สป.ระดมภาคอีสานวางกรอบรัฐธรรมนูญ ก่อนจัดเวทีระดับชาติต้นมี.ค.

3 ก.พ.50 -  คณะทำงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมือง(สรรป.) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) จัดการสัมมนาระดมความเห็นเวทีระดับจังหวัด เรื่อง "รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยควรมีสาระสำคัญอย่างไร"  ซึ่งถือเป็นเวทีที่ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการระดมความเห็นจากภาคประชาชนใน 2 จังหวัด คือ จ.นครราชสีมา และจ.ชัยภูมิ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนจากภาคเกษตรกร  ภาคอุตสาหกรรม ภาคฐานทรัพยากร สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ หน่วยงานภาครัฐ -เอกชน รวมถึงสื่อมวลชน มีผู้ร่วมงานทั้งหมดประมาณ 200 คน

 

การสัมมนามีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อหาข้อสรุปถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น  คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพของประชาชนและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

 

ในส่วนของอำนาจนิติบัญญัติ ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าควรให้มีสภาแบบ 2 สภา คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อให้การพิจารณาเรื่องกฎหมายทำได้อย่างรอบคอบมากขึ้น ส่วนที่มาและคุณสมบัติของส.ส.เห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรที่จะสังกัดพรรคการเมือง และควรมีจำนวนส.ส.300+100 คน ส่วนวุฒิการศึกษาสำหรับส.ส.ไม่ควรกำหนดให้เป็นระดับปริญญาตรีเป็นขั้นต่ำ อีกทั้งไม่ควรตรากฎหมายให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชนแต่ให้เป็นสิทธิของประชาชน

 

ส่วนอำนาจหน้าที่ ที่มาและคุณสมบัติของส.ว.นั้น ที่ประชุมส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่า ส.ว.ควรมีอำนาจในการกลั่นกรองกฎหมายอย่างเดียวและมีอำนาจในการควบคุมและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รวมถึงการมีอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ โดยให้เป็นเหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ส่วนที่มาของ ส.ว. ควรมาจากการสรรหาโดยกำหนดหลักการวิธีการ และคุณสมบัติของผู้สมัครให้ชัด และไม่ควรเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ควรมีวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป สำหรับวาระในการดำรงตำแหน่งที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรกำหนดวาระ ทั้งนี้ ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ

 

 

เรื่องอำนาจบริหาร ที่ประชุมเห็นว่านายกรัฐมนตรีควรมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และควรกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 วาระ หรือ 8 ปี นอกจากนี้ ควรมีการห้ามมิให้คู่สมรสและบุตรที่บรรลุนิติภาวะและไม่บรรลุนิติภาวะ ถือหุ้นในกิจการที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐ และมีการกำหนดการถือหุ้น โดยให้มีองค์กรอิสระตรวจสอบ รวมถึงการกำหนดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย

 

เรื่องอำนาจตุลาการ ที่ประชุมเห็นว่าในส่วนของศาลยุติธรรม ควรให้ตุลาการศาลยุติธรรมต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินให้สาธารณชนทราบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ส่วนกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีที่มีมูลคล้ายกันในศาลต่างๆ ต้องมีมาตรฐานเดียวกันในการพิพกษาคดี และต้องไม่นำนโยบายของรัฐมาใช้เป็นหลักในการตัดสินใจ นอกจากนี้ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลยุติธรรมและศาลอื่น และควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลได้

 

ส่วนการจัดตั้งศาลพิเศษมีความเห็นเป็น 2 แนวทางคือ เห็นว่าควรมีการจัดตั้งศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองนั้น ตุลาการควรมีที่มาจากภาคประชาชนให้มากขึ้น ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง แนวทางที่ 2 การจัดตั้งศาลพิเศษอื่นๆ เช่น การศาลการเมืองและศาลเลือกตั้ง เพื่อให้มีหน้าที่รับผิดชอบคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและการทำหน้าที่วินิจฉัยคดีและลงโทษผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง รวมถึงการจัดตั้งศาลท้องถิ่น เช่น ศาลตำบล ศาลหมู่บ้าน เพื่อทำหน้าที่ในการไกล่ข้อพิพาทในท้องถิ่น / พื้นที่ รวมถึงการกำหนดให้ประชาชน มีสิทธิ์ในการฟ้องร้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทุจริตต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่กำหนดอายุความ

           

เรื่ององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมเห็นว่าในกระบวนการสรรหาไม่ควรให้ฝ่ายการเมืองมีส่วนร่วมเป็นกรรมการในกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ และควรให้คณะองคมนตรีเป็นผู้พิจารณาเลือกคณะกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ โดยกำหนดให้ ส.ส. และส.ว. ทำหน้าที่เป็นผู้เสนอกฎหมายเท่านั้น

 

ส่วนคุณสมบัติของกรรมการในองค์กรอิสระนั้น ควรกำหนดให้ภาคประชาชนมีสิทธิเข้ามาดำรงตำแหน่งได้มากขึ้น การคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน และควรมีองค์กรภาคประชาชนที่เป็นนิติบุคคลได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ การกำหนดจำนวนองค์กรอิสระ ที่ประชุมเห็นว่าควรมีการเพิ่มองค์กรอิสระอีก 1 องค์กร คือองค์กรภาคประชาชนที่เป็นนิติบุคคลและได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ

 

ในส่วนของสิทธิเสรีภาพของประชาชน นั้นที่ประชุมเห็นชอบในรายละเอียดดังนี้

 

1. ตามมาตรา 26 ให้เพิ่มคำว่าไม่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

2. สนับสนุนให้ชนกลุ่มน้อย เช่น ชาวเขา ได้มีโอกาสและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

3. ให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาอย่างทั่วถึงในเรื่องการพัฒนาการเมือง เพื่อให้เยาวชน และประชาชนทุกระดับ ได้รับรู้และเข้าใจในเรื่องรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และระบบการเมือง อย่างถั่วถึง

4. รัฐจะต้องมีหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการรับรู้ ข้อมูล ข่าวสาร สิทธิตนเองการเข้าถึงสิทธิ และมีความเข้มแข็งสามารถติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐ

5. รัฐต้องกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากระดับใดถึงระดับใด และให้รัฐสนับสนุนงบประมาณเพื่อการศึกษาอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม

6. ให้กำหนดหน้าที่ของภาคการเมืองและภาคราชการให้ชัดเจน เพื่อไม่เกิดการก้าวก่ายหน้าที่

7.  รัฐจะต้องปกป้องคุ้มครองประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิจากอำนาจรัฐ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

8. สิทธิ เสรีภาพ บทบาท หน้าที่ของประชน ต้องกำหนดให้ชัดเจน และสามารถสื่อสารเข้าใจง่าย

9. ตามมาตรา 50 ควรเพิ่มวรรค 3 การประกอบกิจการหรืออาชีพอันเป็นขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรมอันดีจะกระทำมิได้

 

 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นควรให้สิทธิโดยตรงแก่ประชาชน จำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน สามารถฟ้องร้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาได้ อีกทั้งยังเห็นว่ารัฐจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการพัฒนาของประชาชนให้มีความเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพ ส่วนในเรื่องการลงมติของประชาชนในเรื่องใด ควรให้ประชาชนได้รับทราบเนื้อหารายละเอียดของเรื่องนั้นก่อน 

 

เรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่ประชุมเห็นว่ารัฐพึงให้การศึกษาอบรมคุณธรรมพื้นฐานทั้งในระบบและนอกระบบ (ในโรงเรียนและนอกโรงเรียน) รัฐต้องเพิ่มระยะเวลาการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ชัดเจน มีสถานศึกษาและงบประมาณสนับสนุน รวมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเมืองแก่ประชาชนตั้งแต่ระดับเยาวชน นอกจากนี้ควรเพิ่มหมวดสิทธิของเกษตรกรให้มีความละเอียดและชัดเจน รวมทั้งเกษตรกรได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ในส่วนของประชาชนท้องถิ่นดั้งเดิมต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับโครงการขั้นพื้นฐานของรัฐที่ส่งผลระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรัฐต้องสนับสนุนมาตรฐานด้านราคาสินค้าการเกษตรให้เหมาะสมและเป็นธรรม

 

ที่สำคัญ ที่ประชุมยังเสนอให้เพิ่มคำว่า "พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และกำหนดให้ทุกศาสนามีความเท่าเทียมกัน" ลงไปในรัฐธรรมนูญด้วย

 

ทั้งนี้ สภาที่ปรึกษาฯ จะนำผลการสัมมนาที่ได้จากเวทีระดับจังหวัด ทุกภาค มาประมวลและสังเคราะห์ เสนอต่อเวทีการประชุมสัมมนาระดับชาติ ครั้งที่ 1 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นประมาณต้นเดือนมีนาคม 2550  เมื่อได้ผลการสัมมนาระดับชาติ ครั้งที่ 1 แล้ว จะนำไปเปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่งให้สภาที่ปรึกษาฯ พิจารณาเสนอความเห็น และจะจัดการประชุมสัมมนาเวทีระดับชาติ ครั้งที่ 2 ประมาณในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2550 เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสภาร่างรัฐธรรมนูญต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท