Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

Uncensored


โดย อุทัยวรรณ เจริญวัย


 


 




 



 



 



 



 



 



 



 



 



 


 


27 มกราคม 2007 ในงานชุมนุมประท้วงบุชที่วอชิงตันดีซี นอกจาก ฌอน เพนน์, ซูซาน ซาแรนดอน และทิม รอบบินส์ แล้ว อดีตดารา-แอคทิวิสต์ดังอย่าง เจน ฟอนดา ยังได้ปรากฎตัวบนเวทีเพื่อกล่าวคำปราศรัยต่อต้านสงครามเป็นครั้งแรกในรอบ 34 ปี เธอบอกว่ามันเป็นเรื่องเศร้าที่ชาวอเมริกาต้องมารวมตัวเพื่อประท้วงสงครามกันอีก


 


"เราไม่ได้เรียนรู้บทเรียนจากสงครามเวียดนามเลย"


 


6 ใน 10 ของคนอเมริกัน ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของบุชในอิรัก 70 เปอร์เซ็นต์ (AP-Ipsos Poll) ต่อต้านแผนการเพิ่มทหารล่าสุดของเขา และ 28 เปอร์เซ็นต์ (CBS News Poll) คือเรตติ้งของเขาที่เพิ่งจะหล่นวูบลงมาอีก - - หลังสงครามอิรักใกล้จะอายุครบสี่ปี หลังท่าทีของบุชที่ "หลุดวงโคจรโลก" มากขึ้นเรื่อยๆ ดูเหมือนว่า วันนี้กระแสต้านบุชในอเมริกากำลังร้อนแรงขึ้นทุกขณะ


 


แต่นอกบ้านออกไป กระแสต้านบุช (แถม-ยี้อเมริกา) ได้พุ่งทะยานล้ำหน้าไปไกลแล้ว และไม่ใช่เฉพาะกับนโยบายอิรักเท่านั้น


 


ชาวโมร็อคโค 93 เปอร์เซนต์ไม่ชอบอเมริกาในเรื่องอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ชาวอียิปต์ 92 เปอร์เซนต์ไม่พอใจบทบาทอเมริกาช่วงสงครามอิสราเอล-เฮซบอลเลาะห์ ชาวเยอรมัน 89 เปอร์เซนต์บอกว่า ทุเรศนโยบายคุกลับกับกวนตานาโม ชาวอาร์เจนตินา 85 เปอร์เซ็นต์ รับไม่ได้กับอเมริกันอันธพาลในเรื่องนิวเคลียร์อิหร่าน ฯลฯ


 


23 มกราคม ปีนี้ BBC World Service เพิ่งจะเผยแพร่โพลสำรวจความคิดเห็นชาวโลก 25 ประเทศ ที่มีต่อนโยบายด้านต่างประเทศของอเมริกา จัดทำโดย Globescan บริษัททำโพลนานาชาติ-มีฐานอยู่ในแคนาดา ร่วมกับ Program on International Policy Attitudes (PIPA) ของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์


 


ก่อนหน้านั้น กลางธันวาคม 2006 Arab American Institute (AAI)ร่วมกับ Zogby International ก็ได้ออกมาเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นชาวอาหรับ 5 ประเทศที่มีต่ออเมริกาเช่นกัน โดยมีการสำรวจทั้งประเด็นทางการเมืองและวัฒนธรรม


 


นโยบายของอเมริกากำลังสร้างความกลียดชังไปแทบทุกภูมิภาคของโลก อิมเมจหรือภาพลักษณ์ของมันอยู่ในจุดตกต่ำจนแทบจะ (หลอก) ขายความดีงามต่อไปไม่ได้ ใครเกลียดอเมริกา? เกลียดตรงไหน? มากน้อยอย่างไร? เราจะไปสำรวจกระแสยี้ที่ว่า...ผ่านโพลทั้งสองชิ้น


 


 


พายุแห่งความเกลียดชัง : จากละตินอเมริกา-จรดตะวันออกกลาง


ทำเนียบขาวอาจจะทะลึ่งคิด...เรื่องการโปะทหารแทนที่จะถอนทหาร แต่ชาวอาร์เจนตินา 86 เปอร์เซนต์เชื่อว่า...การมีอยู่ของอเมริกาคือตัวกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งมากกว่าจะแก้ปัญหาในตะวันออกกลาง


 


ทำเนียบขาวอาจจะนิยมไหว้วานรัฐบาลอียิปต์ให้ช่วยกักขังและทรมานชาวมุสลิมให้ แต่ประชาชนชาวอียิปต์ถึง 87 เปอร์เซ็นต์กลับไม่ชอบใจนโยบายจับกุมคุมขังของอเมริกา ทั้งที่กวนตานาโมและที่อื่นๆ


 


นี่คือข้อมูลบางส่วนของโพลบีบีซี ที่จอร์จ บุช และบรรดาเพื่อนซี้ (ในโลกอาหรับ) ของเขา ไม่ค่อยอยากจะได้ยินสักเท่าไหร่


 


โพลที่ว่าจัดทำขึ้นระหว่าง 3 พฤศจิกายน 2006 - 9 มกราคม 2007 มาจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกว่า 26,000 คน ใน 25 ประเทศดังนี้ : สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี เม็กซิโก อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี โปรตุเกส ฮังการี โปแลนด์ รัสเซีย จีน เกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย เคนยา ไนจีเรีย อียิปต์ ตุรกี เลบานอน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)


 


สตีเวน คัล (Steven Kull) ประธาน PIPA กล่าวถึงผลสำรวจครั้งนี้ว่า


 


"ตามความคิดเห็นของสาธารณชนทั่วโลก ดูเหมือนว่ายุคนี้ อเมริกา...แทบจะไม่สามารถทำในสิ่งที่ถูกต้องอีกแล้ว"


 


การสำรวจครั้งนี้เป็นปีที่สาม ขยับขึ้นจากเดิมที่เคยทำเพียง 18 ประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบเฉพาะกลุ่มเดิมที่เคยสำรวจ 2 ปีที่แล้ว ผู้ตอบคำถามที่เชื่อว่าบทบาทโดยรวมของอเมริกาส่งอิทธิพลในด้านดีหรือด้านบวกต่อโลก มีแค่ 29 เปอร์เซนต์ ลดลงจาก 36 เปอร์เซนต์ปีที่แล้ว 40 เปอร์เซนต์ในปีแรก


 


สำหรับในส่วน 25 ประเทศที่สำรวจทั้งหมดปีนี้ โดยเฉลี่ย ส่วนใหญ่ 49 เปอร์เซนต์มองว่าบทบาทอเมริกาส่งอิทธิพลด้านลบต่อกิจการของโลก มีเพียง 32 เปอร์เซนต์มองว่าอเมริกาส่งอิทธิพลด้านบวก ประเทศที่มองอเมริกาว่าทำให้โลกทั้งใบต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลแย่ๆ มากที่สุด ได้แก่ เยอรมัน (78) อินโดนีเซีย (71) ตุรกี (69) และฝรั่งเศส (69) ขณะที่ประเทศที่มองอเมริกาในแง่ดี คือ ไนจีเรีย (72) ฟิลิปปินส์ (72) เคนยา (70)  และอเมริกาเอง (58)


 


ในการสำรวจครั้งนี้ มีการกำหนดหัวข้อนโยบายที่ต้องการศึกษาขึ้นมา 6 เรื่อง คำตอบมีให้ 5 ตัวเลือก คือ ยอมรับอย่างมาก ยอมรับพอใช้ ไม่ยอมรับเท่าไหร่ ไม่ยอมรับอย่างมาก และไม่รู้-ไม่มีความคิดเห็น


 


ผลการสำรวจพบว่า นโยบายที่ได้รับ "การต่อต้าน" มากที่สุด เรียงตามลำดับได้ดังนี้


 


73 เปอร์เซนต์ - สงครามอิรัก


67 เปอร์เซนต์ - การจับกุมคุมขังนักโทษที่คุกกวนตานาโมและที่อื่นๆ


65 เปอร์เซนต์ - สงครามอิสราเอล-เฮซบอลเลาะห์ ในเลบานอนปีที่แล้ว


60 เปอร์เซนต์ - โปรแกรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน


56 เปอร์เซนต์ - ปัญหาโลกร้อน


54 เปอร์เซนต์ - โปรแกรมนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ


 


นโยบายของอเมริกาเรื่องสงครามอิรักได้รับการต่อต้านอย่างท่วมท้นทั่วโลก ประเทศที่ต่อต้านรุนแรงที่สุด ได้แก่ อาร์เจนตินา (92) ฝรั่งเศส (91) อียิปต์ (91) และเลบานอน (90) ขณะที่ประเทศที่เห็นด้วยกับอเมริกา มีเพียงเคนยา (59)  ไนจีเรีย (57) และฟิลิปปินส์ (54)


 


การละเมิดกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการจับกุมคุมขังทรมานผู้ต้องสงสัยใน "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ที่คุกกวนตานาโมและคุกอื่นๆ ได้รับการต่อต้านอย่างมาก โดยเฉพาะในยุโรป ประเทศที่ไม่พอใจมากที่สุดได้แก่ เยอรมัน (89) อียิปต์ (87) ตุรกี (85) โปรตุเกส (84) ฝรั่งเศส (82) อิตาลี (82)


 


ในสงครามอิสราเอล-เลบานอน บทบาทของอเมริกาที่หนุนหลังและปกป้องอิสราเอลอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ได้รับการต่อต้านมากที่สุด ในประเทศ อียิปต์ (92) อาร์เจนตินา (85) เลบานอนเอง (82) และยูเออี (81)


 


สำหรับปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน อเมริกาได้รับการต่อต้านอย่างหนักในประเทศ อียิปต์ (91) อาร์เจนตินา (85) ตุรกี (81) บราซิล (80) และยูเออี (78) มีแค่ 3 ประเทศเท่านั้นที่เห็นด้วยคือ เคนยา (62) ไนจีเรีย (53) และฟิลิปปินส์ (52)


 


นอกจากนี้ การมีอยู่ของทหารอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลางก็เป็นประเด็นที่ได้รับการต่อต้านอย่างหนักเช่นกัน โดย 77 เปอร์เซนต์เชื่อว่าเป็นการกระตุ้นยั่วยุให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง-มากกว่าจะเป็นการสร้างเสถียรภาพหรือระงับความขัดแย้ง ประเทศที่ต่อต้านมากที่สุด ได้แก่ อาร์เจนตินา (86) อียิปต์ (85) อินโดนีเซีย (83) บราซิล (83) ฝรั่งเศส (80) และเม็กซิโก (80)


 


โดยเฉลี่ย มีเพียง 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เห็นว่าทหารอเมริกาทำหน้าที่เป็นกองกำลังปกป้องเสถียรภาพในตะวันออกกลาง ประเทศที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าอเมริกาทำหน้าที่นี้ มีเพียงหางเครื่องหน้าเดิมๆ คือไนจีเรีย (49) และฟิลิปปินส์ (41)


 


ในส่วนความคิดเห็นของชาวอเมริกันเอง แม้ว่าส่วนใหญ่ 58 เปอร์เซนต์จะยังเห็นว่า รวมๆ แล้ว อเมริกามีอิทธิพลในทางบวกต่อโลก (ลดลงจากปีที่แล้ว 63) แต่ในส่วนนโยบายย่อยๆ ชาวอเมริกัน 60 เปอร์เซนต์ไม่ยอมรับนโยบายที่เกี่ยวกับกวนตานาโม 57 เปอร์เซนต์ไม่ยอมรับนโยบายสงครามอิรักและสงครามอิสราเอล-เฮซบอลเลาะห์ 53 เปอร์เซนต์ เชื่อว่าการมีอยู่ของอเมริกาเป็นตัวสร้างความขัดแย้งมากกว่าป้องกัน - - ส่วนที่เป็นประเด็นร้อนๆ ตอนนี้ เรื่องโปรแกรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน เสียงส่วนใหญ่ 50 เปอร์เซนต์ไม่ยอมรับแนวทางของรัฐบาล (41 ยอมรับ)


 


ในส่วนของมหาอำนาจอื่น อย่างจีนกับรัสเซีย พบว่า...กระแสต้านอเมริกายังอยู่ในระดับปานกลาง ไม่น่าตกใจเท่าไหร่ ชาวรัสเซียที่มองว่าอเมริกามีอิทธิพลด้านลบต่อโลกมีจำนวนมากขึ้นคือ 59 เปอร์เซนต์ (จากเดิม 52) โดย 82 เปอร์เซนต์ไม่เห็นด้วยในประเด็นอิรัก 64 เปอร์เซนต์ไม่เห็นด้วยในประเด็นอิสราเอล-เฮซบอลเลาะห์ และ 64 เปอร์เซนต์ไม่เห็นด้วยในประเด็นนิวเคลียร์อิหร่าน


 


กลับกันกับรัสเซีย ชาวจีนที่มองอเมริกาว่ามีบทบาทอิทธิพลในทางลบมีจำนวนน้อยลง คือ 52 เปอร์เซ็นต์ (จากเดิม 62) อย่างไรก็ตาม ในส่วนนโยบายอื่นๆ ออกจะใกล้เคียงกัน เช่น 83 เปอร์เซนต์ไม่เห็นด้วยในประเด็นอิรัก 66 เปอร์เซนต์ไม่เห็นด้วยในประเด็นอิสราเอล-เฮซบอลเลาะห์ และ 60  เปอร์เซนต์ไม่เห็นด้วยในประเด็นนิวเคลียร์อิหร่าน


 


และสำหรับพันธมิตรชิดใกล้...อย่างอังกฤษของ โทนี แบลร์ (กระแสโดยรวมค่อนข้างใกล้เคียงกับออสเตรเลีย-ซี้บุชอีกราย) ชาวอังกฤษส่วนใหญ่ดูจะมองอะไร "แตกต่างและสวนทาง" กับสุนัขพูเดิล เอ๊ย...นายกฯ ของตัวเองไม่ใช่เล่น : 81 เปอร์เซนต์ของคนอังกฤษไม่เห็นด้วยกับบุช (และแบลร์) เรื่องสงครามอิรัก 76 เปอร์เซนต์เรื่องการคุมขังและกวนตานาโม 70 เปอร์เซนต์เรื่องอิสราเอล-เฮซบอลเลาะห์ 64 เปอร์เซนต์เรื่องโปรแกรมนิวเคลียร์อิหร่าน และ 57 เปอร์เซนต์มองว่าการกระทำของอเมริกาส่งอิทธิพลต่อโลกในทางลบ (33 เห็นเป็นบวก)


 


นอกจากนั้น ชาวอังกฤษ 72 เปอร์เซ็นต์ ยังบังอาจเชื่อ (ไม่เหมือนผู้นำ) อีกว่า...กองทัพอเมริกาเป็นตัวการสร้างปัญหาและความขัดแย้ง-ไม่ใช่เสถียรภาพ-ในตะวันออกกลาง


 


โดยรวม มีอยู่สามทวีปที่กระแสต่อต้านอเมริกาดูจะเข้มข้นคึกคักเป็นพิเศษ คือ ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา และยุโรป ตัวแทนที่โดดเด่นสุดๆ ของแต่ละทวีป...เท่าที่ดูๆ แล้วน่าจะเป็น อียิปต์ อาร์เจนตินา และฝรั่งเศส (ค่อนข้างสูสีกับเยอรมัน) อย่างไรก็ตาม ถ้าเปรียบเทียบตัวเลขและโหงวเฮ้งแบบละเอียดๆ แล้ว ประเทศที่สมควรจะได้รับรางวัล "เหม็นหน้าอเมริกายอดเยี่ยม" กลับไม่ใช่ชาติอาหรับในตะวันออกกลาง


 


อาร์เจนตินา คือประเทศที่ต้องถือว่าฟอร์มสุดยอดมากในทุกๆ ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอิรัก กวนตานาโม อิสราเอล-เฮซบอลเลาะห์ นิวเคลียร์อิหร่าน และนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ มีชาวอาร์เจนตินาเพียง 3 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่ "เห็นด้วย" กับแก๊งอันธพาลในทำเนียบขาว (1 เปอร์เซนต์เห็นด้วยสุดซึ้ง 2 เปอร์เซนต์เห็นด้วยแบบกั๊กๆ) ที่เหลือนอกนั้น ส่วนใหญ่-หรือแทบทั้งหมด-เป็นพวก "ไม่เห็นด้วยอย่างแรง"


 


แต่ถึงกระนั้น โลกนี้ก็ไม่ได้ใจร้ายกับบุชจนเกินไป ในยุคที่ความจริงถูกบิดเบือนรายวัน ในยุคที่เต็มไปด้วยช่องว่างเรื่องข้อมูลข่าวสาร และในบางพื้นที่...ที่อเมริกามีโปรแกรมการค้าหรือความช่วยเหลือทุ่มลงไปเป็นพิเศษนั้น ภาพลักษณ์ของอเมริกาก็อาจจะพอมี "ตัวช่วย" ให้ชื่นใจได้บ้าง เหมือนอย่างที่สะท้อนออกมาชัดเจนในกรณีของ เคนยา ไนจีเรีย และฟิลิปปินส์


 


 


ยี้ ยี้ ยี้ ยี้ : อันเนื่องมาจาก Hypocrisy


เพราะนโยบายหลักๆ ที่ถูกต่อต้านของอเมริกาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชาติมุสลิมและภูมิภาค "ตะวันออกกลาง" ทัศนะของประชาชนในกลุ่มนี้จึงสมควรจะได้รับการหยิบยกมาโฟกัสเป็นพิเศษ


 


ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดตามโพลบีซีซี ในส่วนของ อียิปต์ เลบานอน ยูเออี ตุรกี -  แถมด้วยชาติมุสลิมในเอเชียอย่างอินโดนีเซีย (ตัวเลขคือเปอร์เซ็นต์/เรียงตามลำดับนโยบายที่ได้รับการต่อต้านมากที่สุด)


 


อียิปต์ : 92 สงครามอิสราเอล-เฮซบอลเลาะห์, 91 โปรแกรมนิวเคลียร์อิหร่าน, 90 สงครามอิรัก, 87 กวนตานาโม - - 85 เห็นว่าการมีอยู่ของทหารอเมริกาเป็นตัวกระตุ้นความขัดแย้งในตะวันออกกลาง, 59 เห็นว่าอเมริกามีอิทธิพลต่อกิจการของโลกในทางลบ (11 เห็นเป็นบวก)


 


เลบานอน : 90 สงครามอิรัก, 82 อิสราเอล-เฮซบอลเลาะห์, 80 กวนตานาโม, 64 นิวเคลียร์อิหร่าน - - 77 เห็นว่าสร้างความขัดแย้งในตะวันออกกลาง, 58 เปอร์เซนต์เห็นว่ามีอิทธิพลทางลบ (34 บวก)


 


ยูเออี : 81 อิสราเอล-เฮซบอลเลาะห์, 80 สงครามอิรัก, 78 นิวเคลียร์อิหร่าน, 77 กวนตานาโม - - 66 เห็นว่าสร้างความขัดแย้งในตะวันออกกลาง (17 เห็นว่าสร้างเสถียรภาพ), 57 เห็นว่ามีอิทธิพลทางลบ (25 บวก)


 


ตุรกี : 90 สงครามอิรัก, 89 อิสราเอล-เฮซบอลเลาะห์, 85 กวนตานาโม, 81 นิวเคลียร์อิหร่าน  - - 76 เห็นว่าสร้างความขัดแย้งในตะวันออกกลาง, 69 เห็นว่ามีอิทธิพลทางลบ-พุ่งพรวดจากปีที่แล้วคือ 49 (มีชาวตุรกีเพียง 7 เปอร์เซนต์เท่านั้น ที่เห็นว่าอเมริกาทำเรื่องดีๆ หรือส่งอิทธิพลในทางบวกต่อกิจการของโลก)


 


อินโดนีเซีย : 85 สงครามอิรัก, 81 อิสราเอล-เฮซบอลเลาะห์, 77 นิวเคลียร์อิหร่าน, 72 กวนตานาโม - - 83 เห็นว่าการมีอยู่ของอเมริกาสร้างความขัดแย้งในตะวันออกกลาง, 71 เห็นว่ามีอิทธิพลทางลบ-พุ่งพรวดจากปีที่แล้วคือ 47 กระแสการต่อต้านในอินโดนีเซีย...นับเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ขยับเพิ่มขึ้นจากเดิมจนน่าตกใจ


 


จากผลสำรวจ 3 ปีติดกัน กระแสยี้อเมริกาที่ว่าเข้มข้นอยู่แล้ว...ในหมู่ชาติมุสลิม กำลังเร่งเครื่องเดินหน้าไปเรื่อยๆ วันต่อวัน ปีต่อปี


 


และนี่คือความคิดเห็นล่าสุดก่อนอเมริกาประกาศส่งทหารไปเพิ่มในอิรัก และยังไม่มีใครรู้ว่า ภายในปีนี้...สงครามในตะวันออกกลางจะขยายวงเพิ่มขึ้นหรือไม่


 


ดัก มิลเลอร์ (Doug Miller) ประธาน GlobeScan ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "การตัดสินใจของอเมริกาเร็วๆ นี้ ที่จะส่งทหารไปเพิ่มในอิรัก นับเป็นเรื่องสวนกระแสสาธารณชนทั่วโลก นโยบายดังกล่าวน่าจะทำลายอิมเมจของอเมริกาหนักขึ้นไปอีก"


 


ในรายงานของวอชิงตันโพสต์ สตีเวน คัล (Steven Kull) ประธาน PIPA พูดถึงผลสำรวจครั้งนี้ด้วยน้ำเสียงตกใจว่า "ผมนึกว่ามันถึงจุดต่ำสุดไปแล้วปีที่แล้ว ปรากฏว่าปีนี้มันกลับยิ่งแย่กว่าเดิมได้อีก เรามาถึงจุดตกต่ำเป็นประวัติการณ์จริงๆ"     


 


ตามทัศนะของคัล สาเหตุส่วนใหญ่ของกระแสต่อต้านอเมริกาที่แพร่หลายและไม่จำกัดอยู่เฉพาะชาติมุสลิมนี้ เขาเชื่อว่ามาจากการที่อเมริกาถูกมองว่ามีลักษณะ Hypocrisy หรือ "มือถือสากปากถือศีล" มากขึ้นเรื่อยๆ ในกิจการที่สัมพันธ์กับยูเอ็นและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับ "การใช้กำลังทางทหาร" ไม่ว่าจะเป็นโพลของบีบีซีหรือสำนักไหน ผลการสำรวจที่ผ่านมาต่างก็ออกมาตอกย้ำจุดนี้เหมือนๆ กัน และสตีเวน คัลเชื่อว่า สิ่งที่ปรากฏในโพลซ้ำๆ เหล่านี้ ไม่ได้เป็นเพราะความโกรธในประเด็นสงครามอิรักเท่านั้น


 


"ธีมร่วมกันของทุกประเด็นก็คือ...อาการมือถือสากปากถือศีลของอเมริกา ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น คล้ายๆ กับพวกเขาต้องการจะพูดว่า - คุณเป็นตัวตั้งตัวตีเที่ยวออกกฎบังคับคนโน้นคนนี้ แล้วสุดท้าย คุณก็ดันทำลายกฎที่ว่าซะเอง เพราะฉะนั้น คุณมันก็แค่นักสร้างภาพจอมปลอม...มือถือสากปากถือศีล...ไงล่ะ"


 


สรุปได้ดี...แต่น่าจะตกหล่นใจความสำคัญไปอย่าง อาการมือถือสากปากถือศีลของแก๊งทำเนียบขาว...คงจะไม่สร้างกระแสต่อต้านและความเกลียดชังที่ดุเดือดและกว้างขวางขนาดนี้ ถ้ามันไม่ได้มาพร้อมกับ "การ (พยายาม) ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในตะวันออกกลาง"


 


 


อาหรับ กับใครบางคน...ที่นอนไม่ค่อยหลับ


ผู้นำอาหรับกับประชาชนบนท้องถนนอาหรับอาจจะนิยมใส่ converse "ทางใคร-ทางมัน" มานานแล้ว แต่จนถึงวันนี้ อาการดังกล่าวกลับรุนแรงและ "ไม่น่าสนุก" มากขึ้นเรื่อยๆ


 


นอกจากโพลของบีบีซี ยังมีโพลของซอกบีกับ AAI ที่ปล่อยออกมาในเดือนธันวาคม เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ชัดถึงสภาวะแปลกแยกที่ว่า 


 


5 ประเทศที่มีการสำรวจ - ผู้นำทั้ง 5 ล้วนเป็นบริวารซี้ปึ้กของอเมริกาทั้งสิ้น - ได้แก่ โมร็อคโค อียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย จอร์แดน และเลบานอน


 


(โปรดสังเกตว่า...ยกเว้นเลบานอนแล้ว 4 รัฐมุสลิม-ซุนนีที่เหลือ ผู้นำทรราชของมันล้วนมีส่วนรับใช้ให้บริการด้าน "จับกุมคุมขังทรมานนักโทษชาวมุสลิม" ให้อเมริกามาแล้วอย่างพร้อมเพรียงกัน)


 


การจัดทำโพลของซอกบีครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สาม ประจำปี 2006 จากการสุ่มตัวอย่างสัมภาษณ์ประชากรกว่า 3,500 คนใน 5 ประเทศดังกล่าว เกี่ยวกับทัศนะที่มีต่ออเมริกาทั้งในประเด็นการเมือง และวัฒนธรรม พบว่า...ภาพลักษณ์ของอเมริกาได้เสื่อมทรามตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ชาวอาหรับส่วนใหญ่เกลียดนโยบายการเมืองของอเมริกาอย่างท่วมท้น 2 นโยบายหลักที่ถูกเกลียดมากที่สุดคือ สงครามอิรัก กับปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ส่วนที่ตามมาแบบทิ้งห่างนิดนึง ได้แก่ สงครามอิสราเอล-เลบานอนปีที่แล้ว


 


ทั้งนี้ ในส่วนของการเมือง หัวข้อที่ทำการสำรวจแบ่งเป็น 5 เรื่องใหญ่ๆ คือ : (ตามถ้อยคำเป๊ะๆ ในโพล) นโยบายปาเลสไตน์ นโยบายอิรัก นโยบายเลบานอน การท้าทายเรื่องนิวเคลียร์อิหร่าน และการโปรโมทประชาธิปไตย


 


(บางส่วนของโพลซอกบีหลีกเลี่ยงคำว่า "อิสราเอล" โดยจะใช้คำว่า "นโยบายปาเลสไตน์" หรือ "นโยบายเลบานอน" แบบรวมๆ แทน ขณะที่โพลบีบีซี นิยมใช้คำว่า "สงครามอิสราเอล-เฮซบอลเลาะห์" แทนที่จะใช้คำว่า "สงครามอิสราเอล-เลบานอน" ยิ่งกว่านั้น โพลของบีบีซี...ไม่ทราบคิดยังไง...ได้ตัดทิ้งหัวข้อ "ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์" ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้คนต่อต้านและเกลียดชังอเมริกาไปซะดื้อๆ - และนี่ก็เป็นแค่ "แง่มุมน่ารัก" เล็กๆ น้อยๆ จากการทำโพลของโลกตะวันตก ส่วนตัวเลือกที่ว่า "การโปรโมทประชาธิปไตย" ในโพลนี้ จะแปลว่าอะไร...คงต้องอีเมล์ไปถาม "ฮามาส")


 


ในส่วนของวัฒนธรรม หัวข้อที่ทำการสำรวจแบ่งเป็น 5 เรื่องเช่นกัน คือ ทัศนะของอาหรับที่มีต่อ : เสรีภาพและประชาธิปไตยแบบอเมริกัน ชาวอเมริกัน สินค้าของอเมริกา ภาพยนตร์และรายการทีวีของอเมริกา การศึกษาของอเมริกา


 


คำตอบยังคงมี 5 ตัวเลือกเหมือนเดิม คือ ชอบมาก (หรือรู้สึกในด้านบวกมาก) ค่อนข้างชอบ/ชอบพอใช้ ไม่ชอบเท่าไหร่ ไม่ชอบอย่างแรง และซื่อบื้อ-ไม่มีความคิดเห็น


 


สำหรับคำถามแรกของโพลที่ว่า "รู้สึกยังไงกับประเทศอเมริกา?"  ประเทศที่ความเกลียดชังเจริญงอกงามมากที่สุด (ไม่ชอบเท่าไหร่+ไม่ชอบอย่างแรง) เรียงตามลำดับได้ดังนี้ : จอร์แดน (90 เปอร์เซ็นต์ จากปีที่แล้ว 62 เปอร์เซนต์) โมร็อคโค (87 จากปีที่แล้ว 64) อียิปต์ (83) ซาอุดิอาระเบีย (82) เลบานอน (68 ไม่ชอบ/28 ชอบ)


 


ในส่วนของของนโยบายทั้ง 5 ที่มีการสำรวจ แต่ละประเทศมีความคิดเห็นดังนี้ (เรียงตามลำดับนโยบายที่ได้รับการต่อต้านมากที่สุด/ตัวเลขแรกคือเปอร์เซนต์ที่ต่อต้าน-ตัวเลขหลังคือเปอร์เซนต์ที่เห็นด้วย)


 


ซาอุดิอาระเบีย : 96 นโยบายอิรัก, 91 นโยบายเลบานอน, 88 นโยบายปาเลสไตน์, 79 การโปรโมทประชาธิปไตย, 74 นิวเคลียร์อิหร่าน


 


โมร็อคโค : 93 นโยบายปาเลสไตน์, 93 นโยบายอิรัก, 92 นโยบายเลบานอน, 80 การโปรโมทประชาธิปไตย, 70 นิวเคลียร์อิหร่าน


 


จอร์แดน : 88 นโยบายปาเลสไตน์, 88 นโยบายเลบานอน, 86 นโยบายอิรัก, 80 การโปรโมทประชาธิปไตย, 70 นิวเคลียร์อิหร่าน


 


อียิปต์ : 51-19 นโยบายเลบานอน, 51-20 นโยบายปาเลสไตน์, 50-26 นโยบายอิรัก, 42-22 การโปรโมทประชาธิปไตย, 38-28 นิวเคลียร์อิหร่าน


 


เลบานอน : 74-16 นโยบายปาเลสไตน์, 73-16 นโยบายอิรัก, 62-27 นโยบายเลบานอน, 55-26 การโปรโมทประชาธิปไตย, 51-33 นิวเคลียร์อิหร่าน


 


และเนื่องจาก "ลักษณะพิเศษ" ของเลบานอนที่เป็นสังคมผสมผสานระหว่างชีอะต์ ซุนนี และคริสเตียน จึงมีการสำรวจความคิดเห็นแยกย่อยแต่ละกลุ่มเพิ่มเติมตามมา และแน่นอนว่า...การต่อต้านนโยบายอเมริกาพบสูงสุดในกลุ่ม "ชีอะต์"


 


(ข้อสังเกตเพิ่มเติม : เมื่อเปรียบเทียบกับโพลบีบีซี จะเห็นว่าการสำรวจทัศนะใน 2 ประเทศ "อียิปต์กับเลบานอน" ให้ผลออกมาแตกต่างกันอย่างมาก เมื่อพิจารณารายละเอียด พบว่าแม้จะเป็นการสัมภาษณ์แบบ face to face เหมือนกัน แต่จำนวนกลุ่มตัวอย่างและช่วงเวลาไม่ตรงกัน โดยโพลของบีบีซี จะมีขนาดกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่กว่าและจังหวะเวลาล่าสุดกว่าโพลซอกบี ตัวอย่างเช่น ในเลบานอน มีการใช้กลุ่มตัวอย่างใหญ่กว่า 2 เท่าและสำรวจหลังการประท้วงใหญ่ในประเทศคือเมื่อ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา - ในแง่นี้...โพลบีบีซีจึงอาจจะ "ดูมีภาษี" กว่านิดหน่อย และนี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของความคลาดเคลื่อน)


 


สำหรับผลสำรวจทัศนะต่ออเมริกาในประเด็นที่เกี่ยวกับค่านิยม ผู้คน และวัฒนธรรม พบว่า..แม้จะมีการต่อต้านน้อยกว่าค่อนข้างมาก แต่ภาพลักษณ์ของอเมริกาก็อยู่ในทิศทางที่ตกต่ำลง ใน 5 หัวข้อที่กล่าวมา มีเพียง "การศึกษาของอเมริกา" อย่างเดียวที่ได้รับการโหวตจากทุกประเทศในทางบวกมากกว่าลบ


 


และด้วยรายละเอียดทั้งหมดจากโพลที่กล่าวมาประมาณนี้เอง วินาทีนี้ ผู้นำจอร์แดน อียิปต์ และซาอุดี จึงไม่น่าจะมีความสุขไปกว่ากันสักเท่าไหร่


 


เจมส์ ซอกบี (James Zogby) ที่ปรึกษา Zogby International และประธาน AAI ได้ตั้งข้อสังเกตว่า


