Skip to main content
sharethis

อิรักภายใต้การยึดครอง เพิ่งจะถอยหลังไปสู่ "หลักไมล์" ที่ที่ความเป็นมนุษย์แตกสลาย และความยุติธรรมใกล้จะหมดลมหายใจอยู่ข้างๆ หลุมศพซัดดัม ฮุสเซน...อุทัยวรรณ เจริญวัย ผู้ประกาศตัวต่อต้านโทษประหารหยิบงานว่าด้วยเรื่องความยุติธรรมที่บิดเบือนมาเสนอ เพื่อยืนยันว่า ถ้าคำว่า "อารยธรรม" จะแปลว่าอะไรสักอย่าง ความหมายของมัน...ไม่มีคำว่า "โทษประหาร" รวมอยู่ในนั้น

 

 

Iraq : The Real War

อุทัยวรรณ เจริญวัย

(ต่อต้านโทษประหาร และแฟน Dead Man Walking)

 

           

 

ถ้าคำว่า "อารยธรรม" จะแปลว่าอะไรสักอย่าง ความหมายของมัน...ไม่มีคำว่า "โทษประหาร" รวมอยู่ในนั้น

 

หลังอเมริกาทุ่มทุนสร้าง (และกำกับการแสดง) ศาลที่มีหน้าตาละม้าย "โรงละครสัตว์" ขึ้นมาในแบกแดด เพื่อพิจารณาคดีอดีตประธานาธิบดี (ที่ถูกกฎหมาย) ของอิรัก พร้อมเปิดการแสดงแสง-สี-เสียงตระการตา ท่ามกลางเสียงก่นด่าของนักสิทธิมนุษยชนจำนวนมากมาได้สักระยะ ในที่สุด 30 ธันวาคม 2006 ละครสัตว์ทางการเมืองเรื่องหนึ่งก็เดินทางมาถึงตอนจบ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ...ความยุติธรรม และไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ...ความเป็นมนุษย์

 

บุช (ผู้คลั่งไคล้ในโทษประหารตลอดกาล) ให้สัมภาษณ์ด้วยสคริปต์เดิมๆ ว่า นี่คือ "หลักไมล์สำคัญบนเส้นทางของการสร้างประชาธิปไตยในอิรัก"

 

แต่สำหรับคนสติดีที่รู้ว่าประชาธิปไตยหน้าตาแบบไหน สิทธิที่จะมีชีวิต ของทุกชีวิตในโลกแปลว่าอะไร อิรักภายใต้การยึดครอง เพิ่งจะถอยหลังไปสู่ "หลักไมล์" ที่ที่ความเป็นมนุษย์แตกสลาย และความยุติธรรมใกล้จะหมดลมหายใจอยู่ข้างๆ หลุมศพซัดดัม ฮุสเซน

 

สวัสดีอิรัก 2007

 

0 0 0

 

จุดจบซัดดัม การพิพากษาซัดดัม ความยุติธรรมที่บิดเบือน

สตีเฟน ซูนส์

 

  2 มกราคม 2007

  (แปลจาก Saddam's Demise, Like His Rule, Was a Travesty of Justice - - Stephen

  Zunes, Foreign Policy In Focus)

 

 

 

 

 

ถึงแม้ว่าในส่วนของอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอันอื้อฉาว หลายครั้งหลายคราว เขาจะมีความผิดที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่การประหารชีวิต ซัดดัม ฮุสเซน นับเป็นการเสื่อมถอยขนาดใหญ่ บนเส้นทางของการเรียกร้องถามหาความยุติธรรมในอิรัก

 

การพิจารณาคดีและการลงโทษล้วนมีปัญหา โอกาสที่จะดำเนินคดีใหม่ในอนาคต หรือโอกาสที่จะแสดงหลักฐานว่าอเมริกามีเอี่ยวในอาชญากรรมบางส่วนของซัดดัม ได้จบสิ้นไปแล้ว ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่การประหารชีวิตครั้งนี้สื่อออกมา - ผู้นำทั้งหลายจะถูกดำเนินคดีพิพากษาก็ต่อเมื่อพวกเขาเป็นศัตรูกับอเมริกา - ยังได้บ่อนทำลายบรรทัดฐานทางด้านกฎหมายในระดับโลกไปด้วย และถึงแม้มันจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะโศกเศร้าอาลัยให้กับการจากไปของทรราช แต่...วิธีการจบชีวิตเขาในลักษณะนี้ต่างหาก....ที่มันมีอะไรให้เราต้องพลอยเศร้าใจได้ง่ายดายเหลือเกิน นัยทางการเมืองของการประหารชีวิตซัดดัม อาจส่งผลให้ความพยายามที่จะสร้างสันติภาพและการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในอิรักต้องเสื่อมทรุดถอยหลังกลับ เช่นเดียวกับกระบวนการพิจารณาคดีและการตัดสินลงโทษ

 

การพิจารณาคดีซัดดัม ไม่มีอะไรเป็นแบบอย่างอันดีงามของกระบวนการยุติธรรม ฝ่ายโจทก์ไม่ยอมเปิดเผยหลักฐานแก่ทนายจำเลยและไม่ให้สิทธิจำเลยเห็นหน้าพยาน ทนายจำเลยสามคนและพยานอีกหนึ่งคนถูกฆ่าตาย ผู้พิพากษาคนแรกลาออก คนที่สองเอาแต่แสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดจนไม่เหลือภาพของความเป็นกลาง หลุยส์ อาร์เบอร์ (Louise Arbour) ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น ได้ออกมาเรียกร้องให้เลื่อนการลงโทษประหารชีวิตออกไป โดยให้เหตุผลว่า "มีข้อวิตกกังวลหลายอย่างเกี่ยวกับความยุติธรรมในการพิจารณาคดี มันจำเป็นที่จะต้องแน่ใจได้ว่า...สิ่งเหล่านี้จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จครบถ้วนเสียก่อน"

 

แม้ว่าประธานาธิบดีจอร์จ บุชจะยืนยันว่ามันเป็นกระบวนการพิจารณาคดีที่ยุติธรรมดีแล้ว แต่ องค์การนิรโทษกรรมสากล กลับตั้งข้อสังเกตว่า "โทษประหารชีวิตคือบทสรุปที่มีไว้ล่วงหน้าแล้ว ตั้งแต่คำตัดสินคดีของศาลชั้นต้นถูกประกาศออกมา ศาลอุทธรณ์ก็ทำหน้าที่เกือบจะเรียกได้ว่า เป็นการฉาบหน้าของกระบวนการที่ด่างพร้อยมีตำหนิตั้งแต่พื้นฐาน...ให้ดูชอบธรรมขึ้นมาเท่านั้น"

 

ไม่ว่าในความเป็นจริง ซัดดัมจะมีความผิดตามข้อกล่าวหามากน้อยแค่ไหน แต่การประหารชีวิตเขาโดยปราศจากกระบวนการพิจารณาคดีที่ยุติธรรม ย่อมทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนซัดดัมสามารถปฏิเสธอาชญากรรมเหล่านั้นได้ ซัดดัม ฮุสเซน ต้องขึ้นศาลที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษโดยตัวแทนของรัฐบาลต่างชาติผู้บุกรุกประเทศอิรักอย่างผิดกฎหมาย อันที่จริงแล้ว กฎกติกาที่ใช้กับการไต่สวนพิจารณาคดีครั้งนี้ ถูกร่างขึ้นโดยนักกฎหมายของรัฐบาลอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ คณะผู้บริหารบุชได้อุทิศเงินมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างห้องพิจารณาคดีพิเศษขึ้นมา พร้อมจัดหาทีมที่ปรึกษา ทนายความ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ด้านนิติวิทยาศาสตร์ ให้แก่ฝ่ายโจทก์อย่างเต็มที่ และถ้าเรื่องนี้หมายถึง "ความยุติธรรมของผู้ชนะ" แล้วล่ะก็ การประหารชีวิตซัดดัมย่อมไม่ได้เป็นผลลัพธ์มาจากการประเมินถึงความเลวร้ายแสนสาหัสในอาชญากรรมที่เขาก่อ แต่มันเป็นเพราะ...เขาบังเอิญเป็นฝ่ายที่แพ้สงครามต่างหาก

 

ยิ่งกว่านั้น อาชญากรรมที่เลวร้ายทั้งหมดกลับไม่ได้รับการเปิดเผย ซัดดัมถูกประหารจากการที่เขาสั่งให้ฆ่าชาวเมือง ดูเจล (Dujail ) จำนวนหนึ่งหลังเหตุการณ์ลอบสังหารเขาในปี 1982 ซัดดัมหมดโอกาสขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดีอาชญากรรมสงครามที่เลวร้ายกว่านั้น เป็นต้นว่า ปฏิบัติการสังหารหมู่พลเรือนชาวเคิร์ดขนานใหญ่ปลายยุค 80 ที่เรียกกันว่า แคมเปญอันฟาล (Anfal Campaign) ความน่าจะเป็นที่ทนายความของซัดดัมจะแสดงหลักฐานว่า รัฐบาลอเมริกามีส่วนเกี่ยวข้องในแคมเปญดังกล่าว โดยให้การสนับสนุนซัดดัมในช่วงเวลานั้น อาจมีส่วนให้คณะผู้บริหารบุชผลักดันให้มีการประหารชีวิตโดยเร็ว

 

แล้วก็ยังมีปัญหาเรื่องโทษประหารในตัวของมันเองอีกเช่นกัน แทบจะกล่าวได้ว่า ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ทุกประเทศที่เผด็จการถูกโค่นล้มลงไป รัฐบาลใหม่จะมีการเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกโทษประหารอย่างรวดเร็วตามมา อย่างไรก็ตาม ในอิรัก เผด็จการถูกแทนที่ด้วยตัวแทนของอเมริกาผู้ยึดครอง และในฐานะที่อเมริกาเป็นชาติอุตสาหกรรมตะวันตก-ประชาธิปไตย-ชาติเดียวที่ยังใช้โทษประหารชีวิตกับนักโทษของตนอยู่ อเมริกาจึงยืนกรานที่จะให้คงระบบโทษประหารของอิรักไว้ ตามทัศนะของ ริชาร์ด ดิกเกอร์ (Richard Dicker) องค์กร ฮิวแมน ไรทส์ วอตช์ ส่วนหนึ่งที่ทำให้อเมริกาปฏิเสธการไต่สวนในระดับนานาชาติ เพราะคณะผู้บริหารบุช "ต้องการที่จะมั่นใจได้ว่า (คำตัดสิน) จะรวมเอาโทษประหารชีวิตไว้ด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นไปไม่ได้ในเวทีของศาลระหว่างประเทศ"

 

สหรัฐอเมริกาได้แสดงออกซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า มันไม่สนใจในอาชญากรรมสงครามที่พรรคพวกของตนเป็นคนก่อ ตัวอย่างเช่น พลเอกซูฮาร์โต ของอินโดนีเซีย ที่มีอำนาจปกครองประเทศอยู่ถึง 34 ปี และมีมือเปื้อนเลือดยิ่งกว่าซัดดัม ฮุสเซน ภายใต้ซูฮาร์โต กลางยุค 60 ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายซ้ายถูกกำจัดไปมากมายมหาศาลกว่าครึ่งล้าน การบุกโจมตีและยึดครองติมอร์ตะวันออกเป็นเวลาสิบปีต่อมาของซูฮาร์โต ส่งผลให้ประชาชนต้องเสียชีวิตไปกว่า 200,000 คน มากกว่าการเสียชีวิตของชาวคูเวตภายใต้การยึดครองของซัดดัมในปี 1990-91 ถึงกว่า 100 เท่า แต่ถึงกระนั้น ซูฮาร์โตก็ยังคงเป็นพันธมิตรคนโปรดของอเมริกามาตลอดทุกยุค ภายใต้การบริหารของทั้งรีพับลิกันและเดโมแครต จนกระทั่งเกิดการลุกฮือของประชาชนเพื่อขับไล่จอมเผด็จการในปี 1998 ปัจจุบัน ซูฮาร์โตสามารถใช้ชีวิตหลังหมดอำนาจแล้วอย่างสุขกายสบายใจ และสหรัฐอเมริกาก็ไม่เคยมีความพยายามใดๆ ที่จะนำตัวเขามาพิพากษาดำเนินคดี

 

ในกรณีของพันธมิตรในอดีตอย่าง พลเอกออกุสโต ปิโนเชต์ (General Augusto Pinochet) ซึ่งเพิ่งจะเสียชีวิตไปในเดือนที่แล้ว สหรัฐอเมริกาก็ได้ขัดขวางความพยายามที่จะนำตัวปิโนเชต์มาดำเนินคดี ทั้งๆ ที่เขาได้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างเลวร้ายและกว้างขวาง ภายใต้ยุคสมัยแห่งการนองเลือดในชิลี ขณะเดียวกัน คณะผู้บริหารบุช - ด้วยความเห็นชอบร่วมกันทั้ง 2 พรรคจากสภาคองเกรส - ยังได้อุทิศทุ่มเทความสนับสนุนทั้งทางด้านการเงิน การทหาร และการทูต อย่างแข็งขันต่อ แอเรียล ชารอน (Ariel Sharon) ขณะที่ชารอนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิสราเอล ทั้งๆ ที่เขาคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามมากมายหลายระลอก ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

 

สหรัฐอเมริกาได้ปฏิเสธเสียงเรียกร้องจากนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น นักสิทธิมนุษยชนกลุ่มต่างๆ บุคคลที่เป็นที่ยอมรับนับถือในแวดวงกฎหมาย ตลอดจนเสียงจากชาวอิรักเอง ในอันที่จะให้มีการพิจารณาคดีซัดดัม ฮุสเซนโดยกลไกของยูเอ็น หรือศาลอาญาเฉพาะกิจระหว่างประเทศที่มียูเอ็นเป็นเจ้าภาพ อย่างที่เกิดขึ้นกับประธานาธิบดีไลบีเรีย-ทรราชผู้อื้อฉาว ชาร์ลส์ เทเลอร์ (Charles Taylor) ศาลเฉพาะกิจเพื่อไต่สวนอาชญากรรมสงครามซึ่งมียูเอ็นเป็นเจ้าภาพที่ว่านี้ ยังรวมไปถึงศาลที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินคดีกับผู้ก่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ปี 1994 และผู้ที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เช่นกันในอดีตประเทศยูโกสลาเวีย ยุค 90 ซึ่งรวมถึงอดีตผู้นำชาวเซอร์เบีย สโลโบดาน มิโลเชวิช (Slobodan Milosevic) ด้วย

 

พร้อมกันนั้น คณะผู้บริหารบุช - ด้วยการสนับสนุนเป็นเอกภาพร่วมกันจากสภาคองเกรส - ยังได้พยายามหาทางบั่นทอนทำลายการทำงานของ ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ไอซีซี (International Criminal Court - ICC) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อกรกฎาคม 2002 มาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน ด้วยความเชื่อที่ว่า อเมริกาเท่านั้นคือผู้กำหนดแต่เพียงผู้เดียว...ว่าใครควรจะถูกหรือไม่ถูกดำเนินคดีในศาลสำหรับข้อหาอาชญากรรมสงคราม ตัวอย่างเช่น สภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมายฉบับหนึ่งในปี 2002 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น โดยมีใจความสำคัญว่า :

 

ห้ามอเมริกาให้ความร่วมมือกับไอซีซี, จำกัดความร่วมมือของอเมริกาที่มีต่อภารกิจด้านรักษาสันติภาพของยูเอ็น โดยจะร่วมมือเฉพาะในกรณีที่กองกำลังของอเมริกันจะได้รับการคุ้มกันชัดเจนว่าจะไม่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามใดๆ, ห้ามแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองกับไอซีซี, ห้ามให้ทุนและความช่วยเหลือส่วนใหญ่หลายรูปแบบต่อประเทศที่ให้สัตยาบันแก่ธรรมนูญชองไอซีซี (อือม์...ประเทศลิ่วล้อและลูกไล่ที่ไม่ยอมลงสัตยาบันอย่าง "ไทยแลนด์" สบายใจได้), ตลอดจนให้อำนาจประธานาธิบดีอเมริกาใช้ "ทุกวิถีทางที่จำเป็นและเหมาะสม" เพื่อการปล่อยตัวคืนอิสรภาพให้กับ "ชาวอเมริกันหรือพันธมิตรของอเมริกันคนไหนก็ตามที่ถูกจับกุมคุมขังโดยไอซีซีเองหรือในนามของซีซี" ทั้งนี้ รวมถึงวิธีใช้กำลังทางทหารโจมตีที่ทำการไอซีซีที่กรุงเฮกไว้ด้วย

 

โดยสรุป สารที่ชัดเจนจากวอชิงตันก็คือ : อาชญากรสงครามจะถูกส่งเข้ากระบวนการยุติธรรมก็ต่อเมื่อเขากล้าท้าทายความยิ่งใหญ่มีอภิสิทธิพิเศษในนโยบายต่างประเทศของอเมริกา ตรงกันข้าม ถ้าอาชญากรสงครามนั้นเป็นพรรคพวกที่อยู่ฝ่ายเดียวกัน เขาไม่เพียงแต่จะมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย แต่ยังจะได้รับการสนับสนุนจากอเมริกาอย่างเปิดเผยอีกด้วย

 

เมื่ออเมริกาต่อต้านไอซีซี และใช้การดำเนินคดีกับอาชญากรสงครามเป็นเครื่องมือทางการเมืองอันชั่วร้าย แทนที่จะใช้มันเพื่อผดุงรักษาหลักการสากลว่าด้วยความยุติธรรม ผลกระทบต่อการประหารชีวิตซัดดัม ย่อมจะเพิ่มเติมตอกย้ำการแบ่งขั้วทางการเมือง พร้อมกับการต่อต้านในอิรักให้ยิ่งหนักข้อขึ้นไปอีก แม้แต่ชาวอิรักจำนวนมากที่อยู่คนละฟากกับซัดดัมเอง ก็ยังอดรู้สึกไม่พอใจไม่ได้ เมื่อต้องเห็นภาพอดีตประธานาธิบดีของตน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกอาหรับ ต้องถูกแขวนคอ - ไม่ใช่ในคุกอิรัก - แต่เป็นที่ฐานทัพอเมริกาทางเหนือของแบกแดด

 

ด้วยผลลัพธ์ของนโยบายต่างประเทศเช่นนี้ ช่วยไม่ได้จริงๆ ที่ผู้คนจำนวนมากในโลกอาหรับและโลกมุสลิมจะไม่ได้มองว่า ซัดดัม ฮุสเซน เป็นทรราชหรืออาชญากรสงครามอันเลื่องชื่ออย่างที่เขาเป็น แต่กลับมองว่า เขาคือผู้สละชีพเพื่อความเชื่ออันยิ่งใหญ่ (martyr) และเขาก็เป็นเพียง "เหยื่อ" ของอภิมหาอเมริกันเอ็มไพร์ o

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net