ข่าวมอนิเตอร์ 31 มกราคม 2550 (เพิ่มเติม)

"นพดล" เผย ทักษิณเตรียมเดินสายสัมภาษณ์สื่อต่างชาติอีก

ไอ.เอ็น.เอ็น.: นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในงานแถลงข่าวว่าอดีตนายกรัฐมนตรีได้ฝากชี้แจงถึงกรณีตกเป็นผู้กล่าวหาว่าเป็นผู้ทุจริตในโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่ายินดีให้มีการตรวจสอบเต็มที่ แต่อย่าให้เป็นการตรวจสอบตามเนื้อผ้าเฉพาะส่วนที่มีการจัดซื้อจัดจ้างในการก่อสร้างที่เกิดปัญหาไม่อยากให้เป็นประเด็นทางการเมือง โดยรัฐบาลชุดเก่านั้นจะรับผิดชอบในส่วนนโยบาย ทั้งนี้นายนพดล กล่าวว่า อดีตนายกรัฐมนตรีเตรียมให้สัมภาษณ์กับสื่อโทรทัศน์ต่างชาติ ใน 2 - 3 วันนี้ พร้อมทั้งจะมีการตีพิมพ์และเผยแพร่บทสัมภาษณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรีในนิตยสารไทม์ ในวันศุกร์ที่ 2 ที่จะถึงนี้

 

ไกรศักดิ์ จี้ บรรจุ เรื่องการละเมิดสิทธิ์ไว้ใน รธน.ใหม่

ไอ.เอ็น.เอ็น : ไกรศักดิ์ ชุณหวัณ อดีต ส.ว.นครราชสีมา กล่าวในระหว่างการอภิปรายหัวข้อ ข้อเสนอเครือข่ายสิทธิมนุษยชนต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนทั้งทางศีลธรรม และคุณธรรมในสังคมไทย ไม่เคยเกิดขึ้น มากเท่าสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าไม่เคยเป็นประชาธิปไตย ขณะเดียวกันยังไม่มีกฎหมายใดที่จะให้อำนาจกับประชาชน หรือการมีส่วนร่วมภาคประชาชน นำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง ดังนั้นตนจึงอยากเสนอแนะว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะต้องป้องกันและลัทธิเผด็จการการเลือกตั้งเผด็จการแทรกแซงระบบสภาไม่ให้เกิดขึ้นอีก รวมทั้งควรบรรจุบทบัญญัติเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องจัดให้อยู่ในอันดับต้นๆ

 

อัดทักษิณชู "ทักษิโณมิกส์" ดีกว่าเศรษฐกิจพอเพียง

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ :ที่ประชุม คมช.จวก "ทักษิณ" เคลื่อนไหวนอกประเทศ ระบุไม่หวังดีต่อชาติ วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจไทย ยกระบบทักษิโณมิกส์ได้รับความเชื่อถือจากต่างประเทศมากกว่าเศรษฐกิจพอเพียง  ที่เป็นปรัชญาที่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ แต่คงมีประเทศไทยประเทศเดียว

 

คมช.ผนึกกำลังรัฐบาล-นักวิชาการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงต้านทักษิโณมิกส์

ผู้จัดการออนไลน์ :  พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. กล่าวว่า ที่ประชุม คมช.มีมติให้ทุกเหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประสานการทำงานกับรัฐบาลและทุกกระทรวง ทบวง กรม อย่างใกล้ชิด เพื่อขับเคลื่อนประเทศชาติตามแนวปรัชญาเศษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ให้ประสบผลสำเร็จ เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของประชาคมโลก นอกจากนั้น คมช.จะขอความร่วมมือจากนักวิชาการทุกสาขา ให้แสดงความคิดเห็นในเชิงทฤษฎี และข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการ เพื่อให้เห็นว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจ และสังคมไทย และนำไปสู่การเป็นรากฐานที่จะทำให้สังคมไทยไปสู่ระบบทุนนิยมแบบโปร่งใส และสอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของโลก

 

"นายก อศ.มร." บุก "ทรท." ร้องหยุดแทรกกิจกรรม ยันไม่เห็นด้วยยึดอำนาจ แต่อยากให้สมานฉันท์

แนวหน้า : นายสมโชติ มีชนะ นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง (อศ.มร.) กล่าวกรณีที่มีนักศึกษา ม.รามฯบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน คมช.ว่า ท่าทีของ อศมร.ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของ คมช.ตั้งแต่เริ่มต้นมาแล้ว แต่ขณะนี้สังคมต้องการบรรยากาศแห่งความสมานฉันท์มากที่สุด อศ.มร.อยากให้บ้านเมืองมีทางออกอย่างแท้จริง โดยขบวนการของประชาธิปไตย ส่วนที่มีนักศึกษาบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน คมช.นั้น ต้องยอมรับว่า ม.รามฯมีความหลากหลายทางความคิด ซึ่งมีข่าวว่ามีพรรคการเมืองภายนอกเข้ามาแทรกแซงพรรคนักศึกษาในรามฯ ขณะนี้เรากำลังตรวจสอบอยู่ อย่างไรก็ตาม นายกฯ อศ.มร. วอนรุ่นพี่ที่อยู่ในพรรคการเมืองระดับชาติไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม อย่าได้เข้ามาแทรกแซงกิจกรรมของนักศึกษา

 

'ทนายแม้ว' เผยถูกทหารประกบ วอนคุ้มครองชีวิต

เว็บไซต์เดลินิวส์ : นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีทหารติดตามตนอยู่ ตนได้สอบถามนายทหารคนนั้นแล้ว และได้รับคำตอบว่า ผู้พันคนหนึ่งส่งให้มาติดตาม โดยใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะ ตนขอวิงวอนด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินด้วย ตนเป็นทนายความที่ทำงานตามหน้าที่แบบตรงไปตรงมา ไม่สามารถตัดสินใด ๆ ได้ เพราะผู้ตัดสินชี้ขาด

 

ดัชนีลงทุนไทยดิ่งสุด เจโทรเปิดผลสำรวจบริษัทญี่ปุ่นใน 5 ชาติอาเซียน

แนวหน้า : นายโยชิอิ คาโตะ ประธานคณะกรรมการวิจัยทางเศรษฐกิจ หอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (เจซีซี) และประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจโทร) ในไทย แถลงผลสำรวจของเจโทรเกี่ยวกับดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจหรือค่าดีไอใน 5 ชาติอาเซียน คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และไทย ประจำเดือนมกราคม พบว่าประเทศไทยมีค่าดีไอต่ำที่สุด อยู่ที่ระดับ- 12.9 ขณะที่สิงคโปร์มีค่าดีไออยู่ที่ + 13.1 ดีที่สุดใน 5 ชาติอาเซียน รองลงมาคืออินโดนีเซีย +4.6 ฟิลิปปินส์ -4.3 และมาเลเซีย -4.6 โดยตัวเลขประเทศไทยตกต่ำต่อเนื่องมานานถึง 9 เดือน หากเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งค่าดีไอของไทยแย่ลงจากเดิมที่มีตัวเลขอยู่ในระดับเดียวกับฟิลิปปินส์และมาเลเซีย แต่ดีกว่าอินโดนีเซีย แต่พบว่าขณะนี้ไทยกลับแย่กว่าทุกประเทศรวมทั้งอินโดนีเซีย

 

 

อย่างไรก็ตาม ค่าดีไอดังกล่าวยังไม่รวมผลกระทบเหตุการณ์ระเบิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2549 และมาตรการกันสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาท การแก้ไข พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวและ พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง

 

 

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนเสนอแนวทาง รธน.

ไทยโพสต์ : คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ออกแถลงการณ์เสนอแนวทางการยกร่างฯ จำนวน 7 ประเด็น คือ 1.คุณสมบัติของผู้ลงสมัคร  ส.ส.  โดยยกเลิกการจำกัดวุฒิการศึกษา ยกเลิกการบังคับให้ผู้สมัคร  ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง  2.ต้องยกเลิกบทบัญญัติที่ให้รัฐต้องสนับสนุนเศรษฐกิจเสรีแบบกลไกตลาด  เพราะทำให้ละเลยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3.ต้องรับรองพันธกรณีแห่งประเทศตามกติกาสากล  ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนให้มีผลผูกพันตามกฎหมายในประเทศ 4.ต้องบรรจุขั้นตอนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ  โดยต้องบัญญัติเจตนารมณ์และแนวทางไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 5.หมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้คงความสำคัญของรัฐธรรมนูญปี 2540  6.ให้  ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งตามเดิม และนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งหรือมาจาก ส.ส.เท่านั้น และ 7.รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองใหม่ เพื่อปูทางไปสู่การปฏิรูปการเมืองที่สมบูรณ์ในอนาคต

 

 

ใช้ 3 พันล้านร่าง รธน.

ไทยโพสต์ : ไทยโพสต์อ้างแหล่งข่าวระดับสูงจาก ส.ส.ร. เปิดเผยถึงงบประมาณทั้งหมดที่ใช้การในทำร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติทั้งหมดว่า  จะตกอยู่ที่ประมาณ  3,000  ล้านบาท  โดยงบประมาณที่จะใช้ทำประชามติอยู่ที่  2,000  ล้านบาท  โดยขณะนี้ทางสำนักงานสภาผู้แทนราษฎรได้ทำหนังสือไปยังรัฐบาลเพื่อขออนุมัติที่จะใช้ในการทำประชามติแล้ว ส่วนงบประมาณของคณะกรรมาธิการแต่ละคณะในสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น  ขณะนี้ทาง ส.ส.ร.ได้รับงบประมาณมาจำนวนทั้งหมด   21  ล้านบาท แบ่งเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน  14  ล้านบาท  และคณะกรรมาธิการสามัญและวิสามัญจำนวน  12  ชุด รวมทั้งหมด  17  ล้านบาท 

 

ทั้งนี้งบประมาณจัดทำรัฐธรรมนูญปี  2550 มากกว่าที่ใช้ในการยกร่างฯ ปี 2540 ที่อยู่ในวงเงิน  17  ล้านบาท  ซึ่งขณะนั้นมีคณะกรรมาธิการเพียงแค่ 5 ชุดเท่านั้น แต่ครั้งนี้นี้มีคณะกรรมาธิการเพิ่มขึ้นเกือบ   3 เท่า ดังนั้นจึงต้องของบประมาณเพิ่มเติมจากเดิมเป็น 3 เท่า ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดสรรงบให้คณะกรรมาธิการแต่ละชุดแล้วเบื้องต้นได้คณะละ 2-3 ล้านบาท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท