Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 5 ก.พ.2550 สถานการณ์สื่อและสิทธิเสรีภาพในปี 2550 เป็นสิ่งที่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) แสดงความเป็นห่วงเป็นใย หลังจาก 4 เดือนที่ผ่านมา ทิศทางของสื่อ และสิทธิเสรีภาพ ยังตกอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่จุดวิกฤตอีกครั้ง จึงได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้อำนาจรัฐ ทั้งขั้วเก่าและขั้วใหม่ รวมถึงสื่อต่างๆ ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ปราศจากการแทรกแซงใดๆ


 


ทั้งนี้ คปส.ได้สรุปข้อเรียกร้องของตนออกเป็น 3 ข้อด้วยกัน คือ (1) อำนาจรัฐปัจจุบัน ต้องหยุดปั่นหัวประชาชน หยุดโฆษณาชวนเชื่อ หยุดสร้างอคติ หยุดคุกคามสื่อ และหยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชนที่คิดต่างทางการเมือง


 


(2) อำนาจเก่า อำนาจใหม่ อำนาจรัฐ อำนาจทุน และทุกอำนาจใด ต้องยุติการสร้างสถานการณ์ หยุดใช้อำนาจมืด หยุดใช้ความรุนแรงต่อสู้ตอบโต้กันทางการเมือง โดยมีสื่อและประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อของเกมการเมือง


 


(3) สื่อมวลชนทุกแขนง ต้องยืนยันความเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างข่าวลือ สร้างอคติหรือสร้างความเกลียดชังในสังคม ต้องเปิดที่ให้กับความหลากหลายทางความคิด เพื่อให้ประชาชนต้องรู้เท่าทันและตรวจสอบการทำงานของสื่อ รวมทั้งตักเตือนสื่อ ที่ถูกครอบงำจากอำนาจรัฐ  ผลประโยชน์ หรือ อคติ อย่างสม่ำเสมอ


 


ถ้าสื่อต้องเลือกข้าง ขอให้เลือกอยู่ข้างประชาชน ไม่ใช่ ขั้วอำนาจใด ขั้วอำนาจหนึ่ง


 


ท้ายสุด สังคมไทยต้องยืนยันให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้และยืนยันการกลับมาของระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ในเร็ววัน


 


 


 



 


แถลงการณ์  คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ


สถานการณ์ สื่อ และสิทธิเสรีภาพ ปี 2550


ทิศทางที่น่าเป็นห่วง   การปฏิรูปสื่อที่ยากจะเป็นจริง


....................................................................................................................................


 


ภายใต้รัฐบาลทักษิณซึ่งถือได้มีความพยายามในการปิดหู ปิดตา ปิดปากสื่อและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างมาก ทั้งโดยเชิงโครงสร้าง ทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางกฎหมาย ส่งผลเป็นบรรยากาศแห่งความกลัวทำให้สถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพตกต่ำลงอย่างมากทั้งในสายตาคนไทยและประชาคมโลก


 


อย่างไรก็ดี ภายหลังเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ซึ่งสังคมไทยส่วนหนึ่งมีความหวังว่า สถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพจะดีขึ้นโดยลำดับนั้น ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตลอดระยะ 4 เดือนนั้น สะท้อนให้เห็นว่า ทิศทางของสื่อ และสิทธิเสรีภาพนั้นยังตกอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงและคาดว่าจะเดินสู่จุดวิกฤตอีกครั้ง ถ้าระบอบประชาธิปไตยไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างทันท่วงทีในเร็ววัน


 


ทิศทางในปี 2550 แม้จะมีสถิติการฟ้องร้องจากนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจรัฐ และ การแทรกแซงทางการเงินในธุรกิจสื่อน้อยลง ทว่าความรุนแรงและการคุกคามจากการใช้อำนาจมืด เช่นกรณีการระเบิด หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ จะเพิ่มปริมาณและรุนแรงมากขึ้น โดยที่เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ใครเป็นคนทำ ใครอยู่เบื้องหลัง เนื่องจากสังคมไทยถูกผลักไปให้อยู่ในความขัดแย้งสองขั้ว อยู่ระหว่างเขาควายการต่อสู้ทางอำนาจ ซึ่งสุดท้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์จะตกเป็นเหยื่อ และ สื่อมวลชนจะกลายเป็นเวที ในการข่มขู่คุกคามระหว่างกันมากขึ้น


 


อีกทั้งสื่อมวลชนบางแห่งอาจกลายเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งบานปลาย เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นที่กระตุ้นในเชิงยั่วยุ ให้เกิดอคติระหว่างกลุ่มคนที่เห็นต่างทางการเมือง  สื่อจะกลายเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างอคติและความเกลียดชังมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา


 


จำเป็นอย่างยิ่งที่สื่อและสังคมไทยจะต้องตั้งสติและเฝ้าระวัง  เพราะเรารู้กันอยู่ว่าสังคมไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปรกติ  อยู่ในยุคแห่งความขัดแย้งระหว่าอำนาจสองขั้ว และอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย


 


ดังนั้นสื่อที่ขาดความเป็นกลาง หรือ มีอคติ อยู่ข้างอำนาจขั้วใดขั้วหนึ่งอย่างชัดเจน ย่อมนำไปสู่สังคมที่ขาดสมดุล สื่อจักต้อง ยืนยันความเป็นอิสระ นำเสนอข้อเท็จจริงและให้พื้นที่ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม


ท่ามกลางจุดเปลี่ยนประเทศไทยครั้งใหญ่ครั้งนี้  สมรภูมิรบด้านข้อมูลข่าวสารคุกรุ่นขึ้น การโฆษณาชวนเชื่อ ข่าวลือ และอคติจะถูกตอกย้ำให้แพร่ขยายกว้างไปในสังคม จนอาจกลายเป็นความขัดแย้งอย่างลึกซึ้ง 


 


สภาพการณ์เช่นนี้จะคลี่คลายได้ ถ้าเราฟื้นฟูสังคมไทยเข้าสู่ระบอบที่เป็นประชาธิปไตย มีกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน และให้อำนาจประชาชนเป็นคนตัดสินใจ  แต่ถ้าเราปล่อยให้สังคมอยู่ในสภาพที่ไร้กติกา ขาดความเป็นธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย ความระส่ำระสายจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง จนนำไปสู่ภาวะถดถอยอย่างถึงที่สุดอีกครั้ง


 


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ  ขอเรียกร้องให้


 


* อำนาจรัฐปัจจุบัน ต้องหยุดปั่นหัวประชาชน หยุดโฆษณาชวนเชื่อ หยุดสร้างอคติ หยุดคุกคามสื่อ และหยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชนที่คิดต่างทางการเมือง


 


* อำนาจเก่า อำนาจใหม่ อำนาจรัฐ อำนาจทุน และทุกอำนาจใด ต้องยุติการสร้างสถานการณ์ หยุดใช้อำนาจมืด หยุดใช้ความรุนแรงต่อสู้ตอบโต้กันทางการเมือง โดยมีสื่อและประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อของเกมการเมือง


 


* สื่อมวลชนทุกแขนง ต้องยืนยันความเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างข่าวลือ สร้างอคติหรือสร้างความเกลียดชังในสังคม ต้องเปิดที่ให้กับความหลากหลายทางความคิด


ประชาชนต้องรู้เท่าทันและตรวจสอบการทำงานของสื่อ รวมทั้งตักเตือนสื่อ ที่ถูกครอบงำจากอำนาจรัฐ  ผลประโยชน์ หรือ อคติ อย่างสม่ำเสมอ


 


ถ้าสื่อต้องเลือกข้าง ขอให้เลือกอยู่ข้างประชาชน ไม่ใช่ ขั้วอำนาจใด ขั้วอำนาจหนึ่ง


 


สุดท้ายสังคมไทยต้องยืนยันให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้และยืนยันการกลับมาของระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ในเร็ววัน


 


 


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net