ความรู้เรื่องหลักกฎหมายเกี่ยวกับการไต่สวนการตาย

 คดีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพกรณีการสังหารหมู่ทีมนักฟุตบอลประจำหมู่บ้านสุโส๊ะ ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา 19 ศพ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ซึ่งตรงกับวันเกิดเหตุกลุ่มก่อความไม่สงบบุกโจมตีป้อมตำรวจบ้านกรือเซะ แล้วหลบเข้าไปในมัสยิดกรือเซะ อันโด่งดัง รวมทั้งสถานที่ราชการอีกกว่า 10 แห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูจะเป็นที่สนใจของคนในพื้นที่ไม่น้อย

ด้วยเพราะความสงสัยในพฤติกรรมการตายของทีมนักฟุตบอลทั้ง 19 คน ของญาติๆ ผู้ตาย โดยเฉพาะที่ตายภายในร้านอาหารสวยนะ ใกล้กับหน่วยบริการประชาชนตลาดสะบ้าย้อยว่า เหตุใดจึงตายในพื้นที่เดียวกันและลักษณะการตายจึงคล้ายๆกัน ซึ่งขณะนี้การไต่สวนในคดีนี้ยังดำเนินไปตามกระบวนการ ดังนี้เพื่อความเข้าใจในหลักกฎหมายเกี่ยวกับการไต่สวนการตาย 'ประชาไท' จึงข้อนำองค์ความรู้ในเรื่องมานำเสนอ ซึ่งรวบรวมและเรียบเรียงโดยคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ มีดังนี้

 000

ความรู้เรื่องหลักกฎหมายเกี่ยวกับการไต่สวนการตาย

การไต่สวนการตาย นั้น จะเกิดขึ้นในคดีวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งหมายถึง คดีฆาตกรรมที่ผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย (เช่นกรณีที่มีการต่อสู้กันระหว่างผู้กระทำผิดกับเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ได้ยิงผู้กระทำผิดนั้นตาย หรือตายระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ซึ่งหมายความรวมถึงกรณีการถูกจับกุม คุมขัง หรือการจำคุกในเรือนจำในทุกๆกรณี)

เนื่องจากคดีเหล่านี้กฎหมายถือว่าเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ ไม่ใช่การตายโดยสาเหตุทั่วไป และเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องมีการชันสูตรพลิกศพ โดยให้อัยการ พนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ปลัดอำเภอขึ้นไปหรือเทียบเท่า ร่วมกับพนักงานสอบสวน และแพทย์ทำการชันสูตรพลิกศพ จากนั้นพนักงานสอบสวนจะทำสำนวนส่งให้อัยการ จากนั้นอัยการจะเป็นผู้ทำคำร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลไต่สวนการตายและทำคำสั่งว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย

ในการไต่สวนการตาย ศาลจะปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนที่ศาล และจะมีการส่งสำเนาคำร้องของอัยการและกำหนดวันนัดไต่สวนให้สามี ภรรยา1 ผู้บุพการี 2 ผู้สืบสันดาน3 ผู้แทนโดยชอบธรรม4 ผู้อนุบาล5 หรือญาติของผู้ตาย6 ตามลำดับอย่างน้อยหนึ่งคนเท่าที่จะทำได้ทราบก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่า 15 วัน จากนั้นอัยการก็จะนำพยานหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวกับการตายของผู้ตายเข้ามาสืบ

เมื่อศาลปิดประกาศกำหนดวันไต่สวนแล้ว จนถึงช่วงเวลาก่อนที่การไต่สวนคำร้องของอัยการจะเสร็จสิ้น สามี ภรรยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือญาติของผู้ตายมีสิทธิยื่นขอต่อศาลเข้ามาในคดีในฐานะผู้คัดค้านได้ตลอดเวลาเพื่อที่จะซักถามพยานที่อัยการนำสืบ และนำพยานหลักฐานต่างๆเข้าสืบ โดยบุคคลเหล่านี้มีสิทธิตั้งทนายความเข้าดำเนินคดีแทนได้ แต่หากไม่มีการตั้งทนายเข้ามาศาลก็จะตั้งทนายความขึ้นเองเพื่อทำหน้าที่ทนายความฝ่ายญาติผู้ตาย ทั้งนี้ ในการไต่สวนกฎหมายให้อำนาจศาลเรียกพยานหลักฐานอื่นๆมาสืบเพิ่มเติมได้ รวมทั้งศาลอาจขอให้ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นประกอบการพิจารณาก็ได้ และขณะเดียวกันบุคคลที่เป็นญาติผู้ตายข้างต้นก็มีสิทธิที่จะขอให้ศาลเรียกผู้เชี่ยวชาญอื่นมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเรียกมาก็ได้

