Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 22 ม.ค.2550 เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 มกราคม 2550 ที่โรงเรียนดารุสสาลาม ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดยพล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ในฐานะกรรมาธิการฯ พร้อมคณะกว่า 40 คน ได้ร่วมประชุมกับผู้นำศาสนา กรรมการอิสลามประจำจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 200 คน เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่



 



โรงเรียนดารุสสาลาม จังหวัดนราธิวาส


 


นายอาหามะ แวหามะ โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดในอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เสนอให้รัฐเพิ่มค่าตอบแทนโต๊ะอิหม่าม คอเต็บ (ผู้บรรยายธรรม) และบิหลั่น (ผู้ประกาศเชิญชวนให้ปฏิบัติศาสนกิจ) ด้วย


อย่างน้อยให้เท่ากับค่าตอบแทนของกำนันและผู้ใหญ่บ้าน เนื่องจากปัจจุบันผู้นำศาสนาเหล่านี้มีภารกิจมากขึ้น ทั้งการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่สงบ และการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น ขณะที่มีรายได้มีน้อยค่าครองชีพสูงขึ้น


 


"การแก้ปัญหาหากมุ่งหวังไปที่ผู้นำศาสนาเหล่านี้แล้ว ก็ต้องให้ความสำคัญหาเรื่องนี้ด้วย เพราะถือว่าเขาเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณ ที่สามารถเอาชนะจิตใจของมวลชนด้วยการการใช้คำสอนของศาสนาอิสลามได้" นายอาหามะกล่าว


 


นายศรัทธา เหมเซ็ง ครูโรงเรียนดารุสสาลาม รายงานว่า สถานการณ์ความไม่สงบ ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนในพื้นที่ เพราะต้องปิดเรียนบ่อย นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาเกิดความกลัว ส่งผลให้นักเรียนชั้นมัธยมปลาย ที่ต้องเตรียมตัวสอบเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา คุณภาพการเรียนด้อยกว่าที่อื่น จึงขอให้ทางการช่วยเหลือด้วย รวมทั้งขอให้เพิ่มสวัสดิการครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามด้วย


 


นายศรัทธา แจ้งต่อที่ประชุมว่า การเรียนการสอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามสะดุดลงบ่อย เพราะมีผลกระทบมาจากข้าราชการครูขอย้ายออกจากพื้นที่จำนวนมาก จนต้องเปิดสอบบรรจุข้าราชการครูอยู่เป็นระยะ บรรดาครูโรงเรียนเอกชนก็ไปสอบด้วย หลังจากประกาศผลการสอบบรรจุ ครูโรงเรียนเอกชนที่สอบบรรจุได้ ต่างลาออกไปเป็นข้าราชการครูทันที ทำให้กระทบกับการเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพราะขาดแคลนครูผู้สอน นับเป็นปัญหาหนักที่เกิดขึ้นทั่วไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


"ในส่วนของการจัดสรรทุนการศึกษาให้กับนักเรียนในพื้นที่ ทำให้ผู้ปกครองอึดอัด เพราะรัฐบาลใช้เงินรายได้จากหวยบนดินมาเป็นทุนมอบให้นักเรียน ขอให้ช่วยพิจารณาในประเด็นนี้ด้วย" นายศรัทธา กล่าว


 


นายอัซฮา สารีมะจิ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนดารุสสาลาม กล่าวต่อที่ประชุมว่า นักเรียนในพื้นที่ขาดข้อมูลทางด้านการศึกษาอย่างมาก ทำให้นักเรียนสับสนกับอนาคตทางการศึกษาของตัวเอง ขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบ ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจต่อนักเรียน จึงขอเสนอให้รัฐสร้างความมั่นใจทางด้านการศึกษาให้นักเรียนด้วย


 


นางสาวฟารีดา มะจู นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเดียวกัน เสนอให้ตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับนักเรียนในพื้นที่ รวมทั้งนำนักเรียนไปทัศนศึกษานอกพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และศึกษาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของรูปแบบการเรียนการสอนแต่ละโรงเรียนด้วย


 


นายฟัครุดดีน บอตอ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนราธิวาส เจ้าของโรงเรียนดารุสสาลาม ที่ถูกคนร้ายลอบยิงเป็นอัมพาตช่วงล่าง ได้แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมด้วยน้ำตานองหน้า ขอให้เจ้าหน้าที่เร่งสางคดีให้เร็วที่สุดด้วย 


 



พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะกรรมการธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชานแดนภาคใต้ มอบเงินช่วยเหลือ 10,000 บาท ให้ภรรยาของนายนนท์ ไชยสุววรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านเก่า อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ที่ถูกคนร้ายยิงแล้วเผาจนเสียชีวิต


เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2550


 


จากนั้น คณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปยังโรงเรียนสายบุรีอิสลามวิทยา อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เพื่อร่วมประชุมกับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันปอเนาะและโรงเรียนตาดีกา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


นายรอหีม แยนา ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดปัตตานี กล่าวต่อที่ประชุมว่า ถึงแม้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลต่อนักเรียนหนึ่งคนในอัตราเต็ม แต่ทางโรงเรียนก็ต้องนำมาแบ่งครึ่ง เพื่อนำไปเป็นค่าตอบแทนครูสอนศาสนาอิสลามในโรงเรียน เนื่องจากครูสอนศาสนาไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนจากรัฐ ส่งผลให้ทั้งครูสายสามัญและครูสอนศาสนา ต้องอยู่ด้วยความลำบาก เพราะรายได้น้อย จึงขอให้รัฐจัดเงินอุดหนุนให้ครูสอนศาสนาด้วย จะได้ไม่ต้องไปเบียดเบียนเงินเดือนของครูสามัญ


 


นายอับดุลรอเซะ หะยีอับดุลเลาะ โต๊ะครูสถาบันปอเนาะในจังหวัดยะลา กล่าวว่า การส่งกำลังทหารพราน 30 กองร้อยเข้ามาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่และคนที่มีญาติบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบ ตนเกรงว่าเมื่อกลับเข้ามาอยู่ในพื้นที่แล้ว อาจจะนำไปสู่การล้างแค้นแทนญาติที่เสียชีวิต จึงขอให้พิจารณาให้รอบคอบ หรือยกเลิกไปเลย


 


พล.ท.เรวัตร รัตนผ่องใส อนุกรรมาธิการสร้างความเข้าใจกับประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอบว่า ทหารพรานที่ส่งมาแล้ว 10 กองร้อย และที่จะส่งตามมาอีก 20 กองร้อย จะมาทำงานด้านมวลชน เพราะฉะนั้นอย่าตกใจเมื่อเห็นทหารชุดดำ และอย่าไปเชื่อข่าวปล่อย ที่ต้องการให้ประชาชนหวาดกลัวทหารพราน ทหารพรานชุดนี้จะมาทำงานแย่งชิงมวลชนในพื้นที่กลับคืนมา เมื่อได้มวลชนกลับมาแล้ว อำนาจและอธิปไตยของชาติกจะคืนกลับมา แต่ถ้าเสียมวลชนไปแล้ว อำนาจและอธิปไตยของชาติก็เสียไปด้วย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net