Skip to main content
sharethis



 


วันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดสัมมนาด้านการเกษตรในหัวข้อ "ทิศทางการเกษตรไทยในทศวรรษหน้า" โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาที่เป็นทั้งผู้มีส่วนร่วมในการผลักดันด้านการเกษตรและผู้ที่สามารถอธิบายสถานการณ์อุตสาหกรรมการเกษตรในต่างประเทศ และทิศทางในอนาคตของการเกษตร ว่าจะเป็นไปในทิศทางใดและจะต้องจัดการกับปัญหาอะไรก่อน จึงจะนำพาเกษตรไทยเดินหน้าต่อไปได้


นายณัฐศักดิ์ พัฒนกุลชัย ผู้จัดการใหญ่บริษัท สหฟาร์ม จำกัด กล่าวว่าบางครั้งเรื่องการพัฒนาพันธุกรรมมีความจำเป็นในการพัฒนาสินค้าเกษตรในการแข่งขัน แต่ประเทศไทยไม่เคยยอมรับการพัฒนาผลผลิตแบบจีเอ็มโอ เพราะนักวิชาการมักอ้างความขาดแคลนจนกลายเป็นความขลาด ซึ่งที่ผ่านมานักส่งเสริมการเกษตรไทยทำงานได้ดี ผลผลิตออกมามากจนล้นตลาดแต่ไม่สามารถส่งเสริมการตลาดได้ และไม่มีการจริงจัง ซึ่งมีผลผลิตทางการเกษตรบางประเภทเท่านั้นที่ประกันได้เช่น ยางพารา เพราะมีกองทุนสงเคราะห์ยางพารา ที่มีการสนับสนุนเกษตรกรและผลผลิตอยู่ และอ้อย ที่มีคณะกรรมการส่งเสริมโควต้าและดูแลกระบวนการผลิตและส่งออก เป็นต้น


"โดยผลผลิตด้านอื่นยังไม่ก้าวหน้า ถ้าประเทศไทยดูแลแบบจริงจังก็จะสามารถเดินไปได้และเร็วขึ้นในเรื่องผลผลิตการเกษตร เรื่องหนึ่งที่ยังไม่สามารถทำได้คือการจัดการด้านตลาด ที่ยังไม่ได้ยกระดับของผู้ผลิตและสินค้าให้มีสิทธิทัดเทียมในการซื้อขายกับประเทศอื่นได้ เช่น การขายกระเทียม เกษตรกรไทย ยังไม่สามารถตั้งราคาได้ คนซื้อเท่านั้นที่ตั้งราคาซื้อเอง"


แหล่งทุนเกษตรไทยขาด
นายณัฐศักดิ์กล่าวว่า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนซึ่งมีความจำเป็นสูงในการพัฒนาผลผลิต แต่ประเทศไทยมีสถาบันการเงินที่เป็นแหล่งกู้หลักเพียง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ซึ่งน้อยเกินไป และวงเงินกู้ยังต่ำสำหรับเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีเพดานอยู่ที่ 50,000 บาท ธนาคารอื่นมีเพดานกู้สูงกว่ามากรวมถึงยังมีข้อจำกัดในการกู้ยืมอยู่หลายข้อ เช่น บุคคลที่เป็นนิติบุคคลไม่สามารถกู้ได้ เมื่อเกษตรกรเกิดความก้าวหน้า หรือรวยขึ้นและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ก็ไม่สามารถกู้ได้ เกษตรกรก็ยังจนอยู่เหมือนเดิม ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่เกษตรกรไม่สามารถเข้าหาแหล่งทุนได้เต็มที่ ต้องมีการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงในกฎหลายข้อ เมื่อตั้งปณิธานว่าจะเป็นครัวของโลก ต้องมีการเพิ่มแหล่งทุนให้เกษตรกรทำหลายสิ่งไปพร้อมๆกัน เช่น การวิจัยและทดลองพันธุ์พืช นอกเหนือจากการลงทุนอย่างเดียว


"ด้านต้นทุนการผลิตสินค้าการเกษตรของไทยยังสูงและปริมาณผลผลิตต่ำกว่าเวียดนามมากแม้ยังแข่งได้ในเรื่องคุณภาพ แต่ในความเป็นจริงคุณภาพทัดเทียมกันและยังสามารถพัฒนาห้ทันไทยได้เสมอ เช่นข้าว ถ้าเวียดนามมียุ้งฉาง และการจัดการเรื่องการจัดเก็บดี จะล้ำหน้าไทยเรื่องคุณภาพไม่ยาก กระทั่งอ้อยเป็นผลผลิตที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง แต่ปัจจุถูกบันบราซิลฏโกยส่วนแบ่งการตลาดไปหมดเพราะสินค้ามีมาตรฐานดีกว่า"


FTA - WTO ขวากหนามการแข่งขัน
นายณัฐศักดิ์ กล่าวว่า เขตการค้าเสรีหรือ เอฟทีเอ และ องค์กรการค้าโลกหรือ ดับ บลิว ที โอ กำลังออกฤทธิ์หนัก ผลกระทบจากเอฟทีเอ ที่เห็นชัดเจนคือกระเทียมที่เกษตรกรกำลังเดือดร้อนหนัก โดยผลกระทบนี้ยังกระทบถึงสินค้าและบริการอื่นด้วย ในเมื่อโลกไร้พรมแดน การค้าขายเปิดเสรี โดยในอดีตมีกำแพงภาษีกั้นอยู่ในการค้าขาย แต่ปัจจุบันกลายเป็นระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ประเทศไทยยังสู้เรื่องการพัฒนาสินค้าเกษตร พันธุ์พืชในหลายประเทศไม่ได้ จึงเสียเปรียบสูง

ด้านดับบลิว ที โอ เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลรับผิดชอบด้านกฎระเบียบเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ กฎระเบียบเหล่านี้ส่วนใหญ่ปรากฏในรูปของข้อตกลง แต่เนื่องจากขณะนี้มีประเทศสมาชิกมาก เมื่อประเทศใดผลิตสินค้าแล้วมีต้นทุนต่ำ จะเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมองค์กรนี้มากกว่าเพราะไม่มีกำแพงภาษี โดยรวมประเทศที่มีการอุดหนุนทางการค้าเข้าไปด้วย บางประเทศต้นทุนไม่ต่ำกว่าไทยมาก โดยในข้อตกลงขององค์กรการค้าโลกระบุว่าการอุดหนุนต้องค่อยๆลดลง แต่ในความเป็นจริง ประเทศที่ร่ำรวยยิ่งเพิ่มการอุดหนุนมากขึ้น รัฐบาลไทยแท้จริงแล้วมีแนวคิดในการอุดหนุนเช่นกัน แต่ไม่มีงบประมาณอุดหนุน จึงทำให้เกิดภาวะประเทศยิ่งร่ำรวย ยิ่งได้ประโยชน์มหาศาล


อนาคตผลผลิตเกษตร
นายณัฐศักดิ์ กล่าวว่า อนาคตของการผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดโลกต้องมองคุณภาพสอนค้าให้มากขึ้น เรื่องต้นทุนการผลิต เรื่องมาตรฐานสินค้า เมื่อใดที่ประเทศไม่สามารถรักษาเรื่องมาตรฐานสินค้าได้ ก็ไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ถ้าสามารถแก้เงื่อนปัญหาเหล่านี้ได้ ผลผลิตด้านการเกษตรจะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนสินค้าในอนาคตที่ยังสามารถเติบโตได้ในช่วงเวลา 5 - 10 ปี ส่วนของพืชพันธุ์ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ยังสามารถเติบโตได้ดี กลุ่มของผักเมืองร้อน เช่น ลิ้นจี่ ลำไย มังคุด ทุเรียน ยังเป็นที่นิยมของตลาด ด้านปศุสัตว์ สินค้าจำพวกไก่จะเติบโตขึ้น ด้าน ประมง คือกุ้งทะเล ซึงยังมีอนาคตที่สดใสในการเพิ่มสว่นแบ่งการตลาด สินค้าเหล่านี้ยังเป็นฐานช่วยเพิ่มจีดีพีมวลรวมให้ประเทศชาติได้

ด้าน ร...ดร.นิติภูมิ เนาวรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียและแอฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ อธิบายว่า ถ้าสิในค้าเกษตรของไทยปรับตัวช้า จะสู้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามไม่ได้ ในอดีตที่สหภาพยุโรป (European Union) หรืออียู มีสมาชิกเพียง 15 ประเทศ และสินค้ากุ้งส่งออกของไทยครองตลาดนี้อยู่ แต่ปัจจุบันมีสมาชิกถึง 25 ประเทศ กุ้งไทยกลับมีส่วนแบ่งการตลาดเหลือเพียง 1% เท่านั้น ไก่ต้มสุกแช่แข็งของไทยที่เคยมีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 90,000 ตัน จากเดิมที่ภาษีอยู่ 10 % แต่เมื่อภาษีขึ้นไปอยู่ที่ 53% ส่วนแบ่งการตลาดก็ลดลงตามลำดับ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตเก่งแต่ยังขาดนักเจรจาต่อรอง เวียดนาม มีความแข็งด้านนี้มาก โดยเวียดนามจะใช้นักเจรจาต่อรองกับประเทศคู่ค้าก่อนการค้าขาย ประเทศไทยยังขาดนักเจรจาต่อรองที่ได้ผล


"เวียดนามกำลังเพิ่มศักภาพในการขายให้ประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาสูงมาก โดยมีการตั้งป้ายโฆษณาข้าวในเมืองและมีข้อความโฆษณาข้าว ตั้งแต่กระบวนการผลิต พื้นที่เพาะปลูก ประโยชน์ของข้าวจากเวียดนาม ส่วนข้าวของประเทศไทยยังใส่กระสอบเหมือนเดิม และไม่ได้บอกรายละเอียดอะไรกับผู้ซื้อ ซึ่งเรื่องนี้ไทยต้องให้ความสำคัญใหม่"


โลจิสติกส์ไทยยังห่วย
...ดร.นิติภูมิ กล่าวอีกว่า การขนส่งสินคาของไทยยังมีช่องทางจำกัด ที่ยังคงใช้แค่เรือ ซึ่งประสบกับปัญหาความสดและคุณภาพของสินค้า โดยต่างประเทศใช้รถไฟเข้ามากระจายสินค้านอกจากใช้เรือเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นการขนส่งสามารถเข้าถึงได้ทุกประเทศ แต่การขนส่งโดยทางรถไฟของประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาเส้นทางที่เชื่อมโยงกับประเทศอื่น


ถ้ามีการเชื่อต่อเส้นทางรถไฟไปยังประเทศอื่นได้ ก็จะส่งผลให้เกิดการขยายตลาดผลิตผลด้านการเกษตรไปยังกลุ่มประเทศอื่นได้เร็ว เช่น ถ้าสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเวียดนามได้ เส้นทางขนส่งจะสามารถไปถึงประเทศจีน มองโกเลีย มอสโก ยูเครน จอเจียและเข้าสู่ประเทศเยอรมันได้และเมื่อเดือนธันวาคม พ..2549 ประเทศเวียดนามใช้งบประมาณกว่า 8 แสนล้านบาท นำไปใช้ในการต่อเติมรางรถไฟจาก 1 เมตร เป็น 1.4 เมตร ซึ่งสามารถทำให้การขนส่งรวดเร็วขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งในอนาคตระบบโลจิสติกจะส่งเสริมเวียดนามด้านผลิตผลทางการเกษตรล้ำหน้าประเทศเพื่อนบ้านหลายช่วงตัว


ในการส่งออกด้านการเกษตร ตัวแปรของการค้าอยู่ที่ปัจจัย 3 ประการคือ การผลิต การตลาดและการขนส่ง ประเทศไทยเป็นหนึ่ง ทางด้านการผลิตแต่ด้านการตลาดกับระบบโลจิสติกยังไม่โดดเด่น ในอดีตประเทศไทยเคยมีความสัมพันธ์ด้านการลงทุนกับประเทศสิงคโปร์ โดยประเทศไทยจะดูแลด้านการผลิตและประเทศสิงคโปร์ดูแลเรื่องการตลาดและการขนส่ง ซึ่งประเทศไนจีเรียซื้อข้าวจากประเทศไทยเกิน 1 ล้านตันทุกปี แต่ซื้อผ่านสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันประเทศสิงคโปร์มีการผลิตและทำตลาดเอง โดยใช้การเช่าพื้นที่ในการทำการเกษตร ทั้งการปลูกข้าว ผัก ผลไม้ และการประมงน้ำจืด จากประเทศพม่า ลาว กัมพูชาและเวียดนาม โดยไม่ต้องพึ่งประเทศไทยอีกต่อไป


เอฟทีเอไทย-เทศ แต่ไทยเจ๊ง
...ดร.นิติภูมิ กล่าวว่า ในการทำเอฟทีเอกับต่างประเทศประเทศไทยมีทั้งประเทศออสเตเรีย คือ ประเทศออสเตเรียมีต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรต่ำมาก และมีการผลิตในพื้นที่หลายพันเอเคอร์ และมีเครื่องจักเข้ามาช่วยเกิน 50% เช่น การเก็บผลผลิตแอบเปิ้ล มีการใช้เครื่องเก็บ หลังจากนั้นก็มีเครื่องล้างพร้อมขัดมันให้ผิวแอบเปิ้ลดูหน้ากิน อีกทั้งราคาถูกว่าประเทศไทยมาก และกำลังปลูกพืชเกษตรอื่นเพิ่มขึ้น ทั้งข้าวและทุเรียน สำหรับประเทศจีน ซึ่งประเทศไทยเสียเปรียบเกือบทุกด้าน เพราะผลผลิตทางการเกษตรของไทยสู้จีนไม่ได้


โดยครั้งแรกมีการเจรจาระหว่างประเทศไทยกับจีนโดยมองภาพว่าประชากรของประเทศจีนมีหลายร้อยล้านคน ซึ่งสามารถกระจายผลผลิตเข้าสู่ประเทศได้เป็นจำนวนมหาศาล แต่ประเทศจีนมีการปกครองเป็นระบบมณฑล ซึ่งเมื่อประเทศไทยเข้าระบบเอฟทีเอ ก็ต้องเจอกับกฏหมายใหญ่ของประเทศและต้องเจอกับกฎหมายของแต่ละมณฑลอีกระดับหนึ่ง เปรียบเสมือนการเปิดห้องโถงของแต่ละประเทศ โดยประเทศจีนเมื่อเข้ามาเปิดห้องโถงของประเทศไทย ก็สามารถเข้าห้องโถงได้แล้วยังสามารถเข้าห้องนอน ห้องน้ำ ได้ แต่ประเทศไทยเมื่อเข้าไปแล้วก็เข้าได้แค่ห้องโถง ห้องน้ำเข้าไม่ได้ ห้องนอนก็เข้าไม่ได้ ซึ่งขณะนี้เกษตรกร


"ด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นกับการเกษตรไทยในขณะนี้ ถ้ายังมีการทำการเกษตรแบบเดิมอนาคต ด้านการเป็นครัวของโลกและการเพิ่มตัวเลขการส่งออกจะจบทันที แต่ทางออกหนึ่งในกานช่วยฟื้นการเกษตรของไทยในระยะยาวได้คือ การสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศในด้านวิชาการและเทคโนโลยีด้านการเกษตรในมหาวิทยาลัยต่างๆ"



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net