Skip to main content
sharethis

"น้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม" เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ นอกเหนือจากมลพิษทางอากาศ และการปนเปื้อนของน้ำใต้ดินของชุมชนรอบนิคมฯ มาบตาพุด กรีนพีซได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำทิ้งและตะกอนจากโรงงาน 2 แห่งในมาบตาพุดพบโลหะหนัก-สารประกอบอินทรีย์หลายชนิดที่สะสมยาวนานและเป็นอันตราย

ชื่อเดิม  :  โลหะหนัก สารอินทรีย์ระเหยและมลพิษตกค้างยาวนาน

ที่ปนเปื้อนในน้ำทิ้งของบริษัทอุตสาหกรรมข้ามชาติในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด1

โดย  กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 

 

"...เรื่องราวของมาบตาพุดและชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ คล้ายดังนวนิยายที่คุ้นเคยกันดีและมีอยู่ทั่ว

โลก ความเด่นของมันคือ มีการเรียกร้องที่ยาวนานของชุมชน และก็ไม่มีการแก้ไขปัญหาที่จริงจังจาก

ฝ่ายรัฐบาลและอุตสาหกรรมเลย เพราะอะไร? เพราะสังคมสมัยใหม่ที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากซาก

เชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน) และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (พลาสติก วัสดุสังเคราะห์

สิ่งของที่ใช้แล้วทิ้ง) ได้ทำให้ความสะดวกสบายนั้นสำคัญยิ่งไปกว่าชีวิตคนนับล้านที่ต้องฝืนทนมีชีวิต

อยู่ใต้เงาอุตสาหกรรม ความคิดอันหยาบกระด้างและการรับรู้ข้อมูลที่ผิด ถ่ายทอดออกมาผ่านหมู่คนที่

ไม่เคยรับรู้ถึงความจริงอันโหดร้ายในพื้นที่อุตสาหกรรม เช่น "ก็แค่ย้าย(หนีปัญหา)ออกไปซะ"

ความคิดทำนองนี้ไม่เพียงแต่ซ้ำเติมเหยื่อผู้บริสุทธิ์จากการพัฒนาที่เป็นพิษ หากแต่ยังเป็นการ

เพิกเฉยความจริงที่ว่า มลพิษที่ตกค้างยาวนานสามารถแพร่กระจายและส่งผลกระทบในวงกว้างกว่าที่

เราเห็นเป็นควันออกมาจากปล่องโรงงานมากนัก..."

 

ส่วนหนึ่งของบทนำในรายงาน "อะไรอยู่ในอากาศ : ความลับที่คนมาบตาพุดและคนไทยยังไม่รู้"2

 

 

 

โลหะหนัก สารอินทรีย์ระเหยและมลพิษตกค้างยาวนานที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

 

กรีนพีซได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำทิ้งและตะกอนจากโรงงาน 2 แห่งที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม

มาบตาพุด3 เพื่อหาปริมาณโลหะหนักและสารประกอบอินทรีย์ (organic chemicals) ในระหว่างปี พ.. 2546

และ 2547

 

ถึงแม้ว่าจะผ่านมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่เป็นหลักฐานยืนยันถึงประเด็นสำคัญต่อกรณีวิกฤตมลพิษที่

มาบตาพุด กล่าวคือ มันเป็นวิกฤตรอบด้าน ไม่ใช่เพียง "มลพิษทางอากาศ" ซึ่งมีการถกเถียงกันใน 2 เรื่องใหญ่

 

คือ การศึกษาความสามารถในการรองรับมลพิษ (Carrying Capacity) ของพื้นที่ซึ่งเน้นไปที่มลสารพื้นฐานคือ

ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจนและฝุ่นละอองขนาดเล็ก และอากาศที่ปนเปื้อนด้วยสารอินทรีย์

ระเหย (Volatile Organic Compounds, VOCs) แต่เพียงเท่านั้น

 

น้ำทิ้งที่ระบายจากโรงงานทั้งสอง มีสารอินทรีย์ระเหยที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบซึ่งมีคุณสมบัติเป็น

พิษอยู่หลายชนิด ที่สำคัญที่สุุดคือ เอทิลีนไดคลอไรด์ (EDC) ที่ความเข้มข้นถึง 250 ไมโครกรัม/ลิตร ซึ่งหากเทียบกับสหรัฐอเมริกา การที่โรงงานประเภทเดียวกันนี้จะปล่อยน้ำทิ้งที่ระดับความเข้มข้นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ทั้งนี้ เอทิลีนไดคลอไรด์ ไม่เพียงเป็นสารเคมีตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์อีกด้วย

 

มลสารที่พบในน้ำทิ้งรวมถึง 2,4,6-ไตรคลอโรฟีนอล (2,4,6-trichlorophenol) ซึ่งเป็นสารประกอบ

อินทรีย์ที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบที่ระเหยได้น้อยกว่า และ DEHP ซึ่งเป็นสารประกอบในกลุ่มพธา

เลตเอสเทอร์ (phthalate ester) ใช้กันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมพีวีซีเพื่อเป็นสารเติมแต่ง

(additives) และค่อนข้างตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อมและเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์

 

 

ควรกล่าวไว้ในที่นี้ด้วยว่า สารอินทรีย์ระเหยส่วนหนึ่งจะระเหยไปในอากาศระหว่างกระบวนการผลิต

การจัดเก็บ การเคลื่อนย้ายและการใช้ หรือระเหยออกจากน้ำเสียระหว่างกระบวนการบำบัดและระบายออก

ปริมาณสารประกอบที่ระเหยง่ายซึ่งหลุดรอดสู่บรรยากาศโดยเส้นทางเหล่านี้มีนัยสำคัญต่อการปนเปื้อนใน

สิ่งแวดล้อม เช่น ในอากาศ เป็นต้น ซึ่งจะไม่ครอบคลุมในการวิเคราะห์ส่วนนี้

 

ในกรณีของโรงงานไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ พบสังกะสี(Zn)ในตัวอย่างน้ำทิ้ง 2 ตัวอย่างใน

ปริมาณ 1,590 ไมโครกรัม/ลิตร และ 3,020 ไมโครกรัม/ลิตร ตามลำดับ4 สารประกอบสังกะสีเป็นสารปรับเสถียร (stabilizer) ที่นำมาใช้อย่างแพร่หลายในการผลิตพลาสติกพีวีซี และอาจเป็นที่มาของการปนเปื้อนของสังกะสีในน้ำทิ้งดังกล่าว

 

การวิเคราะห์ตัวอย่างตะกอนจากบริเวณท่อน้ำทิ้งของโรงงานไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยังพบ

สารประกอบพธาเลตเอสเทอร์ คือ DEHP และสารประกอบคลอรีนอื่นๆ เช่น ออกตาคลอโรสไตรีน

(octachlorostyrene) และสารกลุ่มเบนซีนซึ่งมีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ (chlorinated benzenes) แม้จะเป็นปริมาณน้อยก็ตาม สารเหล่านี้ตกค้างยาวนานมากในสิ่งแวดล้อมและมีหลายชนิดที่สามารถสะสมในร่างกายของสัตว์และมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพนตาคลอโรเบนซีน (pentachlorobenzene) และ เฮกซาคลอโรเบนซีน (hexachlorobenzene หรือ HCB) ซึ่งเป็นพิษสูงต่อมนุษย์และสัตว์

 

การวิเคราะห์ยังพบสารประกอบอินทรีย์เป็นพิษและการปนเปื้อนโลหะหนักในระดับสูงในตะกอนจาก

บริเวณท่อน้ำทิ้งและในน้ำทิ้ง ชี้ให้เห็นว่า มีการสะสมสารพิษเหล่านี้ในสิ่งแวดล้อมจากการระบายน้ำเสียของ

โรงงาน และการวิเคราะห์พบสารอินทรีย์ที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบในตะกอนที่บริเวณท่อน้ำทิ้งของโรงงาน

ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ชี้ให้เห็นว่ามีการปล่อยทิ้งสารพิษเหล่านี้มาก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากมลสารเหล่านี้เป็นสารพิษที่ตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม การที่พบในคลองระบายน้ำเสียของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดแสดงให้เห็นถึงการระบายสารพิษเหล่านี้สะสมลงสู่อ่าวไทยด้วย

 

 

ข้อเรียกร้องของกรีนพีซ

มติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่เลื่อนเวลาประกาศให้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นเขต

ควบคุมมลพิษออกไปนั้นถือเป็นสิ่งที่น่าอัปยศอย่างที่สุด มตินี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมข้ามชาติที่ก่อมลพิษ มากกว่าการปกป้องสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

แม้ว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษไม่อาจนำมาซึ่งการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หากเป็นเสมือน "วัวหาย

ล้อมคอก" แต่อย่างน้อยที่สุด การตัดสินใจดังกล่าว เป็นการพิสูจน์ถึง "เจตจำนงทางการเมือง" ในการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรเทาปัญหามลพิษที่กำลังคุกคามชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และอาจนำไปสู่การนำมาตรการเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพมาใช้

 

กรีนพีซมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้

 

1) ดำเนินการให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนและสิทธิในการรับรู้ของชุมชน เช่น ทำเนียบการปล่อยทิ้ง

สารพิษ (Pollutants Release and Transfer Register) ควรจัดทำให้แล้วเสร็จและเผยแพร่ต่อสาธารณะ

ชน (Community Right-to-Know) ซึ่งจะนำไปสู่การตรวจสอบและระบุแหล่งกำเนิด ชนิดและปริมาณ

มลพิษทั้งหมดที่ปล่อยออกมาจากพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ความลับทางการค้าต้องไม่อยู่เหนือ

ผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ จากการรับรู้ถึงอันตรายและภาระผูกพันต่างๆ ที่พ่วงมาด้วยกับ

ผลผลิตของบรรษัทอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะในรูปของมลพิษของผลพลอยได้หรือตัวผลิตภัณฑ์เอง

 

2) ดำเนินการด้านการผลิตที่สะอาด (Clean Production) โดยการลดการปล่อยทิ้งมลพิษให้เหลือน้อยที่สุด

จากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมพื้นที่ ไปจนถึงการปล่อยทิ้งมลพิษเป็นศูนย์ การซื้อขาย

การปล่อยมลพิษระหว่างโรงงานในพื้นที่มาบตาพุดเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งส่งเสริมให้เกิดการ

ปล่อยมลพิษในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

3) ดำเนินการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน รับประกันว่า

จะไม่มีการขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด ไม่ว่าจะเป็น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และ

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเฟสใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

 

 

 

 

 

1 รายงานทางเทคนิคของห้องปฏิบัติการงานวิจัยกรีนพีซ มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ สหราชอาณาจักร, พฤศจิกายน 2547.สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับสมบูรณ์ (ภาษาอังกฤษ) ได้ที่ www.greenpeace.or.th

 

2 รายงานจัดทำโดยกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ Global Community

Monitor, ตุลาคม 2548.

 

3 บริษัทวีนิไทยและบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ โรงงานทั้งสองแห่งนี้ปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองระบายน้ำเสียที่ผ่านใจกลาง

นิคมอุตสาหกรรมและไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยด้านตะวันออกของพื้นที่นิคม โรงงานทั้งสองทำการผลิตพลาสติกพีวีซี และมีวัตถุดิบ

ที่ใช้ในกระบวนการผลิต ได้แก่ คลอรีน, เอทิลีนไดคลอไรด์ (EDC), และ ไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (VCM)

 

4 มาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมกำหนดให้มีสังกะสีไม่เกิน 5.0 มิลลิกรัมต่อลิตร

(http://www.pcd.go.th/info_serv/reg_std_water04.html#s1)

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net