เมื่อมีการนำสืบพยานเสร็จสิ้นแล้วศาลก็จะมีคำสั่ง และให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังอัยการ เพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป โดยคำสั่งของในเรื่องนี้ถือเป็นที่สุด ไม่อาจอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไปได้อีก แต่จะไม่กระทบถึงสิทธิในการฟ้องร้อง หรือการพิจารณาของศาล หากอัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้องหรือจะฟ้องเกี่ยวกับการตายนั้น

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการไต่สวนการตาย

1. การไต่สวนการตายมีขึ้นเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และด้วยสาเหตุ      อะไรเท่านั้น เนื่องจากคดีวิสามัญฆาตกรรมนั้น ไม่ใช่การตายที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และเป็นการตายของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

รัฐจึงต้องเข้ามามีส่วนในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ของตนว่ามีส่วนผิดในความตายของบุคคลนั้นหรือไม่ อย่างกรณีการตายระหว่างถูกควบคุมตัว การตายอาจเกิดขึ้นจากตัวผู้ตายเอง เช่นตายด้วยโรคประจำตัวในเรือนจำ หรืออาจตายด้วยการกระทำของเจ้าหน้าที่ก็ได้

กรณีที่ผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ฆ่าก็ต้องเข้ามาตรวจสอบว่าการฆ่าเกิดขึ้นเพราะผู้ตายเป็นผู้กระทำผิดใช้อาวุธยิงโต้ตอบเจ้าหน้าที่จนเจ้าหน้าที่ต้องยิงผู้ตายเพื่อป้องกันตัว หรือเจ้าหน้าที่เจตนายิงผู้ตายซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทั้งที่ผู้ตายไม่มีพฤติการณ์จะต่อสู้ ทั้งนี้ ก็เพื่อจะให้เกิดความรอบคอบรัดกุมเท่านั้น

ประเด็นในการไต่สวนการตายจึงเกี่ยวกับตัวผู้ตายโดยเฉพาะเพื่อให้ทราบว่าผู้ตายเป็นใคร และตายด้วยเหตุใด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความผิดหรือข้อกล่าวหาของผู้ตายแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นคดีที่อัยการขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับสาเหตุการตายของผู้ตายให้เป็นที่แน่ชัดเท่านั้น แต่มิได้ฟ้องผู้ใดว่ากระทำผิดทางอาญา

2. บรรดาผู้ใกล้ชิดและญาติของผู้ตายซึ่งได้แก่บุคคลที่กล่าวข้างต้นนั้นมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนพิจารณาไต่สวนการตายนี้ได้ในฐานะผู้คัดค้านคำร้องของอัยการ ซึ่งถือว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ผู้ที่เข้ามาได้ช่วยปกป้องรักษาประโยชน์และความเป็นธรรมให้แก่ผู้ตาย โดยเฉพาะสาเหตุของการตาย หากไม่มีการคัดค้านมีการไต่สวนไปฝ่ายเดียวและศาลมีคำสั่งว่าการตายของผู้ตายเกิดขึ้นด้วยอุบัติเหตุหรือโดยสาเหตุใดๆที่มิใช่ความผิดของเจ้าหน้าที่ ข้อเท็จจริงย่อมยุติตามนี้และเมื่อศาลมีคำสั่ง คำสั่งของศาลจะเป็นที่สุดบรรดาญาติของผู้ตายจะขอเข้ามาคัดค้าน อุทธรณ์หรือฎีกาว่าความตายของผู้ตายเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานไม่ได้อีกแล้ว และแม้คำสั่งของศาลจะไม่กระทบต่อสิทธิในการฟ้องคดีหากบรรดาญาติของผู้ตายต้องการจะฟ้องเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการตายของผู้ตาย แต่หากขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลคำสั่งดังกล่าวอาจมีผลไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ จนยากแก่การที่จะเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้

