จากเอฟทีเอสู่หุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ประชาชนยังไร้เสรี


ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า FTA แม้จะมีชื่อเป็นสนธิสัญญาทางการค้า แต่ด้วยวัตถุประสงค์ที่มุ่งหมายขยายสัดส่วนทางการค้าระหว่างรัฐให้ถึงขีดสุด ขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งปวง ไม่เพียงแต่ภาษีนำเข้า ยังครอบคลุมถึงกฎระเบียบต่างๆ และการห้ามไม่ให้รัฐมีนโยบายอันจะเป็นอุปสรรคต่อการค้าเสรี ทั้งในด้านสวัสดิการสังคม สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์ นโยบายการเงิน การคลัง การลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือกระทั่งการแทรกแซงโดยรัฐ

 

อีกทั้งข้อตกลงการค้าเสรี ยังมีกระบวนการระงับข้อพิพาทและกลไกบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงฯ เช่น อนุญาโตตุลาการ หรือการกำหนดให้รัฐคู่ค้าที่ละเมิดความตกลงฯ ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ด้วยเหตุนี้ FTA จึงไม่ได้ส่งผลกระทบในวงจำกัดเฉพาะการค้า ภาคธุรกิจ แต่ยังส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อประเทศในทุกด้าน รวมถึงการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคน ซึ่งสร้างข้อห่วงกังวลมากมายกับภาคประชาชน

 

ปัจจุบันไทยมี FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้ว 4 ฉบับ ได้แก่ ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์ อาเซียน-จีน และไทย-อินเดีย โดย FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจา ได้แก่ อาเซียน-อินเดีย, อาเซียน-ญี่ปุ่น, อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, อาเซียน-เกาหลี, ไทย-เอฟต้า และ BIMSTEC ส่วน FTA ไทย-สหรัฐ และไทย-บาห์เรน ถูกระงับการเจรจาไปภายหลังการรัฐประหาร   แต่สำหรับกรณี FTA ไทย-ญี่ปุ่น หลังจากรัฐบาลชุดปัจจุบันประกาศก้องว่าจะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้ไม่นานก็ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนในการลงนามตามข้อตกลงที่เจรจาเสร็จสิ้นไป  จึงมีแนวโน้มว่า FTA ไทย-ญี่ปุ่นจะผ่านช่วงรัฐบาลนี้อย่างแน่นอน   ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มความร้อนแรงของเวทีการถกเถียงด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศ และกระบวนการจัดทำ FTA

 

สิ่งน่าสนใจใน FTAไทย-ญี่ปุ่น เริ่มตั้งแต่ชื่ออย่างเป็นทางการซึ่งนำคำอย่าง "ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ" (Economic Partnership Agreement: EPA) มาใช้อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ นอกเหนือจากการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่อยู่ในเอฟทีเอทั่วไปแล้ว ยังได้รวมความร่วมมือในสาขาต่างๆ ถือได้ว่าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจนั้นกินความกว้างขวาง และลึกซึ้งกว่าเขตการค้าเสรี  หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น FTA plus   นั่นหมายถึงการเปิดเสรีที่เพิ่มมากกว่าการเปิดเสรีการค้าทั่วไป

 

เมื่อพิจารณาความหมายของชื่อ และคำบอกเล่าของคณะผู้ผลักดันเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นไปพร้อมๆ กัน ที่พยายามชี้ประเด็นว่า นอกเหนือจากการเปิดเสรีการค้าแล้ว EPAจะช่วยพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นกว่า 9 สาขา สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และยังมีผลการศึกษาความตกลงเบื้องต้นที่กระทรวงต่างประเทศได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ซึ่งระบุว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น จะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยการเก็บเกี่ยวประโยชน์ของประเทศไทยจากเอฟทีเอนี้ยังต้องอาศัยการดำเนินการในอนาคตอีกมากนั้น

 

