Skip to main content
sharethis

พลตรีอินทรัตน์ ยอดบางเตย อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงใหม่ นายบัณรส บัวคลี่ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์เอกมล สายจันทร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ร่วมกันเสวนาเรื่อง "ก้าวต่อไปการเมืองไทย เดินหน้า หรือ ถอยหลัง?" โดยมีอาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในการเสวนา หัวข้อ "ก้าวต่อไปการเมืองไทยจะเดินหน้าหรือถอยหลัง" ซึ่งคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์การเมืองโดยบุคคลหลายสาขา ประกอบด้วย พลตรีอินทรัตน์ ยอดบางเตย อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงใหม่ นายบัณรส บัวคลี่ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์เอกมล สายจันทร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ โดยมีอาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

พลตรีอินทรัตน์ ยอดบางเตย
อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงใหม่

ปี 2549 เป็นปีที่มีปัญหามากมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจมาก เป็นผู้นำประชานิยมที่หว่านมิตรกับรากหญ้าและเด็ดยอดกิน โดยมีกระบวนการตามกฏหมายที่องค์กรอิสระไม่สามารถตรวจสอบหรือทำอะไรได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเลือกตั้งกี่ครั้งก็จะชนะอย่างแน่นอน หลายคนบอกว่าหากประชานิยมอยู่ต่อบ้านเมืองจะไม่รอด ต้องทำรัฐประหาร แต่เมื่อทหารตั้งรัฐบาลแล้วก็ยังคงเกิดเหตุการณ์ หุ้นตก วางระเบิด และล่าสุดผลกระทบจากมาตรการกฎหมายนอมินี มีคนตั้งข้อสังเกตว่าทหารจะนำการเมืองย้อนถอยหลังหรือไม่ สำหรับตนทหารได้เข้ามาขจัดนโยบายประชานิยมให้หันไปในประชาธิปไตย แต่เมื่อยึดอำนาจเสร็จก็เกิดการขัดกันใน คมช. จึงเกิดภาวะชะงักงันหลายเรื่อง เช่น

1. เมื่อยึดอำนาจเสร็จทหารเปลี่ยนการปกครองประเทศ แต่ไม่ได้เตรียมพร้อม ไม่รู้จะแถลงการณ์อย่างไร ไม่รู้ทำอะไรต่อไป

2. ทหารเลือกผลักภาระให้คนสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือรัฐบาลขิงแก่ กลุ่มที่สองพวกองค์กรตรวจสอบ

3. เกิดช่องโหว่ให้อำนาจเก่าตีกลับ เกิดคลื่นอยู่ตลอดเวลา แต่ที่เกิดช่องโหว่มากที่สุดคือการขัดกันเอง ของทหารโดยอำนาจเก่าที่ยังมีบารมีอยู่ อยากเป็นใหญ่บ้าง ให้ลูกน้องเป็นใหญ่บ้าง ต้องการเงินบ้าง มาต่อสู้กับ คมช.

4. บีบคนดีๆ ว่าเขาดีจริงหรือ เมื่อเข้ามาบริหารประเทศก็มีเรื่องอยู่ตลอด ควรลาออกไปเถอะ

5. เสรีชนกลุ่มหนึ่งบอกว่าการยึดอำนาจรัฐไม่ดีจึงมีการต่อต้านเรียกร้องการรวมกลุ่มเดินขบวน

6. กลุ่มการเมืองเก่าถูกบีบให้ออกจากอาณาเขตทางการเมืองโดยการยุบพรรค ทหารบอกว่ากฎหมายต้องดำเนินไป พรรคก็บอกว่ายังมีทางรอดอยู่ ทั้งสองเพิ่มกำลังเข้าหากัน จึงเชื่อว่าเร็วๆ นี้จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี เนื่องจาก 3 เดือนที่ผ่านมา ประชาชนชอบผู้นำแต่ไม่ได้รักและใส่ใจกับผลงานของครม.มากนัก

สังคมมีคำถามว่ารัฐบาลที่เกิดจากการปฏิรูปการเมืองจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร หากจะกระโดดไปข้างหน้าการแก้ปัญหาจะต้องเด็ดขาดและเลือกตั้งภายใน 3 เดือน แต่วันนี้ยังรอการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ ซึ่งการปกครองแบบใหม่มีประเด็นใหญ่ มองคือการเปลี่ยนการเวียนอำนาจเราจะสร้างให้มีคนใหม่ที่รักชาติและประชาชนเพิ่มขึ้นได้อย่างไรมิใช้ประชาธิปไตยแต่ 2,000 คน มีการพูดเรื่องจริยธรรมของผู้นำและการปิดกั้นสื่อ เราจะสร้างมุ้งใหม่ให้คำนึงผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างไร การสร้างและพัฒนาความอิสระ องค์กรทางเลือกเป็นทางคู่ขนานกับระบบรัฐสภา ประชาชนเข้ามาตรวจสอบได้อย่างไร และเราจะขยายการปกครองท้องถิ่น แก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างไร

"รัฐธรรมนูญปี 40 พูดได้แต่ทำไม่ได้ในหลายเรื่อง การเมืองถูกชี้นำตลอด คานอำนาจไม่ได้ รัฐบาลยึดอำนาจองค์กรอิสระ สร้างความเข้มแข็งให้ฝ่ายบริหารมากกว่าฝ่ายนิติบัญญัติ มีคำถามว่านายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้งหรือเปล่า ผมว่าไม่พอแล้ว ต้องถามว่าใครจะมีส่วนร่วมบ้าง ฝ่ายบริหารจะคำนึงถึงชาติอย่างแท้จริงได้อย่างไร ?"

 

บัณรส บัวคลี่
ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

รัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งเกิดจากผลพวงของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีมาก แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ไม่ใช่ว่ารัฐธรรมนูญผิด แต่ไม่พอต่อการรองรับสถานการณ์ที่หมุนเร็ว ที่ผ่านมาระบบทักษิณมีสิ่งดีข้อหนึ่งคือทำให้เกิดพลังการเมือง active citizen ตั้งแต่รากหญ้าถึงชนชั้นสูง ที่เกิดความขัดแย้งของประชาชนภาคทุกส่วน ภาวะดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นผลจากการเมืองแบบใหม่ เป็นการสร้างพลังประชาชนที่มีส่วนร่วมทางการเมืองมากมาย หลายคนไม่มีข้าวกินแต่ยังรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกครอบครัวชินวัตร

นายบัณรสกล่าวว่า ไม่มีความเห็นว่ารัฐประหารผิดหรือไม่ แต่ชอบคำพูดของอาจารย์เสน่ห์ จามริก และอาจารย์นพ.ประเวศ วะสีที่บอกว่ากลไกการเมืองช่วงที่ผ่านมาติดล็อค ให้ศาลตรวจสอบก็บอกว่าไม่ตรวจ ให้สภาตรวจก็ไม่ทำ ทางเหลือน้อยจึงนำมาสู่เหตุดังกล่าว

นายบัณรสตั้งข้อสังเกตว่า คนยุคก่อนชินว่าอำนาจของกลุ่มทหาร ตำรวจ นักการเมืองจะกดขี่ชาวบ้าน โดยมีเครื่องมือทางกฎหมายมาตรา 17 ที่บอกว่าสามารถยิงประชาชนได้ แต่ยุคนี้ไม่มีเพราะแรงบีบจากภายนอกไม่เหมือนยุคก่อน ขณะที่มีสิ่งน่าสังเกตเกิดขึ้นนั่นคือการระเบิดที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งหากมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการของอำนาจใหม่ที่ทั้งอยากละทิ้ง อย่างอยู่ต่อและกลุ่มเอาคืน ไม่แปลกเพราะเป็นกระบวนการทางอำนาจ แต่ถือว่าผิดธรรมเนียมรัฐประหาร

"เดิมในยุคของพฤษฦาทมิฬ จะเป็นการรอให้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วเกิดความขัดแย้งสักพักในมาตราต่างๆ ที่นำมาสู่การสืบทอดอำนาจและไม่เป็นธรรมะ จึงเกิดความรุนแรง แต่ครั้งนี้กลับกัน หลังจากเกิดเหตุปีใหม่ ระเบิดเป็นสัญญาณการตอบโต้ของอำนาจเก่า"

นายบัณรสกล่าวว่า แนวรบด้านความมั่นคงมี 4 ด้านคือ 1.แนวรบทางทหาร ซึ่ง คมช.ชนะอยู่แล้ว 2.แนวรบเศรษฐกิจ ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดียาธรรู้ว่ามีการนำเงินบาทเข้ามาผิดปกติ มีการปราบไป 3.แนวรบวัฒนธรรม กรอบความคิดนี้กำลังตีกันอยู่ในเมืองไทยในแง่คุณธรรม และ 4.แนวรบทางด้านการสื่อสาร ซึ่งถือว่าแนวรบนี้ทหารสอบตก

"วันที่ 31 ธันวาคม เป็นการหยั่งเชิงแนวรบสุดท้ายของทหาร ลองกำลังทหารและจะได้เป็นผลกระทบต่อแนวรบที่ 4 ให้เกิดความวิตก หวาดผวา"

ทั้งนี้สถานการณ์ต่อจากนี้ นายบัณรสมองว่ากระบวนการต่อสู้ทางอำนาจเริ่มชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากเริ่มมีการตรวจสอบที่ไม่ใช่เฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่มีความเกี่ยวข้องกับลูกและญาติพี่น้อง ที่โยงใยกับคดีความซึ่งจะชิงไหวชิงพริบกันมากมาย และตนมองว่าหลายฝ่ายที่มองว่ารัฐบาลอ่อนแอ ปล่อยให้ถูกตอบโต้ แต่หลังจากผ่านวันที่ 31 ธันวาคม ไปแล้ว เหมือนกับมีสิ่งที่ทำให้ต้องคิดใหม่เพื่อทำในบางสิ่ง

"ผมมองว่านายรัฐมนตรีเติบโตมาจากหน่วยรบพิเศษ ที่มีสโลแกนว่า พลังเงียบเฉียบขาด ที่ผ่านมารัฐบาลทหารไม่เคยเอาชนะประชาชนได้แม้จะมีอาวุธอยู่ในมือ แต่อาวุธที่ดีไม่จำเป็นต้องเอามาอวด นี่คือวิธีของพวกหน่วยรบพิเศษ ถามว่าจะอยู่ได้ไหม ก่อนหน้านี้ผมไม่เชื่อว่าจะอยู่ได้ แต่หลังจากเหตุการณ์นั้น ผมเชื่อว่าจะต้องมีการเตรียมการไว้พอสมควร และถ้าพ้นเดือนพฤษภาคมไปคงจะอยู่ได้ครบ"

ประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เชื่อว่ากระบวนการที่สั่งสมมากจะบีบบังคับว่าต้องต่างจากรัฐธรรมนูญปี 40 อย่างไรบ้าง เอาอำนาจประชาชนมาตั้งเป็น 3 อำนาจ แต่อำนาจทางการเมืองที่ออกแบบมานึกว่าจะอิสระ แต่กลับไม่จริง รัฐสภาไม่สามารถคุมรัฐบาลได้ ซ้ำยังช่วยรัฐอีก พลังประชาชนไม่มี สสร.คงจะแก้ไของค์กรอิสระให้ถ่วงดุลและควบคุมการใช้อำนาจได้จริง พยายามที่จะให้ยุติธรรม แต่ที่เห็นจากช่วง 2 - 3 ปี ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะไม่บัญญัติเอาไว้ในพลังที่ 4 คือ Active citizen ทั้งสื่อและประชาชน ตอนนี้เกิดมาแล้ว ทำให้รัฐธรรมนูญแตกต่างจากเดิมอย่างแน่นอน

 

ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณะบดีคณะนิติศาสตร์ มช.

รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ถือเป็นการทำรัฐประหารครั้งสำคัญที่ก่อให้เกิดวิวาทะขึ้นในสังคมไทย โดยเกิดขั้วความคิดใหญ่ๆ ขึ้นสองขั้วคือ ฝั่งที่สนับสนุนการรัฐประหาร และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจนอกระบบแบบนี้ ทำให้การพูดคุยกันเรื่องการเมืองของคนในสังคมเหมือนเรื่องศาสนาที่แสดงความคิดเห็นกันได้ยากมากขึ้น ทั้งที่แวดวงความคิดของสังคมไทยจำเป็นต้องเข้าใจแต่ละคนว่ามีจุดยืนที่ต่างกัน ไม่จำเป็นต้องเชื่อเหมือนกัน ใครคิดต่างก็ไม่จำเป็นต้องตัดสินเขา เราเห็นความคิดที่ว่าไม่เอารัฐประหารก็แสดงว่าเอาทักษิณ แต่ความเป็นจริงไม่ได้ง่ายอย่างนั้น นี่คือเบื้องต้นก่อนจะพูดว่าเวลาเราฟังในสังคมจะมาจากสองจุดยืนนี้

"การเมืองที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นช่วงม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือการรัฐประหารของทหาร ไม่ได้เป็นความเปลี่ยนแปลงจากประชาชนอย่างที่จริง ประชาชนเป็นเพียงเบี้ยของกระบวนการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำเท่านั้น"

ทั้งนี้การเมืองไทยแนวโน้มจะมี 2 ส่วน 1.เกิดปรากฎการณ์พรรคการเมืองไทยอ่อนแอลง ไม่ว่าจะพรรคเล็กหรือใหญ่ ถ้าประมวลจากนักร่างรัฐธรรมนูญมืออาชีพ ข้อเสนอของกลุ่มนี้คือ การสังกัดพรรค 90 วันจะต้องลดเวลาให้น้อยลง หรือต้องคุมเงินบริจาคไม่ให้ใครบริจาคเงินให้พรรคมากเกินไป ทั้งหมดเกิดขึ้นบนพื้นฐานโรคกลัวทักษิณ เขียนเพื่อตอบสนองปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า

"การเมืองไทย 2 - 3 ปี จะเห็นสามองค์กร เข้ามามีบทบาทสำคัญ องค์กรที่ 1. คือ ทหารที่มากับการยึดอำนาจ และจะสืบทอดอำนาจหรือไม่ ในประวัติศาสตร์คิดว่าทหารไม่สามารถลงจากอำนาจตอนนี้ได้ เพราะจะถูกตามเช็คบิลแน่ ช่องทางที่มีอยู่คือวุฒิสภา หากมาจากการแต่งตั้ง เมืองไทยจะมี 2 กลุ่มคือ 1.ทหาร 2.เพื่อนทหาร แต่ทหารมีข้อจำกัดเพราะสังคมไทยมีบทเรียนกับทหารมาก หากทหารสืบทอดอำนาจก็จะถูกตราหน้าว่าเป็น รสช. องค์กรที่ 2 คือองคมนตรี เป็นผู้ทำหน้าที่วางนโยบายทางเศรษฐกิจตัวจริงและค้ำประกันให้รัฐบาลว่าสุรยุทธ์ดี หรือทางด้านเศรษฐกิจพอเพียงมีผลเป็นนโยบายของรัฐบาล ทำให้องคมนตรีเป็นดัชนีชี้วัดความชอบธรรมของรัฐบาลและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล และองค์กรที่ 3 คือศาล ผ่านทางมาตรา 7 โดยหลังจากพระราชดำรัสในหลวง วันที่ 25 เม.ย. 49 ศาลเริ่มตื่นตัวขึ้นมา

"นักรัฐศาสตร์บอกว่าแบบนี้คือการหวนกลับของระบบอมาตยาธิไตย กลุ่มข้าราชการ ขุนนางจะเข้ามามีบทบาท อาจจะจริงแต่บางอย่างเราละเลย ทั้งสามองค์กรอยู่ภายใต้อำนาจวัฒนธรรมของสังคมไทยที่เราพูดไม่ได้แตะไม่ได้ ปี 2550 สิ่งที่จะเห็นคือ การเมืองเราจะพูดอะไรได้น้อยลง การวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลโดยตรงต่อรัฐศาสตร์จะขาดชิ้นส่วนใหญ่ไป เราจะเข้าใจการเมืองโดยไม่เข้าใจอย่างแท้จริง ปี 2550 หวังว่าสังคมไทยจะเริ่มทำความเข้าสังคมไทยที่เป็นจริงด้วยความกล้าหาญมากที่สุด"



,
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช.

บทบาทสำคัญในการพัฒนาการเมืองของประเทศต่างๆ ยกเว้นสหรัฐอเมริกา มีระบอบสมบูรนาญาสิทธิราช ซึ่งได้ฝังรากลึกในสังคมอย่างน้อง 10 ศตวรรษ ความชอบธรรมจึงมีค่อนข้างสูง สถาบันใดมีความชอบธรรมสูงการยอมรับจะเป็นไปได้มาก การเมืองไทยสถาบันกษัตริย์มีความชอบธรรมสูง ถึงแม้จะถูกลดไปบ้างเมื่อปี 2475 แต่กลับมาเมื่อปี 2501 การมีบทบาทสำคัญคือใครสามารถแสดงออกถึงความผูกพันธ์กับสถาบันกษัตริย์ก็จะได้รับการยอมรับ

เมื่อมีการก้าวมาสู่อำนาจของนายทุน กรณีทักษิณพูดถึง 19 ล้านเสียง กลายเป็นแหล่งความชอบธรรมอันใหม่ซึ่งมีนัยยะคือ เกิดคานอำนาจของความชอบธรรมแบบดั้งเดิมกับแบบใหม่ว่าอันไหนจะมีพลังมากกว่ากัน การปะทะของแหล่งที่มาของอำนาจสองอันเป็นประเด็นใหญ่ เพียงแต่ที่มาของการแสดงออกคือ กองทัพจะแสดงได้มากกว่าพรรคการเมือง กระบวนการของทั้งสองสถาบันมีสัญลักษณ์แตกต่างกัน นักวิชาการ ชนชั้นกลางส่วนหนึ่งสะใจที่รัฐประหาร อีกส่วนเห็นว่าไม่มีทางเลือก เวลานี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

สำหรับการเมืองไทยในอนาคตตนไม่ค่อยเชื่อกฎหมายว่าจะกำหนดพฤติกรรมของคนได้ แนวคิดบางอันบอกว่ากฎหมายกำหนดพฤติกรรมได้และแนวคิดอีกแบบบอกว่ากฎหมายจะพัฒนาการตามความคิดทางสังคม เช่น รัฐธรรมนูญของสหรัฐไม่ยาวเท่าไหร่แต่ทำไมอยู่มาได้ถึง 200 ปี ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่รัดกุมมากแต่กลับไม่ได้ผล อาจเป็นเพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดทำให้ห่างไกลจากชาวบ้านเพราะต้องกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ เวลานี้ตนไม่เชื่อว่าจะปฏิรูปทางการเมืองโดยรัฐธรรมนูญได้

นอกจากนั้นมีความเห็นว่าช่วงชีวิตตนคงไม่เห็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และถ้ามองพัฒนาการการเมืองไทย ปี 2475 การเมืองสมัยใหม่ มี 3 กลุ่มหลักๆ คือ 1.กองทัพ 2.กลุ่มทุนซึ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2518 ก่อนหน้าสถิติการเลือกตั้งปี 2500 - 12 จะเห็นกลุ่มอำนาจใหม่ แต่ยังไม่ชัด กลุ่มนี้ยังไม่เป็นปึกแผ่น มาปี 2516 นักศึกษาเป็นตัวแทนของกลุ่มใหม่ เป็นกลุ่มก้อนคล้ายทหาร แต่ได้รับแนวคิดใหม่ เป็นพลังชั่วคราว หลังจากนั้นกองทัพพยายามดึงการเมืองไทยให้กลับไปเหมือนเดิม ปี 2519-20 เกิดการเมืองแบบประนีประนอม เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ พล.อ.เปรมก็เป็นฐานอำนาจเก่า คุณชาติชายมาในฐานะตัวแทนระบบทุน กดดันให้พล.อ.เปรมถอย ชัดเจนที่สุดคือยุคทักษิณ 3. ข้าราชการ ซึ่งมีกฏหมายเป็นเครื่องมือถูกพัฒนาพร้อมกับทหาร จนต่างชาติเรียกว่าการเมืองแบบอมาตยาธิปไตย ภาคประชาชนก็โผล่มาเป็นครั้งคราวเท่านั้น

"ที่อยากตั้งคำถามคือ การเมืองในชีวิตประจำวันในท้องถิ่นทำอะไรได้มากแค่ไหน โครงการต่างๆ เช่น น้ำปิง ยังเห็นการทึ้งทรัพยากรธรรมชาติทั้งข้าราชการ นายทุน เข้ามาตักตวงผลประโยชน์อย่างมหาศาล อำนาจรัฐไม่เห็นจัดการอะไรได้ พูดถึงการเมืองระดับชาติเป็นเรื่องง่าย แต่พูดถึงการเมืองท้องถิ่นนั้นทำไม่ได้"
ดังนั้นสิ่งที่ต้องการคือรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนและสาธารณชน ปี 2540 คิดว่าฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจ รัฐธรรมนูญจึงออกแบบมาให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจ ทำให้เกิดปัญหา ประเทศนิวซีแลนด์เขาทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ไม่เข้มแข็งแต่เพียงพรรคเดียว แต่ต้องการให้ถ่วงดุลอำนาจกัน ระบบเลือกตั้งพยายามให้โอกาสพรรคเล็ก แต่เรามองว่าพรรคเล็กเป็นอุปสรรคต่อพรรคใหญ่ สิทธิต่างๆของประชาชนที่จะทำให้รัฐบาลเกิดความรับผิดชอบ รัฐธรรมนูญปี 40 หลายอันใช้ได้ แต่จะทำให้ใช้ได้กว่านี้อย่างไร ?.

ที่มา : ข่าวพลเมืองเหนือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net