3. เมื่อบรรดาผู้ใกล้ชิดหรือญาติของผู้ตายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้เข้ามาในการพิจารณาแล้ว มีสิทธิที่จะตั้งทนายความที่ตนไว้วางใจเข้าดำเนินการแทนก็ได้ แต่หากไม่อาจหาทนายความมาได้

กฎหมายก็ได้กำหนดให้ศาลตั้งทนายความฝ่ายญาติขึ้นทั้งนี้ ก็เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่บุคคลดังกล่าวในการต่อสู่คดีแทนผู้ตาย โดยเมื่อบุคคลเหล่านี้เข้ามาในคดีแล้วย่อมมีสิทธิในการซักค้านพยานหลักฐานของฝ่ายอัยการเพื่อทำลายน้ำหนักพยานให้ลดน้อยลง

และที่สำคัญคือมีสิทธินำพยานหลักฐานของฝ่ายตนเข้าสืบได้ไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานผู้เชี่ยวชาญ พยานวัตถุหรือพยานหลักฐานอื่นใด ซึ่งในคดีอาญานั้นการวิธีการนำสืบพยานหลักฐาน ตลอดจนประเภทของพยานหลักฐานที่จะนำมาพิสูจน์ความจริงนั้นมีความกว้างขวางมาก แทบจะไม่มีข้อจำกัดใด เพียงแค่เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายก็สามารถนำมาพิสูจน์ได้ทั้งสิ้น และหากเป็นพยานหลักฐานที่ได้อาจนำมาได้เนื่องจากอยู่ในความครอบครองของผู้อื่น

หรือกรณีพยานผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญย่อมขอให้ศาลเรียกมาได้เช่นกัน โดยการนำสืบนั้นหากมีข้อจำกัดเรื่องพยานหลักฐานเช่นไม่พบพยานหลักฐานหรือเบาะแสใดๆมากนัก ก็อาจแก้ไขได้โดยการซักค้านพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งนำสืบเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น เช่นซักถึงความเป็นมาเป็นไปของพยานหลักฐาน ความมีพิรุธของพยานนั้น เป็นต้น

4. ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการไต่สวนการตายนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวผู้ตายเท่านั้นและมีขึ้นเพื่อให้ทราบว่าผู้ตายเป็นใคร และตายด้วยสาเหตุใด เพื่อจะนำไปสู่การตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่

การเข้ามาเป็นผู้คัดค้านของบรรดาผู้ใกล้ชิดและญาติของผู้ตายจึงเป็นเพียงการเข้ามาพิสูจน์ความจริงแทนผู้ตายเฉพาะสาเหตุของการตายเท่านั้น ไม่รวมถึงความผิดที่ผู้ตายได้กระทำไว้หรือข้อกล่าวหาต่างๆที่ผู้ตายถูกกล่าวหา เนื่องจากไม่ใช่ประเด็นของการไต่สวนการตาย และไม่ใช่การฟ้องคดีให้ผู้ตายรับผิด อีกทั้งตามกฎหมายการฟ้องคดีและโทษต่างๆย่อมระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำผิด (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 38 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39) เมื่อผู้กระทำผิดหรือผู้ถูกกล่าวหาตาย

ทุกอย่างย่อมจบลงตามไปด้วย ไม่อาจฟ้องร้องเอาผิดกับผู้ตายได้อีก นอกจากนี้ความรับผิดทางอาญาหรือการลงโทษตามกฎหมายอาญานั้นถือเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้กระทำเท่านั้น ไม่อาจตกทอดมาถึงทายาท หรือผู้ใกล้ชิดกับผู้ตายได้เลย เพราะกฎหมายอาญามุ่งเอาผิดกับผู้ที่กระทำผิดเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับบุคคลอื่นและเมื่อผู้นั้นตาย ก็ไม่มีกรณีที่จะเอาผิดได้อีก

บรรดาผู้ใกล้ชิดหรือญาติของผู้ตายจึงไม่อาจถูกฟ้องร้องหรือดำเนินคดีให้รับโทษแทนผู้ตายได้เลย หน้าที่ของบุคคลเหล่านี้จึงเป็นเพียงการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนผู้ตาย หากเห็นว่าการตายของผู้ตายน่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ก็ต้องพยายามหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์เพื่อให้ได้ความจริงตามนั้น และหากนำสืบได้เมื่อศาลมีคำสั่งตามคำคัดค้านโดยเห็นว่าผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ฆ่า การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ดังกล่าวก็จะทำได้ง่ายยิ่งขึ้น

โดยภาพรวมดังที่กล่าวข้างต้น จึงเห็นได้ว่าการไต่สวนการตายนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหรือจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความยากลำบากแก่บุคคลที่เป็นผู้ใกล้ชิด หรือเป็นญาติของผู้ตายแต่อย่างใด เป็นกระบวนพิจารณาที่มีขึ้นเพื่อให้ทราบสาเหตุการตายของผู้ตายเท่านั้น

อีกทั้งกฎหมายได้รับรองและให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้เข้ามาในฐานะที่เป็นญาติของผู้ตายไว้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้การไต่สวนการตายอาจนำมาซึ่งคำตอบที่จะเป็นประโยชน์ในการต่อสู้คดีเพื่อที่จะนำตัวผู้ที่ฆ่าหรือมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการตายของผู้ตายมาลงโทษเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ตัวผู้ตาย และเพื่อให้เกิดความจริงและความถูกต้องในสังคมได้ด้วยความร่วมมือของบุคคลดังกล่าว โดยบุคคลเหล่านั้นไม่ต้องกังวลว่าที่จะได้รับโทษหรือถูกฟ้องร้องในความผิดที่ผู้ตายได้กระทำไว้เลย เนื่องจากเป็นคนละส่วนกัน และทุกสิ่งสิ้นสุดลงพร้อมความตายของผู้ตายแล้ว

00000

หมายเหตุ : เรียบเรียงโดยคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ


1 กรณีของสามี ภรรยา ต้องเป็นสามี ภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย คือได้จดทะเบียนสมรสกันเท่านั้น


2 หมายถึง ผู้สืบสายเลือดโคยตรงขึ้นไป ได้แก่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย (โดยตรงเท่านั้น ไม่รวมสายข้างเคียง เช่น ป้า น้า หรืออา ) ซึ่งถือตามความเป็นจริง กรณีพ่อ อาจเป็นพ่อที่ไม่ได้จดทะเบียนสมสรกับแม่ก็ได้


3 หมายถึงผู้สืบสายเลือดโดยตรงลงมา ได้แก่ ลูก หลาน เหลน เป็นต้น โดยถือตามความเป็นจริงเช่นเดียวกับกรณีผู้บุพการี


4 หมายถึงผู้ที่ใช้อำนาจปกครองดูแลผู้เยาว์ ในกรณีที่ผู้ตายเป็นเด็ก ซึ่งก็หมายถึงพ่อ แม่ แต่กรณีของพ่อต้องเป็นพ่อที่ชอบด้วยกฎหมายคือได้จดทะเบียนสมรสกับแม่ หรือมีการจดทะเบียนรับรองบุตรแล้วเท่านั้น


5 หมายถึงผู้ที่ดูแลบุคคลที่ศาลได้มีคำสั่งให้เป็นผู้ไร้ความสามารถ เช่นคนพิการ ในกรณีที่ผู้ตายเป็นผู้ไร้ความสามารถ และศาลได้มีคำสั่งให้ตั้งผู้อนุบาลแล้ว


6 มีความหมายอย่างกว้าง ทั้งพี่น้อง ลุงป้าน้าอา เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท