Skip to main content
sharethis

ผู้ชมละครแอนธิโกเนของ เบรคชท : ต้องกล้าพูดเรื่องการเมือง!

ชื่อบทความเดิม: ผู้ชมละครแอนธิโกเนของ เบรคชท : ต้องกล้าพูดเรื่องการเมือง!

 

อรรคพล สาตุ้ม

 

 

 

 

โปสเตอร์ละครแอนธิโกเน ที่เพิ่งจัดไป ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

เมื่อวันที่ 13 และ 14 มกราคม ที่ผ่านมามีการจัดการแสดงละครและการเสวนา โดยกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในเรื่อง "แอนธิโกเน : ผู้มีพลังใจดุจไฟไม่มอดดับ" จากบทละครของเบอร์ทอลท์ เบรคชท (Bertolt Brecht) นักการละครชาวเยอรมัน ที่ แปลบทโดย ผศ.ศรวณีย์ สุขุมวาท และกำกับการแสดงโดย สินีนาฏ เกษประไพ เพื่อสะท้อนภาพของมนุษย์ (ชื่อแอนธิโกเน) ผู้มีศรัทธาในการต่อสู้เพื่อความถูกต้องโดยไม่หวั่นเกรงต่อความตาย และยังได้บอกเล่าภาพอีกด้านของผู้มีอำนาจที่วันหนึ่งกลับพบว่าตนเองไม่มีอะไรเหลือเพราะผลพวงของสงคราม และเพื่อร่วมแสดงมุฑิตาจิตต่อคำรณ คุณะดิลก ผู้ก่อตั้งพระจันทร์เสี้ยวการละครในวาระมีอายุครบ 60 ปี

 

และหลังการแสดงยังมีการเสวนาโดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย คำรณ คุณะดิลก, หนึ่งในสมาชิกพระจันทร์เสี้ยวการละคร, ผศ.ศรวณีย์ สุขุมวาท อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ อาจารย์คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ สินีนาฎ เกษประไพ ผู้กำกับการละครแอนธิโกเน

 

 

ละครแอนธิโกเน โดยพระจันทร์เสี้ยวการละคร

 

ที่มาที่ไปของบทละครแอนธิโกเน

สำหรับบทละครของเบอร์ทอลท์ เบรคชท (Bertolt Brecht) ในเรื่อง "แอนธิโกเน" เป็นเรื่องของตำนานกรีก ว่าด้วย แอนธิโกเน ผู้เป็นลูกสาวของกษัตริย์อิดิปุสแห่งเมืองธีปส์ เมื่ออิดิปุสได้รู้ความจริงเกี่ยวกับชาติกำเนิดของตน จึงรู้ว่าตนนั้นกระทำปิตุฆาตและแต่งงานกับแม่ตนเอง คือโจคัสตา ซึ่งเมื่อโจคัสตารู้ความจริง นางจึงแขวนคอตาย ส่วน อิดิปุสเลือกที่จะไถ่บาปความผิดที่ตยก่อด้วยการควักลูกตาทิ้ง และออกเดินทางร่อนเร่

 

เมืองธีปส์ จึงตกอยู่ในความดูแลของลูกชายทั้งสองของอิดิปุส คือ เอทีโอเคลส และโพลินีเคลส ซึ่งจะผลัดกันปกครองเมือง โดยมีลุงครีออน ผู้เป็นพี่ชายของโจคัสตาเป็นที่ปรึกษา ต่อมา เกิดสงครามแย่งชิงอำนาจกันเอง และการสู้รบที่ยืดเยื้อ ทำให้พี่ชายทั้งสองของแอนธิโกเนตายในสงคราม

 

ร่างไร้วิญญาณของเอทิโอเคลสได้รับการฝังร่างตามประเพณีในฐานะอดีตกษัตริย์ แต่ศพโพลินิเคลส ถูกทิ้งไว้โดยไม่ได้ฝัง เพราะคำสั่งของกษัตริย์องค์ใหม่ คือ กษัตริย์ครีออน สั่งห้ามไม่ให้ผู้ใดฝังศพโพลิเนเคลส ผู้คิดการกบฏ

 

คำสั่งดังกล่าวผิดจารีต ศีลธรรม และวัฒนธรรมของเมืองธีปส์ซึ่งมีความเชื่อว่า เมื่อผู้ใดก็ตามพบเห็นศพที่ตายโดยไม่ได้ฝัง ต้องทำการฝังศพนั้นทันที เพื่อว่าตนนั้นจะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานเป็นวิญญาณเร่ร่อนและจะได้ไปสู่สุคติ

 

แม้กษัตริย์องค์ใหม่จะสั่งห้ามมิให้ผู้ใดฝังศพโพลินิเคลส แต่ แอนธิโกเน หาญกล้าฝ่าฝืนคำสั่ง และทำการฝังศพพี่ชายผู้เป็นที่รัก เธอจึงถูกลงโทษโดยการถูกขังให้ตายทั้งเป็น…

 

สังคมในยุคของเบรคชทและอิทธิพลของนักการละครกรีก

บทละครทั้งสองเรื่อง คือ อิดิปุสจอมราชันย์ และ แอนธิโกเน เป็นละครแนวโศกนาฏกรรม ชื่อดังของโซโฟเคลส นักการละครในสมัยกรีก ผู้มีผลงานการละครมากมายหลายเรื่อง แต่ว่าบทละคร แอนธิโกเน ได้ถูกปรับปรุงเกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง ในช่วงอิทธิพลกระแสสงครามโลกครั้งที่สอง (1939-1945) ที่ นาซี เยอรมันกำลังเรืองอำนาจ และแอนธิโกเน ถูกดัดแปลงเป็นบทละครเพื่อสันติภาพโดย นักการละครที่ชื่อว่า แบร์ทอลท์ เบรคชท ชาวเยอรมัน จัดแสดงในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 1948 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

 

การเสวนา : ร่วมแสดงความคิดเห็นแก่ละครแอนธิโกเน

 

ช่วงเสวนาโดย คำรณ คุณะดิลก, ศรวณีย์ สุขุมวาท, สินีนาฏ เกษประไพ และ จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์

 

ภายหลังการแสดงละคร ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างวิทยากรและผู้ชมละคร

 

ศรวณีย์ สุขุมวาท : จะสถาปนาตัวเอง เป็นผู้ดำเนินรายการ อยากจะเริ่มต้นว่า ทำไมพระจันทร์เสี้ยวการละคร ต้องทำเรื่องแอนธิโกเน คงไม่ต้องพูดซ้ำ เพราะเด็กภาควิชาภาษาอังกฤษ ต้องเรียน อ่านละครกรีก อิดิปุส และเข้าใจกันเป็นส่วนใหญ่ อยากเริ่มว่า ทำไมพระจันทร์เสี้ยวถึงทำละครนี้ เพราะเคยเล่นมาเมื่อปีที่แล้วที่สถาบันปรีดี แล้วทำไมจึงเลือกเรื่องนี้ ก็ขอให้เล่าให้ฟังก่อน

 

สินีนาฎ เกษประไพ : ความชอบจากเรื่องนี้ เป็นความชอบมานาน ไม่ใช่หยิบเรื่องนี้แล้วมาทำเลย เราเคยเรียนอิดิปุส จากภาควิชาภาษาอังกฤษ และเคยเล่นละคร "พญาผาบ" กับพระจันทร์เสี้ยวการละคร พญาผาบ น่าจะมีต้นธารจากเรื่องนี้ มีความคล้ายกันกับเรื่องอิดิปุส กับวิธีการนำเสนอจากเรื่องเล่า และวิธีการที่ปรับเป็นเรื่องไทย เมื่อได้อ่านบทอิดิปุส ถัดจากนั้น ก็ไปร่วมทำละครกับละครคณะสองแปด ก็อยู่ในกลุ่มทำบทที่เขาเล่น แอนธิโกเน บทละครภาษาไทย

 