 


"ขณะที่คะแนนของอเมริกาลดลง อิหร่านก็เพิ่มขึ้น" ซอกบีบอกกับนักข่าว "มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เรากำลังทำให้มันเป็นอย่างนั้น"


 


ในรายงานของไอพีเอส เขากล่าวว่า ระหว่างที่ผู้นำอาหรับ ชาติที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวซุนนี กำลังวิตกกังวลเรื่องอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของอิหร่าน "กระแสสาธารณะชนในอาหรับกลับมีมุมมองที่แตกต่างจากผู้นำอย่างมาก" ผู้ถูกสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ไม่วิตกกังวลกับโปรแกรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน


 


ชัดเจนว่า...จากโพลบีบีซี ซอกบี และอีกมากมาย...สิ่งที่สร้างความไม่พอใจ "ท่วมทะลัก" ให้ชาวอาหรับก็คือ การใช้กำลังทหารของอเมริกาในอิรัก และการแทรกแซง/หนุนหลังอิสราเอลในกรณีปาเลสไตน์และเลบานอนต่างหาก ใครกันแน่...ที่กลัวโปรแกรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน !!??? 91 เปอร์เซนต์ของชาวอียิปต์ 81 เปอร์เซนต์ของชาวตุรกี 77 เปอร์เซนต์ของชาวอินโดนีเซีย 74 เปอร์เซนต์ของชาวซาอุดิอาระเบีย หรือ 60 เปอร์เซนต์ของคนทั่วโลก? คนเหล่านี้ไม่ได้กลัวโปรแกรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน แต่พวกเขา "เกลียดสิ่งที่อเมริกากำลังทำกับอิหร่าน" ในประเด็นนี้มากกว่า


 


จนถึงวันนี้ ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ยืนยันว่าอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์หรือกำลังจะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้แม้แต่น้อย และที่สำคัญ ชาวอาหรับในท้องถนน "ส่วนใหญ่" ไม่ได้เดือดร้อนหรือวิตกจริตกับเรื่องนี้แต่อย่างใด


 


ย้อนหลังไปในปี 2006 หลังสงครามอิสราเอล-เลบานอนจบลงด้วย "ชัยชนะของเฮซบอลเลาะห์" ได้ไม่นาน มีการจัดทำโพลขึ้นในประเทศอียิปต์ โดยให้ประชาชนโหวต "นักการเมืองในดวงใจ" ที่ชื่นชอบมากที่สุด 2 คน ผู้ที่ได้คะแนนอย่างท่วมท้นคว้าชัยชนะมาเป็นอันดับหนึ่งคือผู้นำเฮซบอลเลาะห์ ฮัสซัน นัสราลลาห์ และที่ตามมาเป็นอันดับสองคือประธานาธิบดีอิหร่าน มาห์มูด อาห์มาดิเนจัด


 


ฮอสนี มูบารัก อาจจะมีความสุขกับถือหางอเมริกา-พูดจาให้ร้ายเฮซบอลเลาะห์ในช่วงสงครามเลบานอนที่ผ่านมา แต่ชาวอียิปต์ 92 เปอร์เซนต์ต่างก็สะบัดหน้า-ไม่มีใครเอาด้วยกับเขา


 


กษัตริย์อับดุลลาห์ (ซาอุดี) อาจจะมีปัญหากับอิทธิพลของอิหร่าน แต่ 82 เปอร์เซนต์ของคนในบ้านกำลังมีปัญหากับอิทธิพลของอเมริกามากกว่า


 


และไม่ว่า กษัตริย์อับดุลลาห์ (จอร์แดน) จะมีแผนนัดหมายพบปะกับผู้นำอเมริกาครั้งต่อไปเมื่อไหร่ ชาวจอร์แดน 90 เปอร์เซนต์กำลังทนไม่ไหวมากขึ้นเรื่อยๆ


 


ชาวอาหรับบนท้องถนนไม่ได้เกลียดชังหรือ "เอือมระอา" ผู้นำอเมริกาอย่างเดียว ถ้าทุกอย่างยังคงดำเนินต่อไปในแนวทางเดิมๆ ของมัน (แนวทางที่ส่งตรงจากดาวอังคาร) ไม่มีใครรับประกันได้ว่า พรุ่งนี้ มะรืนนี้ ผู้นำชาติอาหรับที่นอนไม่ค่อยหลับชั่วโมงนี้...จะยังมี "สุขภาพดี" ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน? o


 


 


---------------------------


ข้อมูลหลัก (รายงานผลสำรวจ 2 ฉบับ)


 


World View of US Role Goes from Bad to Worse, BBC World Service, 23 January 2007


Five Nation Survey of Middle East, Zogby International, December 2006


 


(ข้อมูลประกอบ : รอยเตอร์, วอชิงตันโพสต์, IPS, NPR, WSWS....และอื่นๆ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net