ขอบคุณที่ "ไม่" งดสูบบุหรี่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ซาเสียวเอี้ย

 

ถ้ามีใครสักคนตะโกนขึ้นมาดังๆ ว่า

 

"บริษัทผลิตบุหรี่และโรงงานยาสูบเป็นจำเลยของสังคม - พวกเขาไม่สามารถปกป้องตัวเองได้"

 

อยากจะรู้เหมือนกันว่าสังคมไทยที่กำลังเต็มไปด้วยคนมีคุณธรรม เชิดชูความดี และต่อต้านอบายมุขทุกชนิดจะมีปฏิกิริยาอย่างไร?

 

จะตกอกตกใจในความห่าม หรือจะลุกขึ้นมาก่นประณามคนพูด โทษฐานที่ทำลายมาตรฐานอันดีงามของสังคม? ก็ไม่รู้เหมือนกัน...

 

แต่ที่แน่ๆ ก็คือการแกว่งปากหาเสี้ยนประมาณนี้ คงไม่มีใครคิดจะทำในบ้านเรา เพราะนอกจากจะไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากสังคมที่นิยมความดี ก็คงไม่แคล้วจะโดนข้อหา "ไม่รักชาติ" เพิ่มมาอีกกระทงหนึ่ง

 

โชคดีที่คนพูดประโยคนี้เป็นแค่ตัวละครในนิยายตลกร้ายเรื่อง Thank You for Smoking ของนักเขียนชาวอเมริกัน Christopher Buckley และต่อมากลายเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน โดยฝีมือการกำกับของ Jason Reitman เมื่อปี 2005

 

นอกจากชื่อเรื่อง Thank You for Smoking หรือ "ขอบคุณที่สูบบุหรี่" จะย้อนแย้งกับประโยคยอดนิยมที่มักจะถูกติดไว้ตามที่สาธารณะว่า "ขอบคุณที่งดสูบบุหรี่" อย่างไม่มีอ้อมค้อม เนื้อหาของหนังที่ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่องนี้ยังเป็นขั้วตรงข้ามของหนังแนวดราม่า-สืบสวนสอบสวนอย่าง Insider ที่บอกเล่าถึงความเน่าเฟะและการทุจริตคอรัปชั่นในธุรกิจยาสูบแบบขาวตัดดำ

 

โปสเตอร์ Thank You for Smoking ที่ใช้ในอเมริกา

 

ไม่ใช่เพราะว่าหนังเรื่องนี้สนับสนุนการสูบบุหรี่อย่างออกหน้าออกตา แต่เป็นเพราะน้ำหนักในการรณรงค์เพื่อต่อต้านการสูบบุหรี่ในหนังเรื่องนี้ถูกลดทอนความจริงจังลงไปมาก

 

ภาพของกลุ่มคนที่ต่อต้านการสูบบุหรี่ ถูกทำให้กลายเป็นพวกไร้อารมณ์ขันและไม่เก๋เท่เท่ากับพระเอกของเรื่อง ซึ่งก็คือ "นิค เนย์เลอร์" (แสดงโดย Aaron Eckhart) - ล็อบบียิสต์ของสถาบันวิจัยยาสูบ ผู้มีพรสวรรค์ในการพลิกเรื่องร้ายให้กลายเป็นดี และเป็นผู้ที่สามารถสร้างความเห็นอกเห็นใจให้กับองค์กร (ซึ่งไม่น่าจะมีใครเห็นใจ) อย่างสถาบันยาสูบได้อย่างประสบความสำเร็จ

 

วิธีการที่นิคใช้รับมือกับฝ่ายตรงข้ามที่เห็นต่างจากตัวเอง ไม่ใช่วิธีการของล็อบบียิสต์ทั่วไป...

 

แทนที่เขาจะเน้นเรื่องการเจรจาต่อรองเบื้องหลังฉากกับผู้มีอำนาจในการผ่านกฎหมายออกมาบังคับใช้ เพื่อสร้างหลักเกณฑ์และมาตรฐานของสังคม นิคกลับทำหน้าที่กึ่งๆ พีอาร์ที่ออกมาพูด "ประชาสัมพันธ์" การทำงานของสถาบัน แต่บทบาทที่สำคัญกว่านั้นคือการแก้ต่างข้อกล่าวหานานานัปการที่มีต่อยาสูบ...หรืออีกนัยหนึ่งก็คือไส้ในของ "บุหรี่" ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากๆ ณ เวลาปัจจุบัน!

 

ในยุคที่กระแสการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมครอบคลุมแทบจะทุกพื้นที่สื่อในสังคม การสูบบุหรี่คือการฆ่าตัวตายแบบผ่อนส่ง และเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่ทำให้คนอื่นๆ ที่สูดควันบุหรี่มือสองเข้าไปต้องตายอย่างทรมาน

 

งานของนิคก็คือการหา "เหตุผล" มาหักล้างข้อกล่าวหาทั้งหมดนี้ให้ได้...

 

การทำงานแบบแนวหน้ากล้าตายของนิค ส่งผลดีกับสถาบันวิจัยยาสูบมากกว่าการล็อบบีแบบเดิมๆ เพราะถ้าร่างกฎหมายที่ออกมาไม่ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาหรือประชาชนอเมริกัน ก็มีโอกาสสูงที่สถาบันฯ จะถูกต่อต้านมากกว่าเดิม

 

หน้าที่ของนิคจึงได้แก่การสร้างความชอบธรรมให้กับการสูบบุหรี่ และนิคก็ทำหน้าที่นี้ได้ดีเสียด้วย

 

ในฉากเริ่มเรื่อง...นิคถูกเชิญไปออกรายการทอล์กโชว์แบบถ่ายทอดสด และเป็นตัวแทนจากฝ่ายสนับสนุนการสูบบุหรี่เพียงคนเดียวท่ามกลางกลุ่มผู้คัดค้านการสูบบุหรี่แบบหัวชนฝา

 

ตัวแทนจากฝ่ายต่อต้านบุหรี่ที่น่าจะสร้างผลสะเทือนทางอารมณ์ให้กับคนดูรายการมากที่สุด ได้แก่หนุ่มน้อยวัย 15 ปีที่เป็นมะเร็งปอดเพราะสูบบุหรี่มาตั้งแต่เด็ก

 

พิธีกรรายการเกริ่นให้ฟังกันตั้งแต่ต้นว่าอนาคตของเด็กหนุ่มต้องวูบดับลงเพราะบุหรี่ และสุขภาพที่ย่ำแย่ในตอนนี้ก็เป็นผลจากบุหรี่อีกเช่นกัน...

 

ด้วยวิธีการง่ายๆ ในการชี้นำถึงความเลวร้ายของบุหรี่และการสร้างทัศนคติด้านลบที่ถูกปูทางไว้แล้ว อาจทำให้บางคนที่ดูฉากนี้เตรียมใจรอชมความหายนะของนิคที่ถูกลากมารุมสับกลางเวทีทอล์กโชว์

 

แต่การโยนคำถามกลับไปยังตัวแทนของวุฒิสมาชิกว่ากฎหมายมีช่องโหว่ที่ปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่าวัย 15 ซื้อบุหรี่มาสูบจนกลายเป็นมะเร็งลุกลามใหญ่โตได้ยังไง...คือการตอบโต้ที่ดูเหมือนจะเตรียมการมาอย่างดีของนิค และมันก็พลิกอีกมุมมองหนึ่งมาทำให้คนดูคล้อยตามได้อย่างไม่ทันรู้ตัว

 

ตบท้ายด้วยการเรียกคะแนนนิยมจากคนดูด้วยการประกาศว่าสถาบันวิจัยยาสูบจะตั้งงบสำหรับดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งอีก 50 ล้านเหรียญ...เพียงเท่านี้กลุ่มต่อต้านยาสูบก็นึกอะไรมาแย้งไม่ออกแล้วในตอนนั้น

 

และไม่ว่า ส.ว.ฟินิสเทียร์ (William H. Macey) คู่ปรับคนสำคัญของนิค จะพร่ำพรรณนาถึงความเลวร้ายของบุหรี่ และงัดกลยุทธ์มากมายมาทำลายความน่าเชื่อถือของนิคสักเท่าไหร่ก็ไม่เคยได้ผล

 

การผลักดันให้ผู้ผลิตบุหรี่แปะภาพหัวกะโหลกไขว้เพื่อแสดง "อันตราย" ของบุหรี่ เป็นเรื่องหนึ่งที่ฟินิสเทียร์นำมาใช้เพื่อหวังจะตัดตอนการเติบโตของธุรกิจบุหรี่ แต่นิคก็หาทางเอาตัวรอดด้วยการร่วมมือกับฮอลลีวู้ดให้ผู้อำนวยการสร้างยัดบุหรี่ใส่มือพระเอกหนังยอดนิยมสักคนหนึ่ง แลกกับเงินสปอนเซอร์ก้อนโต เพื่อที่ค่านิยมว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องเท่ๆ จะได้กลับมาอยู่บนแผ่นฟิล์มอีกครั้ง (เหมือนอย่างที่ฮอลลีวู้ดเคยใช้มุขนี้กับตัวละครมากมายในหนังยุค 20"s - 30"s)

 

เมื่อลองแล้วทุกวิถีทาง แต่ไม่เคยได้ผล ฟินิสเทียร์จึงสั่งให้คนไป "อุ้ม" นิคมาอัดสารนิโคตินเข้าร่างกายให้ตายๆ ไปเลย คงจะสิ้นเรื่องสิ้นราว...

 

อีกด้านหนึ่ง นักข่าวสาว "เฮทเธอร์ ฮอลโลเวย์" (Katie Holmes) ก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อล้มล้างความน่าเชื่อถือของนิคเช่นกัน และการทำอย่างนั้นได้ เธอต้องใช้ตัวเองเข้าแลกเลยด้วย

 

เฮทเธอร์ตีพิมพ์บทความที่เอาข้อมูล Off the Record มาใช้ ซึ่งนิคพูดเปิดอก (บนเตียง) ว่าเขาคำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเองและผลประโยชน์ขององค์กรที่ทำงานอยู่เท่านั้น และมันก็เป็นความจริงที่นิคไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกัน

 

เหตุผลน้ำเน่าที่นิคเอามาใช้เป็นข้ออ้างในการประกอบอาชีพล็อบบียิสต์ ก็คือประโยคอมตะของคนทำงานที่ว่า "ใครๆ ก็ต้องหาเงินมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องทั้งนั้นแหละ" !!!

 

และใครๆ ที่ว่านั่นก็ควรจะทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดให้มันถึงที่สุด...

 

เป้าหมายในชีวิตของนิคจึงได้แก่การใช้พรสวรรค์ทางการพูด โน้มน้าวจิตใจคนฟังให้เชื่อในเหตุผลที่เขาต้องการให้คนอื่นเชื่อ เพื่อประโยชน์ของตัวเองและองค์กรที่เขาทำงานให้

 

แต่สิ่งที่เฮทเธอร์ทำให้นิคกลายเป็นผู้ร้ายตัวจริงได้ คือการดึงเอา "โจอี้" (Cameron Bright) ลูกชายของนิคเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยส่วนหนึ่งในบทความของเธอบอกกับคนอ่านว่า นิคพยายามทำให้โจอี้เห็นดีเห็นงามกับการเกี่ยวข้องกับอบายมุขทุกชนิด เพราะเขาพาเด็กวัย 12 ปีอย่างโจอี้ไปพบปะกับหมู่เพื่อนที่เป็นล็อบบียิสต์ให้กับสมาคมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสมาคมผู้ใช้อาวุธปืนด้วย

 

สำหรับสังคมที่อ่อนไหวเรื่องศีลธรรม...ความบกพร่องในการเป็นพ่อถือเป็นสิ่งที่ไม่อาจรับได้ และยิ่งพ่อของเด็กเป็นตัวร้ายที่คอยหยิบยื่นภัยเงียบอย่างบุหรี่ให้กับคนอื่นๆ อย่างนิคด้วยแล้ว ความผิดของเขาก็เป็นเรื่องที่ให้อภัยไม่ได้มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า

 

ความเห็นอกเห็นใจที่นิคถูกลักพาตัวและรอดชีวิตกลับมาได้ในสภาพปางตายจึงมลายหายไปทันที...

 

 

โปสเตอร์ที่ใช้ในฝรั่งเศส นิค เนย์เลอร์ (แอรอน เอ็คฮาร์ท) มีวงแหวนบนหัวเหมือนเทวดา...

แต่ว่าวงแหวนนั่นก็คือควันบุหรี่ (ในขณะที่อีกมือหนึ่งก็ยื่นไฟแช็คให้กับคนดูด้วย)

 

ภาพของ "ล็อบบียิสต์" ในแบบของนิค เนย์เลอร์ น่าจะทำให้คนดูระลึกขึ้นได้ว่าคนที่ทำอาชีพนี้ จริงๆ ก็ไม่ต่างจากเราๆ สักเท่าไหร่

 

ในด้านหนึ่ง เราอาจต้องตีหน้าว่าเป็นมิตรกับคนอื่น แต่ในใจยังต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัว หรืออย่างน้อยที่สุด เราอาจต้องทนฝืนยิ้มเพื่อเอาใจใครอีกมากมายในระหว่างการทำงาน "เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง"

 

ประเด็นเรื่อง "ความดี" และ "ความจริงใจ" อาจถูกแทนที่ด้วยคำว่า "ความยืดหยุ่นทางศีลธรรม" แบบที่นิค ชอบใช้อธิบายการกระทำของตัวเอง และมันก็ยังใช้ได้ผล ตราบเท่าที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมยังไม่มีกลไกสำหรับตรวจสอบที่เป็นรูปธรรมกว่านี้

 

นิคไม่เคยกล่าวอ้างว่าตัวเองเป็นคนดี แต่เขาเป็นคนที่สามารถหาเหตุผลมาหักล้างความเชื่อของคนอื่นได้ ตราบใดที่ฝ่ายตรงข้ามของนิคไม่สามารถหาอะไรมาโต้เถียงได้นอกจากความดีงามและความเหมาะสม คนแบบนิคก็จะสามารถตะแบงไปได้เรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้ทำผิดกติกาแต่อย่างใด...

 

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเห็นนิคเป็นตัวเอกแสนดีที่ต้องเอาใจช่วยตลอดเวลา เพราะความกะล่อนของนิคเป็นสิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่แรก พอๆ กันกับที่เราสามารถแปะฉลาก "คนเห็นแก่ตัว" ให้กับนิคได้อย่างไม่ขัดเขิน

 

แต่ขณะเดียวกัน เราก็ไม่อาจถึงขั้นฟันธงว่านิค "เลว" และ "ร้าย" จนสมควรฆ่าให้ตาย

 

ในทางกลับกัน การที่คนดีและ "หวังดี" ต่อคนอื่นอย่าง ส.ว.ฟินิสเทียร์ ผู้ไม่ต้องการให้โลกนี้มีอบายมุขที่เลวร้ายอย่างบุหรี่ คิดจะฆ่านิคให้ตายเพราะนิโคตินที่นิคพยายามเชิดชู ดูจะเป็นวิธีการที่เลือดเย็นมิใช่น้อย   

แม้แต่นักข่าวสาวอย่างเฮทเธอร์ที่ดูจะเป็นความหวังเดียวในการนำเสนอข้อมูลแก่สังคม พอเอาเข้าจริงเธอก็อดไม่ได้ที่จะใส่สีตีไข่ให้นิคดูเลวร้ายกว่าที่เป็น เพราะเธอรู้ว่าข่าวร้าย "ขายได้" และ "ขายดี" เสมอ...

 

เรื่องของความดี และการกำจัดความชั่วร้ายโดยใครคนใดคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีสำหรับทุกเรื่องก็ได้...

 

ในฐานะคนดูหนังที่ไม่สูบบุหรี่ (อีกต่อไป) อยากจะบอกชัดๆ ว่า หนังเรื่องนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับการสนับสนุนหรือต่อต้านการสูบบุหรี่มากนัก

 

ความสนุกของหนังเรื่อง Thank You for Smoking อยู่ที่ชีวิตอันพลิกผันยอกย้อนของล็อบบียิสต์ตัวแสบอย่างนิค แต่ประเด็นใหญ่ที่สุด (ในความเห็นส่วนตัว) น่าจะอยู่ในฉากเล็กๆ ที่นิคถามเด็กๆ ในห้องเรียนเมื่อวันที่เขาไปแนะแนวเรื่องการประกอบอาชีพว่า

 

"ถ้ามีคนบอกว่าช็อกโกแลตเป็นสิ่งที่เลวร้ายและไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว หนูๆ จะเชื่อเขามั้ย?"

 

แน่นอน... เด็กๆ ทั้งห้องส่ายหน้าปฏิเสธ

 

"ถ้าอย่างนั้นพวกหนูๆ ก็ต้องลองดูด้วยตัวเอง ถึงจะรู้ว่ามันดีหรือไม่ดียังไง" นิคตบท้ายด้วยรอยยิ้มเจ้าเล่ห์

 

ถึงแม้ว่าวุฒิภาวะของเราอาจจะมีมากกว่าเด็กประถมในเรื่อง มันก็ยังมีทางเป็นไปได้สูงที่เราอาจจะเลือกในสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชีวิต

 

แต่อย่างน้อยที่สุด อำนาจในการเลือกหรือการตัดสินใจก็ควรจะอยู่ที่ตัวเราเองไม่ใช่หรือ?

 

 

 


หมายเหตุ: Thank you for smoking กลายเป็นหนังแผ่นให้เช่าในบ้านเราแล้ว โดยใช้ชื่อว่า "แผนเด็ดพีอาร์สมองเสธ."


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท