Skip to main content
sharethis

ประชาไทภาคเหนือ รายงาน


 


 



 


บรรยากาศกลุ่มย่อยระดมความเห็นของการสัมมนา "ข้อเสนอชนเผ่าและชาติพันธุ์กับการปฏิรูปการเมืองไทย"


 


วานนี้ (2 ก.พ.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการสัมมนา "ข้อเสนอชนเผ่าและชาติพันธุ์กับการปฏิรูปการเมืองไทย" คณะกรรมการประสานงานเครือข่ายชนเผ่าเพื่อรัฐธรรมนูญ และองค์กรภาคประชาชน 6 องค์กร ที่สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น ในช่วงท้ายของการสัมมนาได้มีการระดมความเห็นจากกลุ่มชาติพันธุ์ภาคส่วนต่างๆ เพื่อจัดทำ "คำประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายชนเผ่าเพื่อรัฐธรรมนูญ" เพื่อเป็นข้อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย นายวิวัฒน์ ตามี่ เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) เปิดเผยว่า สำหรับคำประกาศดังกล่าว เครือข่ายชนเผ่าจะใช้เป็นข้อเสนอของชนเผ่าในการร่างรัฐธรรมนูญของเวทีภาคประชาชนต่างๆ ด้วย


 


สำหรับคำประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายชนเผ่าเพื่อรัฐธรรมนูญ มีใจความสำคัญอยู่ที่การเรียกร้องให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เน้นการมีส่วนร่วม ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของชนเผ่าและประชาชนทุกหมู่เหล่าทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยยึดหลักการ "ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน" ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่เลือกปฏิบัติ เคารพความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของชนเผ่า สนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากรของชนเผ่า และส่งเสริมการศึกษาและอนุรักษ์ภูมิปัญญาของคนชนเผ่าและท้องถิ่น ตลอดจนรับรองให้หลักสูตรการศึกษาอบรมนั้นมีฐานะเทียบเท่าหลักสูตรการศึกษาที่เป็นทางการ ซึ่ง "คำประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายชนเผ่าเพื่อรัฐธรรมนูญ" มีรายละเอียดต่อไปนี้


 






 


คำประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายชนเผ่าเพื่อรัฐธรรมนูญ


                                                       


เครือข่ายชนเผ่าเพื่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกที่เป็นผู้นำชุมชนและเครือข่ายชนเผ่า ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และเยาวชน ซึ่งได้เข้าร่วมสัมมนาโครงการ "ชนเผ่ากับการปฏิรูปการเมืองไทย" ระหว่างวันที่ 1 - 2 กุมภาพันธ์ 2550 ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มาร่วมระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเมืองไทยและการร่างรัฐธรรมนูญ อย่างกว้างขวาง โดยมีข้อสรุปเป็นคำประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ดังนี้


1. การร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องเน้นการมีส่วนร่วม (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของชนเผ่าและประชาชนทุกหมู่เหล่า โดยยึดหลักการ "ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน"


2. เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องประกอบไปด้วย


1.1.  รัฐต้องปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชน กฎบัตร หรืออนุสัญญาฉบับต่างๆที่รัฐได้รับรอง หรือให้สัตยาบัน หรือกระทำการผูกพันใดๆไว้ และจะต้องออกกฎหมายหรือทบทวนแก้ไขกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ให้สอดคล้อง


1.2.  การรับรองและคุ้มครองประชาชน โดยไม่เลือกปฏิบัติให้แตกต่าง และเคารพความหลากหลายทางชาติพันธ์ วัฒนธรรม ประเพณี ของทุกชนเผ่า โดยจะต้องบัญญัติไว้ในหมวดทั่วไปว่า  "ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้ อันประกอบไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมชุมชน"  และต้องบัญญัติว่า "ประชาชนในราชอาณาจักรไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ ศาสนา หรือเชื้อชาติใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน"


1.3.  ในหมวดว่าด้วย "สิทธิและเสรีภาพ" ให้เพิ่มเป็น "สิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนของประชาชน" และให้เพิ่มเติมหมวดว่าด้วย "สิทธิชุมชน" โดยมีเนื้อหาว่า "บุคคลที่รวมตัวกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมหรือชนเผ่าพื้นเมืองย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน"


1.4.  ให้บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคล "สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง ในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครอง (วรรคสอง) การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้ให้องค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว"


1.5.    ในหมวดที่ว่าด้วย "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ" ให้บัญญัติว่า


1.5.1. "รัฐต้องจัดให้ประชาชนหรือชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ"


1.5.2. "รัฐต้องจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล รวมทั้งมีส่วนร่วมในการส่งเสริม บำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน"


1.5.3. "รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กำกับดูแลให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ให้ความคุ้มครองผู้บริโภค และป้องกันความผูกขาดทางธุรกิจการค้าหรือตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม และต้องไม่ประกอบกิจการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือเพื่อการจัดให้มีการสาธารณูปโภค"


1.5.4. "รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชน หรือชุมชนท้องถิ่น หรือชนเผ่าพื้นเมือง มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอบรม และกำหนดหลักสูตรการศึกษาตามแนวทางความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมของชุมชนท้องถิ่น หรือของชนเผ่าพื้นเมือง และให้การรับรองให้หลักสูตรการศึกษาอบรมนั้นมีฐานะเทียบเท่าหลักสูตรการศึกษาที่เป็นทางการ "


3.  รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล โดยกำหนดให้รัฐสภาดำเนินการให้มีการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในทุกหมวด และต้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาพิจารณากฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อทำข้อเสนอต่อรัฐสภาให้มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยต้องกำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้


            ท้ายที่สุด เราเชื่อมั่นว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองไทยทั้งระบบ ในอันที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤตอำนาจรัฐส่วนกลาง และเกิดการกระจายอำนาจสู่ประชาชนให้ชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจในการกำหนดอนาคตของตนเอง ทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การปกป้องไว้ซึ่งวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม และเสริมสร้างความเข้มแข็ง ทางการเมืองของภาคประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและถาวร


 


ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาในพลังประชาชน


 


 


คณะกรรมการประสานงานเครือข่ายชนเผ่าเพื่อรัฐธรรมนูญ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net