ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของแรงงานไทยในฟาร์มเมืองมะกัน

ว่ากันว่าสหรัฐฯ นั้นขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ส่วนแรงงานไทยเองก็ตั้งใจทำงานไม่หยุดหย่อน แต่เมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา สถานกงสุลสหรัฐฯ กลับปฏิเสธวีซ่าแรงงานไร้ทักษะ ประเภท "วีซ่าเอช2เอ" สำหรับคนงานไทยที่จะทำงานในฟาร์ม ซึ่งนี่อาจทำให้หมดยุคของการไปทำงานทำเงินในสหรัฐของแรงงานไทย "ประชาไท" ขออนุญาตนำรายงานจาก ไทยทาวน์ยูเอสเอนิวส์ มาเสนอ เผื่อบางทีอาจมีใครเห็นภาพแรงงานพม่าในไทย

 

 

โดย ภาณุพล รักแต่งาม

 

 

 

 


เป็นที่ทราบกันว่า สหรัฐอเมริกานั้นกำลังอยู่ในสภาพที่ขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง ตั้งแต่แรงงานฝีมือ เรื่อยมาจนถึงแรงงานระดับแบกหาม ปีนป่ายที่คนอเมริกันไม่ทำ ข้อมูลจากสื่อต่างๆ บอกว่าปัญหานี้มีมาตั้งแต่ยุค 1990s ที่ความต้องการแรงงานในธุรกิจ 13 ประเภทสูงกว่า 500,000 ตำแหน่งต่อปี และ "ความต้องการ" ที่ว่า กลายเป็นต้นเหตุสำคัญของการ "หลั่งไหล" เข้ามาของแรงงาน ทั้งถูกและผิดกฎหมาย ทั้งจากประเทศที่มีรั้วติดกันอย่างเม็กซิโก และประเทศอื่นๆ ที่ห่างไกลออกไป...



นับจากเหตุโศกนาฎกรรม 911 เป็นต้นมา แรงงานผิดกฎหมายในสหรัฐฯ ที่ประเมินว่ามากถึง 12 ล้านคน ถูกมองอย่างหวาดระแวงว่าเป็นปัญหาสำคัญของประเทศในด้านความมั่นคง มีความพยายามผ่านกฎหมายต่างๆ เพื่อจำกัดและริดรอนสิทธิเสรีภาพของพวกเขา หรือเพิ่มมาตรการกีดกันต่างๆ ไม่ให้แรงงานเหล่านี้สามารถมีชีวิตอยู่อย่างปกติสุข ไม่สามารถเช่าบ้านหรืออพาร์ทเมนท์ ไม่สามารถส่งลูกหลานเข้าโรงเรียน ไม่มีสิทธิรับสวัสดิการต่างๆ โดยเฉพาะด้านการแพทย์ พยายามให้ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐทำหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ปรับคดีเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นคดีอาญา เพิ่มโทษและเพิ่มค่าปรับนายจ้างที่รับแรงงานผิดกฎหมายเข้าทำงาน รวมถึงมีการออกกวาดจับตามแหล่งงานต่างๆ เช่นในไร่ ในฟาร์ม ในโรงงานต่างๆ ดังข่าวที่ได้ยินได้ฟังกันตลอดเวลา

 

เป็นการกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริง ไม่สนใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ยังคงต้องพึ่งพาแรงงานมนุษย์เป็นหลัก โดยเฉพาะภาคเกษตกรรม ดังที่เราเห็นข่าวตามสื่อต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาว่าการกวาดจับแรงงานโรบินฮูดอย่างหนัก ทำให้พืชผลเสียหายเต็มไร่เพราะแรงงานถูกกฎหมายเพียงหยิบมือ ไม่สามารถเก็บเกี่ยวส่งตลาดให้ทันกำหนดเวลาได้

 

ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ มีวิธีแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างเป็นรูปธรรมเพียงการอนุมัติวีซ่าแรงงานจากประเทศต่างๆ ซึ่งหลักๆ ก็คือวีซ่าแรงงานฝีมือชั้นสูง (ประเภท เอช1) และแรงงานไร้ทักษะ (ประเภท เอช2)

 

เรื่องที่เขียนวันนี้ ขอเน้นที่แรงงานไร้ทักษะ หรือวีซ่าประเภท เอช2 ซึ่งมีสองประเภท คือ 1. "วีซ่าเอช2เอ" ให้สำหรับคนงานที่จะทำงานในฟาร์มเป็นการชั่วคราว หรือตามฤดูกาล 2. "วีซ่าเอช2บี" ใช้สำหรับคนงานที่จะทำงานเป็นการชั่วคราวซึ่งไม่มีคนงานชาวอเมริกันทำอยู่หรือไม่เต็มใจที่จะทำ

 

หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ โดยความเห็นชอบของกระทรวงแรงงานและกระทรวงความมั่นคงภายใน ได้ตีกรอบจำนวนวีซ่า เอช2บี ไว้แค่ปีละ 66,000 คน หรือน้อยกว่าความต้องการจริงๆ อยู่มาก โดยเฉพาะในปี 2006 ที่ผ่านไปนั้น ความต้องการแรงงานมีมากถึง 87,000 ตำแหน่ง หรือมากกว่าจำนวนวีซ่ากว่าสองหมื่นตำแหน่ง

 

ขณะที่วีซ่า เอช2เอ สำหรับแรงงานในภาคเกษตรนั้น ข่าวบอกว่าไม่มีการจำกัดวีซ่า เพราะเป็นงานที่คนอเมริกันปฏิเสธที่จะทำโดยสิ้นเชิง รัฐบาลจึงไม่ต้องเกรงแรงกดดันของกลุ่มอนุรักษ์ที่คอยโจมตีเรื่องการแย่งงานคนท้องถิ่นทำ... โดยข้อมูลระบุว่า ปี 2005 มีผู้เข้าประเทศโดยถือวีซ่าแรงงานชั่วคราวประเภทนี้จำนวน 32,000 คน

 

เท่าที่ผมรู้ เป็นแรงงานจากเมืองไทยปะปนอยู่มากกว่าพันคน…

 

แต่ปี 2006 ที่ผ่านมา แรงงานไทยหดเหลือศูนย์ เพราะสถานกงสุลอเมริกันในประเทศไทย ปฏิเสธวีซ่าแรงงานประเภท เอช2เอ ให้กับคนไทยโดยสิ้นเชิง…

 

เพราะแรงงานจากไทยกว่าพันคนที่ว่า มาถึงก็พากัน "โดดร่ม" กลายเป็นโรบินฮูดกันเกือบหมด เหลือคนงานที่ยังทำงานอยู่ด้วยวีซ่าเอช2เอ เพียงสองร้อยกว่าคนเท่านั้น

 

"คุณส้ม" ปราณี ทับชุมพล ผอ.ฝ่ายประสานงานต่างประเทศของบริษัทนายหน้าหาแรงงานชื่อ โกลบอล เฮอร์ไรซอน ในลอส แอนเจลิส ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้านำเข้าแรงงานจากประเทศไทยมาป้อนให้ฟาร์มต่างๆ อย่างเป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุด เธอบอกว่าความขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง ทำให้เจ้าของฟาร์มต่างๆ ยินยอมจ้างแรงงานต่างชาติภายใต้วีซ่า เอช2เอ ทั้งที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง เพราะนอกจากต้องเสียค่านายหน้าแล้ว กฎหมายยังบังคับให้จ่ายค่าแรงคนงานวีซ่าเอช2เอ สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่แรงงานท้องถิ่นได้รับด้วย

 

แม้จะมองได้ว่า การกำหนดค่าแรงให้สูงกว่าค่าแรงปกตินั้น คือหนึ่งในมาตรการสร้างกำแพงป้องกันแรงงานต่างชาติ แต่ความจำเป็นทำให้ภาคเกษตรของสหรัฐฯ จำเป็นต้องยอมรับ และผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับแรงงานที่เดินทางมาจากต่างประเทศ

 

"คนงานที่เราดูแลอยู่ก็แฮปปี้มาก เพราะค่าแรงสูงกว่าที่เขาเคยได้รับเยอะ อย่างที่ยูท่าห์นี่ประมาณ 8.37 เหรียญต่อชั่งโมง ฮาวายก็ 9.99 เพ็นซิลเวเนีย 8.65 นิวยอร์คนี่ 9 เหรียญเศษๆ ขณะที่คนท้องถิ่นได้ค่าแรงขั้นต่ำ ต่ำกว่าเรา แถมคนงานเอชทูเอไม่ต้องเสียภาษีให้รัฐด้วย ยกเว้นรัฐฮาวายที่ต้องเสีย เพราะฉะนั้น ฟาร์มไหนให้ชั่วโมงเยอะๆ 50-60 ชั่วโมง พวกนี้ก็จะได้เงินเยอะ บางคนส่งเงินกลับบ้านปลดหนี้ปลดสินหมดแล้ว บางคนสร้างบ้านใหญ่โต"

 

ช่วงปลายปี 2004 โกลบอล เฮอร์ไรซอน นำแรงงานไทยเข้ามาทำงานภาคเกษตรในอเมริกาด้วยวีซ่า เอช2เอ ซึ่งมีอายุสามปีประมาณ 500 คน แต่คนงานชุดนี้ประมาณ 200 คนได้หลบหนีแยกย้ายกันไปหลังจากเดินทางมาถึงอเมริกาได้ไม่นาน โดยคุณส้มบอกว่า ส่วนหนึ่งตั้งใจแอบแฝงมาเพื่อ "โดด" โดยเฉพาะ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งตั้งใจมาทำงาน แต่ถูกชวนจากนายจ้างรายอื่นให้หนีสัญญา

 

"รัฐที่มีคน..เอาเป็นว่าคนเอเชียแล้วกันนะคะ เขาก็มาชวนไปทำงานกับเขา บางคนไปแล้วไม่เหมือนอย่างที่คิด ไปหั่นผักอยู่ในครัว ค่าแรงนิดเดียว ไปทำก่อสร้าง เขาบอกว่าค่าแรงวันละสองร้อย เอาเข้าจริงได้ทำงานอาทิตย์ละไม่กี่วัน โทรศัพท์มาขอโทษที่คิดผิดและขอกลับมา ซึ่งตอนนี้ทางบริษัทก็พยายามยื่นเรื่องให้อยู่ หลายคนเลย" คุณส้มกล่าว และยอมรับว่าคนงานส่วนหนึ่งหนีสัญญาเพราะไม่ไว้ใจบริษัท จากที่เคยมีเหตุการณ์ที่ผิดพลาดบางประการจนทำให้ต้องส่งคนงานกลับก่อนหมดสัญญา อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2003

 

การอาศัยวีซ่าแรงงานชั่วคราวเพื่อมา "โดดร่ม" ของคนไทยนั้น เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในช่วงที่ขอวีซ่าแรงงานชั่วคราวได้ง่าย คุณส้มบอกว่าบริษัทนายหน้าอีกแห่ง นำคนงานมา 44 คน... และทั้ง 44 คนหายวับไปตั้งแต่วันแรกๆ ที่มาถึงอเมริกา แล้วบริษัทนายหน้ารายนั้นก็ปิดตัวเองหายไปจากสารบบทันที

 

"ผลกระทบจากคนงานหลบหนีที่เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงนี้คือ ทางสถานทูตอเมริกาบล็อควีซ่าตัวนี้เลยจากเมืองไทย เราไม่สามารถนำแรงงานมาพิ่มเติมได้ กระทบถึงลูกค้าของเราที่ต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น แต่เรานำมาไม่ได้ เวลาที่เขาขอคนเพิ่มก็ให้ไม่ได้ ก็เสียลูกค้า"

 

ในเวลานี้ โกลบอล เฮอร์ไรซอน เป็นบริษัทนายหน้าแรงงานจากประเทศไทยเพียงแห่งเดียวที่ยังเปิดดำเนินธุรกิจอยู่ เพราะยังมีคนงานไทยกระจัดกระจายอยู่ตามเรือกสวนไร่นาของรัฐต่างๆ อยู่อีกประมาณ 200 คน

 

"ตอนนี้เราก็พยายามวิ่งเต้นกันอยู่ พยายามประสานงานกับทางสถานทูตอเมริกันที่กรุงเทพฯ ว่าเราไม่ได้ขอวีซ่าให้คนมาโดด คนที่ตั้งใจมาทำงานก็มีเยอะ แต่ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน" คุณส้มกล่าว และว่าหากสถานทูตอเมริกันในประเทศไทยยังยืนกรานที่จะไม่อนุมัติวีซ่า เอช2เอ ให้คนงานไทยอีกต่อไป ก็เท่ากับว่าแรงงานไทยประมาณ 200 คนที่ตนดูแลอยู่ จะเป็นแรงงานไทยชุดสุดท้ายที่มีโอกาสมาทำงานภาคเกษตรในอเมริกา

 

"จากประสบการณ์นะคะ เจ้าของฟาร์มเขาชอบคนไทยมากที่สุด นี่ไม่ได้พูดเข้าข้าง แต่เขาว่าอย่างนี้จริงๆ ชาวอินเดียอาจจะได้เปรียบตรงที่เขารู้ภาษาอังกฤษ แต่เขาชอบคนไทยมากกว่าเพราะตั้งใจทำงาน กระตือรือร้น อยากจะทำชั่วโมงยาวๆ และไม่ค่อยขาดงาน ทุกแห่งอยากได้เพิ่มขึ้นทั้งนั้น คนเมืองไทยก็อยากมาเยอะมาก เข้าคิวกันยาวเหยียด แล้วคนงานเราทุกวันนี้ก็ถามตลอดว่าได้ยัง เพราะอยากให้น้องมา ญาติมา เพราะเขารู้ดีว่ามันทำเงินได้เยอะกว่าทำงานเมืองไทย หรือที่อื่นเยอะมาก"

 

คุณส้มบอกกับเราด้วยว่า นอกเหนือจากปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องวีซ่า ที่ถูกบล็อคไปแล้ว การนำแรงงานจากประเทศไทยเข้ามาเก็บแอปเปิ้ล เลี้ยงกุ้งล็อบเตอร์ เก็บถั่วแม็คคาเดเมีย เลี้ยงหมู ฯลฯ ในอเมริกานั้น แม้จะทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็เจอ "แรงเสียดทาน" อยู่ไม่น้อย และที่ผ่านมา เคยมีข่าวในเชิงลบกับบริษัทโกลบอล เฮอร์ไรซอน หลายครั้ง เช่นกรณีการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นในรัฐวอชิงตันเมื่อปี 2004 อันนำมาซึ่งการถูกเพิกถอนใบอนุญาตจัดหาแรงงานของรัฐแห่งแอปเปิ้ลแห่งนี้ไป

 

"ส่วนหนึ่งก็ยอมรับว่าเราผิดพลาดเอง เพราะเราใหม่ เรื่องกฎหมายของแต่ละรัฐมันไม่เหมือนกัน อย่างกรณีภาษี หรืออะไรต่างๆ มันแตกต่างกันหยุมหยิมๆ พอเป็นข่าวขึ้นมาก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ แต่ที่เป็นข่าวดังมากที่สุดก็คือว่าเราไม่ดูแลคนงาน ปล่อยให้คนงานกินข้าวกับพื้น นอนกับพื้น ฟังดูน่ากลัว แต่จริงๆ แล้วก็คือเขาล้อมวงกินข้าวกันเป็นเรื่องปกติ เขาก็กินกันแบบนี้ แต่พอกรมแรงงานเขามาถึง กลายเป็นเรื่องใหญ่ ข่าวออกมาว่าเราไม่ดูแล ไปเห็นคนงานแช่ถุงเท้าไว้ในถังสี ก็ว่าต้องเอาถังขยะมาซักผ้า ทั้งที่เครื่องซักผ้าเราก็มีให้"

 

ส่วนการที่คนงานที่หลบหนีสัญญาจำนวนหนึ่ง เข้าชื่อกันยื่นเรื่องฟ้องบริษัทโกลบอล เฮอร์ไรซอน นั้น คุณส้มบอกว่า เป็นเพราะคนงานเหล่านั้นได้รับการบอกกล่าวว่า หากสามารถสร้างเรื่องให้เป็นคดีกดขี่หรือแรงงานทาสขึ้นมาได้ คนงานเหล่านั้นมีสิทธิ์อยู่ในสหรัฐฯ ได้อย่างถาวร

 

"ไม่น่ากลัวค่ะ เพราะเราไม่มีเบื้องหลังอะไร คนงานที่เหลืออยู่ก็รู้ดี และเป็นพยานได้ว่าดิฉันดูแลคนงานอย่างไร แต่เสียความรู้สึกเหมือนกัน ตอนนี้ได้จดหมายจากศูนย์ส่งเสริมชาวไทยบอกว่าจะฟ้อง คือจริงๆ แล้ว คนงานที่หนีไปแล้วอยากกลับมา เขาโทรมาคุยบอกว่าจริงๆ เขาไม่มีเจตนาจะฟ้องร้องบริษัท ที่ลงชื่อเพราะมีคนบอกว่าจะอยู่อเมริกาได้นาน จะได้ ทีวีซ่าถ้าได้ขึ้นโรงขึ้นศาล ศูนย์ส่งเสริมฯ จะช่วยให้เขามีใบทำงาน ได้ใบเขียวต่อไปในอนาคต คิดว่าพวกเขาคงไม่ทราบว่าเขาจะมาฟ้องร้องบริษัท"

 

ถามคุณส้มว่า ข่าวอื้อฉาวที่เกิดขึ้น มีส่วนหรือไม่ที่ทำให้สถานทูตอเมริกันยกเลิกวีซ่าแรงงานชั่วคราวที่โกลเบิลเฮอร์ไรซอน ยื่นขอไป... คุณส้มตอบว่าไม่เกี่ยว เพราะในช่วงปีเศษๆ ที่ผ่านมา ไม่ว่าใครยื่นก็ถูกปฏิเสธทั้งนั้น

 

ในฐานะที่ผมเคยเสนอข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับบริษัทโกลบอล เฮอร์ไรซอน ในไทยทาวน์ฯ อย่างต่อเนื่องหลายวาระและโอกาส โดยส่วนใหญ่ใช้วิธี "แปล" เอาจากข่าวฝรั่งที่ประโคมกันคึกโครม จึงถือเป็นความรับผิดชอบที่ต้องรับคำชวนของคุณส้ม ให้ไปคุยกับแรงงานไทยจำนวน 42 คนที่ทำงานอยู่ในฟาร์มหมูของรัฐยูท่าห์ ซึ่งหลายคนเคยร่วมวงกินข้าวกับพื้น และซักถุงเท้าด้วยมือมาแล้วที่ไร่แอปเปิ้ลในรัฐวอชิงตัน เพื่อให้เป็นการเสนอข่าวจากทั้งสองฝ่าย และเพื่อให้คำตอบกับตัวเองว่าคนงานไทยที่วอชิงตันถูกเอาเปรียบจริงหรือเปล่า...

 

 

 

 

เวลาสองวันสองคืนที่ผมและทีมงานของไอพีทีวี รวมถึง พี่วัลภา ดิเรกวัฒนะ แห่งเสรีชัย ได้ดูการทำงานในฟาร์มหมูของคนงานทั้ง 42 คน ได้เห็นสภาพการกินอยู่หลับนอนในบ้านทรงสี่เหลี่ยมหลังละแปดคน แม้จะแคบ แต่ก็ไม่ถึงขนาดอึดอัด ตกค่ำก็ได้ร่วมวงโจ้ข้าวเหนียว ลาบ ปลาร้าบอง พูดคุยสอบถามทุกข์สุขหลังขวดเบียร์โคโรน่าและไวน์แดงที่เหล่าคนงานขนมารับรองกันอย่างเต็มที่

 

อิ่มหนำก็แยกย้ายบ้านใครบ้านมัน บางคนมุดผ้าห่มหลับปุ๋ยหนีหนาวขนาดลบเจ็ดองศาเอาแรงไว้สู้งานหนักที่เริ่มต้นแต่เช้ามืดของวันรุ่งขึ้น บางคนนั่งอ่านเพลย์บอยเงียบๆ บางคนหัวเราะเอิ๊กอ๊ากกับดีวีดีวงโปงลางสะออน ที่ซื้อมาจากตลาดลาวในเมืองถัดออกไป บางคนนั่งเล่นเกมคอมพิวเตอร์ บางคนคุยโทรศัพท์หนุงหนิงกับลูกเมียที่เมืองไทย (ใช้บัตรแฟนฉัน)... แทบทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ

 

ทุกคนบอกว่าแฮปปี้กับรายได้อาทิตย์ละห้าร้อยดอลลาร์เศษๆ ถึงแม้เหงาบ้าง ประสาคนไกลบ้าน แต่ชีวิตก็ไม่ได้รันทดอย่างที่ข่าวเขาว่า...

 

ไปยูท่าห์งวดนี้ ผมได้สัมภาษณ์ คุณจอห์น จี แองเจิล ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของบริษัทเซอร์เคิลโฟว์ฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มเลี้ยงหมูทันสมัยขนาดยักษ์ในเมืองเล็กๆ ชื่อมิลฟอร์ด ประเด็นหลักๆ ที่คุยกันก็คือเรื่องราวของแรงงานไทย 42 คน ที่ถือวีซ่าแรงงานประเภท เอชทูเอ มาทำงานอยู่ที่นั่น

 

บอกก่อนว่าฟาร์มหมูของเซอร์เคิลโฟว์ ที่แยกโรงเลี้ยงออกเป็นหลายสิบโรง กระจายกันเต็มทุ่งหิมะขาวโพลนที่ผมไปเห็นมานั้น เป็นผู้ผลิตหมูใหญ่ที่สุดของยูท่าห์ ใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของอเมริกา และส่งหมู (เป็นๆ) ออกสู่ตลาดปี 2006 ถึง 1.2 ล้านตัว... ผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูประเภทต่างๆ ภายใต้ยี่ห้อ "ฟาร์มเมอร์จอห์น" ที่เรารู้จักกันดีนั้น เกือบทั้งหมดเป็นหมูจากฟาร์มแห่งนี้...

 

ขอวงเล็บไว้ตรงนี้ด้วยว่า เซอร์เคิลโฟว์เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ที่ได้ผลกระทบจากการที่หน่วยงานอิมมิเกรชั่นบุกจับแรงงานโรบินฮูดเกือบ 1,300 คนจากโรงงานชำแหละเนื้อ "สวิฟท์แอนด์โค" ในหกรัฐ รวมทั้งยูท่าห์ เมื่อเดือนธันวาคม เป็นเหตุให้ทางโรงงานไม่สามารถรับหมูจากเซอร์เคิลโฟว์ และฟาร์มอื่นๆ มาชำแหละได้ตามความความต้องการของตลาด ข่าวบอกว่าก่อความเสียหายให้สวิฟท์แอนด์โคประมาณ 30 ล้าน และกับตลาดเนื้อหมูโดยภาพรวมอีกนับมูลค่าไม่ได้...

 

เป็นการใช้กำลังแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมายโดยไม่สนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจของชาวอเมริกันครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี…

 

 

                                                     จอห์น จี แองเจิล                                                       

ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของบริษัทเซอร์เคิลโฟว์ฟาร์ม

 

ถามคุณจอห์นเรื่องคนงานไทย เขาตอบทันทีว่าเป็นคนงานชั้นเยี่ยม เป็นที่รักของหัวหน้าคนงานเพราะตั้งใจทำงาน เรียนรู้เร็ว แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องภาษาก็ตาม

 

"เราไม่ได้ใช้แรงงานจากประเทศอื่นมากนักนอกจากเมืองไทย เรามีนิดหน่อยจากเม็กซิโก ถ้าให้เทียบ ผมว่าพฤติกรรมการทำงานของคนไทยดีกว่ามาก ทำงานหนักตลอดวัน ทำงานหนักกว่าคนงานอีกหลายๆ คนของเรา เขาทำ 60 ชั่วโมง หกวัน ค่าแรง 8.37 เหรียญ คนอื่นเขาทำกันแค่ 40 ชั่วโมง" และว่า "ถ้าคุณไปบอกกับหัวหน้าคนงานของผมที่ฟาร์มวันนี้ ว่าจะมาเอาคนงานไทยของคุณกลับ คุณเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและแขนขานะ (หัวเราะ) เขาไม่ยอมปล่อยคนงานไทยไปง่ายๆ หรอก"

 

ซึ่งก็จริงอย่างที่คุณจอห์นว่า เพราะเมื่อผมได้คุยกับ อามานโด้ คาบาเยโร่ หนึ่งในหัวหน้าคนงานของเซอร์เคิลโฟว์ เขาบอกว่าพอใจกับคนงานไทยที่สุด เพราะทำงานหนัก ให้เกียรติคนอื่นและถ่อมตัว ซึ่งเขาไม่ค่อยเจอในคนงานชาติอื่น

 

"ตอนแรกผมก็ไม่รู้ว่าจะคาดหวังอะไร ปัญหาเรื่องภาษา เขาไม่พูดอังกฤษ ผมก็ไม่พูดไทย ไม่รู้ว่าเขาคุยอะไรกัน แต่เขาถ่อมตัว ผมก็ใจเย็นลง แต่เมื่อเขาเรียนรู้แล้ว จะทำงานได้ยอดเยี่ยมมาก ประมาณสามอาทิตย์แค่นั้น จะกลายเป็นคนงานที่เยี่ยมมาก ผมหวังว่าจะมีคนงานไทยมาเพิ่มอีก"

 

เช่นเดียวกับ เอเบิล คาสโตร ผู้จัดการฟาร์มรายหนึ่ง ที่มีคนไทยเป็นลูกทีมสี่คน บอกว่าเขารักคนงานไทย เพราะไว้ใจได้ ไม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไช

 

"ผมแฮปปี้กับพวกเขามาก พวกเขาทำงานหนัก เขาทำจนแน่ใจว่าทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้ว เขาไว้ใจได้ ผมหวังว่าจะมีคนงานไทยมาอีก จริงๆ นะ ผมคงหาคนงานที่ดีกว่าคนงานไทยไม่ได้แล้ว"

 

คุณจอห์นเล่าถึงสถานการณ์แรงงานในยูท่าห์ว่า อยู่ในช่วงที่ทางโรงงานไม่สามารถหาแรงงานท้องถิ่นได้เลย ปี 2005-2006 เป็นปีที่อัตราคนว่างงานในยูท่าห์ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ แทบไม่มีใครออกหางานทำเลย

 

"อุตสาหกรรมหลายอย่างมาที่ยูท่าห์ 50 ไมล์ทางใต้ เมืองซีด้าร์ มีโรงงานเยอะมาก ระยะหลัง เราเสียคนงานให้กับงานก่อสร้างที่กำลังบูม มีการสร้างบ้านเยอะ อพาร์ทเมนท์ ร้านค้าต่างๆ ฯลฯ ผมเสียคนงานไปเยอะให้กับอุตสาหกกรรมก่อสร้าง ตอนนี้มีตำแหน่งงานมากกว่าคนหางาน... คุณก็คงรู้ เกิดขึ้นกับทุกอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน อเมริกาจะหาแรงงานยากขึ้นเรื่อยๆ"

 

คุณจอห์นบอกว่าความขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้น ทำให้ฟาร์มหลายแห่ง โดยเฉพาะฟาร์มขนาดเล็กและอุตสาหกรรมก่อสร้าง จำเป็นต้อง "แอบ" จ้างแรงงานผิดกฎหมาย แม้จะค่อนข้างเสี่ยงก็ตาม

 

ถามคุณจอห์นถึงโครงการ "เกสต์เวิร์คเกอร์ โปรแกรม" ที่ประธานาธิบดีบุชพยายามผลักดันพร้อมๆ กับกฎหมายปฏิรูประบบอิมมิเกรชั่นในช่วงก่อนเลือกตั้งมิดเทอม ซึ่งเนื้อหาหยาบๆ คือจะเพิ่มวีซ่าแรงงานต่างชาติเป็น 325,000 ตำแหน่ง โดยส่วนหนึ่งเป็นแรงงานผิดกฎหมายที่มีอุดมสมบูรณ์อยู่ในประเทศแล้ว จอห์นบอกว่า ประเด็นที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้แรงงานผิดกฎหมายทำงาน คงจะทำให้กฎหมายผ่านได้ยาก ถ้าเป็นไปได้ เขาอยากได้วีซ่าแรงงานเกษตร หรือเอช2เอ แบบเดิมนี่แหละ เพียงแต่แก้ไขรายละเอียด ไม่ต้องให้คนงานหมุนเวียนไปทำงานตามจุดต่างๆ แห่งละ 10 เดือนอย่างที่เป็นอยู่

 

"ผมอยากไปหาโกเบิล เฮอร์ไรซ่อน บอกเขาว่า ขอคนงานหน่อย และสามารถเอาเขาไว้ได้ 3-5 ปี ก่อนพวกเขาจะกลับไป เพราะเราต้องการแรงงาน ไม่ได้ต้องการให้ทุกคนมาที่นี่เพื่อเปลี่ยนสัญชาติ ส่วนพวกเขามานี่เพื่อหาเงิน เรียนรู้ฝีมือ และกลับไปประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ พวกเขาจะทำให้ประเทศของเขาดีขึ้น"

 

ระหว่างเดินทางกลับมาลอส แอนเจลิส คุณส้มบอกผมว่า หากภายในปี 2007 นี้ หากยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการอนุมัติวีซ่าแรงงานเกษตร เอช2เอ โดยสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย คนงานไทยประมาณสองร้อยคนในรัฐต่างๆ ที่ตนดูแลอยู่ ก็คงจะเป็นแรงงานไทยชุดสุดท้ายที่ได้มาทำงานฟาร์มในอเมริกา และเป็นการปิดประตูบริษัทนายหน้าขนาดใหญ่ที่ยืนหยัดต่อสู้แบบยิบตากับแรงเสียดทานต่างๆ ตลอดเวลาหลายปี เพื่อให้แรงงานจากไทย ได้มาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากสภาพขาดแคลนแรงงานอยู่ที่นี่...

 

ใครมีอำนาจ หรือมีหน้าที่พอจะช่วยได้... ช่วยกันหน่อยครับ...

 

 

 

ที่มา ไทยทาวน์ยูเอสเอนิวส์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท