Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


วิทยากร บุญเรือง : รายงาน


 



 


... ผมคงจะเป็นนางสาวไทยไม่ได้ สาเหตุเพราะ (หนึ่ง) ผมเกลียดเด็ก , (สอง) ผมปฏิเสธการแสวงหาสันติภาพ (ผมมุ่งหาแต่รูปภาพแนว Erotic) และสุดท้าย ผมไม่ค่อยชอบที่จะท่องเที่ยวเดินทางเท่าไรนัก (ไม่สามารถเป็นพรีเซนเตอร์ให้ ททท. ได้) ... นี่เองจึงเป็นเหตุให้ชีวิตบนเส้นทางงานเขียนของผม มีไม่บ่อยครั้งที่จะมีเรื่องราวความทรงจำดีๆ จากการจาริกไปนั่น ไปนี่ ไปนู่น


 


อาทิตย์ที่แล้วผมได้ไปแม่สอด ไม่ได้ไปท่องเที่ยว แต่ไปด้วยเหตุผลอื่น จากการไปที่นั่น ผมเลยอยากจะเขียนอะไรไว้เป็นที่ระลึกกับสิ่งที่ผมไปสัมผัสที่นั่น

- ผมเห็นความยากลำบาก เลยเอามาเล่าในวันนี้ ...

 


000


 


... แม่สอดเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดตากที่อยู่ติดกับชายแดนประเทศพม่า ซึ่งนอกจากจะมีประชากรกลุ่มพม่าและกะเหรี่ยงแล้ว มีกลุ่มชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แม่สอดตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเมียวดีซึ่งเป็นอำเภอชายแดนที่สำคัญอันดับรองของพม่า ระหว่างแม่สอดและเมียวดีมีแม่น้ำเมยคั่นกลาง


 


สำหรับสิ่งที่ผมไปเห็น, แม่สอดไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แต่ที่สามารถเป็นที่ต้องตาต้องใจนายทุนจากส่วนต่างๆ ของประเทศได้ ก็เพราะแม่สอดนั้นเป็น "เขตส่งเสริมการลงทุนพิเศษ" โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ให้ผลประโยชน์ทางภาษีเป็นกรณีพิเศษแก่นักลงทุนเพื่อส่งเสริมการลงทุน ทำให้มีโรงงานกว่า 300 โรงงานในเขตอำเภอแม่สอด---ซึ่งเหตุผลจริงๆ ที่สามารถทำได้ก็เพราะ "ค่าแรงที่แม่สอดนี่มันถูกมาก" (อย่างน่าใจหาย!)


 


ผมเองไม่ได้เข้าไปยังศูนย์ผู้อพยพ หรือที่แม่ตาวคลินิก ซึ่งเป็น 2 สถานที่ที่ถ้าใครก็ตามทำงานภาคประชาชนเมื่อไปถึงแม่สอดจะต้องไปเยี่ยมเยียน, สำหรับผมและคณะ เราตระเวนอยู่ในตัวเมืองและปริมณฑลขอบเขตใกล้กับย่านโรงงาน เพื่อเก็บข้อมูลของแรงงานข้ามชาติในตัวเมืองแม่สอด


 


จากคำบอกเล่าของพี่แรงงานข้ามชาติ ที่ผมได้มีโอกาสพูดคุย แกบอกว่าที่แม่สอดมีโรงงานมากกว่า 300 แห่งเข้ามาตั้ง ในแต่ละโรงงานก็จะมีแรงงานตั้งแต่ 100 กว่าคน จนถึงหลักพัน และส่วนใหญ่สภาพความเป็นอยู่ของแรงงาน "ไม่ดีเอาเสียเลย" และแกก็ตบท้ายด้วยประโยคที่ว่า "แต่ ... มันก็เลือกไม่ได้หนิ"


 


นายจ้างในโรงงานหลายแห่ง ได้จัดทำบัตรอนุญาตทำงานให้แรงงานข้ามชาติ (ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกโรงงาน และไม่ใช่แรงงานทุกคนที่จะมีบัตร) และจะหักค่าใช้จ่ายการทำบัตรจากเงินค่าจ้างของแรงงาน แม้ว่าแรงงานจะได้รับสิทธิในการถือครองบัตรอนุญาตทำงาน แต่ในนายจ้างส่วนใหญ่ จะเก็บบัตรตัวจริงไว้ และให้สำเนาไว้แก่แรงงานเพื่อเป็นสิ่งของประกัน ไม่ให้แรงงานเหล่านี้หนีไปทำงานที่อื่น  


 


บางแห่ง นายจ้างจัดที่พักอาศัยให้ สำหรับพี่คนที่ให้ข้อมูลแก่ผม แกบอกว่าถ้าใครที่มีบัตร นายจ้างก็จะเก็บค่าที่พัก 100 บาทต่อเดือน แต่ถ้าใครไม่มีบัตร แกก็จะเก็บ 150 บาท


 


บางครั้ง (ซึ่งก็เป็นโดยส่วนมาก) หากช่วงไหนที่ไม่มีงานเข้ามา โรงงานก็จะปิดงานและปล่อยแรงงานไปตามยถากรรม ไม่มีสวัสดิการใดๆ รองรับทั้งสิ้น


 


พี่แรงงานยังเล่าให้ผมฟังถึงสถานการณ์การต่อสู้ในโรงงานของพวกเขาในโรงงานแห่งหนึ่ง ล่าสุดพวกเขาได้เรียกร้องให้นายจ้าง ขึ้นค่าแรงอีก 10 บาท (ใช่! แค่ 10 บาท) แต่นายจ้างกลับไล่คนงานส่วนหนึ่งที่เรียกร้องออกไปอย่างไม่ใยดี


 


".. พี่ทำงานให้เขามา 9 ปี อย่างขยันขันแข็ง พวกเราขอแค่ขึ้นค่าแรงให้มันเหมาะสมกับรายจ่ายปัจจุบัน แต่นี่คือของขวัญที่นายมอบให้กับเรา การไล่ออกไงล่ะ! .."


 


นอกจากปัญหาค่าจ้างที่ต่ำแล้ว พวกเขายังได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ  การข่มขืนกระทำชำเรา การทารุณร่างกาย การแสดงความไม่รับผิดชอบเมื่อแรงงานได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน --- นายจ้างพวกนี้มีไม้เด็ด คือ การข่มขู่โดยใช้สถานภาพทางสัญชาติเป็นเครื่องต่อรอง นั่นเอง!


 






 


ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับแม่สอด


 


120 บาท ... คือจำนวนเงินที่คุณสามารถไปใช้บริการหมอนวดแผนโบราณในแม่สอด 1 ชม.


 


1,000 บาท ... คือจำนวนเงินที่คุณสามารถนำหมอนวดแผนปัจจุบันออกมาจากสถานบริการได้ทั้งคืน


 


0 บาท ... คือค่าแรงต่อวันที่นักร้องสาวในร้านคาราโอเกะแห่งหนึ่งได้รับ (ไม่มีเงินเดือน อยู่ได้ด้วยทิปจากแขก)


 


มาม่า 1 ซอง ... คือ ค่าแรงโอทีที่แรงงานข้ามชาติได้รับ จากการทำงานล่วงเวลา 6 ชม.


 


10 บาท ... คือ ราคาอาหารขั้นต่ำในแม่สอด (ขนมจีน 1 จาน)


 


40 - 60 บาท ... คือ ค่าแรงโดยเฉลี่ยที่แรงงานข้ามชาติในแม่สอดได้รับต่อวัน


 


10,000 - 20,000 บาท ... คือ เงินเดือนโดยเฉลี่ยของแรงงานคอปกขาวชาวไทย (ผู้จัดการ , ผู้ประสานงาน )


 


2,000 กว่าคน ... คือ จำนวนแรงงานข้ามชาติที่ข้ามเข้ามาต่อ 1 วัน และถูกผลักดันออกไปต่อ 1 วัน


 


 


 


000


 


"... อยู่ฝั่งโน้น บางทีมันอันตรายถึงชีวิต หนีมาฝั่งนี้ ยังไงมันก็ดีกว่า ..."


 


"... อยู่ที่ฝั่งพม่า มันลำบากมาก ข้ามมาที่นี่มันก็ลำบาก แต่มันก็ต้องอยู่ เราขอมีงานทำ มีข้าวกิน มีชีวิตไปอีกวัน เราคงขอได้เท่านี้ ..." พี่แรงงานข้ามชาติคนหนึ่งกล่าวกับผมแบบสลดหดหู่


 


"... เรากลับไปไม่ได้แล้ว อยู่ที่นี่ยังไงก็ขอให้ชีวิตมันดีกว่าที่เป็นอยู่เถิด อย่ากลั่นแกล้งพวกเราไปกว่านี้อีกเลย ..."


ผมกลั้นน้ำตาเอาไว้แทบไม่อยู่ ในห่วงโซ่แห่งความสัมพันธ์เชิงอำนาจ บริเวณส่วนที่เปราะบางที่สุดในสังคม ก็คงจะมีแรงงานข้ามชาติเป็นหนึ่งในนั้น,


 


ผมรู้สึกโกรธเกลียดตัวเองนิดๆ ที่ผมทำอะไรให้พวกเขาไม่ได้ดีกว่านั่งฟัง - บันทึก - และนำมาบอกเล่า...


 


ทำไมผมถึงทำอะไรไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว!


 


... แม่สอดเป็นเมืองสวรรค์ของนายทุนผู้ประกอบการโดยแท้ โรงงานผุดขึ้นดังดอกเห็ด เพื่อไว้สูบความเจริญทางเศรษฐกิจผ่านการกดขี่พี่น้องร่วมโลกด้วยค่าแรงที่พวกนายทุนจ่ายไปเพียงน้อยนิด ทั้งนี้ยังมีแรงงานหน้าใหม่ๆ ที่หนีจากสิ่งเลวร้ายรูปแบบหนึ่ง มารอรับสิ่งเลวร้ายรูปแบบใหม่ พร้อมรออยู่หน้าโรงงานเสมอ --- ถ้าอยากเห็นว่าทุนนิยมมันทำอะไรไว้กับมนุษย์บ้าง ที่แม่สอดเป็นอีกที่ที่คุณสมควรจะไปดู


 


... กลับมาจากแม่สอดคราวนี้ ผมได้รับ "อคติที่มีต่อโลกที่บิดเบี้ยว" เพิ่มขึ้นอีกมากโข / โลกไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด.


 


ขณะที่หลายคนมีหนทางเลือกสรร "สิ่งดีสู่ชีวิต" ออกรอบตีกอล์ฟ , ดูหนังดีๆ, มีมื้อเย็นใต้แสงเทียนอันโรแมนติก, ท่องเที่ยวรอบโลกไปหาสิ่งสำราญสู่ชีวิต ... แต่อีกหลายชีวิตกลับต้องหาหนทางทนทุกข์ในรูปแบบใหม่ๆ ก้มหัวทนต่อการกดขี่ ทนต่อการขูดรีด เพียงเพื่อให้เขาได้ต่อลมหายใจไปวันต่อวัน -


 


นี่ไงสหาย สิ่งที่คุณเรียกว่าโลกมนุษย์ !


 


 


------------------


*ขอขอบคุณ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) ที่สนับสนุนการเดินทาง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net