Skip to main content
sharethis


นายการีม อับดุลเลาะ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนได้เข้าร่วมประชุมพิจารณาร่างกฎหมายองค์กรอิสลาม ที่เสนอโดยนายนิเดร์ วาบา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2550 ด้วย แต่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นอะไร รับฟังอย่างเดียว ตนเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 เพราะมีช่องว่างและมีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างฝ่ายศาสนากับฝ่ายบริหารหลายอย่าง


 


นายการีม เปิดเผยด้วยว่า การประชุมในวันดังกล่าว ผู้จัดไม่ได้เชิญตัวแทนสำนักจุฬาราชมนตรีเข้าประชุมด้วย โดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งที่เป็นองค์กรทางศาสนาอิสลามสูงสุด ขณะที่มีการเชิญสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และแม่ทัพภาคที่ 4 เข้าร่วมด้วย ตนจึงแจ้งในที่ประชุมว่า ครั้งต่อไปให้เชิญสำนักจุฬาราชมนตรีด้วย เพราะการแก้ไขกฎหมายต้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม


 


นายการีม กล่าวว่า ตนกลัวประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย เหมือนครั้งร่างพระราชบัญญัติการบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันหมดแล้ว แต่ไม่ได้ถามความเห็นของนายประเสริฐ มะหะหมัด จุฬาราชมนตรีขณะนั้น เมื่อถึงขั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ถามความเห็นนายประเสริฐด้วย ปรากฏมีหลายประเด็นที่นายประเสริฐไม่เห็นด้วย ต้องนำกลับมาพิจารณากันใหม่


 


"การจะออกกฎหมายต้องนึกถึงคนที่อยู่ข้างหลัง ต้องคิดถึงอนาคต อย่าคิดเพียงว่าจะแก้กฎหมายเพื่อปัจจุบัน หรือเพื่อตัวเอง ประวัติศาสตร์มีให้เห็นแล้ว" นายการีม กล่าว


 


นายการีม เปิดเผยว่า ตนในฐานะเลขานุการผู้ทรงคุณวุฒิ ของจุฬาราชมนตรี จะนำเรื่องนี้เข้าหารือในสำนักจุฬาราชมนตรี ก่อนจะมีการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ครั้งต่อไป ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2550 ที่จังหวัดสงขลา


 


นายการีม กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอให้จุฬาราชมนตรี และคณะกรรมการอิสลามประจังหวัด รวมทั้งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มาจากการสรรหานั้น แล้วให้สภาชูรอเป็นผู้คัดเลือก ตนเห็นด้วย เพราะเชื่อว่ากระบวนการตรวจสอบบุคคลในปัจจุบันทำได้ง่าย แม้ว่ากรรมการของสภาชูรอ จะไม่รู้จักกับผู้ที่ถูกเสนอชื่อเข้ามาก็ตาม เพราะข้อมูลมัสยิดทั้งหมดในประเทศไทย อยู่ที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว


 


นายการีม กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนั้น ตนเห็นด้วยที่จะให้โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิด เลือกในเบื้องต้น จากนั้นให้ผู้รับเลือกทั้งหมดมาเลือกกันเอง แล้วนำเสนอสภาชูรอคัดเลือกอีกครั้ง ส่วนที่มาของกรรมการสภาชูรอก็น่าจะใช้วิธีเดียวกัน คือ ให้ท้องถิ่นเลือกมาก่อน เพราะตนเชื่อในความบริสุทธ์ใจของผู้นำศาสนาเหล่านั้น และน่าจะป้องกันการซื้อเสียงหรือการสรรหาที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมได้


 


นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 เนื่องจากขณะนี้เกิดความแตกแยกในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยออกเป็น 2 ฝ่าย ผ่ายแรกมาจากการเสนอชื่อของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กับอีกฝ่ายที่มาจากการเสนอชื่อของจุฬาราชมนตรี


 


นายอารีเพ็ญ กล่าวอีกว่า ตนเห็นด้วยในหลักการที่จะให้ใช้วิธีการสรรหาแทนการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพราะไม่ใช่วิธีตามหลักการศาสนา โดยเฉพาะต่อตำแหน่งผู้นำศาสนา เพราะถ้าผู้นำศาสนามาจากการใช้เงินซื้อเสียง ดูแล้วไม่สง่างาม ถึงแม้การสรรหาผู้นำศาสนา อาจจะไม่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็น่าจะดีกว่าการเลือกตั้ง เพราะถึงจะชนะกัน 10 คะแนน หรือ 1 คะแนน ก็ทำให้เกิดการแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ปัญหาความแตกแยกที่เกิดจากการเลือกตั้งผู้นำศาสนา ขณะนี้ลงลึกถึงระดับชุมชนแล้ว


 


นายอารีเพ็ญ เปิดเผยด้วยว่า เมื่อครั้งที่มีการร่างพระราชบัญญัติการบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ยังมีอีกหลายเรื่องที่ตกหล่นไป ไม่ได้บัญญัติไว้ด้วย เพราะผู้มีอำนาจขณะนั้นคัดค้าน ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในตำแหน่งผู้บริหาร ซึ่งจุฬาราชมนตรีสวมหมวก 2 ใบ คือ เป็นผู้นำศาสนาสูงสุดด้วย และยังเป็นประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารโดยตำแหน่งด้วย


 


นายอารีเพ็ญ เปิดเผยว่า ครั้งนั้นได้เสนอด้วยว่าให้กำหนดอายุของจุฬาราชมนตรีด้วยว่า ต้องไม่เกิน 70 ปี ส่วนข้อเสนอให้กำหนดอายุถึง 80 ปีนั้น ตนรู้สึกว่าแก่เกินไป แต่ถ้าแก้ไขกฎหมายโดยแยกอำนาจให้ชัดว่า จุฬาราชมนตรีออกจากฝ่ายบริหารอย่างชัดเจน ไม่จำเป็นต้องกำหนดอายุก็ได้ ส่วนประเด็นที่ยังตกหล่นอยู่ ได้แก่ ข้อเสนอให้กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นพนักงานของรัฐตามกฎหมาย และให้จัดตั้งกองทุนซากาต (ทานบังคับ) ซึ่งยังไม่ได้บรรจุเอาไว้ เพราะมีการปล่อยข่าวลือเสียก่อนว่า ตนกับนายเด่น โต๊ะมีนา แกนนำกลุ่มวาดะห์ขณะนั้น ต้องการนำเงินมาใช้ปลุกระดมทำสงครามศาสนาหรือญีฮาด


 


"เพื่อไม่ให้ปัญหาความขัดแย้งบานปลายออกไป เราก็ให้ผ่านไป จะเอาอย่างไรก็ได้ เพื่อไม่ให้มุสลิมแตกแยกกัน สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ที่กำลังดำเนินการ ถ้าดูจากความขัดแย้งที่มีอยู่ น่าจะผ่านได้ยาก รัฐบาลคงไม่กล้าผ่านง่ายๆ" นายอารีเพ็ญ กล่าว


 


นายอารีเพ็ญ ยอมรับว่า ในช่วงที่มีการร่างพระราชบัญญัติการบริหารกิจการศาสนาอิสลามพ.ศ. 2540 มีการเจรจาตอรองเรื่องที่มาของจุฬาราชมนตรีด้วย เพราะมุสลิมที่อยู่ภาคกลางเห็นว่า ในอดีตจุฬาราชมนตรีมาจากภาคกลางทั้งหมด ถ้าใช้วิธีการเลือกโดยใช้สัดส่วนประชากรมุสลิม จุฬาราชมนตรีจะได้คนมุสลิมจากภาคใต้แน่นอน เพราะในภาคใต้มีมุสลิมมากกว่าภาคกลาง


 


นายอารีเพ็ญ กล่าวถึงข้อเสนอที่ให้ตั้งสภาอูลามาอฺด้วยว่า ตามพระราชบัญญัติการบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 กำหนดให้จุฬาราชมนตรีมีอำนาจตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อปรึกษาวินิจฉัยทางศาสนา หากตั้งสภาอูลามาอฺขึ้นมาแล้ว บทบาทของผู้ทรงคุณวุฒิ จุฬาราชมนตรีจะอยู่ตรงไหน จุดนี้ต้องระบุให้ชัดเจนด้วย


 


สำหรับนายอารีเพ็ญ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันพระราชบัญญัติการบริหารกิจการศาสนาอิสลามพ.ศ. 2540 ร่วมกับนายเด่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net