ชอบช่วงที่พี่น้องพูด แต่ชอบโดยที่ตอนนั้นไม่เข้าใจว่าแอนธิโกเนไปฝังศพพี่ชายตัวเองทำไม ทำไมต้องไปฝัง ไม่เห็นความสำคัญ และทำไมน้องสาวถึงต้องห้ามปรามกัน หลังจากนั้นได้อ่านบทละครของฉบับนั้น แต่มันไม่ได้คล้ายกับฉบับแอนธิโกเนของเบรคชท

 

ถัดมาชมละคร ของแอนธิโกเโปรดักชั่นฉบับฝรั่งเศส ซึ่งใช้ภาษามือ แต่มีพลังเหมือนแอนธิโกเน พูดกรอกหูตลอดเวลาทั้งเรื่อง ก็ประทับใจ อยากอ่านบทละครเรื่องนี้ของเบรคชทอีก และในปี 2003 ตั้งแต่จอร์จ บุช บุกอิรัก รู้สึกว่าน่าจะต้องพูดเรื่องสงครามแล้ว แต่ตัวเองยังไม่พร้อมกับบทที่จะทำ จนกระทั่งบ้านเมืองเราตกอยู่ภายใต้คำถามว่า ทำไมผู้นำต้องมีศีลธรรม มันเป็นคำถามที่ไม่มีใครถามออกมา เมื่อเรากลับมาอ่านบทแอนธิโกเน โดยเฉพาะฉบับนี้ จะเห็นได้ชัดว่าเรื่องมันตั้งพันกว่าปีแล้ว มันยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่

 

จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ : อยากทราบความคิดของอาจารย์ศรวณีย์ว่าทำไมต้องแปลบทละครนี้

 

ศรวณีย์ สุขุมวาท : ส่วนตัวของดิฉันเป็นโรคบ้า ส่วนอาจารย์คำรณและตัวเองก็เป็นคนที่ไม่ชอบพูดอะไรเป็นเรื่องเป็นราว แต่อยากพูดอะไรตรงไปตรงมา ปีที่แล้ว ก็ครบรอบ 60 ปี ของ อาจารย์คำรณ คุณะดิลก และสามสิบปีของพระจันทร์เสี้ยวการละครด้วย พวกเราลูกศิษย์ลูกหาและก็ทำหน้าที่เหมือนสามีภรรยาจึงทำเรื่องนี้เพื่อบูชาครู

 

คำรณ คุณะดิลก : พระจันทร์เสี้ยวการละครเริ่มขึ้นจากกลุ่มคนที่สนใจวรรณกรรมในมหาวิทยาลัย ในปี 2512 เริ่มหัดเขียนบทละครกันอีกสัก 5-6 ปี แล้วแยกตัวกันออก แต่พระจันทร์เสี้ยวการละครก็ได้ทำงานใหญ่ ในปี 2514 ที่ธรรมศาสตร์ เรื่อง "อวสานเซลล์แมน" พยายามเป็นคณะละครที่อยากอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ทำมาสามสิบปีก็ทำไม่ได้ เพราะมีคนที่ต้องทำงานอย่างอื่น คงแค่นี้ละครับ เพราะจะได้มีเวลาเหลือสำหรับพูดเรื่องแอนธิโกเน อีก

 

จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ : อยากเติมว่าพระจันทร์เสี้ยว ก็เป็นสัญลักษณ์การละคร เพื่อเป็นการปะทะสังสรรค์ทางละคร การแสดงออกทางศิลปะ พระจันทร์เสี้ยว มีอายุเติบโตเบ่งบานตามวัย และอาจารย์คำรณ อยู่ในวัยงาม มีรุ่นลูกรุ่นหลาน หน้าเด็กๆ เอ๊าะๆ ตามวัย

 

ศรณีย์ สุขุมวาท: แอนธิโกเน เป็นละครกรีก เขียนขึ้นมา 2500 ปีแล้ว เกิดขึ้นมายุคเดียวกับพระพุทธเจ้า ถ้าจะทำความเข้าใจ ในแง่ของตะวันตก มันเกี่ยวข้องศาสนา พิธีกรรมละครตะวันตก เกิดจากศรัทธาความเชื่อ และมิติทางศาสนา

 

การแปล ละครกรีก มีแปลมาก่อนแล้ว 1956 เวอร์ชั่น โดยเฟดอริค เฮอร์เดอเรนท์ แปลจากภาษากรีกมาทำบท และในบทของเบรคชท ที่เอาเรื่องนี้ มาทำ เพราะได้รับลกระทบจากสงคราม และนาซีมาเกี่ยวข้อง เบรคชท เขียนเรื่องนี้ มีบทนำที่ แอนธิโกเน พี่น้องสองคน อยู่ในหลุมหลบภัย เหมือนยุคสมัยใหม่ เป็นการนำก่อนเข้าเรื่อง เราต้องตัดออก ทำตัวร่างสำหรับปรับบทด้วย แลธำรงรายละเอียด โดยมีสินีนาฏ (เกษประไพ - ผู้กำกับ) มานั่งเขียนแก้ไขใหม่กับดิฉัน และเวลาที่แปล ดิฉันไม่มีความรู้เยอรมัน แต่เราแปลจากภาษาอังกฤษ

 

เราคงไม่มีใครพูดเรื่องลิขสิทธิ์ แต่อยากให้เครดิตคนที่เราแปล คือมารีน่า เป็นเฟมินิสต์คนสำคัญของคนอเมริกัน มารีน่าติดคุกเพราะเธอประท้วงสงคราม และใช้เวลาช่วงที่ติดคุกแปลเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะมีความรู้สึกว่าเข้ากับยุคฮิปปี้ คนหนุ่มสาวต่อต้านสงคราม ช่วง ค.. 1964 ซึ่งเป็นที่มาของการปฏิวัติวัฒนธรรมสมัยใหม่

 

จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ : อยากถามคนฟังมากกว่าเครียดไหม เพราะนักแสดงนั่งเกร็ง ความเกร็งเป็นพื้นฐานของเรื่องนี้ มากกว่าที่จะมาบอกว่าเป็นกรีก เป็นเบรคชท ดูแล้ว รู้สึกอย่างไร

 

ผู้ชมละคร : ดูแล้วรู้สึกเครียด ที่เคยเรียนมาก็เป็นแค่พื้นฐาน ทำให้ได้มุมมองของนักแสดง และทำให้เราเกิดความสนใจ เกิดทัศนคติ และผมคิดว่าอารมณ์ของนักแสดง คนดูไม่ได้ติดตามตลอดเวลา มันสนุกกับตัวบทด้วย

 

จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ : ถ้าพูดถึงในส่วนของบท โปรดักชั่น และไดเรกติ้ง คิดว่า 3 ส่วนนี้ทำให้เราติดตามกับการชมละครมากแค่ไหน

 

ผู้ชมละคร 2 : จริงๆ แล้ว สนใจในเรื่องตัวบท ทำให้น่าติดตามว่าบ้านเมือง จะเป็นอย่างไร และการกำกับให้นักแสดงแต่ละคนมีอารมณ์ตามที่กำกับ ทำให้บทมีชีวิตชีวามากขึ้น ไม่ให้เรื่องราวมันไม่น่าเบื่อ ให้น่าติดตามมากขึ้น

 

ผู้ชมละคร 3 : หลังจากที่ดู คิดถึงสิ่งที่ตัวละครพูด การนำคนดูให้เกิดจินตนาการ และการบรรยาย แม้สังคมจะเคยชินกับการให้ภาพมาก แต่การมาชมละครทำให้คนดูมีจินตนาการมากกว่า ก็ยกผลประโยชน์ให้นักแสดงด้วย

 

ศรวณีย์ สุขุมวาท : การกำหนดลักษณะตัวละคร ที่กำหนดตรงนี้ จะต้องใช้เพื่อเล่าเสมอ มันเชื่อมโยงกับภาษาของตัวบท มันเป็นภาษาที่ไปอีกระดับหนึ่ง มีภาษาเชิงร้อยกรองอยู่ด้วย

 

คำรณ คุณะดิลก : ถ้าดูจากเรื่องนี้ ตัวบท มันมีความประพิณประพรายที่เป็นกรีกอยู่มาก และไม่รู้ว่าแบบกรีกเป็นอย่างไร เขาทำอย่างไง เราก็เลยใช้คอรัสมาช่วย และพอมาชมละครของเบรคชท ที่มาในสไตล์ไม่สมจริง ถ้าเรียกแบบอาจารย์จิรพรก็บอกว่าเป็นละครนำเสนอว่าฉันจะกำลังมายืนอยู่ตรงนี้ และมาเล่าเรื่องแอนธิโกเน เล่าเรื่องของตนเอง ไม่ใช่แอนธิโกเนที่มาตีความตัวบท

 

ถ้าเป็นเบรคชทจริงๆ จะต่างกับผู้กำกับที่จะคงสไตล์ของกรีกไว้ แต่จะมีอะไรพิกลกว่านี้ ทำลายภาพพจน์กว่านี้ เช่น กษัตริย์ออกมานั่งไขว้ห้าง เป็นงิ้วก็ได้ แต่ระวังอย่าไปแยกละครที่ตัวบท ถ้าบอกว่าเรื่องนี้ตัวบทมาก่อน และสไตล์ของผู้กำกับจะทำให้เก๋ แต่หน้าที่ของผู้กำกับคือการส่งความหมาย ไม่ใช่ว่าเอาสไตล์มาทำเพื่อความเก๋ไก๋อย่างเดียว และจะเห็นว่าบทมันยาว เก็บความโหดเหี้ยมทางปรัชญาไว้หมด

 

นอกจากบทพูดกับท่าทางการแสดงแล้ว การแสดงนี้ต้องการสมคบคิดกับคนดูและนักแสดง ถ้าสมคบร่วมคิดกับคนดู มันจะมีช่องว่างสามารถพุ่งตัวเองออกมาข้างนอก และเข้าไปตีความหมายได้ แต่ถ้าคุณชมละครด้วยการเป็นผู้รับ คุณจะเหนื่อย การชมละครของเบรคชท คุณต้องพุ่งตัวเองเข้าไปร่วมเล่นด้วยถึงจะมัน และนักแสดง ไม่ให้ฟูมฟายเกิน ต้องคุมไม่ให้สะเทือนอารมณ์มากเกิน เบรคชท มักถูกเข้าใจผิดว่าไม่มีอารมณ์ เพียงแต่ว่ามีอารมณ์ได้ ไม่มากเกิน

 

เรามีอารมณ์ระดับหนึ่ง เมื่อเรากระตุ้นอารมณ์ไปด้วยกันกับความคิด แต่เราไม่ผลักไปให้สุดๆ เพราะจะทำให้คนยังมีเหตุผล ไม่สูญเสียลักษณะความคิดของตัวเอง แต่ถ้าเราชมละครตลกๆ แล้วสองวันก็ลืมมัน เพราะมันไม่มีอะไรฝังอยู่ข้างในหัว มันไม่มีกระบวนการนั่นเอง

 

จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ : มีคนบอกว่าละครจะเป็นละครไม่ได้ถ้ามีแค่บท เพราะในแต่ละรอบโปรดักชั่น ย่อมไม่เหมือนกัน การกำกับขององค์ประกอบของผู้กำกับเป็นสิ่งที่ตัวเองอยากจะแลกเปลี่ยน เราเรียนรู้ได้จากบท มันเป็นความต่างของชีวิตมนุษย์ผ่านสายตา ละครมองชีวิต และถ่ายทอดชีวิต แต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าบอกว่าละครแบบกรีกนั้น ตัวเอกเป็นคนที่ต้องดูตัวใหญ่กว่าคนธรรมดา และในละครกรีก ตัวละครจะไม่สามารถเอาชนะชะตากรรมได้ อย่างแอนธิโกเน ต้องตายแน่ ไม่มีวันหนีชะตากรรมได้ ไม่ว่าจะอิดิปุส แม้ว่าจะไปอยู่โพลีส ไปเผชิญชะตากรรม เขาก็ต้องกลับมาฆ่าพ่อและไปแต่งงานกับแม่ แม้ว่าเขาพยายามจะเอาชนะมันก็ตาม

 

ส่วนสถานการณ์แบ่งรับแบ่งสู้ ในละครแอนธิโกเน ตัวหลัก คือ ลุงของแอนธิโกเน มีเหตุผลของสงคราม แต่หลานก็ไม่ได้ฟังเหตุผล ฉันจะเป็นตัวเอง ทำไม เบรคชท จึงเอาเรื่องนี้มาเล่นเป็นละครเรื่องเล่า (Epic) ก็เพราะเขาต้องการต่อต้านสังคมนาซีชัดเจน แต่ก็ต้องเล่าเป็นมหากาพย์เพื่อเตือนสติ เพื่อต่อต้านสงคราม เช่นกันกับในสังคมไทยปัจจุบัน มีการเรียกร้องให้คนสมานฉันท์ ให้สามัคคี แต่ก็ยังมีการฆ่ากัน มีความรุนแรงตลอดเวลาในปัญหาภาคใต้….

 

 

ดูละครแล้วย้อนดูการเมือง

บทละครของเบรคชท อาจจะดูไม่ได้เรื่องในเชิงการเมืองสำหรับผู้ชมละครที่เป็นคนไทย

 

เพราะไม่ได้มีบทสนทนาที่เป็นเรื่องการเมือง และไม่ได้ทำให้ผู้ชมละคร "กล้า" พูดต่อประเด็นสงครามเช่นในบทละครของเบรคชท

 

หรือว่าบทละครของเบรคชท ไม่สามารถกระตุ้นคนชมละครได้ ตามความประสงค์ ที่ผู้กำกับการละครกล่าวไว้ในเอกสารประกอบการละครว่า "ละครเป็นสื่อเชื่อมโยงกับมนุษย์และสังคม"

 

"บทละครแอนธิโกเน แสดงให้เห็นสถานการณ์ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกยุคทุกสมัย ทุกสังคม ปัจจุบันนี้ รอบๆ ตัวเรา มีความรุนแรงเกิดขึ้นเสมอ ทั้งในระดับบุคคลต่อบุคคล ในระดับประเทศ และในระดับโลก ยังมีการเข่นฆ่าสู้รบ ยังมีสงคราม และประชาชนก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบนั้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เราจึงน่าจะคิด และพูดถึงสันติภาพและการต่อต้านความรุนแรงกันให้มากขึ้น"

 

อย่างไรก็ตาม แอนธิโกเน เป็นตัวละครหญิง ที่มีความกล้าหาญ และมีพลังศรัทธา ต่อต้านสงคราม ใฝ่หาสันติภาพและความถูกต้อง ตัวละครในเรื่องถกเถียงกันด้วยเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมบ้านเรากำลังถกเถียงและโหยหา

 

ในบทละครฉบับของเบรคชทนี้ ตัวละครถูกนำเสนอเป็นเหมือนตัวแทนของคนจากชนชั้นหรือกลุ่มคนในสังคมไม่เน้นความซับซ้อนทางอารมณ์และชีวิตของตัวละคร แต่เน้นหนักที่บทสนทนาที่ปะทะกันทางแนวความคิด ตัวละครพูดถึงความสุขและสันติภาพ ผ่านการนำเสนอแบบเรียบง่าย และอาศัยเพียงพลังการแสดงของนักแสดง

 

บทละครแอนธิโกเนจึงทำให้เราได้เรียนรู้ว่า กว่าเราจะมีสังคมที่สงบสุขได้นั้น เราก็ต้องมีพลังใจ พลังศรัทธา และความกล้าที่จะพูดถึงความจริงและความถูกต้อง ที่ควรเกิดขึ้นในสังคม แม้ว่าความจริงนั้นจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตัวเรา แต่ไฟแห่งศรัทธานั้น จะไม่มอดดับ เพราะประกายไฟนั้นได้ส่องสว่างปลุกผู้คนอีกมากมาย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net