รัฐบาลเตรียมผลักดันกฎหมายพรบ.องค์กรศาสนาอิสลาม ฉบับใหม่หนุนแนวคิดตั้งสภาอูลามาอ์

วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2006 15:01. 

กองบรรณาธิการสถาบันข่าวอิศรา

สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

 

รัฐบาลมีแนวคิดจัดตั้งสภาอุลามาอ์ ในพท.สามจว.ชายแดนภาคใต้เพื่อทำหน้าที่ "ฟัตวา"  วินิจฉัยประเด็นคำสอนทางศาสนาอิสลามในกรณีที่เกิดปัญหาในเรื่องของการตีความหลักการทางศาสนาเพื่อป้องกันความแตกแยกทางสังคมในหมู่ชาวไทยมุสลิมในพท.

 

นิเดร์ วาบา  นายกสมาคมโรงเรียนราษฏร์สอนศาสนาอิสลามในพท.สามจว.ชายแดนภาคใต้และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล..สุรยุทธ์ จุลานนท์  เปิดเผยกับ "ศูนย์ข่าวอิศรา" ว่าขณะนี้ทางรัฐบาลได้มีการร่างพรบ.องค์กรศาสนาอิสลาม และจะให้มีการทำประชาพิจารณ์ในเร็วๆนี้  โดยจะได้มีการเชิญผู้รู้ทางศาสนาและผู้นำศาสนาอิสลามจากทั่วประเทศเข้าร่วมพูดคุย   ก่อนที่จะเสนอร่างพรบ.ดังกล่าวให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป

 

"สาเหตุสำคัญที่ต้องมีสภาอูลามาอ  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแตกแยกทางสังคมเกิดขึ้น  เนื่องจากอาจมีการเข้าใจบทบัญญัติคำสอนทางศาสนาอิสลามที่ไม่ถูกต้อง   ซึ่งสภาอูลามาอ์จะเข้ามาทำหน้าที่ในการวินิจฉัยเรื่องที่เกี่ยวกับหลักการทางอิสลาม"   ดาโต๊ะ นิเดร์ วาบา กล่าวทำความเข้าใจถึงแนวคิดการตั้งสภาอูลามาอ์  ที่จะปรกอบด้วยผู้รู้ทางศาสนาจากทั่วประเทศจำนวนหนึ่งไม่น้อยกว่า ๒๐ คน

 

ดาโต๊ะ นิเดร์ กล่าวยอมรับว่าส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นในพท.สามจว.ชายแดนภาคใต้มีสาเหตุมาจากการบิดเบือนหลักคำสอนทางศาสนาอิสลาม

 

ช่วงที่ผ่านมาก็มีปัญหาในการทำความเข้าใจชี้แจงกับประชาชนในพท.และในหลายๆครั้งผู้นำศาสนาในชุมชนก็ลำบากใจที่จะให้คำวินิจฉัยทางศาสนาที่อาจทำความไม่พอใจให้กับกลุ่มก่อการร้ายในพท.

 

"ประมาณช่วงต้นปีหน้าจะให้มีการทำประชาพิจารณ์ถึงเนื้อหาในร่างพรบ.ดังกล่าว   ซึ่งเชื่อว่าหากประกาศใช้จะมีส่วนช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในพท.ลงได้"  ดาตะ นิเดร์ กล่าวแสดงความมั่นใจ

 

ทางด้านผู้นำ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แนะ การก่อตั้ง สภาอุลามาอ์  รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่ ให้อำนาจในการจัดการบริหาร และมีกฎหมายรองรับ ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ผลประโยชน์ก็จะเกิดกับชาติบ้านเมือง

 

