Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ลุงเจริญ เดชคุ้ม เป็นอดีตชาวประมงในชุมชนรอบพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุด เข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชนกรณีโดน "ความเจริญ" รังแก สร้างมลพิษทั้งน้ำและอากาศจนสุดจะทน ขณะนี้รัฐไทยกำลังกระอักกระอ่วนว่าจะเลือก "ความเจริญ" หรือ (ลุง)เจริญ และรัฐที่ฉลาดย่อมเลือกทั้ง 2 อย่าง... ว่าแต่เราเคยมีรัฐที่ฉลาดหรือไม่ ??!!

 

แขกไม่ได้รับเชิญ

 

 

 

จำได้ว่าเจอ "ลุงเจริญ เดชคุ้ม" ครั้งแรกในงาน "รวมพลคนไม่เอาถ่านหิน" เมื่อต้นปี 2548 ซึ่งเป็นเวทีคู่ขนานการจัดประชุมถ่านหินโลกของภาครัฐ (และเอกชน)

 

ความเจ้าบทเจ้ากลอนของอดีตชาวประมงจากระยองทำให้เขาดูโดดเด่นเป็นที่จดจำ  แต่สำหรับประเด็นปัญหาที่เขานำเสนอนั้น ไม่มีนักข่าวคนไหนให้ความสนใจ เพราะพื้นที่ระยองของลุงเป็นเขตอุตสาหกรรมที่มีปัญหามลพิษมาเนิ่นนาน "ไม่ใหม่".... หรือกระทั่งหลายคนอาจรู้สึกด้วยซ้ำว่า "ไม่แปลก" !!!

 

เป็นเรื่องตลกร้ายที่ยิ่งนาน ความบอบช้ำของคนในชุมชนรอบๆ พื้นที่อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง (และพื้นที่อื่นๆ) ยิ่งมากขึ้น ขณะที่ความรู้สึกสนใจ เห็นใจของสังคมจะยิ่งน้อยลง ....."พูดกันแต่เรื่องเดิมๆ"

 

การโหนกระแสสังคมให้กลับมาสนใจชาวบ้านตัวเล็กๆ อีกครั้ง มีอยู่ 2 ทางคือ เกิดอุบัติภัยหรือเหตุเจ็บป่วยล้มตายกันเป็นเบือ หรือไม่ชาวบ้านก็ต้องรวมพลังกันปิดถนน ล้อมทำเนียบ...ทำนองนั้น

 

ประเด็นหลังเห็นทีจะลำบากตามประสาชุมชนเมืองอุตสาหกรรมที่ความเจริญหั่นเกลียวความสัมพันธ์ของผู้คนให้แตกสลาย กระจัดกระจายไปนานแล้ว ส่วนหนทางแรกนั้นต้องจ่ายราคาสูงลิบ แต่ก็เกิดขึ้นเป็นระยะๆ  ทั้งที่ไม่อยากให้มันเกิดก็ตาม

 

      2533 สารปรอทรั่วจากท่อส่งก๊าซของโรงแยกก๊าซในนิคมฯ รั่วไหลปนเปื้อนในอ่าวไทย    

      2538 พบสารปรอทปนเปื้อนในอ่าวไทยในปริมาณสูงขึ้น เนื่องจากการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ

              ในพื้นที่นิคมฯ

      2539 ก๊าซระเบิดในโรงงานไทยแท็งค์เทอมินอล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่บริเวณท่าเรือ

      2540 ครู-นักเรียนโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคารจำนวนกว่า 500 คน ต้องย้ายออกจาพื้นที่

              เนื่องจากมีการเจ็บป่วยและไม่สามารถทนกลิ่นเหม็นจากโรงงานกลั่นน้ำมันสตาร์ รีไฟน์นิ่ง

      2541 พบกากสารพิษและขยะอุตสาหกรรมของกลุ่มโรงงานในนิคมฯ ถูกลักลอบนำไปทิ้งยังที่ต่างๆ

              ในเขตระยอง-ชลบุรี

      2543 ชาวบ้านเขตเทศบาลมาบตาพุด สูดสารคาร์บอนิวคลอไรด์ที่ถูกปล่อยจากโรงงานผลิตเม็ด

              พลาสติก ไทยโพลีคาร์บอร์เนต ต้องเข้ารักษาอาการเจ็บป่วยกว่า 200 คน เสียชีวิต 1 ราย

ฯลฯ

 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ลุงเจริญเป็นตัวแทนชุมชนที่เดินทางไปร่วมแถลงข่าวราวแผ่นเสียงตกร่อง "เราไม่ไหวแล้ว…หยุดของใหม่ แก้ปัญหาของเก่า" ร่วมกับกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ที่ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องพลังงาน หรือเรื่องอื่นใดก็ตามที่ปัญหาของมาบตาพุดพอจะร่วมเกาะเกี่ยวไปกับเขาได้

 

แปลกแต่จริง แม้เจอแกบ่อยๆ ในงานแถลงข่าว แต่แทบไม่เคยได้อ่านสิ่งที่แกแถลงเลยในหน้าหนังสือพิมพ์ และยิ่งไม่ต้องพูดถึงสื่ออื่นๆ  

 

แต่ตอนนี้ เดาเอาว่ารอยยิ้มน่าจะปรากฏบนใบหน้าดำคล้ำหม่นหมองของแกบ้างแล้ว เพราะลุงและผู้คนใน 25 ชุมชนรอบเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีโอกาสสะท้อนชีวิตเข็ดขมผ่านหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ และถึงขนาดที่บางฉบับเล่นเรื่องนี้อย่างจริงจังติดต่อกันแบบ "กัดไม่ปล่อย"

 

เหตุเนื่องมาจากจะมีการขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 (2547-2561) ในพื้นที่มาบตาพุด และการขยายโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอีก 9 โรง โดยที่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีโรงงานอยู่อยู่แล้ว  64 แห่ง เป็นอุตสาหกรรมหนักที่อันตรายและก่อมลพิษสูง ประเภทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีจำนวน 32 โรงงาน อุตสาหกรรมเคมีและปุ๋ยเคมี 7 โรง อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า 8 โรง ฯลฯ หากรวมทั้งหมดในพื้นที่ระยองจะมีโรงงานเกือบ 2,000 แห่ง

 

โดยที่แผนระยะ 3 นี้เป็นส่วนหนึ่งของ "ฮับพลังงาน" หรือ "แผนยุทธศาสตร์พลังงานเพื่อการแข่งขันของประเทศ" ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ

 

0-0-0

 

เสียงร้องของชาวบ้านดังขึ้นอีกหนแม้จะกล่องเสียงจะอักเสบไปแล้ว มีการนำเอามรบัตรของชาวบ้านที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งตั้งแต่ปี 2540 เข้าร้องต่อกรมควบคุมมลพิษ นอกจากนี้ยังมีองค์กรต่างๆ ร่วมเป็นกองหนุนด้านข้อมูลที่ทำให้เห็นปัญหาดั้งเดิมอย่างเป็นระบบ   

 

  • เริ่มต้นจากหน่วยงานราชการอย่าง "กรมควบคุมมลพิษ" ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลการสำรวจอากาศ

ในพื้นที่ในปี 2548 พบสารอินทรีย์ระเหยกว่า 40 ชนิด โดยเป็นสารก่อมะเร็ง 20 ชนิด สารก่อมะเร็งเกือบทั้งหมดมีค่าสูงเกินมาตรฐานมาก

 

  • ข้อมูลมลพิษทางอากาศสอดคล้องกับ "กรีนพีซ" องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานในพื้นที่มา

หลายปี และโดยเฉพาะการต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้า "บีแอลซีพี" ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ในเขตมาบตาพุด

 

กรีนพีซออกมาระบุในปี 2547 ว่า พบคลอโรฟอร์สูงกว่าระดับเฝ้าระวังถึง 119 เท่า เบนซินสูงกว่าระดับเฝ้าระวังถึง 60 เท่า และไวนีลคลอไรด์สูงกว่าระดับเฝ้าระวัง 86 เท่า

 

  • กลุ่มรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม นำโดยเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง เป็นอีกกลุ่มที่ทำงานในพื้นที่นี้มานาน

โดยมีการเชื่อมต่อกับนักวิชาการ นักวิจัยจากสถาบันการศึกษาที่ลงไปทำวิจัยในพื้นที่ ร่วมกันแถลงข่าวให้ข้อมูลสำคัญหลายอย่าง

 

โดยในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ ทางกลุ่มจะนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเรื่อง "โครงการวิจัยการเข้าถึงมลพิษ เพื่อสังคมที่ปลอดภัย" ซึ่งศึกษาในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แบ่งออกเป็น 3 ประเด็น คือ 1.การศึกษากฎหมายการปล่อยมลสารและสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมสู่สิ่งแวดล้อม 2.ยกกรณีศึกษาที่กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมว่ามีการปล่อยมลสารที่เกิดจากการผลิตทางอุตสาหกรรมออกมาสู่ชุมชนอย่างไรบ้าง และ 3.การเผยแพร่ข้อมูลของโรงงานสู่ชุมชนหรือสาธารณชนเป็นอย่างไรบ้าง และสาธารณชนได้รับข้อมูลจากโรงงานมากน้อยเพียงใด

 

  • ทีมนักวิชาการ อย่าง "เดชรัตน์ สุขกำเนิด" อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เป็นนัก

เศรษฐศาสตร์ "แหกคอก" ที่สนใจมิติทางสังคม เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

 

เดชรัตน์รวบรวมข้อมูลให้เห็นบริบทการลงทุนในพื้นที่ว่า ไม่ว่าใครจะนำเสนอผลกระทบอย่างไร แต่บัดนี้ภาครัฐกำลังเตรียมถมทะเลในเขตนิคมมาบตาพุดเพิ่มอีก 1,450 ไร่ เตรียมขยายท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด

ส่วนปตท.และบริษัทอุตสาหกรรมรายใหญ่หลายรายก็ล้วนมีแผนขยายโครงการขนาดยักษ์กันอย่างคึกคัก

 

รวมไปถึงผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (ไอพีพี) ซึ่งต่างก็เล็งมาบตาพุดไว้สำหรับสร้าง-ขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กำลังจะเปิดประมูลไอพีพีหรือโรงไฟฟ้าเอกชน เร็วๆ นี้อีกไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกกะวัตต์

 

นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ที่ตั้งอยู่บริเวณอำเภอบ้านฉางกับเทศบาลเมืองมาบตาพุดก็กำลังขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีบนพื้นที่กว่า 2,500 ไร่ ทั้งที่ก่อนหน้าที่เคยเป็นพื้นที่สีเหลืองเพื่อการอยู่อาศัยอยู่หลัดๆ

 

(อ่านเพิ่มเติมได้ใน ขยาย "มาบตาพุด" : การเบียดเบียนที่ไม่สิ้นสุดในยุคเศรษฐกิจพอเพียง)

 

ดร.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต นำเสนอปัญหาน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้านที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก บ่อน้ำตื้นที่มีการสำรวจ 25 ชุมชนรอบมาบตาพุด พบว่ามีสารโลหะหนักกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะแคดเมียม เหล็ก ตะกั่ว ซึ่งล้วนแต่สูงเกินมาตรฐานมาก เช่น

 

ชุมชนบ้านบน มีเหล็กเกินมาตรฐานถึง75.71 มิลลิกรัม/ลิตร ขณะที่ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 0.5 มิลลิกรัม/ลิตร ชุมชนคลองน้ำหู พบสารตะกั่วสูงถึง 2.3 มิลลิกรัม/ลิตร จากค่ามาตรฐานอยู่ที่ 0.05 มิลลิกรัม/ลิตร

 

  • ภาคประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีหลากหลาย แต่ที่ออกมาให้ข่าวบ่อยครั้งคงหนีไม่พ้น "สุทธิ อัชฌาศัย"

แกนนำชาวบ้านที่เพิ่งเห็นหน้าเห็นตาเมื่อปีที่แล้วในการต่อสู้กับ "อีสวอเตอร์" ที่แย่งน้ำชาวบ้านไปป้อนให้อุตสาหกรรมในสภาวะที่น้ำในอ่างเก็บน้ำแทบจะไม่เหลือติดก้นอ่าง การต่อสู้ครั้งนั้นดุเดือดและไม่อาจหยุดได้ ตราบที่ชาวบ้านยังเสียเปรียบในโครงสร้างการบริหารจัดการทรัพยากร มีการเดินหน้าขยายแนวร่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกร่วมกันก่อตั้ง "เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก" เพื่อเชื่อมโยงผู้คนและปัญหาในพื้นที่

 

คราวนี้เขาปรากฏตัวเป็นผู้รวบรวมผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้รวบรวมได้กว่า 30 กว่าคนแล้ว เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลและติดตามวินิจฉัยโรคโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางให้ทราบว่าการเกิดโรคปอดอักเสบของคนแถวนั้นมีที่มาอย่างไร เพื่อจะนำไปเป็นหลักฐานพิสูจน์ในชั้นศาลหากจะมีการฟ้องร้องโรงงานอุตสาหกรรมและผู้เกี่ยวข้อง ในฐานะที่เป็นผู้ปล่อยมลพิษ

 

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งชาวบ้านและรณรงค์กันในชุมชน โดยวันที่ 29 ม.ค.นี้ ประกาศปฏิญญาชุมชนว่าชาวระยองไม่เอาอุตสาหกรรม และจะมีการติดธงสีเขียวไว้ที่หน้าบ้าน วันที่ 30 ม.ค.จะเดินทางมายื่นหนังสือต่อกระทรวงต่างๆ ที่รับผิดชอบ รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเพื่อให้จัดทำข้อเสนอแนะแก่สภานิติบัญญัติแห่งชาติในเรื่องของการละเมิดสิทธิชุมชนที่ชาวบ้านกำลังประสบอยู่ในเวลานี้

 

......ทั้งหมดนี้คือต้นทุนที่ไม่เคยนับรวมอยู่ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งหลาย แน่นอน มันหมายความด้วยว่า "เรา" ผู้บริโภคก็ไม่ได้รับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกัน (แต่อย่างไรเสีย เราก็ควรจะเริ่มต้นต่อว่าภาคธุรกิจและภาครัฐก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อความสบายใจ)

 

0-0-0

 

ข้อเรียกร้องเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายที่กล่าวมาแล้วนำเสนอร่วมกัน คือ ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้มาบตาพุดเป็น "เขตควบคุมมลพิษ" เนื่องจากพื้นที่นั้นไม่สามารถจะรองรับมลพิษเพิ่มเติมได้แล้วทั้งอากาศและน้ำ

 

"ศุภกิจ นันทะวรการ" จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะอธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างมาก โดยเน้นว่า เขตควบคุมมลพิษไม่ใช่เขตหวงห้ามของโรงงาน แต่เป็นพื้นที่ที่ต้องคัดกรองเฉพาะอุตสาหกรรมชั้นดีที่ไม่ก่อมลพิษในพื้นที่มากไปกว่าที่เป็นอยู่ ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามปรับปรุงแก้ไขปัญหาดั้งเดิมในพื้นที่ด้วย

 

(อ่านเพิ่มเติมในข่าวประกอบ การประกาศเขตควบคุมมลพิษที่มาบตาพุด : ความจำเป็นและแรงต้าน)

 

นอกจากนี้ยังมีการยกตารางตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเขตควบคุมมลพิษพื้นที่อื่นๆ ของประเทศมาดักคอรัฐด้วยว่า การประกาศเขตดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจแต่อย่างใด

 

 

การประกาศเขตควบคุมมลพิษกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ

(GPP : Gross Provincial Products / ผลิตภัณฑ์มวลรมจังหวัด)

 

         สมุทรปราการ ประกาศปี 2537
GPP (2532-36)  อัตราการเติบโต   10.6 %

GPP 2537           อัตราการเติบโต   10.9 %
GPP (2538-42)  อัตราการเติบโต   15.2 %

 

                สระบุรี ประกาศปี 2547
GPP (2542-46)   อัตราการเติบโต    6.2  %
GPP 2547            อัตราการเติบโต  13.6  %
GPP 2548            อัตราการเติบโต    9.6  %

 

              สงขลา ประกาศปี 2535
GPP (2532-34)  อัตราเติบโต   16.8 %
GPP 2535           อัตราเติบโต   14.3 %
GPP (2536-38)  อัตราเติบโต   16.3 %

 

 

  0-0-0

 

 

แม้ว่า "โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์" รองนายกฯ และรมว.อุตสาหกรรมจะดูกระตือรือร้นสั่งให้มีการติดตามตรวจสอบรวมไปถึงทบทวนแผนขยายอุตสาหกรรมในอีสเทิร์นซีบอร์ด โดยมีทีท่าว่าจะสนใจเซาเทิร์นซีบอร์ดแทน เช่นเดียวกันกับ "หม่อมอุ๋ย-ปรีดียาธร เทวกุล" ซึ่งจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาความเป็นไปได้ภายใน 2 เดือนนี้

 

นั่นคือแผนการในอนาคตที่ยังต้องมีการหารือถกเถียงกันต่อไป

 

ขณะที่ประเด็นเร่งด่วนอย่าง "การประกาศเขตควบคุมมลพิษ" นั้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจพิจารณาเรื่องนี้โดยตรงตามมาตรา 59 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 กลับมีคำสั่งให้ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาเรื่องนี้ 2 ชุด ให้เวลาศึกษา 1 ปี เพื่อความชัดเจน "เป็นธรรม" ต่อนักลงทุน

 

ในระหว่างการศึกษา 1 ปีนั้น ไม่ว่าการศึกษาผลจะออกมาเป็นอย่างไร พื้นที่นี้พร้อมรองรับมลพิษเพิ่มเติมหรือไม่ โครงการปิโตรเคมีระยะ 3 ก็อาจจะเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว !

 

ว่ากันให้ถึงที่สุด การซื้อเวลาต่ออีก 1 ปีอาจไม่ใช่เพราะข้อมูลไม่เพียงพอ ไม่ชัดเจน แต่เป็นการเลือกแล้วของรัฐที่จะทำหน้าที่ปกป้องนักลงทุนซึ่งสร้างรายได้มหาศาล มูลค่าของมันเทียบไม่ได้กับไม่กี่ครอบครอบใน 25 ชุมชนแถวนั้น

 

ช่วยไม่ได้ที่ข่าวความเดือดร้อนของชาวบ้านเพิ่งมาได้รับความสนใจท่ามกลางสิ่งต่างๆ ที่กำลังจะลงตัวอยู่แล้ว

 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เตรียมแผนขยายท่าเรือในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีผลการศึกษาเรียบร้อยแล้ว พร้อมเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอการลงทุนได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โครงการขยายโรงงานปิโตรเคมีของ ปตท.มูลค่า 200,000 ล้านบาทและรวมถึงโรงงานของบริษัทอื่นอีกหลายแห่งที่เตรียมเข้าไปอยู่ในโครงการระยะสามที่มาบตาพุดก็กำลังอยู่ระหว่างพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งหมายความว่ารายละเอียดต่างๆ ของโครงการนั้นเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว

 

นอกจากจะยื้อการประกาศเขตควบคุมมลพิษแล้ว กระทรวงพลังงานและกระทรวงทรัพฯ ยังมีไอเดียเก๋ๆ  "Emission Trading"

 

อีมิสชั่น เทรดดิ้ง เป็นแนวทางการซื้อขายสารอินทรีย์ระเหย (ที่เป็นสารก่อมะเร็ง) ระหว่างโรงงานเก่าที่ตั้งอยู่เดิมกับโรงงานใหม่ที่จะเข้าไป โดยโรงงานเก่าที่ปล่อยมลพิษมากจะต้องลดการปล่อยมลพิษให้น้อยลง โรงงานใหม่ที่ปล่อยมลพิษก็จะต้องจ่ายเงินให้กับโรงงานเก่าที่สามารถลดการปล่อยสารพิษตัวใดตัวหนึ่งได้ เรื่องนี้มีหลักการคล้ายกลไก CDM ที่มีการซื้อขายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกัน

 

"แนวทางการซื้อขายมลพิษไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน เพราะโรงงานอุตสาหกรรมยังคงเดินหน้าปล่อยมลพิษ    โดยไม่คำนึงถึงชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อม ทุกคนในพื้นที่รู้กันดีว่าสภาพน้ำฝนในระยองเป็นฝนกรดมานานแล้ว การซื้อขายมลพิษเป็นเพียงเหตุผลที่บอกว่าสามารถควบคุมมลพิษได้แล้ว แต่ใครจะรับผิดชอบชาวบ้านที่เจ็บป่วย มาตรการที่ควรทำคือ เร่งเยียวยารักษาสุขภาพชาวบ้าน และการกำหนดมาตรฐานควบคุมการปล่อยสารอินทรีย์ระเหย  ซึ่งยังไม่มีในประเทศไทย" 

 

เพ็ญโฉม จากกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรมให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือพิมพ์

0-0-0

 

 

จู่ๆ ก็นึกถึงเสียงเหน่อๆ สำเนียงตะวันออกของลุงเจริญขึ้นมาอีกครั้ง

 

"ชาวระยองเสียสละเพื่อประเทศชาติมามากแล้ว เราก็เป็นมนุษย์ของประเทศนี้เหมือนกัน อยากให้รัฐบาลดูตรงนี้บ้าง อย่าไปทำเลย"

 

รัฐที่ฉลาดย่อมสร้าง "ความเจริญ" ได้พร้อมๆ กับการดูแลปกป้อง (ลุง)  "เจริญ" และคนอื่นๆ ที่อยู่ชายขอบของอำนาจ ... หรือไม่เช่นนั้น "เจริญ" และคนอื่นๆ ก็คงต้องเสียสละไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ...

 

 

 

0-0-0

 

 

 

 

"ว่าที่" โรงงานอุตสาหกรรมในโครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 3

 

โครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จะไปอยู่ในเฟส 3 และอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตั้งแต่ปลายปี 2549 ได้แก่

1. โครงการโรงแยกก๊าซ หน่วยที่ 6 บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน)

2.โครงการโรงงานผลิตอีพอกซี่ เรซิน (ส่วนขยาย) นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ของบริษัทอดิต ยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ ประเทศไทย จัด (อีพอกซี่ ดิวิชั่น)

3.โครงการโรงงานผลิตพีวีซี (ส่วนขยาย) ต.มาบตาพุด ของบริษัทเอเพ็ค ปิโตรเคมิคอล จำกัด

4.โครงการโรงแยกคอนเตนเสท นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ของบริษัทเคมีภัณฑ์ซิเมนต์ไทย จำกัด

5.โครงการขยายกำลังการผลิตโพลีเอทธิลีน นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ของบริษัทสยามโพลีเอทธิลีน จำกัด

6.โครงการขยายกำลังการผลิตโพลีคาร์บอเนต ของโรงงานที่ 2 นิคมอุตสาหกรรมผาแดง ของบริษัทไทยโพลีคาร์บอเนต จำกัด

 ส่วนอีก 4 แห่งได้แก่ 1.โครงการศูนย์สาธารณูปการกลาง แห่งที่ 2 ของบริษัทพีทีพี ยูทิลิตี้ จำกัด

2.โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมและไอน้ำ ของบริษัทโกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน)

3.โครงการโรงงานเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ของบริษัทเหล็กสยามยามาโตะ จำกัด

4.โครงการนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย (ส่วนขยาย) ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

กรณีนิคมเอเชีย มีข่าวว่ามีการกว้านซื้อที่ดินติดกับพื้นที่หมู่บ้านจัดสรรไปแล้วกว่า 600 ไร่ในเขตบ้านฉาง ซึ่งชาวบ้านจำนวนหนึ่งเริ่มแสดงความไม่เห็นด้วยเนื่องจากเป็นห่วงผลกระทบจะเหมือนกับกรณีนิคมมาบตาพุด

 

 

ที่มา :  เว็บไซต์ไทยโพสต์ วันที่ 28 มกราคม 2550

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net