Skip to main content
sharethis

ณรรธราวุธ เมืองสุข


 


เคยเห็นเลือดมานักต่อนัก แต่ไม่มีครั้งไหนที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกพะอืดพะอมต่อกองเลือดได้มากเท่าครั้งนี้ มันเป็นกองเลือดที่เริ่มแห้งกรังบนเสื่อน้ำมัน ที่ทหารพรานคนหนึ่งชี้ให้ข้าพเจ้าดู


 


"มองไปที่ใต้เตียงสิ" เขาว่าพลางชี้ให้ดู ข้าพเจ้านั่งยองค้อมศีรษะมองตาม ก่อนจะลุกขึ้นยืนนิ่งในอีกอึดใจต่อมา และหันหน้าไปทางทหารพรานรายนั้น มองเห็นดวงตาปริ่มน้ำของเขา คะเนว่าอายุคงน้อยกว่า ข้าพเจ้าจึงถามว่าน้องเป็นคนที่ไหน เขายกปืนเอ็ม 16 คู่กายขึ้นสะพายบ่าก่อนตอบว่ามาจากจังหวัดตรัง เขาเป็นคนไทยมุสลิม เด็กหนุ่มสารภาพว่าหลังมาประจำการในภาคใต้นานกว่า 5 เดือนนี่เป็นเหตุการณ์แรกที่ทำให้เขาเสียน้ำตา


 


น้ำตาของชายชาติทหารไม่ใช่เรื่องที่หาดูง่ายๆ นัก หากไม่ใช่ในฉากภาพยนตร์ แม้จะเปรียบว่าทหารทุกคนคือผู้ชาย น้ำตาของลูกผู้ชายก็ใช่ว่าจะหาดูได้ง่ายๆ เสียที่ไหน แม้ยามอกหัก นอกเหนือจากเธอ - หญิงสาวผู้นั้นและแก้วเหล้า ผู้ชายแทบทุกคนมักเก็บซ่อนน้ำตาสุดฤทธิ์


 


อีกครั้งหนึ่งที่ได้สัมผัส ข้าพเจ้าถามแกมหยอกพลทหารหนุ่มคนหนึ่ง ในวันที่ไปทำข่าวที่สุไหงโก - ลก เขาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้นายทหารระดับผู้บัญชาการ ซึ่งเดินทางมาเป็นประธานเปิดอาคารละหมาดภายในโรงพยาบาลสุไหงโก - ลก เขายืนจังก้าหน้าหน้าตาไร้ความรู้สึก


 


"ลงมาประจำการที่ภาคใต้นานขนาดนี้ ระวังแฟนสาวรอไม่ไหวนะ"


 


จากหน้าตาเฉยชาไร้ความรู้สึก พลันสีหน้าเด็กหนุ่มสลดในทันที น้ำในตาค่อยๆ เอ่อล้นออกมา ก่อนจะฝืนยิ้มบอกข้าพเจ้าว่า คู่หมั้นสาวของเขาเพิ่งจะขอถอนหมั้นเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน และเพิ่งแต่งงานกับชายคนใหม่ไปเมื่อ 4 วันที่แล้ว


 


ข้าพเจ้าไม่ถามต่อ ภายในใจนั้นรู้สึกผิดระคนก่นด่าตนเอง รู้ทั้งรู้ว่าบางคำพูด แม้เจตนาว่าล้อกันเล่น แต่เราไม่รู้ล่วงหน้าว่าผลลัพธ์การ "พูดแบบไม่คิด" นั้นจะส่งผลอย่างไร วินาทีนี้ ข้าพเจ้ารู้แล้วว่าตนเองควรสงบปากสงบคำมากกว่านี้ - เรื่องราวเช่นพลทหารคนนี้ หาดูได้ตามละครน้ำเน่าทั่วไป แต่วันนี้ข้าพเจ้ารู้ว่าชีวิตจริงของมนุษย์นั้น อาจพบเจอกับช่วงเวลาที่ "โคตรเน่า" ได้สักวันหนึ่ง


 


วันนี้ข้าพเจ้ายืนอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหมู่บ้านกูจิงลือปะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส หลังเหตุการณ์รุมทำร้ายครู 2 คน คือ "ครูสินีนาฏ ถาวรสุข" และ "ครูจูหลิง ปงกันมูล" ซึ่งหลังเหตุการณ์นั้นครูจูหลิงกลายสภาพเป็นเจ้าหญิงนิทรากระทั่งปัจจุบัน เพียงหนึ่งวัน ระยะเวลาที่คล้อยหลังไม่ถึง 24 ชั่วโมง บรรยากาศทุกอย่างจึงยังคงอึมครึม กองเลือดในห้องเล็กๆ นั้นยังคงโชยกลิ่นคาว ข้าพเจ้ายกกล้องถ่ายรูปขึ้นมากดชัตเตอร์เก็บภาพกองเลือด แม้รู้ว่าคงจะไม่นำไปใช้ประกอบภาพข่าว แต่ข้าพเจ้ายังอยากเก็บภาพนั้น


 


"พี่ลองนึกย้อนภาพกลับไปเมื่อวานสิ" ทหารพรานวัยหนุ่มคนเดิมพูดขึ้น ขณะยืนมองข้าพเจ้าถ่ายรูป ข้าพเจ้ายืนนิ่ง มองภาพในกล้องถ่ายรูปของตนเอง


 


กำลังคิดว่าตนเองหลงลืมอะไรไปหรือเปล่า ตั้งแต่เข้ามาเหยียบสถานที่เกิดเหตุแห่งนี้ ข้าพเจ้ามุ่งแต่มาดูที่เกิดเหตุเพียงอย่างเดียว แวบแรกข้าพเจ้าเห็นเด็กหนุ่มคนนี้ถือปืนยืนอยู่ที่ประตูห้องนี้แล้ว คิดว่าเขามายืนเฝ้าที่เกิดเหตุ


 


"ผมมาดูที่นี่หลายรอบแล้ว ตั้งแต่มานอนที่นี่เมื่อเย็นวาน เดินผ่านตรงนี้ทีไรผมต้องแวะเข้ามาดู" เขาบอก


 


"ดูทีไรก็อยากร้องไห้ ผมนึกภาพผู้หญิงสองคนพยายามดิ้นหนี ครูคนหนึ่งเข้าไปหลบอยู่ใต้เตียง แต่ก็ถูกกระชากออกมาและถูกรุมตีซ้ำๆๆๆ ผมบอกตรงๆ ว่าผมรับภาพนั้นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นจะด้วยเหตุผลใด การทำร้ายผู้หญิงที่อ่อนแอกว่ามันรับไม่ได้จริงๆ" เขาบอกเล่าความรู้สึกพลางบรรยายเหตุการณ์ให้ฟังเป็นฉากๆ ราวกับเขามีตาทิพย์มองเห็นเหตุการณ์นั้น


 


"ผมอยากรับเคราะห์แทนจริงๆ ถ้าผมอยู่ในเหตุการณ์นั้น คงยอมให้เขาทำร้ายผมเสียยังดีกว่า หรือไม่ผมคงออกมาสู้ตายเพื่อเขา" เด็กหนุ่มบอกด้วยแววตาแดงก่ำ


 


ข้าพเจ้ายืนพินิจเขาอยู่นาน แม้มันฟังดูอุดมคติเหลือประมาณ แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้หญิงทั่วประเทศคงต้องการผู้ชายประเภทนี้ร่วมสังคมมากกว่าผู้ชายส่วนหนึ่งที่ตกเป็นข่าวลงมือทำร้าย - รุมโทรมผู้หญิงอย่างแน่นอน หากไม่ได้มองนัยน์ตาเขา ฟังครั้งแรกข้าพเจ้าคงไม่ค่อยอยากเชื่อหู ขนคงลุกพิลึก เป็นอาการแปลกๆ ยามที่คนเพศเดียวกันบอกว่าจะเสียสละชีวิตเพื่อคนอื่น


 


แต่เมื่อมองนัยน์ตาคมกริบแต่ฉ่ำชื้นด้วยน้ำตาคู่นั้น - ข้าพเจ้าเชื่อเขา และเริ่มมีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้น


 


บอกตนเองอยู่เสมอว่าเป็น "ผู้สื่อข่าวเพื่อสันติภาพ" นับแต่ครั้งแรกที่แบกเป้ลงมาประจำที่ศูนย์ข่าวอิศราโต๊ะข่าวภาคใต้ ทั้งยามก่อนหลับและหลังตื่น ต้องทบทวนบทบาทตนเองว่าในสภาวะความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ บทบาทของเราต้องเป็นไปในวิถีแห่งการเสริมสร้างความเข้าใจ สิ่งไหนที่ทำให้ความขัดแย้งผูกปมแน่นขึ้น เราไม่ควรทำ


 


เปรียบปัญหาภาคใต้เหมือนคู่กรณี ฝั่งหนึ่งรัฐไทย ฝั่งหนึ่งเป็นขบวนการผู้ก่อความไม่สงบ บทบาทของเราต้องอยู่ตรงกลาง ไม่ได้หวังถึงขนาดจะทำให้สองฝ่ายปรองดองกอดคอกันได้ แต่หวังจะให้ผู้ชมที่ส่งเสียงเชียร์อยู่รายรอบเข้าใจว่าสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันหนักหน่วงนั้นเกิดจากสาเหตุใด จะได้สงบเสียงเชียร์หรือเสียงยั่วยุลง อาจทำให้สองฝ่ายได้คิดและไตร่ตรองว่า ท่ามกลางการห้ำหั่นถึงขั้นทำสงครามนั้น นอกจากเลือดเนื้อที่ต้องเสียไปพวกเขาจะไม่ได้อะไรอีก


 


แต่ขณะนี้ ข้าพเจ้าเริ่มตั้งคำถามตนเองใหม่ นอกจากเลือดและเนื้อของทั้งสองฝ่ายแล้ว คนบริสุทธิ์อีกมากมายที่ล้มตายลง คนบริสุทธิ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายคู่กรณีและฝ่ายกองเชียร์


 


แต่กลับถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับคู่กรณี เมื่อห้ำหั่นแบบตาต่อตาฟันต่อฟันกันไม่สำเร็จ คนบริสุทธิ์กลุ่มนี้จะตกเป็นเหยื่อเสมอ เช่นเดียวที่เกิดขึ้นกับครูจูหลิง


 


จะหาเหตุผลใดมาอธิบายให้ญาติหรือผู้เกี่ยวข้องกับผู้สูญเสียเข้าใจนั้นคงไม่มี ตราบใดที่เราไม่ตกเป็นเหยื่อบ้าง คงไม่มีวันเข้าใจลึกลงไปในความรู้สึก


 


แม้แต่ทหารพรานวัยหนุ่มคนนี้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวดองเป็นญาติฝ่ายไหนของคนเจ็บยังรู้สึกเพียงนี้ ยังไม่นับรวมความสูญเสียของกลุ่มวิชาชีพเช่นครู ที่ถูกคุกคามเอาชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หรืออย่างหญิงชราอีกหลายคนที่ถูกสังหาร ใครสักคนจะบอกได้ไหมว่า ราคาของความสูญเสียนั้น จะทดแทนได้มากกว่าหยาดน้ำตาที่เสียไปหรือไม่


 


แต่หมวกของผู้สื่อข่าวเพื่อสันติภาพยังต้องทำหน้าที่และดำเนินไป นอกจากไม่ซ้ำเติมด้วยภาพอันโหดร้ายทารุณแล้ว ทุกตัวอักษรที่นำเสนอต้องแจ่มชัดด้วยการอธิบายปรากฏการณ์ หวังจะให้แต่ละฝ่ายเข้าใจ และจะต้องไม่แสดงความรู้สึก ที่จะส่งให้ความรุนแรงขยายตัวขึ้นไปอีก


 


"เราต้องอดทนนะน้องนะ และต้องเตือนตัวเองว่าเราลงมาที่นี่เพื่ออะไร" ข้าพเจ้าจำคำปลอบประโลมของ "พี่เอก" อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์ อดีตบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศราโต๊ะข่าวภาคใต้ได้ คำพูดนี้อาจจะหวานหูแปร่งๆ หากมันถูกพูดในโอกาสอื่น แต่ในวินาทีนี้ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามันมีค่ามากเหลือเกิน


 


ชีวิตผู้บริสุทธิ์คนแล้วคนเล่าต้องตายตกไป นอกเหนือจากภาพและข่าวสารพาดหัวตัวไม้ในหน้าหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในแต่ละวัน ชีวิตเหล่านี้ก็ถูกลืมเลือนในวันรุ่งขึ้น


 


ในระหว่างบรรทัดของข่าวสาร ชื่อและนามสกุลผู้ตายถูกระบุอย่างชัดแจ้ง และวันต่อมาชีวิตคนอื่นๆ ก็ปรากฏตามมา หากเปรียบกับข่าวอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในส่วนอื่นของประเทศ นานวันข่าวการตายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ถูกแทนที่ด้วยคำที่มีความหมายเพียงสถานการณ์อย่างเดียว อย่าง "ไฟใต้เดือด..." หรือ "ใต้ยังระอุโจรฆ่าวันเดียว 4 ศพ"


 


ใครเล่าจะจดจำหรือสดุดีคนเหล่านี้ คนบางจำพวกที่สังคมไทยไม่เคยคิดว่ามันมีอยู่จริง - ศาสนาเดียวกัน แต่ไม่ขอเลือกข้าง แต่ถูกเหมารวมว่าใช่


 


มันช่างคล้ายกับทฤษฏี "เข้าร่วมเท่ากับยอมรับ" ที่ข้าพเจ้าไม่เคยเชื่อ จะนำมาตรใดมาชั่ง ตวง วัดก็ตามแต่ สำหรับใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทฤษฎีนี้ไม่มีวันใช้ได้ผล สิ่งมีชีวิตทุกชนิดย่อมรักชีวิตตนและครอบครัว ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง ในสภาวะสงครามที่ดำเนินไป การรักษาชีวิตตนเองให้รอดสำคัญที่สุด อย่ามาถามว่าทำเช่นนั้นถูกต้องชอบธรรมหรือ


 


วันใดที่คนถามมาอยู่ในสภาพเช่นนี้ วันนั้นจะเข้าใจว่าเหตุใดข้าพเจ้าไม่เชื่อทฤษฎีนี้


 


หมายเหตุ - ตัดทอนมาจากบทบันทึก "คำตอบอยู่ที่หัวใจ", ตีพิมพ์ครั้งแรกในพ็อกเก็ตบุ๊ค "ปักหมุด...เทใจ บทบันทึกประสบการณ์ชีวิตเหยี่ยวข่าวอิศรา", โครงการก่อตั้งมูลนิธิสื่อสารสาธารณะ, กรุงเทพมหานคร, ธันวาคม 2549, หน้า 188 - 201

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net