นายอับดุลเราะแม เจะแซ  ประธานคณะกรรมการอิสลาม จังหวัดยะลา  (กอจ. ยะลา)  กล่าวว่า การตั้งสภาอุลามาอ์เป็นเรื่องที่ยาก เพราะการตั้งสภาอุลามาอ์ อันดับแรกจะต้องให้มี "ศาลซารีอะห์" ก่อน คือต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอิสลาม  นอกจากนั้น องค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ต้องมีอำนาจ และต้องมีงบประมาณสนับสนุน ทั้งนี้ดูได้จาก สำนักงานคณะกรรมการอิสลามแต่ละจังหวัดได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นเงินบริหารสำนักงาน  2500 บาทต่อเดือน และสำนักงานก็ไม่มีอำนาจในการจัดการบริหาร ดังนั้นข้อจำกัดของ กอจ. คือ ไม่สามารถออกมาตรการข้อบังคับ ระเบียบการ เพื่อดูแลสังคมได้อย่างเต็มที่ เพราะหลายครั้งที่ประชาชนเข้ามาร้องเรียนให้ออกมาตรการดูแลประชนชนเพื่อให้อยู่ในหลักศาสนา แต่ทางเราก็เรียนประชาชนว่า เราทำไม่ได้ เพราะงบประมาณไม่เพียงพอเพราะฉะนั้นที่ผ่านมา กอจ. ทำเท่าที่สามารถทำได้ ซึ่งไม่เต็มที่กับงานเท่าที่ควร

 

ด้าน นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลาม จังหวัดปัตตานี กอจ. ปัตตานี กล่าวว่า ที่ผ่านมา 3 จังหวัดเคยก่อตั้งชมรมอุลามาอ์ แต่ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับของรัฐบาล ทำให้ชมรมดังกล่าวมีเฉพาะโครงร่าง แต่ไร้บทบาท ไร้อำนาจ อย่างไรก็ตาม หากรัฐจะก่อตั้ง สภาอุลามาอ์ ก็สามารถดูแบบอย่างได้จากชมรมอุลามอ์

 

นายแวดือราแมยังได้เสนออีกว่า การตั้งสภาอุลามาอฺ รัฐจำเป็นต้องมีรูปแบบที่ชัดเจน และให้เป็นรูปธรรมจริง มีวัตถุประสงค์ชัดเจน โครงสร้างที่ชัดเจน และมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และเมื่อก่อตั้งแล้ว รัฐต้องให้การสนับสนุนงบประมาณ และให้อำนาจเต็มที่ในการจัดการบริหาร และที่สำคัญ สภาอุลามาอ์ ต้องมีกฎหมายรองรับ โดยมีกระทรวงที่รับผิดชอบ และได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพราะจะทำให้องค์มีคุณภาพ และประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตามเขาบอกว่า การตั้งสภาอุลามาอ์ เป็นเรื่องที่ดี และสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้สังคมมีเอกภาพ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สังคมต้องการความร่วมมือในการแก้ปัญหาจากสังคมในพื้นที่

 

ทั้งนี้สิ่งเหล่านี้เป็นข้อเสนอของ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้นำเสนอเรื่องนี้แล้วเหลือแต่รัฐบาลที่ต้องไปศึกษาเพื่อแก้ปัญหาสังคมต่อไป

 

สำหรับ นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิ จังหวัดยะลา แนะว่า การตั้งสภาอุลามอฺเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่ต้องเข้าใจในกระบวนการ และมีวัตถุปะสงค์ที่ชัดเจน อีกทั้งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทั้งคนในพื้นที่ สำนักจุฬา คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพราะถ้าทำไม่ดีแล้ว และไม่รอบคอบแล้ว จากที่ต้องการให้เกิดสิ่งดี แต่กลับสร้างปัญหา

 

ทางด้านอดีตสส.อารีเพ็ญ อุตรสินธ์ ก็กล่าวแสดงความเห็นด้วยในเรื่องดังกล่าว  โดยชี้ว่าสภาพการณ์ที่เป็นอยุ่ในปัจจุบันจำเป็นต้องมีสภาอูลามาอ์ เพื่อขจัดข้อพิพาทหรือความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในเรื่องของการตีความตามหลักคำสอนทางศาสนาอิสลาม   อย่างไรอดีตสส.นราธิวาส กล่าวว่าการคัดคนเพื่อเข้าไปทำงานในสภาอูลามาอ์จะต้องมีความรอบครอบเพื่อให้ได้ผู้รู้ทางศาสนาจริงๆเข้าไปทำงานไม่เช่นนั้นก็อาจเกิดความแตกแยกขึ้นได้

 

อารีเพ็ญ กล่าวยอมรับว่าที่ผ่านมามีการบิดเบือนหลักคำสอนทางศาสนาอิสลาม  และนำคำสอนเหล่านั้นมาเผยแพร่เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่เยาวชนมุสลิมในพท.จว.ชายแดน   "อย่างเช่นคัมภีร์มรณะ ที่ได้มีการเผยแพร่และแจกจ่ายใน พท.ที่ได้พูดถึงกลุ่มคนนอกศาสนา หรือกลุ่มต่อต้านที่ต้องมีการกำจัดทิ้งซึ่งได้มีการนำหลักคำสอนทางศาสนาไปใช้ในทางที่ผิดๆ  หากไม่รีบเร่งแก้ไขก็เป็นเรื่องอันตราย  เหตุร้ายการฆ่ากันที่เป็นอยู่ในพท.ขณะนี้ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นไปตามการชี้แนะในคัมภีร์มรณะที่มีการกำจัดผู้บริสุทธิ์  รวมทั้งเด็ก ผู้หญิง และคนชรา"

 

นาย อารีเพ็ญ ยังได้กล่าวต่อว่าทุกวันนี้ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในการทำพิธีศพของคนไทยมุสลิมในสามจว.ชายแดนที่เสียชีวิตจากการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่

 

โดยญาติของผู้เสียชีวิตบางรายเชื่อว่าการทำพิธีศพจะต้องไม่ชำระล้างร่างกายของผู้ตายเพราะเชื่อว่าการตายในลักษณะดังกล่าวเป็นการทำสงครามทางศาสนา

 

เมื่อต้นอาทิตย์ที่ผ่านมาก็มีปัญหาในลักษณะดังกล่าวในพท..แม่ลาน จ.ปัตตานี  ที่ผู้นำศาสนาในพท.ได้ปฏิเสธความต้องการของญาติผู้ตายที่เสียชีวิตจากการปะทะกับผู้ใหญ่บ้าน ที่บ.ควนลาแม ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์  ที่ไม่ต้องการให้มีการอาบน้ำล้างศพก่อนทำพิธีฝังตามหลักศาสนาอิสลาม  โดยอ้างว่าเป็นการตายในการทำสงครามศาสนากับเจ้าหน้าที่ นาย ฮะยีวาฮับ อับดุลวาฮับ อดีตประธานคณะกรรมการกลางอิสลามจว.ปัตตานี กล่าวในเรื่องนี้ว่าผู้นำศาสนาในพท..แม่ลาน ได้มาปรึกษาตนเรื่องการทำพิธีศพของ นายอุสมาน ตาเนาะ  ชาวบ้านจากบ้านหมู่ ๖  .ป่าไร่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ที่ถูกยิงเสียชีวิตหลังร่วมกับพวกคนร้ายเข้าทำร้ายผญบ.กูเฮง สาอิ  ที่ต.ควนลาแม  โดยญาติส่วนหนึ่งของ นาย อุสมาน ไม่ต้องการให้มีการชำระล้างศพก่อนทำพิธีฝัง โดยเห็นว่าเป็นการทำสงครามศาสนาซึ่งนาย อับดุลวาฮับ ได้แสดงความไม่เห็นด้วย

 

"ผมบอกไม่ได้ นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องของการตายในการทำหน้าที่ปกป้องศาสนา ไม่ใช่เรื่องจีฮาญอย่างที่มีการกล่าวอ้าง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นความพยายามที่ต้องการฆ่าคนบริสุทธิ์ แอบซุ่มยิงอย่างนี้จะเรียกว่าเป็นการทำสงครามศาสนาได้อย่างไร ผมบอกให้เขาทำพิธีศพตามปกติ คือให้ชำระล้างศพก่อนทำพิธีฝัง" นาย อับดุลวาฮับกล่าวชี้แจง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท