Promotion Network (LPN)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท