Skip to main content
sharethis


นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท


 


ประชาไท—17 ม.ค. 2549 ระหว่างวันที่ 15 - 16 มกราคม 2550 ชมรมแพทย์ชนบทและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกระทรวงสาธารณสุข นำคณะรวมกว่า 10 คน เดินทางไปพบปะเยี่ยมเยือนแพทย์โรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้กำลังใจแก่บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ ประกอบด้วย โรงพยาบาลธารโต โรงพยาบาลบันนังสตา โรงพยาบาลรามัน จังหวัดยะลา, โรงพยาบาลกะพ้อ โรงพยาบาลหนองจิก จังหวัดปัตตานี และโรงพยาบาลเทพา โรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา


 


นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูกระดึง จังหวัดเลย ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท สรุปประเด็นที่พบจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ว่า โรงพยาบาลชุมชน 3 แห่งในจังหวัดยะลา มีปัญหาแตกต่างกัน ทั้งเรื่องบุคลากร ทรัพยากร และรูปแบบการบริหารจัดการ ประเด็นแรก คือ จำนวนแพทย์ โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลธารโต มีอัตรากำลังเท่าจำนวนขั้นต่ำ คือ 2 คน ในท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จะให้รอแพทย์จบใหม่เข้าไปปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2550 คงไม่ไหว ดังนั้น ต้องรีบหาแพทย์ลงไปช่วยคลายความเครียดจากสถานการณ์ และความกังวลของแพทย์ จากการไม่มีแพทย์มาสับเปลี่ยน ทำให้ไม่มีเวลาผ่อนคลาย


 


"ส่วนโรงพยาบาลบันนังสตา เกิดความรุนแรงถี่มาก ไม่มีปัญหาขาดแพทย์ เพราะมีอยู่ถึง 5 คน สามารถหมุนเวียนกันได้ หรืออาจจะสับเปลี่ยนกำลังกับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนแพทย์ได้ เพื่อให้แพทย์ได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น แต่ต้องไม่กระทบกับงานบริการ ทั้งสองประเด็นนี้ ผมจะเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข ปรับโครงสร้างการปฏิบัติงานให้เหมาะสมตามรูปแบบข้างต้นเป็นพิเศษ ในภาวะความไม่ปกติของพื้นที่" นายแพทย์เกรียงศักดิ์ กล่าว


 


นายแพทย์เกรียงศักดิ์ เปิดเผยต่อไปว่า นอกจากนี้ โรงพยาบาลบันนังสตายังมีปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งแก้ คือ น้ำประปาไม่ไหลมากว่า 2 สัปดาห์แล้ว เนื่องจากเครื่องผลิตน้ำประปา ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำปัตตานีชำรุด เจ้าหน้าที่ไม่กล้าเข้าไปซ่อม เนื่องจากก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ประปาของเทศบาลตำบลบันนังสตา ถูกยิงเสียชีวิตในบริเวณดังกล่าว ทางโรงพยาบาลแก้ปัญหาเบื้องต้น โดยขอให้เทศบาลขนน้ำมาส่งให้ทุกวัน ทางชมรมแพทย์ชนบทจะหางบประมาณมาช่วยขุดบ่อบาดาล เพื่อนำน้ำมาใช้ในโรงพยาบาล 2 ล้านบาท


 


นายแพทย์เกรียงศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า ส่วนที่โรงพยาบาลรามันพบว่า มีการเรียนรู้ด้านข้อมูลของพื้นที่ ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงในหลายเรื่อง และเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ในการให้บริการสาธารณสุขที่เหมาะสมกับพื้นที่ คิดว่าทางกระทรวงสาธารณสุขต้องทำความเข้าใจ และหาทางปรับให้เหมาะสมต่อไป เช่น การให้บริการบนพื้นฐานของการยอมรับความแตกต่างทางด้านศาสนาอิสลาม เป็นต้น


 


นายแพทย์เกรียงศักดิ์ เสนอว่า มาตรการระยะยาวที่นำมาใช้ในพื้นที่ได้ คือ การผลิตบุคคลากรที่ไม่จำเป็นต้องยึดรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ คือ ไม่จำเป็นต้องตัดเสื้อโหลแจกไปทั่ว ดังนั้น อาจจะต้องมีนักเรียนทุนด้านสาธารณสุข ที่เป็นมุสลิมในพื้นที่ทุกสาขา ไม่เฉพาะแพทย์เท่านั้น


 


"ต้องให้มุสลิมในพื้นที่ดูแลด้านสาธารณสุขกันเองได้ ดังนั้น มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จำเป็นต้องมีคณะแพทย์ โดยตั้งโจทก์ว่าจะให้มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับพื้นที่ได้อย่างไร ทุกคนต้องมาช่วยกัน แต่ไม่ใช่ตั้งโจทก์ว่า คุณพร้อมแค่ไหนที่จะเปิด ถ้ายังเป็นอย่างนั้นคงไม่ได้เริ่มเสียที สถาบันผลิตแพทย์หลายแห่ง เริ่มต้นจากความไม่พร้อมทั้งนั้น ดังนั้น วิธีการอาจใช้วิธีฝากเรียนกับที่อื่นก่อนได้ เช่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นต้น แต่ต้องพยายามไม่ให้เขาหลุดจากกรอบความเป็นท้องถิ่น" นายแพทย์เกรียงศักดิ์กล่าว


 


นายแพทย์เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับบุคลากรสาธารณสุขทุกภาคส่วน จะต้องทำงานด้วยความสบายใจ ไม่อึดอัด เช่น กรณีการชันสูตรพลิกศพ ต้องปล่อยให้แพทย์ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ปฏิบัติหน้าที่ไปตามความเป็นจริง ไม่แบ่งแยกว่าใครเป็นใคร เพราะการทำงานด้วยความเป็นกลางอย่างแท้จริง คือ เกราะป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ เพราะจะไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดความหวาดระแวง


 


ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบันนังสตา กล่าวว่า การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ต้องเป็นกลางถึงจะอยู่ได้ กรณีที่ชาวบ้านประท้วง ด้วยการแห่ศพผู้ก่อความไม่สงบ ที่เสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ จากโรงพยาบาลบันนังสตาเข้าไปในตลาด มาจากความไม่เข้าใจหลายด้าน เนื่องจากศพของชาวมุสลิมต้องรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่กว่าศพจะมาถึงโรงพยาบาลช้ามาก เมื่อศพมาถึงต้องรอพนักงานสอบสวนอีก ยิ่งทำให้ช้าขึ้นไปอีก ชาวบ้านจึงนำศพไปแห่ในตลาด ตนได้ย้ำกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกคนว่า ต้องคงความเป็นกลางให้มากที่สุด แม้ตำรวจจะบอกว่าเป็นศพโจรก็ตาม แพทย์ต้องทำหน้าที่ด้วยความตรงไปตรงมา เพราะนี่คือเกราะป้องกันบุคลากรสาธารณสุข


 


ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามัน จังหวัดยะลา กล่าวถึงเรื่องการจัดการศพของมุสลิมว่า ไม่ใช่ให้ฝังภายใน 24 ชั่วโมง แต่ต้องรีบจัดการให้เร็วที่สุด ในขณะที่ญาติพี่น้องของผู้ตาย สาละวนอยู่กับการแจ้งข่าวญาติพี่น้องทั้งในและนอกพื้นที่ ต้องหาวัสดุอุปกรณ์จัดการศพ ต้องขุดหลุมฝัง และต้องทำอีกหลายเรื่อง การที่ต้องเสียเวลารอการชันสูตรนาน อาจก่อให้เกิดความไม่พอใจกับชาวบ้านได้


 


"อิสลามถือว่าทุกคนต้องให้เกียรติต่อกัน โดยเฉพาะศพแล้วต้องให้เกียรติมากกว่าคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น การปฏิบัติต่อศพต้องทำอย่างนุ่มนวล การจะไปแต่งศพหรือฉีดยาศพทำไม่ได้ ยิ่งเป็นศพที่ชาวบ้านถือว่าเป็นนักรบแล้ว เสื้อผ้าเปื้อนเลือดอย่างไรก็ต้องปล่อยให้อยู่ในสภาพนั้น แต่บางครั้งศพที่มาชันสูตรที่โรงพยาบาลบางศพก็ถูกจัดการถอดเสื้อผ้ามาแล้วก็มี" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามันกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net