อาจทำให้นักลงทุน-รัฐบาลเกิดอาการเคลิบเคลิ้ม จนสร้างจินตภาพ สร้างความเชื่อมั่น และสร้าง "ความชอบธรรม" ได้บ้างว่าอนาคตเศรษฐกิจไทยจะสดใสแน่ อย่างไรก็ตามหากพิจารณาบทเรียนของเอฟทีเอที่มีผลบังคับใช้แล้ว และข้อท้วงติงถึงปัญหาต่างๆ ก็ย่อมตื่นจากพะวังมาขบคิดกับโจทย์ที่สำคัญลำดับต้นๆ ว่าเราจะสร้างกระบวนการเจรจาการค้าเสรีที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีหลักประกัน มีความถูกต้องชอบธรรม ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับได้อย่างไร เพราะนั่นหมายถึงหากเรามีพื้นฐาน มีหลักประกันซึ่งประชาชนเห็นพ้องและยอมรับ ย่อมจะทำให้การขยับเขยื้อนของตัวเลขทางเศรษฐกิจสร้างความสุข พัฒนาประเทศบนหลักการของประชาธิปไตยได้ ซึ่งคนทุกชนชั้นถูกเคารพและปฏิบัติอย่างมีสิทธิมีศักดิ์ศรี

 

สำหรับประเทศไทยจากอดีตจวบจนปัจจุบันการเจรจาเอฟทีเอถูกทำให้เป็นกระบวนการที่เป็นความลับสุดยอด และถือเป็นอำนาจโดยสิ้นเชิงของฝ่ายบริหารและคณะเจรจาที่จะร่วมเป็นผู้ติดสินใจสร้างการผูกพันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งกระทรวงต่างประเทศและคณะเจรจามักพร่ำบอกเสมอว่า การเจรจาระหว่างประเทศไม่ว่ากับประเทศใดคณะเจรจาไม่สามารถให้ภาคประชาชนดูร่างความตกลง (text) ในระหว่างการเจรจาได้ เพราะหากเปิดเผยจะทำให้มีการตีความที่หลากหลาย หากฝ่ายเจรจาชี้แจงประเทศคู่เจรจาก็อาจจะทราบถึงท่าทีที่แท้จริงของไทย และทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์ นอกจากนี้ยังถือเป็นมารยาทกับคู่เจรจาที่จะไม่เปิดเผยร่างความตกลงก่อนการลงนาม

 

กระนั้นคำอธิบายดังกล่าวยังมาพร้อมกับประโยคคุ้นหูว่าเอฟทีเอจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ช่วยกระตุ้นการค้าการส่งออก หรือหากจะเกิดผลร้ายกับธุรกิจ หรือประชาชนบางกลุ่ม หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการรองรับไว้แล้ว โดยเฉพาะกรณีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น คณะเจรจาได้พยายามชี้แจงต่อสาธารณะถึงผลดี-ผลเสียของข้อตกลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา ก็มีการจัดทำเวทีประชาพิจารณ์ แต่น่าเสียดายที่ไม่อาจเรียกอย่างเต็มปากว่าเป็น "เอฟทีเอฉบับแรกที่มีการจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้" เนื่องด้วยรูปแบบระยะเวลาดำเนินการรวบรัด คล้ายคลึงการสัมมนา หรือเวทีประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานมากกว่า อีกทั้งยังไม่มีการเปิดเผยให้ผู้เข้าร่วมและประชาชนทั่วไปเห็น หรือมีโอกาสศึกษาร่างข้อตกลงทั้งหมด ที่สำคัญยังไม่มีหลักประกันที่ยืนยันว่าข้อเสนอจะนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการเจรจา ปรับปรุงเนื้อหาร่างความตกลงฯ ได้

 

ยิ่งไปกว่านั้นกระทรวงการต่างประเทศและคณะเจรจายังมีท่าทีที่เป็นลบกับบุคคล หรือองค์กรที่แสดงความคิดเห็นต่างซึ่งมองว่ารายละเอียดความตกลงฯในบางจุดอาจส่งผลเสียในด้านต่างๆ อาทิ สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ระบบสาธารณสุข หรือ สิ่งแวดล้อม (ของเสียและขยะพิษ) ว่าเป็นผู้ที่ไม่มีความเข้าใจ หรือไม่เชี่ยวชาญเพียงพอ และพยายามหลีกเลี่ยง เบี่ยงเบนข้อถกเถียงเหล่านี้ซึ่งควรเป็นประเด็นสาธารณะที่ประชาชนมีสิทธิร่วมรับรู้ มีเสรีภาพในการตัดสินใจ ให้กลายเป็นเรื่องส่วนตัว หรือกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้าน ยกตัวอย่างเช่น การส่งหนังสือเชิญกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) หรือบุคคลที่ออกมาให้ความข้อมูล ความเห็นท้วงติงในรายละเอียดต่างๆ เข้าไปร่วมพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหา และข้อสงสัย ท้วงติงทั้งหมดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ด้วยข้อสังเกตบางประการข้างต้น ไม่ว่าในอนาคตจะใช้คำเรียก FTA หรือ EPA หากกระบวนการจัดทำความตกลง และทัศนคติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เปิดกว้าง ก็ย่อมเป็นกระบวนการลิดรอนความเป็นประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรูปแบบเดียวกัน

 

อย่างไรก็ดี ขณะนี้หน่วยงาน และองค์กรจำนวนหนึ่งได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงหลักการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนร่วมกันพิจารณา รวมทั้งตั้งประเด็นท้าทายความคิดอย่างน่าสนใจ อาทิ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เสนอให้รัฐบาลชะลอการเจรจาและทบทวนข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ไทยลงนามกับต่างประเทศแล้ว รวมทั้งที่อยู่ระหว่างเจรจา เพื่อให้ทุกคนได้พิจารณา ขณะเดียวกันต้องการให้รัฐบาลและรัฐสภาพิจารณาออกกฎหมายรองรับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศมีผลกระทบต่อประชาชน เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นต้องสร้างดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร รัฐสภา และประชาชน

 

ทีดีอาร์ไอเสนอให้รัฐบาลควรกำหนดยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้เป็นกรอบกติกาที่ชัดเจน ใน 2 ระดับคือ ระดับรัฐธรรมนูญ ควรมีการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะในมาตรา 224 ว่าการจัดทำข้อตกลง FTAจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากของรัฐสภาหรือไม่ 2) ควรยกร่าง พ.ร.บ.การเจรจาการค้าระหว่างประเทศไทย ให้เป็นกฎหมายเฉพาะในการดูแลการเจรจา เพื่อกำหนดกรอบขั้นตอน และวัตถุประสงค์ในการจัดทำข้อตกลงการค้าแต่ละฉบับ โดยอาศัยต้นแบบจากกฎหมายให้สิทธิการเจรจาของสหรัฐ (TPA 2002) ซึ่งมีการแบ่งอำนาจชัดเจนว่า ประธานาธิบดี (ฝ่ายบริหาร) สามารถดำเนินนโยบายด้านการเจรจาใดได้บ้าง และประเด็นที่อ่อนไหวแบบใดที่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน

 

ทางด้านกลุ่ม FTA Watch เห็นว่าสมควรจะต้องมี "กฎหมายการเจรจาและการจัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ" และมี "ข้อบัญญัติที่เหมาะสมในรัฐธรรมนูญ" ในส่วนที่เกี่ยวข้อง การมีกฎหมายที่ช่วยสร้างธรรมาภิบาลในเรื่องนี้ นอกจากจะช่วยให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายได้ ยังจะอำนวยให้ภาครัฐสามารถเจรจาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มอำนาจการต่อรองของรัฐบาล รวมทั้งลดความระแวงสงสัยในกรณีของผลประโยชน์ทับซ้อน โดยทั้งนี้ต้องอยู่บนหลักการ 1.กระบวนการจัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต้องเป็นกระบวนการที่มีการถ่วงดุลตรวจสอบระหว่างอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และภาคประชาสังคม 2. การเจรจาและการจัดทำความตกลงฯ จะต้องดำเนินไปบนหลักการความเป็นธรรม โปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน 3. เป้าหมายและสาระสำคัญของความตกลงจะต้องอยู่ภายใต้หลักการความเสมอภาค แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม โดยเฉพาะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และร่วมผลักดันร่างกฎหมายที่จะสามารถกำกับให้การเจรจาและการจัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มีความโปร่งใส มีส่วนร่วมจากประชาชน และมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ส่วนการลงนามความตกลงทางเศรษฐกิจทั้งหมดควรจะระงับไว้จนกว่าจะมีกฎหมายและกระบวนการที่เหมาะสมรองรับ เพราะหากไร้ซึ่งความตกลงที่ยอมรับได้กันระหว่างคนในประเทศ แล้วเราจะเดินหน้าพัฒนาความตกลงทางเศรษฐกิจการค้ากับนานาประเทศที่เป็นธรรม โปร่งใส มีส่วนร่วมได้อย่างไร.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท