Skip to main content
sharethis


 


"ถ้าคนจะคิดว่าการเกิดเวทีสังคมโลกที่แอฟริกาในครั้งนี้เป็นเหมือนปาฏิหาริย์ ขอยืนยันว่าไม่ใช่ แต่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามข้อตกลงอันลึกซึ้ง ที่จะให้โลกดำเนินไปด้วยความหวังของเรา การต่อสู้ของเรา" มิรันดา หนึ่งในคณะกรรมการนานาชาติของเวทีสังคมโลก เป็็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่อเกิดเวทีสังคมโลกครั้งแรกที่บราซิล กล่าวไว้ในการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนในเช้าวันที่ 22 มกราคม 2550 วันที่สองของการประชุมเวทีสังคมโลก ณ ศูนย์กีฬานานาชาติ Moi


 


การพูดถึงโลกใหม่ที่เป็นไปได้ "Another World is Possible" อาจจะกลายเป็นเพียงคำพูดเก๋ๆและเสแสร้งหลอกตัวเอง หากเราแกล้งเมินเฉยต่อความเป็นจริงที่คนในแอฟริกากำลังเผชิญ และดูเหมือนความเข้าใจถึงความยากลำบากที่ผู้คนต้องเผชิญนี้เอง จึงทำให้ผู้คนที่ร่วมในงานเวทีสังคมโลกที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในแอฟริกา มีความเข้าใจและระดับความอดทนที่สูงเป็นพิเศษต่อความขลุกขลักนานาประการ


 


อยากดูรายละเอียดโปรแกรมการประชุม มีโปรแกรมขนาด A4 หลายแผ่นต่อกันให้ผู้คนมุงดูใกล้กับโต๊ะประชาสัมพันธ์ เอเชียพันธุ์เตี้ยแบบเราเลยต้องล่าถอย ก่อนจะไปพบว่าที่สนามกีฬาอีกด้านหนึ่งอยู่ในระยะทางเดินพอให้หอบแฮกได้ มีโปรแกรมมากมายรอให้ผู้ึคนเอาป้ายชื่อที่ได้จากการลงทะเบียนไปแสตมป์รับ(แม้จะพยายามทำความเข้าใจ แต่ยังงงอยู่ดีว่าทำไม๊ ทำไม ไม่ให้ใครแบกมากระจายให้กับผู้คนที่อยู่ในสนามด้านที่จัดการประชุมหลักกันบ้าง รวมถึงสื่อมวลชนทั้งหลายก็ต้องตามล่าหาโปรแกรมกันตามอัตภาพ)


 


ไฟฟ้าที่ติดๆดับๆเป็นระยะเพื่อเตือนเราเกี่ยวกับความจริงของชีวิตที่ผู้คนในไนโรบีต้องเผชิญ และอินเตอร์เน็ตที่แม้จะอำนวยความสะดวกให้มี Hotspot Wifi แต่ก็ดูเหมือนจะมีช่วงเวลาที่อินเตอร์เน็ตดาวน์มากจนเกือบเรียกได้ว่า ช่วงเวลาที่อินเตอร์เน็ตใช้ไม่ได้มากกว่าเวลาที่ใช้ได้เสียอีก


 


ความขลุกขลักเป็นเรื่องหนึ่งพอทำความเข้าใจได้ แต่ "ความแพง" เป็นเรื่องที่พาลให้มึนๆงงๆอยู่เช่นกันว่า ด้วยค่าครองชีพประมาณนี้คนในพื้นที่จะดำรงชีวิตอยู่รอดกันอย่างไร ชีวิตจริงๆประจำวันคงเป็นเรื่องที่ยากจะตอบในระยะเวลาอันสั้น แหล่งข้อมูลหลักที่ได้คือบทสนทนาระหว่างการเดินทางกับคนขับแท็กซี่ก็ดูจะเล็กน้อยและฉาบฉวยเกินไปกว่าที่จะเอามาเป็นข้อสรุป


 


ทว่า "ความแพง" สำหรับการจ่ายเพื่อเข้าร่วมเวทีสังคมโลกสำหรับชาวเคนย่า หรือผู้เข้าร่วมที่มาจากประเทศในแถบแอฟริกาด้วยกันเองดูเหมือนจะเป็นคำถามและประเด็นที่น่าขบคิด การเดินทางมายังศูนย์กีฬานานาชาติMoi ซึ่งอยู่ห่างออกมาจากตัวเมืองราว 10 กิโลเมตร ทางเลือกหลักของการเดินทางคือแท็กซี่ ค่าแท็กซี่ตามราคาต่อรองอยู่ที่ 500-1,000 เคนย่าชิลลิ่ง (1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ= 66 ชิลลิ่ง) ซุ้มขายอาหารอย่างเป็นทางการภายในงานหน้าตาและรสชาติดูดีมีคุณภาพ สนนราคาอาหารแต่ละอย่างอยู่ที่ประมาณ 400 ชิลลิ่ง ขณะที่น้ำดื่มขวดละ 100 ชิลลิ่ง ฉะนั้นจึงไม่แปลกเท่าใดนักถ้าในซุ้มอาหารจะหนาตาด้วยผู้เข้าร่วมประชุมจากชาติตะวันตกมากกว่าจะเป็นคนแอฟริกัน


 


คำถามจากผู้สื่อข่าวที่ถามต่อคณะกรรมการเวทีสังคมโลกเกี่ยวกับเรื่อง "ความแพง" ที่กลายเป็นอุปสรรคต่อการที่ประชาชนชาวเคนย่าจะเข้าร่วมเวทีสังคมโลกในครั้งนี้ คำตอบที่ได้รับจาก Edward Oyugi คณะกรรมการชาวเคนย่าคือ เวทีสังคมโลกที่เกิดขึ้นในไนโรบี ไม่ได้มีกิจกรรมเกิดขึ้นเฉพาะที่ศูนย์กีฬานานาชาติ Moi แต่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆของกรุงไนโรบี นอกจากนี้ยังมีปัญหางบประมาณที่ไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และถ้าถามต่อว่าถ้าเช่นนั้นทำไมไม่ขึ้นค่าลงทะเบียนเพื่อให้ระดมทุนได้มากขึ้น เหตุผลสำคัญก็เพื่อว่าให้เวทีแห่งนี้เป็นที่ที่ผู้คนสามารถเข้าร่วมได้มากที่สุด ดังนั้นจึงไม่สามารถตั้งราคาค่าลงทะเบียนให้สูงเกินไป และสำหรับชาวเคนย่าแล้ว ยังสามารถที่จะเข้าร่วมงานโดยจ่ายค่าเข้างานเป็นรายวัน คือ 50 ชิลลิ่ง


 


มิรันดาได้กล่าวเสริมตามประสบการณ์จากการจัดเวทีสังคมโลกที่บราซิลว่า ความร่วมมือจากรัฐบาลและภาคเอกชนอาจจะช่วยให้การดำเนินงานหลายอย่างสะดวกและเป็นไปได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องระวังที่จะไม่ให้รัฐหรือเอกชนเข้ามาครอบงำการดำเนินงานของเรา นี้เป็นหลักการพื้นฐานที่ต้องรักษาไว้ด้วยความระมัดระวังยิ่ง


 


"Solidarity" (โซลิดาริตี้) เป็นคำที่มีให้ได้ยินจนหูฉ่ำและตาแฉะ ท่ามกลางความสมัครสมานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ผ่านไปอย่างสงบเสงี่ยมราบรื่น มีเพียงเสียงขบวนพาเหรดเพื่อนำเสนอประเด็นการต่อสู้ของขบวนการประชาสังคมต่างๆ ความตื่นตาตื่นใจกับความสนุกสนานของการร้องรำจากเพื่อนชาวแอฟริกันที่เป็นไปด้วยความสนุกสนานจำนวนไม่น้อยแสดงออกถึงความแข็งแกร่งของร่างกาย จนบางครั้งก็อดสงสัยไม่ได้ว่าขบวนการฝ่ายซ้ายเพื่อต้านโลกาภิวัตน์ช่างรักความสงบดีแท้ ไม่เห็นวี่แววของนักสร้างปัญหา (Trouble Maker)แบบที่มักจะถูกกล่าวหาเลย


แต่เพียงล่วงเข้าสู่ตอนเที่ยงของวันที่สอง ดูเหมือนเรื่องจริงของการถามหาโลกใหม่ที่เท่าเทียมได้ก่อตัวขึ้น กลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมชาวเคนย่าปะปนเล็กน้อยด้วยผู้ร่วมประชุมจากประเทศต่างๆราว 50 คน เดินขบวนบุกเข้าไปยังสำนักงานเลขานุการเวทีสังคมโลก ด้วยคำถามหนักๆใหญ่ๆว่า ทำไมการจัดการของเวทีสังคมโลกแห่งนี้ช่างคล้ายคลึงกับแนวทางทุนนิยม การเปิดให้บริษัท Cettel บริษัทโทรศัพท์มือถือใหญ่ของเคนย่าได้รับสัมปทานผูกขาดเพียงเจ้าเดียว และถ้าประเด็นความมั่นคง/อธิปไตยทางอาหารเป็นประเด็นใหญ่อันหนึ่งของเวทีสังคมโลก ก็ช่างเป็นเรื่องน่าท้าทายเหลือเกินสำหรับการทวงถามถึงการไม่สามารถมีทางเลือกของการมีอาหารราคาถูกที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะสามารถเข้าถึงได้


 


คำตอบที่ได้รับจาก Edward Oyugi คณะกรรมการจัดงานชาวเคนย่า ไม่ว่าจะเป็นการมีข้อตกลงสัญญากับ Cettel เนื่องจาก Cettel ให้การสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์การสื่อสารในงานครั้งนี้ เป็นสัญญาที่ได้ทำความตกลงไปแล้ว นอกจากนี้ Oyugi ยังได้พูดถึงหลักการพื้นฐานของการจัดเวทีสังคมโลกที่ไม่สามารถจะกีดกันใครออกไป ซึ่งรวมถึงนักธุรกิจเองก็สามารถเข้าร่วมได้ รวมไปถึงการที่เขาเองไม่สา่มารถจะตอบตกลงในข้อเรียกร้องเหล่านี้ได้ในทันที เพราะกระบวนการตัดสินใจและดำเนินการใดๆของเวทีสังคมโลกตั้งอยู่บนหลักการประชาธิปไตย ข้อเสนอ/ข้อเรียกร้องเหล่านี้ต้องถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ อย่างไรก็ตามทางออกที่น่าจะพอเป็นไปได้ในเรื่องอาหารคือการจัดใหมีพื้นที่ที่จะมีผู้ค้าอาหารรายอื่นๆ เข้ามาจำหน่ายอาหารเพื่อสร้างทางเลือกของการมีอาหารราคาถูกได้บ้าง


 


ความเคลื่อนไหวเล็กๆในเวทีสังคมโลกแห่งนี้ จุดคำถามซ้ำเดิมถึง "โลกใหม่ที่เท่าเทียม" จะเป็นไปได้อย่างไรท่ามกลางรอยทางที่วัฒนธรรมการการขับเคลื่อนโลกดำเนินไปบนรอยทางที่ทุนนิยมครอบงำเกือบทุกพื้นที่ ซึ่งก็อาจรวมถึง Alternative Globalization ที่กำลังหวังว่าจะเคลื่อนไปข้างหน้าในเวทีสังคมโลก ครั้งที่ 7 ที่ไนโรบี เคนย่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net