Skip to main content
sharethis

 



 


ศูนย์ข่าวประชาสังคม อุบลฯ


 


 


เพิ่มอำนาจ ปชช.ตรวจสอบองค์การของรัฐมากขึ้น เพิ่มศาลเลือกตั้ง,ศาลสิ่งแวดล้อม,องค์กรตรวจสอบการเมืองระดับท้องถิ่น ใน รธน.ฉบับใหม่


 


จากเวทีระดมความคิดเห็นระดับจังหวัดเรื่อง "รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ควรมีสาระสำคัญอย่างไร" เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 50 ที่โรงแรมลายทอง ซึ่งจัดโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีนายเสนีย์ จิตตเกษม รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธาน และมีผู้เข้าร่วมจากองค์กรต่างๆ ในจังหวัดอุบลฯ, อำนาจเจริญ, ยโสธร ซึ่งในภาคเช้าของการสัมมนาได้แบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อเสนอสาระสำคัญและปัญหา


 


โดยกลุ่มที่หนึ่งเป็นเรื่องของอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร ซึ่งได้เสนอต่อที่ประชุมว่า ระบบรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นควรมีทั้งสองสภาเช่นเดิม คือ ส.ส.และ ส.ว.ในขณะที่ ส.ส.นั้นไม่ควรมีระบบบัญชีรายชื่อ แต่ยังคงให้มาจากการสังกัดพรรคการเมือง ทั้งนี้จะต้องลดจำนวน ส.ส.ลงจากที่มีอยู่เดิม 500 คน และมาจากตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ อย่างเป็นสัดส่วนที่เหมาะสม ด้านคุณสมบัตินั้น ควรมีวุฒิทางการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งการเลือกตั้ง ส.ส.นั้นควรเป็นหน้าที่ แต่ให้ยกเลิกการเลือกตั้งในต่างประเทศและควรนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง


 


ด้าน ส.ว.นั้น ไม่ควรมีอำนาจกลั่นกรองกฎหมายอย่างเดียว นั้นคือ ควรมีอำนาจควบคุมการทำงานของรัฐบาล,อำนาจในการแต่งตั้งหรือถอดถอน องค์กรอีสระด้วย ทั้งนี้ที่มาของ ส.ว.นั้นควรมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งควรมีคุณสมบัติคือ ไม่ควรเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใด และมีวุฒิการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไปและดำรงตำแหน่งสมัยเดียว


 


ในส่วนของอำนาจบริหารนั้น ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ควรมาจาก ส.ส.หรือแต่งตั้งจากบุคคลภายนอกซึ่งควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และมีต้องกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งด้วย ด้านรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น ซึ่งนั้นคือจะมาจากบุคคลภายนอกไม่ได้ และควรกำหนดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอาไว้ด้วย นอกจากนั้นยังได้เสนอให้รัฐบาลเมื่อถูกรัฐประหารแล้วไม่ควรกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ที่สำคัญคือควรกำหนดแนวทางตรวจสอบไว้ในรัฐธรรมนูญที่ชัดเจน


 


กลุ่มที่สองเป็นเรื่องของอำนาจตุลาการและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยได้เสนอกับที่ประชุมว่า ควรให้มีศาลยุติธรรมต่อไป และควรให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจศาลยุติธรรมและศาลอื่นๆ ด้วย เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง ควรให้สิทธิโดยตรงแก่ประชาชนสามารถฟ้องร้องนักการเมืองที่ทุจริต ด้านองค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น ควรให้ประชาชนมีบทบาทในการสรรหามากที่สุด เพื่อป้องกันการจัดสรรสัดส่วนของนักการเมือง โดยควรเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้น ด้าน ปปช.นั้นควรตรวจสอบเฉพาะผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง เพื่อไม่ให้มีคดีที่ตกค้างเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ควรเพิ่มจำนวนองค์กรอีสระให้มากกว่าที่มีอยู่นั้นคือ ศาลเลือกตั้ง,ศาลสิ่งแวดล้อม,และองค์กรตรวจสอบการเมืองระดับท้องถิ่น เนื่องจากปัจจุบันท้องถิ่นมีอำนาจมากเกินไป


 


ในขณะที่กลุ่มที่สามเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพและบทบาทภาคประชาชนนั้นเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนมากพออยู่แล้ว แต่ที่ควรเพิ่มคือ สิทธิที่จะได้รับจากรัฐในการศึกษาฟรีจนถึงระดับปริญญาตรี ซึ่งจากบทสรุปการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้จะได้นำเสนอต่อ สสร.ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net