Skip to main content
sharethis

ข้อสรุปเวทีประชาธิปไตยประชาชน


เรื่อง รัฐธรรมนูญกับรัฐสวัสดิการ


 


4 กุมภาพันธ์ 2550 เวทีประชาธิปไตยประชาชน จัดเวทีสาธารณะเรื่อง รัฐธรรมนูญกับรัฐสวัสดิการ โดยมีตัวแทนจากองค์กรต่างๆ เข้าร่วม ได้แก่ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ อาทิ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และเครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ประเทศไทย เครือข่ายผู้พิการ อาทิ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมคนพิการ สมาคมคนหูหนวก สมาคมเพื่อความก้าวหน้าอาชีพคนตาบอดแห่งประเทศไทย และศูนย์การดำรงชีวิตอิสระ เครือข่ายพนักงานบริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ สหภาพแรงงานย่านรังสิต นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พรรคแนวร่วมภาคประชาชน และประชาชนทั่วไป


 


เนื้อหาจากเวทีสาธารณะ สรุปประเด็นได้ 11 เรื่องที่รัฐธรรมนูญต้องครอบคลุม คือ



  1. เรื่องสาธารณสุข ต้องทั่วถึง ฟรี และมีคุณภาพ

  2. การศึกษาต้องให้เรียนฟรีอย่างน้อย 12 ปี (เริ่มตั้งแต่อนุบาล) และประชาชนต้องสามารถจัดการศึกษาได้เองด้วย

  3. เพื่อสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย รัฐต้องจัดที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับวิถีการดำรงชีวิตให้กับประชาชน

  4. เด็กก่อนวัยเรียน จำเป็นต้องมีผู้ดูแลทั่วถึง

  5. รัฐต้องจัดสาธารณูปโภคให้โดยไม่แสวงหากำไร โดยมีคุณภาพ และโดยทั่วถึง

  6. นอกจากสาธารณูปโภคทั่วๆ ไปแล้ว ในเรื่องระบบการขนส่งมวลชน รัฐต้องดูแลให้ทั่วถึงทั้งกลุ่มคนและพื้นที่ อย่างมีคุณภาพ

  7. ทุกคนในวัยทำงาน ต้องมีงานทำ และมีการประกันรายได้ขั้นต่ำให้

  8. คนทำงานทุกคน แรงงานทุกประเภท ต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

  9. มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม

  10. รัฐต้องส่งเสริมและคุ้มครองคนพิการ ที่ผ่านมา รัฐใช้คำว่าสงเคราะห์ ซึ่งคนพิการไม่ต้องการการสงเคราห์ แต่ต้องการการส่งเสริม เช่น การสนับสนุนรายได้ผู้ช่วยเหลือคนพิการ การเข้าถึงสื่อ

  11. ต้องมีการดูแลคุ้มครองผู้สูงอายุ ซึ่งควรเริ่มตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไป

 


จากสาระสำคัญดังกล่าว นำไปสู่มาตรการสามประการที่รัฐมีหน้าที่ต้องทำได้แก่



  1. ต้องเก็บภาษีรายได้ ที่ดิน มรดกในอัตราก้าวหน้า  ภาษีการประกอบกิจการที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ภาษีการค้าจากตลาดหลักทรัพย์ และภาษีอบายมุข ภาษีสินค้าที่ส่งผลต่อสุขภาพ

  2. รัฐต้องสนับสนุนให้ภาคเอกชน องค์กรเอกชน บุคคล เข้ามามีบทบาทในการดำเนินการ โดยรัฐมีบทบาทในการกำกับ ดูแล

  3. รัฐต้องจัดงบประมาณสบทบเข้ากองทุนของภาคประชาชน เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินการรัฐสวัสดิการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเป็นเรื่องที่รัฐจัดให้แต่ฝ่ายเดียว 

 


ข้อเสนอในรัฐธรรมนูญ


 


จากเวทีสาธารณะดังกล่าว ได้หลักการที่เป็นหัวใจของเรื่องรัฐสวัสดิการในรัฐธรรมนูญสามประการดังต่อไปนี้



  1. รัฐธรรมนูญต้องครอบคลุมคนทุกคนในประเทศไทย เนื่องจากนี่คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิใช่รัฐธรรมนูญแห่งปวงชนชาวไทย

  2. รัฐธรรมนูญ ต้องป็นกฎหมายที่บังคับในตัวเอง  ประชาชนกล่าวอ้างต่อรัฐได้ โดยไม่ต้องรอกฎหมายลูก เพราะที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญมักระบุข้างท้ายไว้ว่า "ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ" ซึ่งทำให้สิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ยังไม่เกิดขึ้นได้จริงทันที แต่ต้องรอกฎหมายลูกก่อน

  3. รัฐธรรมนูญต้องบัญญัติให้เรื่องเหล่านี้อยู่ในหมวดว่าด้วย "หน้าที่ของรัฐ" ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีหมวดนี้ แต่ไม่ใช้ชื่อนี้ ทั้งนี้ เพื่อบอกว่ารัฐมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อประชาชนและต่อรัฐเองอย่างไรบ้าง


ทั้งนี้ หลักการทั้งสามข้อจากเวทีสาธารณะเรื่องรัฐธรรมนูญกับรัฐสวัสดิการนั้น นำไปสู่ความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญสี่ประการ คือ


 



  1. มาตรา 4 ที่ระบุว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง" ต้องเพิ่มคำว่า "คุณภาพชีวิต" เข้าไปในหลักการพื้นฐานของมนุษย์ด้วย ดังนั้น ความเดิมจะถูกแก้เป็น "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และคุณภาพชีวิตของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง"

  2. หมวดที่ 3 ของรัฐธรรมนูญ ที่เดิมใช้ชื่อหมวดว่า "สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย"  ต้องแก้เป็น "สิทธิและเสรีภาพของประชาชน"

  3. หมวดที่ 4 ของรัฐธรรมนูญ ที่เดิมใช้ชื่อหมวดว่า "หน้าที่ของชนชาวไทย"  ต้องแก้เป็น "หน้าที่ของประชาชน"

  4. หมวดที่ 5 ของรัฐธรรมนูญ ที่เดิมใช้ชื่อหมวดว่า "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ"  ต้องแก้เป็น "หน้าที่ของรัฐ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net