ปฏิรูปการเมือง-สังคม-เศรษฐกิจภาคประชาชนรอบ 1 ปี จะถึงฝั่งฝันหรือไม่ ?

ในรอบปีที่ผ่านมา กระแสที่สามารถชี้นำสังคมอย่างสูงคือกระแสที่สามารถยึดครองสื่อได้ ประเด็นยังคงอยู่วนเวียนอยู่ในเรื่องไล่ทักษิณ การคอรัปชั่นเชิงนโยบาย จนมาถึงยุคของ คปค.ก็จะวนเวียนในเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ข้อเสนอของภาคประชาชนที่มีการระดมจากทั่วประเทศตั้งแต่ในระดับเล็กๆ ยังเป็นประเด็นปลีกย่อยบนหน้าสื่อ และค่อนข้างกระจัดกระจาย...

ในรอบปีที่ผ่านมาภายหลังเหตุการณ์ทางการเมืองที่อยู่ในกระแสของการไล่ทักษิณจนมาถึงยุคของการเมืองในยุค คปค. หลัง 19 กันยายน 2549   พบว่ามีกระแสอีกด้านหนึ่งที่ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าว หรือหากปรากฏเป็นข่าวก็ยังไม่สามารถเป็นกระแสชี้นำสังคมได้    กลับกลายเป็นว่ากระแสที่สามารถชี้นำสังคมอย่างสูงคือกระแสที่สามารถยึดครองสื่อได้  ซึ่งประเด็นยังคงอยู่วนเวียนอยู่ในเรื่องไล่ทักษิณ การคอรัปชั่นเชิงนโยบาย  จนมาถึงยุคของ คปค.ก็จะวนเวียนในเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่  แต่ข้อเสนอของภาคประชาชนที่มีการระดมจากทั่วประเทศตั้งแต่ในระดับเล็กๆ  ยังเป็นประเด็นปลีกย่อยบนหน้าสื่อ  และค่อนข้างกระจัดกระจาย

 

สำนักข่าวประชาธรรม ได้ติดตามข้อเสนอของภาคประชาชนในข่ายต่างๆ ต่อการการปฏิรูปการเมือง ซึ่งพบว่าภาคประชาชนหลายภาคส่วนตั้งแต่ระดับชุมชน  จนถึงระดับเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายที่ทำงานด้านทรัพยากร ด้านเด็ก  ด้านสื่อ  ด้านแรงงาน  ด้านงานในเมือง  ฯลฯ  ล้วนมีการนำเสนอการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สังคมที่มีขอบข่ายกว้างกว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญแต่ละมาตรา     และยังเป็นการนำเสนอที่มีมิติที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคม   ดังนั้นจึงนำมารวบรวมไว้ ณ ที่นี้

 

ข้อเสนอเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศ

 

(ระดมข้อเสนอโดย วิทยาลัยการจัดการทางสังคม,สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา -LDI)  ประเด็นหลักๆ ที่นำเสนอมีดังนี้

 

1.การเมืองสมานฉันท์

เครือข่ายดังกล่าวได้มีการนิยามระบอบการเมืองใหม่  โดยระบุว่าหากจะปฏิรูปการเมืองจะต้องทำใน 4 เรื่องสำคัญคือ 1.การเมืองที่มีส่วนร่วมของชุมชน 2.เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง 3.เน้นเศรษฐกิจพอเพียง และการผลิตแบบยั่งยืน มีการใช้ฐานทรัพยากรที่ยั่งยืน สร้างตลาดที่เป็นธรรม และพึ่งพาซึ่งกันและกัน 4.เสริมสร้างวัฒนธรรมชุมชนที่มีความหลากหลาย เกิดการแลกเปลี่ยน

 

2.การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 

มีข้อเสนอว่าต้องปฏิรูปทั้งในส่วนที่อยู่ภายใต้โครงสร้างองค์กรปกครองท้องถิ่น และในส่วนของท้องถิ่นที่อยู่นอกโครงสร้างที่เป็นทางการ เช่น องค์กรชุมชน กลุ่ม  องค์กร  เครือข่ายต่างๆ    โดยในส่วนที่อยู่ภายใต้โครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีข้อเสนอคือ การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น จะต้องการรื้อ และปฏิรูปกฎหมายปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด  เพื่อให้ปลอดจากอำนาจของนักการเมือง  โดยเฉพาะการให้อำนาจผู้ควบคุมการทำงานของ อบต.  และยุบโครงสร้างการทำงานที่ไม่จำเป็น ซ้ำซ้อน เช่น สจ. อบจ. และ อปท. 

 

ในส่วนที่อยู่นอกโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มดังกล่าวมีการเสนอว่าควรจะมีการเพิ่มอำนาจของท้องถิ่นในการตรวจสอบ ถ่วงดุล กลไกที่เป็นทางการ  จนถึงการกำหนดนโยบายและแผนด้วย เช่น ให้จัดตั้งองค์กรประชาชนในท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง   ตั้งสภาผู้นำท้องถิ่น โดยในส่วนนี้เริ่มมีการยกร่าง "สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น"   ขึ้นมาด้วย  มีเนื้อหาสาระสำคัญคือ  ให้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น 3 ระดับ คือสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นระดับตำบล ระดับจังหวัด และระดับชาติ  ซึ่งได้แก่กลุ่มองค์กรท้องถิ่นที่มีผู้แทนจากสถาบันดั้งเดิมในชุมชน เช่น องค์กรเหมืองฝาย หมอพื้นบ้าน ปราชญ์ ผ้รู้ หรือเป็นกลุ่มกิจกรรมที่มีอายุนานกว่า 5 ปี  กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กลุ่มทางการ    มีบทบาทหน้าที่เป็นองค์กรที่ติดตามตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐทุกระดับ  มีความเห็นต่อนโยบาย  กฎหมาย  และแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่จะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน

 

3.ให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการปัจจัยการผลิตในทุกด้าน

ทั้งทรัพยากรดิน น้ำ ป่า คลื่นความถี่ โดยปรับปรุงกฎหมาย นโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน  เพื่อนำไปสู่การผลิตเพื่อการพึ่งตนเองชองชุมชน   และจะต้องมีการจัดการสวัสดิการโดยชุมชนเน้นให้มีการสมทบกองทุน 3 ฝ่ายคือ ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และรัฐบาลกลาง

 

ข้อเสนอเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนทั่วประเทศ

 

อาจกล่าวได้ว่าก่อนที่ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตรออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น  เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนทั่วประเทศ  อันมี คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WATCH) คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.)   เป็นแกนกลางนั้นก็มีข้อเสนอในเชิงปฏิรูปสังคม การเมือง เศรษฐกิจมาก่อนแล้ว  อันเนื่องมาจากเห็นผลกระทบของระบบการเมืองที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผลประโยชน์ของชาติ  และทิศทางการพัฒนาประเทศที่เน้นระบอบทุนนิยมเสรี และอำนาจนิยม ซึ่งข้อเสนอของเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนทั่วประเทศมาจากการทำงานเกาะติดกับสภาพปัญหาจริงในระดับพื้นที่ ภายหลัง 19 กันยายน  มีข้อเสนอเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย  หลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ถูกฉีก

 

สามารถแบ่งออกได้เป็นด้านต่างๆ ดังนี้

กลุ่มเอฟทีเอ และประเด็นพิเศษ

เน้นเรื่องเศรษฐกิจทางเลือก  การทบทวนและหยุดการเปิดการค้าเสรี สนับสนุนการค้าที่เป็นธรรม และการพึ่งตนเองของประเทศ  หยุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หันมาปรับปรุงและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างจริงจัง ให้เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน    ผลักดันและพัฒนาระบบหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะระบบหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน จะสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ชีวิตของประชาชนได้อย่างแท้จริง เช่น หลักประกันเรื่องการศึกษา ที่คำนึงถึงหลักความเท่าเทียมและลดความยากจน หลักประกันเรื่องการที่ดินทำกิน ที่มุ่งสนองตอบแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เอื้อประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ เกษตรกรรายย่อยมีที่ทำกิน สังคมเกิดความมั่นคงเรื่องอาหาร หลักประกันสุขภาพ ที่ให้หลักประกันแก่ชีวิตอย่างแท้จริง โดยถือว่าสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงไม่ว่าจนหรือรวย เป็นต้น

 

ด้านสื่อ

กำหนดสัดส่วนการจัดสรรคลื่นทรัพยากรความถี่อย่างมีดุลยภาพ ระหว่างรัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน  กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นในสถานีวิทยุโทรทัศน์ที่เหมาะสม คือไม่เกินร้อยละ 10  กำหนดนโยบายที่เอื้อต่อการดำเนินงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ให้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง และการสนับสนุนให้เกิดสื่อภาคประชาชน สื่อทางเลือกทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น และในระดับชาติ

 

หลังรัฐประหาร 19 กันยายน  มีการฉีกรัฐธรรมนูญ และประกาศว่าจะยกร่างรัฐธรรมนูญด้านสื่อคู่ขนาน  โดยมีเนื้อหาสาระยืนยันสิทธิของประชาชนตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 39 40 และ 41 และจะมีการผลักดันให้สื่อของรัฐเปลี่ยนเป็นสื่อเพื่อบริการสาธารณะ

 

การจัดการทรัพยากร

ผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากร โดยการกระจายอำนาจการทรัพยากรป่าไม้สู่ท้องถิ่น ผลักดันร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนที่รองรับสิทธิชุมชนท้องถิ่น  และปรับปรุงกฎหมายป่าไม้เดิม  กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมโดยเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า  และนำที่ดินรกร้างว่างเปล่ำม่ทำประโยชน์มาจัดสรรแก่คนจน  รับรองสิทธิชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรทางทะเล และทรัพยากรพันธุกรรม เป็นต้น

 

ระบบเกษตรกรรม

ผลักดันการปฏิรูปแนวทางการพัฒนาเกษตรและการจัดการทรัพยากรโดยที่เกษตรกรและประชาชนจะต้องเป็นศูนย์กลาง ผ่าน นโยบายแห่งชาติว่าด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน

 

การกระจายอำนาจ

ผลักดันการใช้อำนาจองค์กรท้องถิ่นทั้งในส่วนที่ อปท.ต้องจัดการเอง และในส่วนที่รัฐส่วนกลางเข้าไปจัดการ จะต้องอยู่บนหลักการที่สำคัญคือสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานรัฐที่เป็นข้อมูลสาธารณะ   สิทธิในการที่ประชาชนจะเป็นผู้เสนอกฎหมาย     สิทธิในการจัดการตนเองของท้องถิ่น

 

การจัดการพลังงาน

การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เช่น ลดโครงสร้างการผูกขาดในระบบพลังงาน ด้วยการจัดตั้งกลไกการกำกับดูแลที่เข้มแข็ง เป็นอิสระและมีกฎหมายรองรับ และลดบทบาทที่ซ้ำซ้อนขององค์กรด้านพลังงาน พัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยมีกลไกเฉพาะที่แยกออกมาจากตลาดเชื้อเพลิงฟอสซิล

 

การพิจารณาโครงการขนาดใหญ่

ปฏิรูปกระบวนการพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ ให้มีส่วนร่วม ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และกระจายอำนาจ กระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ เช่นผลกระทบทางสุขภาพ ผลกระทบทางสังคม ที่มีเนื้อหาครบถ้วนและถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งจัดตั้งกองทุนคุ้มครองสุขภาพและสิ่งแวดล้อม     

 

มาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ผลักดันองค์การอิสระผู้บริโภค

ผลักดันให้มีการออกฎหมายใหม่ที่บัญญัติเรื่อง "องค์การอิสระผู้บริโภค" เพื่อให้ทำหน้าที่ในการให้ความเห็นในการกำหนดนโยบาย กฎหมาย มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยจะต้องมีความเป็นอิสระในการดำเนินการและไม่ถูกแทรกแซงจากการเมือง ภาคธุรกิจเอกชน และระบบราชการ  และมีกองทุนชดเชยแก้ผู้เสียหาย

 

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

มีการจัดตั้งขบวนประชาชนเพื่อเตรียมยกร่างรัฐธรรมนูญคู่ขนานในนาม "สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง" (สปป.)  ซึ่งมีเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน เช่น คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย  (ครป.)  สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)  กลุ่มเพื่อนประชาชน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน  โดยมีมติจัดตั้ง สภาคู่ขนานกับ คมช.เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการยกร่างรัฐธรรมนูญ   โดยมีเป้าหมายคือ "ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน" 

 

มีเนื้อหานำร่อง เช่น  การยกเครื่ององค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งระบบโดยขจัดช่องทางการครอบงำแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง และเพิ่มบทบาทศาลยุติธรรมและภาคประชาชน

 

การปฏิรูปสื่อยกสอง คู่ขนานไปกับการยกเลิกกฎหมายเก่าที่ขัดรัฐธรรมนูญปี 40 มาตรา 39 40 และ 41 เช่น พรบ.การพิมพ์ 2484  พรบ.บัญญัติวิทยุคมนาคม 2498  พรบ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ 2498  พร้อมกับยืนยันรัฐธรรมนูญปี 40  ผลักดันนโยบายการปฏิรูปสถานีโทรทัศน์ของรัฐให้เป็นบริการเพื่อสาธารณะ เช่น ปฏิรูปช่อง 11 ให้เป็นสถานีสาธารณะ เป็นอิสระจากอำนาจรัฐบาลและอำนาจทุน

 

การเพิ่มเติมหมวดสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยยกฐานะเป็นหมวดหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ เพิ่มและขยายสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนิติบัญญัติทั้งการตรา/พิจารณาร่างกฎหมายและการพิจารณางบประมาณแผ่นดิน ไม่ควรผูกขาดโดยรัฐสภาเท่านั้น

 

แก้ปัญหา "ธนกิจการเมือง" หรือปัญหา "ผลประโยชน์ทับซ้อน" โดยปรับปรุง พรบ.ป้องกันการผูกขาด รื้อระบบสัมปทานเม็กกะโปรเจ็ค ฯลฯ

 

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

 

มีการประชุมสมัชชาประชาชนจาก 32 จังหวัด  มีการกำหนดบทบาทคือจะเน้นที่การติดตามตรวจสอบ สมัชชาประชาชนแห่งชาติ  และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  และจะมีข้อเสนอในเรื่องรัฐธรรมนูญคู่ขนานซึ่งจะได้มาจากการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน โดยจะทำร่วมกับ สมัชชาคนจน กป.อพช.  และสมัชชาสังคมไทย  หลังจากนั้นจะจัดทำข้อเสนอเป็นรูเล่ม ใช้เวลา 5-6 เดือน

 

การเมืองไทยในปีหน้า จึงน่าจับตามองว่ากระแสการปฏิรูปการเมือง สังคม เศรษฐกิจที่ภาคประชาชนจากหลายภาคส่วนกำลังร่วมผลักดันอยู่นี้จะเป็นเช่นไร  หรือจะเป็นเพียงนาวาที่ล่องลอยในทะเลกว้างใหญ่   ไม่ถึงฝั่งเสียที. 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท